Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๘๖

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๑๓. ความไม่เที่ยงมีคุณ

                   ความไม่เที่ยงหรืออนิจจังอันเป็นหนึ่งในลักษณะสามซึ่งพระพุทธองค์ทรงสอนไว้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ใคร ๆ ก็มักจะพูดคำว่าไม่เที่ยงจนติดปาก เกิดอะไรขึ้นก็จะปลงกันว่าอนิจจังบ้าง ไม่เที่ยงบ้าง แต่เป็นการรู้จักอนิจจังอย่างไม่จริงจัง เป็นการรู้จักอนิจจังแต่เพียงที่ปาก ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง แต่อาจเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น คือเมื่อมีผู้ได้ยิน และแม้ผู้นั้นมีสติปัญญารู้จักใช้สติปัญญา ไตร่ตรองตามความหมายของอนิจจัง ก็อาจจักได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง

                   พยายามใช้สติใช้ปัญญารู้จักอนิจจังหรือความไม่เที่ยงให้ถูกต้องจริงจัง จะได้เป็นประโยชน์แก่ตนเองตามสมควร ดูอนิจจัง ความไม่เที่ยงให้เห็น ว่ามีอยู่จริง เป็นประโยชน์จริง ความไม่เที่ยงแปรปรวนเปลี่ยนแปลงช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นได้เป็นอันมาก ช่วยได้จนกระทั่งทำให้สิ้นความยึดถือ ถึงความสิ้นทุกข์

                   ดูตั้งแต่ความไม่เที่ยงของเด็ก เพราะความไม่เที่ยงเด็กจึงเจริญเติบโหญ่ขึ้นทุกทีจนถึงก็เป็นผู้ใหญ่ จนเฒ่าชรา ถ้าไม่เพราะความไม่เที่ยงแล้วใครเป็นอย่างไรก็จะเป็นอยู่อย่างนั้น เด็กก็จะเป็นเด็กไม่รู้จักเจริญเติบโต ซึ่งคงจะเป็นความวุ่นวายไม่ใช่น้อย ลองนึกดูถึงลูกหลานของตนเองที่เกิดมาแล้วขนาดไหนก็ขนาดนั้น ไม่โตขึ้นเลย แล้วมารดาบิดาจะลำบากเพียงไร

                   ความทุกข์ก็เช่นกัน หากเกิดแล้ว ก็ไม่รู้จักผ่านพ้นสิ้นสุดลงเลย ทุกข์เท่าไรก็ทุกข์อยู่เท่านั้น แล้วจะทนกันได้อย่างไร ทนกันไหวหรือ

                   ตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่กล่าวก็น่าจะเห็นชัดว่าอนิจจังความไม่เที่ยงเป็นคุณอย่างยิ่ง เป็นความจำเป็นและเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาศึกษาให้รู้จักจริง ให้เข้าใจกระจ่างแจ่มชัด ให้เชื่อมั่นลงไปทีเดียวว่าความไม่เที่ยงต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่จริง เมื่อเชื่อมั่นเช่นนี้แล้ว ก็ให้นึกถึงให้จงได้เมื่อเกิดความสุขหรือความทุกข์ขึ้น นึกถึงเพื่อให้ไม่ยึดมั่นอยู่ว่าจะเป็นสุขยั่งยืน หรือจะเป็นทุกข์ยั่งยืน

                   ความไม่ยึดมั่นนั้นมีคุณนัก เมื่อไม่มีความยึดมั่น ก็จักปล่อยวาง ความปล่อยวางนี้แหละจะทำให้ไม่เป็นทุกข์ เมื่อมีสุขก็จะไม่ฟุ้งซ่านใจฟูจนเกินไป เมื่อมีทุกข์ก็จะไม่ห่อเหี่ยวใจแฟบจนเกินไป เวลาที่มีสุขถ้ารู้เท่าทันว่าความสุขนั้นไม่เที่ยง ใจไม่ฟูขึ้น เมื่อความไม่เที่ยงปรากฏตัวชัดเจน ความสุขเปลี่ยนไป ก็จะไม่เป็นทุกข์จนเกินไปเพราะได้เตรียมตัวรู้ไว้ก่อนแล้ว แม้จะไม่ยอมรับอย่างจริงจัง คือไม่ยอมเชื่อจริงจังนัก ก็ยังดีกว่าไม่ยอมนึกถึงไว้ก่อนเลย

                   เวลามีทุกข์ คือประสบเคราะห์กรรมหนักบ้างเบาบ้าง ถ้ารู้เท่าทันว่าเป็นอนิจจัง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง ย่อมแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เมื่อรู้เท่าทันเช่นนี้ ก็เหมือนมีเครื่องปลอบใจ ใจย่อมไม่สลดหดหู่ทอดอาลัยตายอยากย่อมมีกำลังใจรอเวลาที่ความทุกข์ความเดือดร้อนจะเป็นอนิจจัง คือบรรเทาเบาบางจนถึงหมดสิ้นไป

                   อนิจจังนั้นเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ไม่อยู่ใต้อำนาจความปรารถนาต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดความทุกข์ก็ไม่ควรต้องเร่าร้อนภาวนาให้หมดทุกข์ เพราะไม่เกิดผลอย่างใด ทำใจให้สงบสบายจักเกิดผลกว่า เพราะถ้าทำใจให้สงบสบายได้แล้ว ทุกข์ทั้งหลายแม้ยังไม่ทันแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปให้เห็นชัด ๆ ใจของเราก็จะเหมือนทุกข์ทั้งหลายได้ผ่านพ้นสิ้นสุดลงแล้ว ดังนั้นจึงควรทำใจให้สงบสบาย ไม่ต้องกังวลห่วงใยเร่าร้อนรอจะให้อนิจจังเกิดเมื่อต้องพบความทุกข์หรือเคราะห์หามยามร้ายใด ๆ.