Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๖๘

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

พรรษาที่ ๑๒

เมืองเวรัญชา (ต่อ)


ปหาราทสูตร1

                   สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ โคนต้นสะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต ใกล้กรุงเวรัญชา ครั้งนั้นท้าวปหาราทจอมอสูรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามท้าวปหาราทจอมอสูรว่า ดูก่อนปหาราทะ พวกจอมอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทรบ้างหรือ

                   ท้าวปหาราทจอมอสูรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกจอมอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทร

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนปหาราทะ ในมหาสมุทรมีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาสักเท่าไรที่พวกอสูรเห็นแล้ว เห็นแล้ว ย่อมอภิรมย์

                   ท้าวปหาราทะทูลว่า มี ประการพระเจ้าข้า ประการเป็นไฉน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการหนึ่ง

ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๒ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ ในมหาสมุทร คลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่ง ให้ขึ้นบกทันที ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ และในมหาสมุทร คลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่ง ให้ขึ้นบกทันที นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๓ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   อีกประการหนึ่ง แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือแม่น้ำคงคา ยมุนาอจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่า มหาสมุทรนั่นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่า มหาสมุทรนั่นเอง นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๔ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   อีกประการหนึ่ง แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมกันยังมหาสมุทรและสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมกันยังมหาสมุทร และสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๕ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้อที่มหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๖ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรมีรัตนะเหล่านี้ คือแก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรนั้นมีรัตนะ คือแก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๗ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วเห็นแล้ว จึงภิรมย์อยู่

                   อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของพวกสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิลมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ก็มีอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของพวกสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิลมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ก็มีอยู่ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ประการที่ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้แลธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ประการในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัยนี้บ้างหรือ

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนปหาราทะ ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัยนี้

                   ท้าวปหาราทะทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมวินัยนี้มีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาสักเท่าไร ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มี ประการ ปหาราทะ ประการ เป็นไฉน ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหวฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตตผลโดยฉับพลัน ดูก่อน ปหาราทะ ข้อที่ในธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตตผลโดยฉับพลัน นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   ดูก่อน ปหาราทะ มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่งฉันใด สาวกทั้งหลายของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๒ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   ดูก่อน ปหาราทะ มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ ในมหาสมุทร คลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่ง ให้ขึ้นบกฉันใด ดูก่อนปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีสมาจารไม่สะอาดน่ารังเกียจ ปกปิดความชั่ว มิใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้นเขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา

                   ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีสมาจารไม่สะอาดน่ารังเกียจ ปกปิดความชั่ว มิใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้นเขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๓ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว เห็นแล้วจึงอภิรมย์อยู่

                   ดูก่อนปหาราทะ แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือแม่น้ำคงคา ยมุมา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำ เหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่า มหาสมุทรนั่นเอง ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่า ศากยบุตรทั้งนั้น ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่ว่าวรรณะ ๔ เหล่านี้ คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่า ศากยบุตรทั้งนั้น นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๔ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   ดูก่อนปหาราทะ แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมกันยังมหาสมุทรและสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มด้วยการปรินิพพานนั้น ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มด้วยการปรินิพพานนั้น นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๕ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วเห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม ฉันใด ดูก่อนปหาราทะฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้มีรสเดียวคือ วิมุตติรส รสคือวิมุตติ ความหลุดพ้น ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยมีรสเดียวคือวิมุตติรส นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๖ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือแก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ ฉันนั้น

เหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ก็มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในธรรมวินัยนั้น มีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในธรรมวินัยนั้นมีดั่งนี้ คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๗ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของพวกสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิลมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ มีอยู่ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ก็เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิตในธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือพระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ดูก่อนปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิตในธรรมวินัยนั้นมีดังนี้คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามีท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   ดูก่อนปหาราทะ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ประการนี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว เห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่

                   อรรถกถาแห่งปหาราทสูตรนี้ได้แสดงว่า ปหาราทะเป็นหัวหน้าอสูรท่านหนึ่ง จริงอยู่ บรรดาอสูรทั้งหลาย อสูรผู้เป็นหัวหน้ามี ๓ ท่าน คือ เวปจิตติ ๑ ราหู ๑ ปหาราทะ ๑

 

เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป1

                   พระศาสดาได้ประทับที่เมืองเวรัญชา อันพราหมณ์ชื่อเวรัญชะทูลนิมนต์แล้ว จึงเสด็จจำพรรษาพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ถูกมารดลใจมิให้เกิดสติปรารภถึงพระศาสดาแม้สักวันหนึ่ง แม้เมืองเวรัญชาได้เป็นเมืองข้าวแพงแล้ว พวกภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตตลอดเมืองเวรัญชา ทั้งภายในภายนอก เมื่อไม่ได้บิณฑบาต จึงลำบากมาก พวกพ่อค้าม้าจัดแจงภิกษามีข้าวแดงราวแล่งหนึ่งๆ เพื่อภิกษุเหล่านั้น พระมหาโมคคัลลานเถระเห็นภิกษุเหล่านั้นลำบาก ได้มีความประสงค์จะให้ภิกษุฉันง้วนดิน และประสงค์จะให้พวกภิกษุเข้าไปสู่อุตตรกุรุทวีปเพื่อบิณฑบาต พระศาสดาได้ทรงห้ามท่านเสีย พวกภิกษุมิได้มีความสะดุ้งเพราะปรารภบิณฑบาตแม้สักวันหนึ่ง พวกภิกษุทั้งหลายเว้นความประพฤติด้วยอำนาจความอยากแล้วดำรงอยู่ พระศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชานั้นสิ้นไตรมาสแล้ว ทรงอำลาเวรัญชพราหมณ์ มีสักการะสัมมานะอันพราหมณ์นั้นกระทำแล้ว ทรงให้เขาตั้งอยู่ในสรณะแล้วเสด็จออกจากเมืองเวรัญชานั้น เสด็จจาริกไปโดยลำดับ

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๒๓๖ - ๒๔๔