Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๗๙

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๖.คนดี

                   พระพุทธศาสนาสอนหลักปฏิบัติให้เกิดความเจริญวัฒนาเฉพาะบุคคลไว้หลายวิธี ซึ่งเมื่อดำเนินตามแล้วย่อมประสบความเจริญในชีวิตอย่างแน่นอน วิธีหนึ่งที่จักแนะนำในที่นี้ก็คือ ธรรมที่นำความเจริญ ๔ อย่าง ได้แก่ ๑. คบท่านผู้ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ หรือคบคนดี    ๒. ฟังคำสั่งของท่านโดยเคารพ หรือสนใจคำแนะนำสั่งสอนของคนดี  ๓. ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วด้วยอุบายที่ชอบ หรือให้รู้ดีชั่วโดยแยบคาย  ๔.ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว หรือปฏิบัติตนสมควรแก่ความดีความชั่วนั้น

                   คนดีมีชื่อเรียกว่าสัตบุรุษ คือคนสงบ คนประพฤติสัจจธรรม คนเรียบร้อย หรือสัปบุรุษ คือคนสมคน ได้แก่คนสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมความดีบ้าง เรียกว่าบัณฑิต คือคนฉลาด สามารถ ได้ศึกษาสดับตรับฟังมาก หรือคนคงแก่เรียนบ้าง เรียกว่ากัลยาณชน คือคนดีมีอัธยาศัยงามบ้าง โดยความก็คือคนที่ประกอบด้วยลักษณะของคนดี ๗ ประการ คือความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่นรู้ว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุขสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ ความเป็นผู้รู้จักผล เช่นรู้ว่าสุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ความเป็นผู้รู้จักตนและหน้าที่ของตน เช่นรู้ว่าเราโดยชาติตระกูลยศศักดิ์สมบัติบริวารความรู้และคุณธรรมเพียงเท่านี้ ๆ ประพฤติปฏิบัติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการแสวงหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอสมควร ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในการประกอบกิจนั้น ๆ ความเป็นผู้รู้จักประมาณชุมชน และกิริยาที่จะต้องประพฤติต่อประชุมชนนั้น ๆ ว่ากลุ่มนี้เมื่อเข้าไปหาจะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้นและความเป็นผู้รู้จักบุคคลว่าผู้นี้เป็นคนดีควรคบผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น

                   อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษประกอบด้วยลักษณะของคนดีอีก ๗ ประการ คือ ๑. คนดีประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ คือ มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวต่อบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก มีความเพียร มีสติมั่นคง และมีปัญญา  ๒. จะปรึกษาสิ่งใดกับใคร ๆ ก็ไม่ปรึกษาเพื่อจะเบียดเบียนตนและคนอื่น ๓. จะคิดสิ่งใดก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่น  ๔. จะพูดสิ่งใดก็ไม่พูดเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่น  ๕. จะทำสิ่งใดก็ไม่ทำเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่น ๖. มีความเห็นชอบเช่นเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริงเป็นต้น  ๗. ให้ทานโดยเคารพคือเอื้อเฟื้อแก่ของไทยธรรมที่ตนให้และปฏิคาหกผู้รับ

                   อีกประการหนึ่ง คนดีคือคนที่ประกอบด้วยความดี ที่ว่าดีนั้นหมายถึงดีตามครองธรรม ไม่ใช่ดีตามความนิยมของหมู่คน มิใช่ดีตามความคิดเห็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพราะว่าดีที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้แยกเป็น ๓ คือดีตามความนิยมของหมู่คน ตามถิ่นตามคราวตามสมัย นี้ชื่อว่าดีเป็นโลกาธิปไตย มีโลกคือคนอื่นเป็นใหญ่ อีกอย่างหนึ่งดีตามความคิดเห็นของตน ตนคิดเห็นว่าดีอย่างไร คิดเห็นว่าอย่างอื่นชั่ว ก็ถือเอาตามความคิดเห็นของตน นี้ได้ชื่อว่า ดีเป็นอัตตาธิปไตยมีตนเองเป็นใหญ่ไม่แน่นอน ไม่มั่นคง ต่อเมื่อมีธรรมคือความถูกต้องเป็นใหญ่ ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย จึงจะเป็นความดีแท้แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงพระพุทธเจ้าทรงแสดงสัจจธรรมชี้ให้เห็นความดีความชั่วตามเป็นจริง และเป็นไปตามธรรม เป็นธรรมาธิปไตย มีธรรมเป็นใหญ่ ความดีนั้นเมื่อบุคคลใดประพฤติปฏิบัติย่อมทำคนนั้นให้เป็นคนดีด้วย ทำผู้อื่นไม่ให้เดือดร้อนด้วย.