Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๗๓

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

 

อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม

ตอนที่ ๔

 

กรรมดีที่ใหญ่กว่า ตัดผลกรรมไม่ดีได้ทันเวลา

 

                   กรรมดีที่ใหญ่ยิ่งกว่ากรรมไม่ดีนั้น สามารถตัดรอนผลของกรรมไม่ดีที่ได้กระทำแล้วได้ทันเวลา เช่น เรื่องของท่านองคุลีมาลท่านฆ่าคนเสียเป็นร้อยเป็นพัน นั่นเป็นกรรมไม่ดีที่แรงไม่น้อย

 

                แต่เมื่อท่านได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระพุทธเจ้าดำรัสเตือนเพียงประโยคสองประโยค จิตของท่านก็ประกอบพร้อมด้วยมโนกรรมอันดียิ่งทันที พร้อมกันนั้นกายกรรม วจีกรรมของท่าน ที่ติดตามมาก็ดีพร้อม เป็นกรรมดีที่ใหญ่ยิ่ง ยิ่งกว่ากรรมไม่ดีที่ท่านได้กระทำแล้ว

 

                ดังนั้น ผลแห่งกรรมไม่ดีของท่านที่ทำแล้วก่อน ก็ถูกตัดรอนขาดสิ้นไป ท่านสามารถหยุดกรรมไม่ดีได้โดยเด็ดขาด และสามารถบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์สิ้นภพสิ้นชาติ อันนับเป็นผลที่ใหญ่ยิ่งสุดของกรรมดี

 

                เพราะเหตุนี้ อกุศลกรรมที่หนักแรง จำเป็นต้องมีกุศลกรรมที่หนักกว่า แรงกว่ามาก ๆ เท่านั้น จึงจะสามารถตัดกันได้ทันท่วงที นั่นก็คือว่า แม้มีอกุศลกรรมที่ทำไว้แล้วมาส่งผล ทำให้ตกอยู่ในที่ร้อนที่คับขัน กุศลกรรมที่ทำอยู่ แรงกว่าหนักกว่า ย่อมจะสามารถตัดผลของอกุศลกรรมให้ขาดได้ในพริบตา มีตัวอย่างปรากฏให้รู้ ให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ จึงไม่ควรลังเลที่จะทำความดี คืออกุศลกรรมให้มาก ให้สม่ำเสมอ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

 

 

กรรมใครกรรมมันอย่าสำคัญผิด

 

                   กรรมมีจริง ผลของกรรมมีจริง กรรมดีให้ผลดีจริง กรรมชั่วให้ผลชั่วจริง ผู้ใด ทำกรรมใดไว้ จักเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น ผู้ไม่ได้ทำ หาต้องได้รับไม่

 

                   ความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ มีอยู่ให้ได้ยินได้ฟังเนือง ๆ เช่น มารดา บิดาทำไม่ดีต่าง ๆ นานาให้เห็น เกิดเหตุการณ์รุนแรงแก่ชีวิตบุตรธิดาก็มักจะกล่าวกันว่า ลูกรับเคราะห์แทนบิดามารดาบ้าง หรือลูกรับกรรมแทนมารดาบิดาบ้าง ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น กรรมของผู้ใด ผลย่อมเป็นของผู้นั้น จะรับผลกรรมแทนกันไม่ได้ ไม่มี

 

                มารดาบิดาทำไม่ดี ทำบาปอกุศล ยังอยู่ดีมีสุข เพราะผลของบาปอกุศลยังส่งไปไม่ถึง แต่บุตรธิดาที่ไม่ทันได้ทำบาปทำอกุศลกลับต้องมีอันเป็นไปต่างๆ นั้น นั่นเป็นเรื่องการรับผลของบาปอกุศลที่ทำไว้ในภาพชาติก่อน ที่ตามมาส่งผลในภาพชาตินี้แน่นอน

 

                บุตรธิดาผู้ได้รับผลไม่ดีต่าง ๆ นานา ต้องทำกรรมไม่ดีไว้ในภพชาติหนึ่งแน่นอน แต่เราไม่รู้ไม่เห็นเท่านั้น ไม่ใช่บุตรธิดารับผลกรรมแทนมารดาบิดา

 

                ผู้จะเกิดร่วมกัน เป็นแม่เป็นพ่อลูกกัน ต้องมีกรรมดีกรรมชั่วอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่แตกต่าง ห่างไกลกันนัก จึงทำให้เหมือนลูกรับกรรมแทนแม่พ่อผู้ทำบาปอกุศล

 

                   ลูกที่มารับผลไม่ดีต่าง ๆ ขณะที่แม่พ่อเป็นผู้ประกอบการทำกรรมไม่ดี นั่นเพราะกรรมไม่ดีของลูกส่งผลทันในระยะนั้น จึงทำให้ยากจะเข้าใจได้ จึงทำให้เกิดความเข้าใจสับสนกันมาก กรรมของคนหนึ่ง ผลจะไม่เกิดแก่อีกคนหนึ่งแน่นอน

 

 

 

จะอยู่เป็นสุขหรือทุกข์ร้อน ก็เพราะกรรมที่ทำไว้

 

                ความเข้าใจในเรื่องล้ำลึกอย่างที่สุด คือ เรื่องของกรรม และการให้ผลของกรรม จะเกิดได้ด้วยความมีปัญญายิ่ง ความใช้ปัญญายิ่งคือ การคิดตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในเรื่องของกรรมว่า

 

กรรมดี ย่อมให้ผลดี

 

กรรมชั่ว ย่อมให้ผลชั่ว

 

ผู้ใดทำกรรมใดไว้

 

ย่อมต้องได้รับผลของกรรมนั้น

 

                   เมื่อใช้ปัญญาคิดเช่นนี้เนือง ๆ ย่อมได้ความเข้าใจถูกต้อง หยิบยกพระพุทธดำรัสเรื่องกรรมขึ้นพิจารณา ด้วยใจที่สงบไม่วุ่นวาย แม้ในระยะแรกจะไม่เชื่อว่าเป็นจริง

 

                แต่เมื่อคิดใคร่ครวญพิจารณาอยู่เนือง ๆ ก็ย่อมจะได้ปัญญาเป็นแสงสว่างทำลายความมืดไม่รู้ ให้เป็นความเห็นถูก รู้ถูกในเรื่องของกรรม และการให้ผลของกรรม ตามที่พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธดำรัสไว้ด้วยพระมหากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งปวง

 

                ความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุขก็ตาม ความตกต่ำทุกข์ร้อนก็ตาม ย่อมเกิดจากกรรม ย่อมีกรรมเป็นเหตุให้เกิดแน่นอนเสมอไป ผลดีทั้งปวงย่อมเกิดจากกรรมดี มีกรรมดีเป็นเหตุ ผลไม่ดีทั้งปวงย่อมเกิดจากกรรมไม่ดี มีกรรมไม่ดีเป็นเหตุ

 

                กรรมของผู้ใด ผลย่อมเป็นของผู้นั้น ผลจักไม่เป็นของคนอื่น ผู้ใดทำกรรมดี ผู้นั้นย่อมจักได้รับผลดี เป็นความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็น เป็นสุข ผู้ใดทำกรรมไม่ดี ผู้นั้นย่อมได้รับผลไม่ดี เป็นความตกต่ำเป็นความทุกข์ร้อน

 

 

 

กรรมเป็นไปตามอำนาจจิตใจ ฝึกสติไว้ไม่ให้กิเลสชนะเหตุผล

 

                อันการประกอบกระทำกรรมทั้งปวดของแต่ละคน ย่อมเป็นไปตามอำนาจของใจ ดังที่ท่านกล่าวว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ

 

                แต่ใจนั้น ก็เป็นไปตามพลังสองอย่าง คือ

 

                   พลังหนึ่ง เป็นพลังของกิเลศ โลภ โกรธ หลง

 

                   อีกพลังหนึ่ง เป็นพลังของเหตุผล

 

                   พลังของกิเลส เป็นพลังที่ทำให้มืดมัว เป็นความโฉดเขลา เบาปัญญา

 

                พลังของเหตุผล เป็นพลังที่ทำให้แจ่มใจสว่าง เป็นความมีปัญญาเฉลียวฉลาด

 

                ถ้าใจตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสมาก ก็มืดมัวมาก เบาปัญญามาก

 

                ถ้าใจมีพลังเหตุผลมากก็มีความสว่างแจ่มใจมาก ปัญญามาก

 

                อย่างไรก็ตาม สติมีความสำคัญที่สุด สติมีหน้าที่ตัดสินว่า จะให้กิเลสชนะเหตุผล หรือจะให้เหตุผลชนะกิเลส

 

                   ถ้าสติอ่อน ไม่ตั้งมั่นอยู่ ก็จะยอมให้กิเลสชนะเหตุผล คือกิเลสจะครองใจยิ่งกว่าเหตุผล ชื่อว่า เชื่อกิเลสยิ่งกว่าเชื่อเหตุผล

 

                ถ้าสติเข้มแข็งตั้งมั่นอยู่ ก็จะไม่ยอมให้กิเลสชนะเหตุผล คือเป็นผู้ใช้เหตุผลครองใจยิ่งกว่ากิเลส ชื่อว่า เชื่อเหตุผลยิ่งกว่ากิเลส เป็นผู้ใช้เหตุผลยิ่งกว่าเป็นผู้ให้กิเลสใช้

 

 

 

เชื่อเรื่องกรรม ต้องทำความเห็นให้ชอบ

 

                   แม้จะเชื่อเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมแล้ว ก็ต้องเชื่อในเรื่องทิฐิคือความเห็นด้วย ไม่เช่นนั้น แม้เชื่อในเรื่องกรรมเพียงไร ทิฐิที่ไม่ชอบก็อาจพาให้ทำกรรมไม่ดีได้ โดยมิจฉาทิฐินำให้เห็นกรรมดีเป็นกรรมไม่ดี กรรมไม่ดีเป็นกรรมดี

 

                   แต่การจะรู้ว่าคนมีทิฐิอย่างไร สัมมาทิฐิ หรือมิจฉาทิฐิก็เป็นการยาก ต้องอาศัยปัญญาที่ประณีตในการพิจารณา ต้องรอบคอบประกอบด้วยเหตุผล ไม่มีการหลงตัวลืมตัวแอบแฝงอยู่ในจิตใจ ไม่มีตัณหาอุปทานรุนแรง แม้ว่าจะยังมีอยู่ก็ตามวิสัยของผู้ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ยังเป็นปุถุชน

 

                สิ่งสำคัญที่สุดในมรรคมีองค์ ๘ ทางแห่งความพ้นทุกข์ คือ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ อันเป็นปัญญาอย่างยิ่ง

 

                ความเห็นชอบ คือ ความเห็นด้วยปัญญา ว่าผลทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ไม่ก่อเหตุ... ไม่เกิดผล ดับเหตุได้ก็ดับผลได้ ปรารถนาให้ผลดับแต่ไม่ดับเหตุ ย่อมไม่เป็นไปดังปรารถนา ปรารถนาผลดีไม่ก่อเหตุดี ย่อมไม่เป็นไปดังปรารถนา

 

                เมื่อมีสัมมาทิฐิความเห็นชอบดังนี้อย่างหนักแน่น ย่อมมีความดำริชอบตามมา ที่จะปฏิบัติเพื่อดับเหตุไม่ดีทั้งปวง เพื่อให้ผลไม่ดีทั้งปวงดับด้วย

 

                ความดำริชอบ จะดำริให้มีวาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตชอบ การปฏิบัติชอบดังกล่าวทุกประการ จักเป็นเหตุให้เป็นไปตามทางของความเห็นชอบ ดับเหตุไม่ดีทั้งปวงได้ นั้นก็คือ ทำผลไม่ดีทั้งปวดให้ดับได้ ที่สำคัญสุดยอดคือ ความสามารถดับเหตุแห่งความทุกข์ได้ ทำให้ความทุกข์ทั้งปวงดับได้ ได้พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปได้

 

 

 

ปลงใจเชื่อกรรม ทำให้ไม่กล้าทำชั่ว

 

                การจะทำใจให้เชื่อว่าเป็นกรรมเช่นนี้ ก็มิใช่เป็นไปได้แก่คนทั่วไป ใจของคนทั่วไปจึงยังไม่เชื่อเรื่องของกรรม ไม่อาจปลงใจลงไปได้ว่า อะไรทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง ทั้งแก่ผู้อื่น ล้วนเป็นเรื่องของกรรม เป็นผลของกรรม ที่ต่างได้พากันทำไว้ทั้งนั้น อาจจะในชาตินี้ หรืออาจจะในอดีตกาลนานไกล

 

                แต่ความปลงใจเชื่อให้จริง ในเรื่องของกรรม และการให้ผลของกรรม ว่ามีผลใหญ่ยิ่งนั้น จะทำให้กล้วการทำกรรมไม่ดี เมื่อไม่ทำกรรมไม่ดี ผลไม่ดีย่อมไม่เกิดแก่ตน ความสบายทั้งปวงย่อมมีตามมา

 

                   อย่างไรก็ตาม ความสบายใจที่เกิดจากความปลงใจเชื่อในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรมนั้นใหญ่ยิ่งมาก เพราะเมื่อต้องประสบความทุกข์ยากใดก็ตาม ความเชื่อในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรม ก็จะทำให้ปลงใจยอมรับว่า ตนเป็นผู้ทำเหตุที่ไม่ดีไว้ อาจจะเป็นในปัจจุบันชาติ หรือไม่ก็เป็นผลในอดีตกาลนานไกล ที่นานจนจำไม่ได้ ระลึกไม่ได้ และการให้ผลของกรรมก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จะเร็วหรือช้าก็ต้องให้ผลแน่ ข้ามภพข้ามชาติก็ให้ผล

 

                เรื่องของกรรมจึงล้ำลึก เข้าใจยากนักหนา ถ้าเข้าใจเพียงพบสมควร ก็จะได้ความสบายใจกว่าไม่เข้าใจเสียเลย ผู้มีปัญญาแม้พอสมควร จึงพยายามทำความเข้าใจเรื่องของกรรม หรือแม้ไม่เข้าใจจริง ๆ ก็ใช้วิธีเชื่อเอาไว้ก่อน ซึ่งก็เป็นการแสดงถึงความเป็นผู้มีปัญญายิ่งกว่าผู้ทีปฏิเสธไม่ยอมเชื่อเลย

 

 

 

รับผลกรรมดี-ร้าย อยู่ที่การระวังใจเป็นสำคัญ

 

                   การระวังใจ จึงสำคัญยิ่งนัก ปล่อยใจให้คิดสูงส่ง งดงามไปด้วยบุญกุศล ชาตินี้ก็เป็นสุขเบิกบานด้วยอำนาจของบุญกุศลที่ใจคิดถึง ละชาตินี้ไปแล้วจะได้มีชาติใหม่ที่งดงาม ควรแก่ความงดงามของความคิดที่อยู่ในจิตใจ

 

                   ผู้พรั่งพร้อมด้วยสมบัติ ทั้งทางกายและทางใจที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน คือ ผู้ที่เป้นไปตามอำนาจของใจในอดีต อันย่อมีผลสืบเนื่องถึงอำนาจของใจในภพชาติใหม่ด้วย

 

                ส่วนผู้ที่ปล่อยใจให้คิดต่ำทรามชั่วร้ายด้วยบาปอกุศล ชาตินี้ก็เป็นทุกข์เร่าร้อนด้วยอำนาของบาปอกุศลที่ใจคิดถึง ละไปแล้วจะได้ชาติใหม่ที่ต่ำทรามบกพร่อง ควรแก่ความต่ำช้าของเจ้าของความคิดที่มีอยู่ในจิตใจ

 

                ผู้ขาดแคลนทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ที่เห็นกันอยู่ไม่น้อยในปัจจุบัน คือ ผู้เป็นไปตามอำนาจของใจในอดีต อันย่อมมีผลสืบเนื่องถึงอำนาจของใจในภพชาติใหม่ด้วย จึงพึงระวังความคิดให้อย่างยิ่ง ให้งดงามด้วยบุญกุศลไว้เสมอ จะได้ไม่ต้องมีสภาพที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา

 

                เพราะเหตุนี้ ความคิดจึงเป็นเหตุแห่งความทุกข์ และความคิดก็เป็นเหตุแห่งความสุขได้ พึงรอบคอบในการใช้ความคิด คิดให้ดี คิดให้งาม คิดให้ถูก คิดให้ชอบ แล้วชีวิตในชาตินี้ก็จะงดงาม สืบเนื่องไปถึงภพชาติใหม่ได้ด้วย

 

                ระวังความคิดให้ดีที่สุด เพราะความคิดที่ผูกพันในสิ่งไม่สมควรที่ทำให้พระภิกษุองค์หนึ่งต้องไปเกิดเป็นเล็น อีกองค์หนึ่งต้องไปเกิดเป็นไก่ อยู่หลายภาพหลายชาติ เราทั้งหลายหาได้มีบุญสมบัติเสมอพระภิกษุทั้งสองนั้นไม่ ความคิดที่ผิดพลาดของเรา จะมินำเราไปเป็นอะไรที่น่ากลัวเหลือเกินหรือ

 

 

 

ใจก็เหมือนกาย ต้องหมั่นใส่ปุ๋ยคุณธรรม

 

                   ความคิดก็เหมือนร่างกาย เหมือนต้นหมากรากไม้ ต้องการปุ๋ย ต้องการความดูแลรักษา ไม่เช่นนั้น ก้อาจจะไม่เติบโตเจริญงดงาม หรือเติบโตก็อย่างระเกะระกะ ไม่เป็นระเบียบงดงาม เป็นคนไม่เรียบร้อย ไม่เป็นที่เจริญตา เจริญใจ ใครที่ไหนเล่าจะชื่นชมคนเช่นนั้น

 

                ความคิด หรือจิตใจ ก็เช่นเดียวกัน ต้องให้ปุ๋ยเสมอ คือ ให้ความถูกต้อง ด้วยปัญญา ด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบว่า ความดีหรือบุญกุศล เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับที่จะประคับประคองชีวิตไปสู่ความถูกต้องดีงามนานาประการ

 

                   อย่างอยู่อย่างประมาท อย่าปล่อยความคิดให้วุ่นวายเปะปะเหมือนปล่อยเด็กเล้ก ๆ ให้เดินโซซัดโซเซไปตามลำพัง ย่อมมีทางหกล้มหกลุก แขนขาหัก หรือหัวร้างข้างแตก หรือถึงพิกลพิการได้ ถึงเป็นถึงตายได้

 

ความคิดที่ไม่ได้รับการประคับประคอง

 

ให้ดำเนินไปถูกทำนองคลองธรรม

 

ย่อมมีทางเดินไปสู่ความหายนะได้อย่างแน่นอน

 

 

 

ใจอาบยาพิษร้าย ฆ่าคนให้ตายทั้งเป็น

 

                   เกิดมาเป็นคนแล้ว มีอวัยวะครบถ้วน ไม่พิกลพิการ ไม่ไร้สตินับเป็นบุญนักหนาแล้ว เร่งรักษาจิตให้จงดี ให้อาหารที่เป็นประโยชน์ที่สุด อย่าปล่อยให้เปะปะไปแสวงหาอาหารตามชอบใจ จะต้องหลงไปพบอาหารที่เป็นพิษแน่นอน

 

                โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ สมัยนี้ มีอาการที่เป็นโทษ เป็นภัยร้ายแรงแก่จิตใจมากมาย เต็มไปทั่วทุกหนทุกแห่ง โอกาสที่ใจจะหลบหลีกให้พ้นพิษภัยเหล่านั้น เป็นเรื่องยากมาก

 

ใจที่มีความคิดอาบยาพิษร้าย

 

เป็นใจที่ทำให้ตายได้ทั้งเป็น

 

อันการตายทั้งเป็นนั้น

 

น่าหวาดกลัวยิ่งกว่ามากมายนัก

 

                   ผู้ที่ตายทั้งเป็น คือ ผู้... เป็นคนเหลวไหล ในสายตาของคนดี เป็นที่รังเกียจของสังคมคนดี ไปสู่ที่ใดจักไม่มีความหมาย เหมือนเป็นความว่างเปล่า ปราศจากการต้อนรับ ที่ท่านเปรียบว่าตายทั้งเป็นก็เช่นนี้ด้วย คือไม่อยู่ในสายตาในความสนใของผู้ใด เห็นก็เหมือนไม่เห็น จึงเป็นเหมือนวิญญาณที่ไม่มีร่าง

 

                ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ตายทั้งเป็นคือผู้ที่เป็นดั่งซากศพที่เน่าเหม็น เป็นที่ยินดีพอใจเข้าห้อมล้อมหนาแน่นของเหล่าแมลงวัน หรือหนอนน้อยใหญ่เท่านั้น

 

                นั่นก็คือ คนตายทั้งเป็นด้วยกัน หรือคนไม่ดีด้วยกันเท่านั้นที่จะยินดีต้อนรับพวกเดียวกัน “คนดีจักไม่รังเกียจคนไม่ดี... ไม่มีเลย”

 

                สติปัญญารักษาใจที่เพียงพอเท่านั้น ที่จะทำให้แลเห็นช่องทางหลบหลีกภัยเหล่านั้นได้ สามารถรักษาใจให้พ้นพิษภัยร้ายแรงก มีความสวัสดีได้ แม้พอสมควร

 

 

 

อำนาจมโนกรรม ทำให้คนเกิดเป็นสัตว์

 

                ในสมัยพุทธกาล มีเรื่องที่พระภิกษุรูปหนึ่งเมื่อมรณภาพลง พระรูปหนึ่งจะนำจีวรไป พระพุทธเจ้าทรงห้ามและรับสั่งเล่าวว่า พระภิกษุผู้เป็นเจ้าของจีวรนั้น ได้มาเกิดเป็นเล็นเกาะที่จีวรที่ท่านซักตากไว้ เพราะจิตใจของท่านเมื่อจะมรณภาพนั้นผูกพันอยู่กับจีวรผืนนั้น ที่ท่านเพิ่งได้มาและชอบมาก

 

                กรรมทางใจ หรือมโนกรรม มีโทษหนักถึงเพียบงนี้ ทำให้มนุษย์ในชาติหนึ่ง ให้เป็นสัตว์ในอีกชาติหนึ่งก็ได้ ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือเมื่อเป็นสัตว์แล้ว ก็ยังระลึกถึงครั้งเมื่อเป็นมนุษย์ได้ จะเดือดร้อนใจเพียงใด

 

                พระพุทธเจ้ารับสั่งห้ามไม่ให้นำจีวรไป เพราะเล็นที่เป็นเจ้าของจีวรเมื่อครั้งยังเป็นพระภิกษุนั้นหวงอยู่ ถ้านำจีวรไปก็จะโกรธแค้นขุ่นเคืองจะทำให้ไม่ได้ไปเสวยผลแห่งกรรมดีที่ได้กระทำไว้แล้วเป็นอันมาก

 

อำนาจกรรมแม้เพียงมโนกรรมทางใจ

 

ไม่ได้ปรากฏเป็นกายกรรม วจีกรรม

 

ถึงเป็นการเบียดเบียนทำร้ายผู้ใด

 

ก็ยังมีอำนาจใหญ่ยิ่งเพียงนี้

 

พระพุทธทรงเตือนให้ระวัง

 

ทุกคนจึงควรระวังให้จงหนัก

 

 

 

กตัญญูกตเวทิตาธรรม มโนกรรมสำคัญยิ่ง

 

                   “กรรมดีทางใจ” หรือ “มโนกรรม” ที่สำคัญยิ่ง คือ ความเชื่อมั่นในกตัญุตาธรรม รู้พระคุณที่ท่านได้กระทำแล้ว

 

                พระคุณแคบ ๆ ก็คือ เฉพาะที่ท่านได้กระทำแล้วแก่เรา กว้างออกไปอย่างไม่มีขอบเขต คือพระคุณที่ท่านทำแล้วแก่ใคร ๆ ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเฉพาะแก่เรา

 

                ใจที่ระลึกถึงพระคุณ หรือในความดีของท่านเช่นนี้ เป็นใจที่มีกรรมดี ย่อมได้ผลดีแห่งกรรมดีนั้นโดยลำดับ

 

                ผลดีอันดับแรกที่จะเกิดแก่ผู้มีกตัญญุตาธรรมคือ การได้ทำกายกรรม วจีกรรม ที่จะส่งผลดีสืบทอดต่อไปอีกนานาประการแก่ผู้มีมโนกรรมดีเป็นจุดเริ่มต้น ตรงกันข้ามกับผู้มีอกกตัญญูทุกประการ

 

                กตัญญูกตเวทิตาธรรม ความรู้พระคุณ และตอบแทนพระคุณเป็นกรรมดีทั้งทางกาย วาจา ใจ จึงเป็นกรรมที่ให้ผลดีได้พร้อม ความกตัญญูจะเป็นเครื่องป้องกัน มิให้มีความคดทำความไม่ดี เพราะเมื่อมีกตัญญูรู้พระคุณท่าน เป็นต้นว่ารู้พระคุณของมารดาบิดา ก็ย่อมไม่กล้าที่จะคิดทำความไม่ดี ที่จะทำความเสื่อมเสีย หรือความเสียใจทุกข์ร้อนให้เกิดแก่ท่าน จะไม่คิดไม่ดี ไม่ทำไม่ดี โดยมีกตัญญูกตเวทิตาธรรมนั่นเองเป็นเครื่องห้ามกันไว้

 

ความสวัสดีแห่งตน ย่อมเป็นผลเกิดได้ด้วยเหตุ

 

มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมประจำใจ เป็นกรรมทางใจ

 

หรือมโนกรรมทีดี ตรงกันข้ามกับอกตัญญู

 

ผู้เนรคุณทุกประการ

 

 

 

ยังไม่สิ้นกิเลส ก็ยังไม่หมดเหตุรับผลกรรม

 

                   ครูอาจารย์สำคัญ ๆ ท่านรับรอง และพระพุทธเจ้าก็ทรงรับรองว่า ชาติในอนาคตมีอยู่สำหรับผู้ยังไม่สามารถทำกิเลสให้หมดสิ้นได้ และการทำให้กิเลสหมดสิ้นนั้น คนเป็นจำนวนมากทำไม่ได้ในเวลาอันสั้น ทั้งยังมีคนเป็นจำนวนมากไม่สนใจจะทำให้กิเลสหมดสิ้น ยังเกลือกลั้วอยู่กับเกิเลสอย่างหลงผิด

 

                ดังนั้น ภพาชาติสำหรับคนเหล่านี้ จึงยังมีอยู่มากมายนัก ใช้เวลานานแสนนาน นับภพนับชาติหาได้ไม่ โอกาสที่กรรมจะตามไปถึง จึงมีมากมายนัก ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง

 

                อย่าคิดผิดว่า เมื่อถึงวันนั้นเวลานั้นก็จะจำไม่ได้แล้วว่า "เราเป็นเรา" อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่เดือดร้อน ความคิดเช่นนี้ อาจจะเกิดแก่เราแล้วมาในอดีตชาติและมาในปัจจุบัน

 

                   เมื่อต้องพบกับความเดือดร้อน เราก็เดือดร้อน มิใช่ว่าเราไม่เดือดร้อน ทั้งที่มิใช่ว่า เราจะจำได้ว่า เราเป็นเรา เพราะไม่ว่าจะต้องเกิดเป็นใคร เมื่อใด ภพชาติไหนก็ตาม เมื่อเป็นทุกข์ก็ต้องเป็นทุกข์ เมื่อเป็นสุขก็ต้องเป็นสุข จึงไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง

 

                   แต่ควรพยายามทำทุกอย่าง เพื่อไม่ให้อนาคตต้องเป็นทุกข์ หรือเพื่อไม่ให้กรรมไม่ดีที่ทำไว้ตามทันไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม

 

 

 

ก่อนทำกรรมใด ควรน้อมใจถึงพระพุทธเจ้า

 

                ก่อนจะทำกรรมใด ๆ ขอให้น้อมใจนึกถึงพระพุทธเจ้าว่าท่านทรงเสียสละลำบากเพียงไหน เพื่อสอนให้เชื่อกรรม ไม่ให้ทำกรรมไม่ดีทั้งหลาย ให้ทำแต่กรรมดี และกรรมดีที่ทรงแสดงสอน ก็ทรงแสดงอย่างมิได้ทรงปิดบังแม้แต่น้อย

 

                ดังนั้น พึงพากันน้อมรับให้เต็มสติปัญญาความสามารถ เชื่อกรรมอย่างมีกตัญญูกตเวที ในพระมหากรุณาของพระพุทธองค์เถิด จักเป็นสิริมงคลล้ำเลิศสูงสุด อันเป็นที่ปรารถนาทั่วกัน กรรมดีทางใจที่ควรพร้อมกันทำให้เกิดขึ้น เพื่อความสุขสวัสดีทั้งของตนเองและประเทศชาติ คือความมั่นคงในพระคุณของพระพุทธเจ้า

 

                พระบารมีนั้นยิ่งใหญ่ไพศาล แผ่ไปทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลานาที พึงพร้อมน้อมใจรับเพียงด้วยการรำลึกถึงพระพุทธองค์ว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ ในทุกเวลานาทีที่มิได้มีภาระอื่น จะนั่ง นอน ยืน เดิน พึงพร้อมกันทำอย่าได้ว่างเว้น และทุกคนทำได้ ทุกคนมีเวลาทำมากมาย ในรถที่ติด ในเวลาที่นอนไม่หลับ ในงานที่มิได้ต้องใช้ความคิดมากมายนัก ในเวลารับประทานอาหาร ฯลฯ

 

                การภาวนาพุทโธ ไม่ใช่งานหนัก ไม่ใช่งานยาก แต่มีคุณมหาศาล เกิดกว่าจะมีผู้ใดบอกได้ถูก ผู้ใดทำ ผู้นั้นจะได้เข้าใจด้วยตนเอง จึงขอให้ทำเพื่อหนีผลแห่งกรรมไม่ดีที่ไม่อาจรู้ได้เห็นได้ว่ากำลังจะเกิดแก่ชีวิตในวินาทีใด และร้ายแรงเพียงไหน เช่นที่ได้เกิดขึ้นให้เห็นอยู่แล้วทุกวันนี้

 

                ตั้งจิต "ขออโหสิกรรม" และ "ให้อโหสิกรรม" ต่อผู้เป็นเจ้ากรรมนายเวร ต่อผู้ที่ได้ล่วงล้ำก้ำเกินกันทั้งน้อยใหญ่ และภาวนาพุทโธไว้เถิด ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ ไม่หมดอายุก็จะสวัสดี หมดอายุก็จะไปดี ไม่สบายไม่ลำบาก

 

 จบบริบูรณ์