Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๘๓

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๑๐.ความเห็นแก่ตัว

                   ปุถุชนหรือสามัญชนมีความเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น จะแตกต่างกันก็เพียงบางคนมีความเห็นแก่ตัวมาก บางคนมีความเห็นแก่ตัวน้อย คนเห็นแก่ตัวคือคนที่คิด พูด ทำ เพื่อประโยชน์ตนทั้งสิ้น ไม่คำนึงถึงประโยชน์ผู้อื่นเลย คนประเภทนี้ไม่เป็นที่รักที่สรรเสริญ แต่จะเป็นที่รังเกียจ ลองนำใจตนเองเปรียบเทียบกับใจผู้อื่น สิ่งใดที่ตนชอบผู้อื่นก็ชอบ สิ่งใดที่ตนไม่ชอบผู้อื่นก็ไม่ชอบ แล้วลองคิดดูว่าตนเองชอบคนเห็นแก่ตัวรึเปล่า ก็จะได้คำตอบว่าไม่ คำตอบนี้แหละเป็นคำตอบสำหรับทุกคน คือทุกคนก็ไม่ชอบคนเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น

                   ต่อจากนั้นก็ลองถามตัวเองว่า ต้องการให้ใคร ๆ ชอบหรือไม่ต้องการ ก็จะได้คำตอบว่าต้องการ เมื่อต้องการให้ใคร ๆ ชอบ และรู้ด้วยว่าไม่มีใครชอบคนเห็นแก่ตัว จะควรทำอย่างไร คำตอบก็ชัดเจนทีเดียว คือประการหนึ่งที่ต้องทำแน่ ๆ คือไม่เห็นแก่ตัวจนเกินไป จนเป็นที่รังเกียจ เหมือนที่เราเองรังเกียจคนเห็นแก่ตัวอื่น ๆ นั่นเอง

                   อย่าเห็นเรื่องความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องเล็กเพราะใคร ๆ ก็มีความเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น ถ้ารู้สึกเช่นนั้นจะปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลความเห็นแก่ตัวของตน จักเป็นเหตุให้มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ๆ โดยที่ตนเองไม่รู้สึก แต่คนอื่นเห็นและรังเกียจ ถึงจะรู้สึกว่าทุกคนมีความเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น ก็ต้องระวังความคิดของตนเองอย่าให้กลายเป็นมีความเห็นแก่ตัวจนเกินไป คนเห็นแก่ตัวเกินไปจึงจะเรียกว่าเห็นแก่ตัว คนเห็นแก่ตัวเท่าที่ปุถุชนมีกันไม่ถูกเรียกว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว พึงสังเกตความจริงนี้ และอย่าอ้างว่าทุกคนก็เห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น เราก็ต้องเห็นแก่ตัวบ้าง

                   เมื่อคนอื่น ๆ เห็นกันทั่วไปแล้วว่าเราเห็นแก่ตัว เราก็ต้องพิจารณาว่าเรามีความเห็นแก่ตัวอย่างไร ทุกคนถ้ามีความตั้งใจจริงที่จะเป็นคนดี ที่จะขัดเกลานำความไม่ดีออกจากตัวให้หมด ต้องมีความพยายามพิจารณาดูความบกพร่องของตนเอง และก็ไม่ต้องดูที่อื่น ดูที่ใจนี้แหละเป็นสำคัญ คนโลภเห็นแก่ตัวจะแสดงความเห็นแก่ตัวออกเป็นการพูดการทำก็ต่อเมื่อเกิดความคิดที่เห็นแก่ตัวขึ้นเสียก่อน เกิดขึ้นในใจก่อนจึงจะออกเป็นผลทางกายทางวาจา ฉะนั้นทุกคนจึงมีจุดสำหรับพิจารณาดูตนเองที่ไม่กว้างขวางอย่างไรเลย มีที่พิจารณารู้ความถูกผิดดีชั่วของตนที่ใจนี้เอง ดูใจตนเองนี้แหละให้ดี ให้สม่ำเสมอ ให้ตรงไปตรงมา ไม่ปกปิดซ่อนเร้นความจริง แล้วก็จะรู้จะเห็นว่าตนมีความดีไม่ดีอย่างไร เห็นแก่ตัวหรือไม่เห็นแก่ตัวอย่างไร ดูให้เห็นตามความเป็นจริง แล้วแก้ไขให้ถูกต้อง ให้เป็นความดีงามสมตามที่ตนปรารถนาจะเป็น อย่าอยากเป็นคนดีแต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทำดี อย่าอยากเป็นคนมีความสุขแต่ขณะเดียวกันก็ไม่สร้างความสุขให้เกิดขึ้น

                   ถ้าไม่รู้จริง ๆ ว่าอะไรคือดี อะไรคือชั่ว ก็ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเชื่อตามที่ทรงสอนก็จะรู้อะไรคือดีอะไรคือชั่ว แต่ที่จริงแล้วทุกคนรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว แต่ไม่พยายามรับรู้ความจริงนั้น ว่าเป็นความจริงสำหรับตนด้วย มักจะให้เป็นความจริงสำหรับผู้อื่นเสียทั้งนั้น ดังที่ปรากฏอยู่เสมอ ผู้ที่ว่าคนนั้นไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ และตัวเองก็เป็นเช่นนั้นด้วย โดยที่ตัวเองก็หาได้ตำหนิตัวเองเช่นตำหนิผู้อื่นไม่ ถ้าจะให้ดีจริง ๆ ถูกต้องสมควรจริง ๆ แล้วก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ท่านทรงสอนให้เตือนตน แก้ไขตน ก่อนจะเตือนผู้อื่นแก้ไขผู้อื่น.