Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๖๙

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

พรรษาที่ ๑๒

เมืองเวรัญชา (ต่อ)


วาโลทกชาดก

(ชาดกเรื่องน้ำหาง)

                        สมัยหนึ่งเสด็จถึงกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ในพระเชตวัน ชาวกรุงสาวัตถี กระทำอาคันตุกภัตแด่พระศาสดาแล้ว ก็ในกาลนั้น พวกกินเดนประมาณ ๕๐๐ คน อาศัยพวกภิกษุอยู่ภายในพระวิหารนั่นเอง พวกเขากินโภชนะอันประณีตที่เหลือจากภิกษุทั้งหลาย ฉันแล้วก็หลับนอน ลุกขึ้นแล้ว ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ แผดเสียงโห่ร้อง กระโดดโลดเต้น ซ้อมมวยปล้ำเล่นกันอยู่ ประพฤติแต่อนาจารเท่านั้น ทั้งภายในวิหาร ทั้งภายนอกวิหาร

                        พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า ดูเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ในเวลาเกิดทุพภิกขภัย พวกกินเดนเหล่านี้มิได้แสดงวิกาลอะไรๆ ในเมืองเวรัญชา แต่บัดนี้กินโภชนะอันประณีตเห็นปานนี้แล้ว เที่ยวแสดงอาการแปลกๆ เป็นอเนกประการ ส่วนพวกภิกษุสงบอยู่แม้ในเมืองเวรัญชา ถึงในบัดนี้ก็ยังพากันอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเทียว

                        พระศาสดาเสด็จไปสู่โรงธรรมแล้ว ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน เมื่อพวกภิกษุกราบทูลว่า เรื่องชื่อนี้ ดังนี้แล้ว ตรัสว่า แม้ในกาลก่อน คนกินเดนเหล่านี้เกิดในกำเนิดลา เป็นลา ๕๐๐ ได้ดื่มน้ำมีรสน้อย อันเลว ซึ่งถึงการนับว่า น้ำหาง เพราะเขาเอาน้ำขยำกากอันเป็นเดนซึ่งเหลือจากน้ำลูกจันทน์มีรสชุ่มที่ม้าสินธพชาติอาชาไนย ๕๐๐ ดื่มแล้วจึงกรองด้วยผ้าเปลือกปอเก่าๆ เที่ยวร้องเอ็ดอึงอยู่ เหมือนเมาน้ำหวาน

                        เมื่อจะทรงแสดงกิริยาของลาเหล่านั้น อันพระโพธิสัตว์ ผู้อันพระราชาทรงสดับเสียงของลาเหล่านั้นตรัสถามแล้ว ได้กราบทูลแด่พระราชา ตรัสวาโลทกชาดกนี้โดยพิสดารว่า “ความเมาย่อมเกิดแก่พวกลา เพราะดื่มกินน้ำหางมีรสน้อยอันเลว แต่ความเมาย่อมไม่เกิดแก่ม้าสินธพ เพราะดื่มรสที่ประณีตนี้ ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมนรชน ลานั้นเป็นสัตว์มีชาติเลว ดื่มน้ำมีรสน้อย อันรสนั้นถูกต้องแล้วย่อมเมา ส่วนม้าอาชาไนยผู้เอาธุระเป็นปกติเกิดในตระกูลที่ดี ดื่มรสที่เลิศแล้วหาเมาไม่” แล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเว้นธรรมคือความโลภแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีวิการเลย ทั้งในเวลาถึงสุขทั้งในเวลาถึงทุกข์ อย่างนี้ ดังนี้ เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมเว้นในธรรมทั้งปวงแล สัตบุรุษทั้งหลายหาใช่ผู้ปรารถนากามบ่นเพ้อไม่ บัณฑิตทั้งหลายอันสุขหรือทุกข์ถูกต้องแล้วย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง ดังนี้

 

เรื่องของพระมหากัจจานะ1

                        สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ภูเขาชันข้างหนึ่ง ใกล้กุรรฆรนคร แคว้นอวันตี ครั้งนั้นแลคฤหบดีชื่อ หลิททิกานิ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจานะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสภาษิตนี้ในมาคัณฑิยปัญหา อันมีในอัฏฐกวรรคว่า มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนมในบ้าน เป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า ไม่ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น ดั่งนี้ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เนื้อความแห่งพระ

พุทธวจนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยย่อนี้ จะพึงเห็นได้โดยพิสดารอย่างไร

                        พระมหากัจจานะได้กล่าวว่า ดูก่อนคฤหบดี รูปธาตุเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณ ก็แหละมุนีใดมีวิญญาณพัวพันด้วยราคะในรูปธาตุ มุนีนั้นท่านกล่าวว่ามีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ดูก่อนคฤหบดี เวทนาธาตุ.... สัญญาธาตุ.... สังขารธาตุ เป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณ ก็แหละมุนีใดมีวิญญาณพัวพันด้วยราคะในสังขารธาตุ มุนีนั้นท่านกล่าวว่า มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ดูก่อนคฤหบดี มุนีชื่อว่า เป็นผู้มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ด้วยประการฉะนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไปอย่างไร

                        ดูก่อนคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งมั่นถือมั่นและที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใด ในรูปธาตุ ความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทรงทำให้เป็นดั่งตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ดูก่อนคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งมั่นถือมั่นและที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใด ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ ความพอใจเป็นต้นเหล่านั้นอันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทรงทำให้เป็นดั่งตาลยอดด้วน ทรง

กระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคตบัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ดูก่อนคฤหบดี มุนีชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไปอย่างนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร

                        ดูก่อนคฤหบดี มุนีท่านกล่าวว่า เป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป เพราะซ่านไปและพัวพันในรูปอันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก ดูก่อนคฤหบดี มุนีท่านกล่าวว่าเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป เพราะซ่านไปและพัวพันในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์ อันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไปอย่างนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร

                        ดูก่อนคฤหบดี กิเลสเป็นเหตุซ่านไปและพัวพันในรูปอันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทรงทำให้เป็นดั่งตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นพระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไป ดูก่อนคฤหบดี กิเลสเป็นเหตุซ่านไปและพัวพันในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฐฐัพพะ ในธัมมารมณ์ อันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทรงทำให้เป็นดั่งตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไป ดูก่อนคฤหบดี มุนีชื่อว่า เป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไปอย่างนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร

                        ดูก่อนคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์อยู่ คือเป็นผู้พลอยชื่นชมกับเขา พลอยโศกกับเขา เมื่อพวกคฤหัสถ์มีสุขก็สุขด้วย มีทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อพวกคฤหัสถ์มีกรณียกิจที่ควรทำ เกิดขึ้น ก็ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร

                        ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์ คือไม่พลอยชื่นชมกับเขา ไม่พลอยโศกกับเขา เมื่อพวกคฤหัสถ์มีสุขก็ไม่สุขด้วย มีทุกข์ก็ไม่ทุกข์ด้วย เมื่อพวกคฤหัสถ์มีกรณียกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ไม่ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง ดูก่อนคฤหบดี มุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร

                        ดูก่อนคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ ยังเป็นผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลายอย่างนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร

                        ดูก่อนคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลายอย่างนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร

                        ดูก่อนคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในกาลข้างหน้า ขอเราพึงเป็นผู้มีรูปอย่างนี้ มีเวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้ ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร

                        ดูก่อนคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ ไม่มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในกาลข้างหน้า ขอเราพึงเป็นผู้มีรูปอย่างนี้ มีเวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้ ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร

                        ดูก่อนคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่าท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติผิด เราเป็นผู้ปฏิบัติชอบ คำที่ควรกล่าวก่อนท่านกล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าวทีหลัง ท่านกล่าวก่อน คำของเรามีประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ท่านเคยประพฤติมาผิดเสียแล้ว เรายกวาทะแก่ท่านแล้ว ท่านจงประพฤติเพื่อปลดเปลื้องวาทะเสีย ท่านเป็นผู้อันเราข่มได้แล้ว หรือจงปลดเปลื้องเสียเองถ้าท่านสามารถ ดูก่อนคฤหบดี มุนีเป็นผู้ทำ ถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี ก็มุนีไม่เป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร

                        ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติผิด เราเป็นผู้ปฏิบัติชอบ คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าวทีหลัง ท่านกล่าวก่อน คำของเรามีประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ท่านเคยประพฤติมาผิดเสียแล้ว เรายกวาทะแก่ท่านแล้ว ท่านจงประพฤติเพื่อปลดเปลื้องวาทะเสีย ท่านเป็นผู้อันเราข่มได้แล้ว หรือจงปลดเปลื้องเสียเองถ้าท่านสามารถ ดูก่อนคฤหบดี มุนีไม่เป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างนี้แล

                        ดูก่อนคฤหบดี พระพุทธวจนใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในมาคัณฑิยปัญหา อันมีในอัฏฐกวรรคว่า “มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนมในบ้าน เป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า ไม่ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น” ดั่งนี้ ดูก่อนคฤหบดี เนื้อความแห่งพระพุทธวจนนั้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยย่อ จะพึงเห็นได้โดยพิสดารด้วยประการฉะนี้

 

ในพรรษากาลนี้ ท่านทั้งหลายได้รับการอบรมมาเป็นอันมาก และโอวาทสำหรับนวกภิกษุที่อุปัชฌาย์พึงให้ ก็ยุติลงในวันนี้ จึงใคร่ที่จะได้กล่าวสรุปว่า ธรรมปฏิบัติทั้งหลายที่มีเป็นอันมาก เช่น ในนวโกวาท ก็ตั้งแต่ในทุกะ หมวด ๒ เป็นต้นไป ซึ่งมีมากข้อมากประการ แม้จะมีมาก แต่ก็อาจสรุปลงได้ใน ไตรสิกขา คือในศีล ในสมาธิ และในปัญญา เพื่อวิมุตติหรือความหลุดพ้น อันศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตตินี้เป็น อริยธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เพราะฉะนั้น จึงอาจย่อลงได้เป็น ๓ ดังนี้

                        อีกประการหนึ่ง ในเวลาอันใกล้จะเสด็จปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ ตรัสไว้เป็นพระปัจฉิมวาจาคือพระวาจาสุดท้ายว่า

                   วยธมฺมา สงฺขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

                   อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

                   อัปปมาทธรรม ธรรมคือความไม่ประมาท ก็ได้แก่การที่เป็นผู้ไม่ปราศจากสติคือความระลึกได้ พร้อมทั้งสัมปชัญญะคือความรู้ตัว มีสติรักษาตน เป็น สติเนปกะ ที่แปลว่า มีสติรักษาตนอยู่เสมอ ผู้ไม่ประมาทย่อมเป็นผู้ขวนขวายปฏิบัติ ละสิ่งที่ควรละ ทำสิ่งที่ควรทำ หรือกล่าวได้ว่า เป็นผู้ขวนขวายปฏิบัติอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ผัดวันประกันพรุ่งในการปฏิบัติ จับปฏิบัติในวันนี้ทีเดียว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปทีเดียว ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท

                        ท่านพระอาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงสรุปคำสั่งสอนของพระองค์ทั้งสิ้นเข้าในอัปปมาทหรือเข้าในอัปปมาทธรรม ธรรมคือความไม่ประมาท ซึ่งมีคำเปรียบว่า เหมือนอย่างรอยเท้าช้าง ย่อมใหญ่กว่ารอยเท้าทั้งหมด รอยเท้าของสัตว์ในโลกทั้งหมด ย่อมรวมเข้าได้ในรอยเท้าช้าง ฉันใด ธรรมทั้งหลายทั้งหมดก็สรุปเข้าได้ในอัปปมาทหรือในอัปปมาทธรรมนี้

                        เรื่องธรรมสำหรับเป็นที่สรุปธรรมทั้งหลายนี้ ยังได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า กุศลธรรมทั้งหลายย่อมสรุปรวมเข้าในอริยสัจทั้ง ๔ คือในทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เหมือนอย่างรอยเท้าช้างใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายย่อมรวมเข้าได้ในรอยเท้าช้าง กุศลธรรมทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ย่อมสรุปเข้าได้ในอริยสัจทั้ง ๔ นี่ก็เป็นอีกนัยหนึ่ง

                        วันนี้จึงสรุปโอวาทที่ได้แสดงมาเข้าในไตรสิกขา พร้อมทั้งวิมุตติ ความหลุดพ้น หรือเข้าในอริยธรรม สรุปเข้าได้ในอัปปมาท ความไม่ประมาทหรือในอัปปมาทธรรม สรุปเข้าได้ในอริยสัจทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น เราทั้งหลาย จึงสมควรทำความเข้าใจ ทำความจำในธรรมอันเป็นที่สรุปนี้ไว้ให้ดี และตั้งใจ

ปฏิบัติต่อไป.

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๒๔๕ - ๒๕๒ (จบ)