Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๗๔

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๑. ธรรมของคนดี

                   พระพุทธศาสนาแสดงไว้ว่า มารดาบิดาเป็นพรหมของบุตรธิดา ทั้งนี้เพราะมารดาบิดาประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม ย่อมปฏิบัติขวนขวายนำสิ่งที่เป็นอัปมงคลออกไป และนำสิ่งที่เป็นมงคลเข้ามาสู่บุตรธิดา ด้วยการห้ามมิให้ทำการที่ไม่ดีไม่งาม ไม่เป็นมงคลสวัสดี ให้ทำสิ่งที่ดีที่งาม ที่เป็นมงคล บุตรธิดามีหน้าที่ตอบแทนด้วยการแสดงกตัญญูกตเวทีอันเป็นภูมิของสาธุชนคนดีหรือที่เรียกว่า สาธุสัปปุริสภูมิ

                   สัปปุริสธรรมอันเป็นธรรมที่ทำให้เป็นสาธุชนคนดีมี ๗ ประการคือ ๑. ความรู้จักเหตุ ได้แก่เมื่อประสบผลต่าง ๆ ก็สาวเข้าไปรู้ถึงเหตุ ว่าเกิดจากเหตุนั้น ๆ หรือว่าข้อนี้เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลนั้น ๒. ความรู้จักผล ได้แก่เมื่อประกอบเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็รู้ว่าจะให้ผลอย่างนั้น ๆ หรือรู้ว่าข้อนี้เป็นผลของเหตุ
นั้น ๆ ๓. ความรู้จักตน ก็คือรู้จักว่าตนเป็นอย่างไร ไม่ดีอย่างไร เช่นแสดงอธิบายไว้ว่า รู้จักว่าตนศรัทธาเท่านี้ มีศีลเท่านี้ มีปัญญาเท่านี้ มีปฏิภาณเท่านี้ เป็นต้น ๔. ความรู้จักประมาณก็คือรู้จักประมาณในการรับสิ่งทั้งหลาย รู้จักความพอดีพอเหมาะพอควรในเรื่องทั้งปวง ๕. ความรู้จักกาล ก็คือรู้จักกาลเวลา ว่ากาลเวลานี้เป็นกาลเวลาแห่งการงานอย่างนี้ กาลเวลานั้นเป็นกาลเวลาแห่งการงานอย่างนั้น แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง
๖. ความรู้จักบริษัท ก็คือรู้จักหมู่ชนว่านี้เป็นหมู่ชนชั้นนั้น นี้เป็นหมู่ชนชั้นนี้เข้าไปอยู่ในหมู่ชนใดควรนั่งอย่างไร ควรยืนอย่างไร ควรทำอย่างไร ควรพูดอย่างไร ควรนิ่งอย่างไร ๗. ความรู้จักบุคคล คือรู้จักบุคคลที่รู้จักคบหาเกี่ยวข้อง ว่าเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีอย่างไร ควรปฏิบัติต่อบุคคลนั้น ๆ อย่างไร

                   ความรู้ทั้ง ๗ ประการหรือธรรมของสาธุชนคนดีนี้เป็นปัญญาที่จำปรารถนาในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ การทำทุกอย่างจะเรียกว่าทำดีก็เพราะสมบูรณ์ด้วยความรู้ทั้ง ๗ นี้ คือชอบด้วยเหตุผล ชอบด้วยภาวะของตน ชอบด้วยประมาณคือสมควรเหมาะพอดี ชอบด้วยกาลเวลา ชอบด้วยบริษัทคือหมู่ชนและชอบด้วยบุคคล แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความมีสติและการใช้ปัญญาเพ่งพินิจพิจารณาโดยปราศจากอคติข้อใดข้อหนึ่ง จึงจะได้ความรู้จักอันถูกต้อง เพราะมีสิ่งที่เรียกว่ามายาอันเป็นเครื่องเล่ห์ลวง มุสาคือสิ่งที่เป็นเท็จ หรือโมฆะสิ่งที่เป็นของเปล่า เป็นเครื่องปิดบังสัจจะคือความจริงอยู่เป็นอันมาก เครื่องปิดบังเหล่านี้ บางที่ก็ปิดบังทั้งตาเนื้อตาใจ ทำให้เห็นผิด คิดผิด สำคัญผิดถือเอาผิด ตลอดจนถึงปฏิบัติต่าง ๆ เพราะเหตุที่ไปถือสิ่งที่เท็จว่าเป็นจริง สิ่งที่เป็นของเปล่าไม่มีอะไรว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ฉะนั้นความอบรมสติและปัญญาโดยปราศจากอคติจึงเป็นสิ่งจำปรารถนาการแสวงหาเหตุผลที่ถูกต้อง ก็มีขัดแย้งกันเป็นอันมาก แม้ในบุคคลคนเดียวกันก็ยังมีเหตุผลที่ขัดแย้งกันเมื่อเหตุผลเปลี่ยนไปตามอารมณ์และกิเลส วันหนึ่ง ๆ ก็อาจเปลี่ยนไปได้หลายอย่างเช่นเมื่อเกิดความชอบขึ้นมาก็มีเหตุผลที่จะชอบ เมื่อเกิดความชังขึ้นมาก็มีเหตุผลที่จะชัง จะเบียดเบียนผู้อื่นก็มีเหตุผลที่จะทำเช่นนั้น จึงเกิดปัญหาเรื่องเหตุผลที่ขัดแย้งสลับซับซ้อนยุ่งยากขึ้นเป็นอันมาก ข้อนี้ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติสงบจิตใจและอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือที่จิตใจรับเข้ามาให้กลัดกลุ้มให้ได้เสียก่อน และใช้สติกำหนดระลึกรู้ ใช้ปัญญาวิจัยคือจำแนกให้รู้จักตามเป็นจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในใจนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เมื่อเป็นดังนี้ จะจับเหตุผลพร้อมทั้งเงื่อนปลายได้ถูกต้อง ผลที่ขัดแย้งอันเกิดจากอกุศลจะสงบระงับดับหายไป จะพบสันติหรือความสงบแห่งจิตใจได้