Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๖๖

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

พรรษาที่ ๑๒

เมืองเวรัญชา

                   พระอาจารย์ได้แสดงว่า พรรษาที่ ๑๒ พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาที่เมืองเวรัญชา เมืองเวรัญชานี้เข้าใจว่าอยู่ระหว่างเมืองมธุรากับเมืองสาวัตถี เพราะในเส้นทางที่เสด็จไปจำพรรษาที่ ๑๒ ณ เวรัญชานั้น เสด็จจากเมืองมธุรา และใน มัชฌิมนิกาย เวรัญชกสูตร มีกล่าวถึงชาวเวรัญชาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี อันแสดงว่า ๒ เมืองนี้อยู่ไม่ไกลกัน ใน สมันตปาสาทิกา อธิบายว่า เส้นทางจากเมืองเวรัญชาไปเมืองพาราณสีนั้น เป็นทางตรงหรือทางลัด ณ เมืองเวรัญชานี้ พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษา ณ โคนไม้สะเดา ซึ่งมีศาลหรือเทวาลัยของยักษ์ชื่อ นเฬรุ ตั้งอยู่ จึงเรียกไม้สะเดานี้ว่า นเฬรุปุจิมันท และสถานที่ดังกล่าวนี้เป็นบริเวณป่าหรือสวนชานเมืองเวรัญชา ในระหว่างที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษา ณ เมืองเวรัญชานั้น เป็นเวลาที่เมืองเวรัญชากำลังอยู่ในภาวะทุพภิกขภัย เป็นเหตุให้ภิกษุต้องประสบความลำบาก จะแสดงเรื่องที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชานี้ด้วยพระสูตรต่างๆ เป็นต้น

ปฐมสังวาสสูตร1

                   ว่าด้วยความอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยา ๔

                  สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพระพุทธดำเนินทางไกล อยู่ระหว่างเมืองมธุรากับเมืองเวรัญชา ฝ่ายคฤหบดีและคหปตานีจำนวนมาก ก็เดินทางไกลอยู่ในระหว่างนั้นด้วย คราวนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จแวะไปประทับที่โคนไม้แห่งหนึ่ง คฤหบดีและคหปตานีเหล่านั้นได้เห็นพระองค์ประทับอยู่ก็พากันไปเฝ้าถวายอภิวาทแล้วต่างนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า คฤหบดีและคหปตานีทั้งหลาย สังวาสะหรือสังวาส คือความอยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยา มี ๔ ประเภท

                   สังวาส ๔ ประเภทมีอะไรบ้าง คือชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผี ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผี ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา

                  ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผีเป็นอย่างไร สามีเป็นคนทำปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร พูดมุสา ดื่มสุราเมรัย เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก มีใจกลุ้มไปด้วยมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มักด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฝ่ายภรรยาก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน อย่างนี้ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผี

                ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาเป็นอย่างไร สามีเป็นคนทำปาณาติบาตเป็นต้น มักด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฝ่ายภรรยาเป็นผู้เว้นจากปาณาติบาตเว้นจากอทินนาทาน เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากมุสาวาท เว้นจากการดื่มสุราเมรัย เป็นคนมีศีลมีธรรมงาม มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่อยู่ครองเรือน ไม่ด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย อย่างนี้ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา

                 ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผีเป็นอย่างไร สามีเป็นผู้เว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ไม่ด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฝ่ายภรรยาเป็นผู้ทำปาณาติบาตเป็นต้น ด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย อย่างนี้ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผี

                  ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาเป็นอย่างไร สามีเป็นผู้เว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ไม่ด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฝ่ายภรรยาก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน อย่างนี้ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา

                  คฤหบดีและคหปตานีทั้งหลาย นี้แลสังวาส ๔ ประเภท

                 ทั้งคู่เป็นคนทุศีล ตระหนี่ และด่าว่าสมณพราหมณ์ หญิงชายคู่นั้นเป็นภรรยาและสามีผีอยู่ร่วมกัน

                   สามีเป็นคนทุศีล ตระหนี่ และด่าว่าสมณพราหมณ์ ภรรยาเป็นคนมีศีล ใจบุญ ไม่ตระหนี่ นางนั้นเป็นหญิงเทวดา อยู่ร่วมกับสามีผี

                   สามีเป็นคนมีศีล ใจบุญ ไม่ตระหนี่ ภรรยาเป็นคนทุศีล ตระหนี่ และด่าว่าสมณพราหมณ์ นางนั้นเป็นหญิงผี อยู่ร่วมกับสามีเทวดา

                   ทั้งคู่เป็นคนมีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ สำรวมในศีล เลี้ยงชีพโดยชอบ หญิงชายคู่นั้นเป็นภรรยาสามีพูดคำอ่อนหวานต่อกัน ย่อมบังเกิดความเจริญมาก อยู่ด้วยกันเป็นผู้มีความผาสุก พวกศัตรูของภรรยาสามีที่มีความประพฤติดีสมกัน ย่อมเสียใจ กามกามีคือผู้ที่ยังมีความใคร่ในกามทั้งคู่ ผู้มีศีลและพรตเสมอกัน ครั้นประพฤติชอบในโลกนี้แล้ว ละโลกนี้ไป ย่อมยินดีบันเทิงใจในเทวโลก

 

เรื่องเวรัญชพราหมณ์1

                   โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ โคนสะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ได้ฟังข่าวตระหนักแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวชจากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ บริเวณต้นไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิตเขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็แลพระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์ แม้เพราะเหตุนี้ ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ แม้เพราะเหตุนี้ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ แม้เพราะเหตุนี้เสด็จไปดี แม้เพราะเหตุนี้ ทรงทราบโลก แม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า แม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย แม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพุทธะ แม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เพราะเหตุนี้ พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกมารโลกพรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสั่งสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทพและมนุษย์ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้นเป็นความดี

 

เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้า

                   หลังจากนั้นเวรัญชพราหมณ์ได้ไปในพระพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิงเป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เวรัญชพราหมณ์นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระโคดมไม่ไหว้ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อที่ข้าพเจ้าทราบมานี้นั้น เป็นเช่นนั้นจริง อันการที่ท่านพระโคดมไม่ไหว้ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะนี้นั้น ไม่สมควรเลย

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลกมารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทพและมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะว่าตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดตกไป

                   เวรัญชพราหมณ์กล่าวกราบทูลว่า ท่านพระโคดม มีปกติไม่ไยดี

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมมีปกติไม่ไยดีดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะความไยดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มีในภายหลัง ไม่มีเกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมมีปกติไม่ไยดี ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

                   เวรัญชพราหมณ์ทูลว่า ท่านพระโคดมไม่มีสมบัติ

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเรา

ว่าพระสมณโคดมไม่มีสมบัติ ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะสมบัติคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มีในภายหลัง ไม่มีเกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่มีสมบัติ ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

                   เวรัญชพราหมณ์ทูลว่า ท่านพระโคดมกล่าวการไม่ทำ

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

                   เวรัญชพราหมณ์ทูลว่า ท่านพระโคดมกล่าวการขาดสูญ

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

                   เวรัญชพราหมณ์ทูลว่า ท่านพระโคดมช่างรังเกียจ

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

                   เวรัญชพราหมณ์ทูลว่า ท่านพระโคดมช่างกำจัด

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

                   เวรัญชพราหมณ์ทูลว่า ท่านพระโคดมช่างเผาผลาญ

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล ถือกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรมซึ่งเป็นบาปอกุศลที่ควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มีในภายหลัง ไม่มีเกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนชอบเผาผลาญ พราหมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มีในภายหลัง ไม่มีเกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

                   เวรัญชพราหมณ์ทูลว่า ท่านพระโคดมไม่ผุดเกิด

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มีในภายหลัง ไม่มีเกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ผุดเกิดการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มีในภายหลัง ไม่มีเกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่าพระสมณโคดมไม่ผุดเกิด ดั่งนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว

 

ทรงอุปมาด้วยลูกไก่

                   ดูก่อนพราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไก่ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไก่เหล่านั้นอันแม่ไก่กกดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้นลูกไก่ตัวใดทำลายกระเปาะฟองด้วยปลายเล็บเท้าหรือด้วยจะงอยปาก ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่า พี่ หรือน้อง

                   เวรัญชพราหมณ์ทูลว่า ท่านพระโคดม ควรเรียกว่า พี่ เพราะมันแก่กว่าเขา

 

ฌาน ๔ และ วิชชา ๓

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราก็เหมือนอย่างนั้นแลพราหมณ์ เมื่อประชาชนผู้ตกอยู่ในอวิชชา เกิดในฟอง อันกระเปาะฟองหุ้มห่อไว้ ผู้เดียวเท่านั้นในโลกได้ทำลายกระเปาะฟองคืออวิชชา แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุดประเสริฐที่สุดของโลก เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้วแล ไม่ย่อหย่อน สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง

                   ปฐมฌาน เรานัน้ แลสงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกศุ ลกรรม ไดบ้ รรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่

                   ทุติยฌาน เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่

                   ตติยฌาน เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป ได้บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่าเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้

                   จตุตถฌาน เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์และสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโทมนัสโสมนัสก่อนๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

                   บุพเพนิวาสานุสติญาณ เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การทำงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสติญาณ คือความรู้ระลึกถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น โคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพโน้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอุเทศ พร้อมทั้งอาการ ด้วยประการฉะนี้

                   พราหมณ์ วิชชาที่ ๑ นี้แล เราได้บรรลุแล้ว ในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่ ๑ ของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ฉะนั้น

                   จุตูปปาตญาณ เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติ ความเคลื่อน และอุปบัติ ความเข้าถึงของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ เคลื่อน กำลังอุปบัติ เข้าถึง เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่กายแตกตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้า แต่กายแตกตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรม ด้วยประการดังนี้

                   พราหมณ์ วิชชาที่ ๒ นี้แล เราได้บรรลุแล้ว ในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่ ๒ ของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ฉะนั้น

                   อาสวักขยญาณ เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้วได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุเกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้ว แม้จากกามาสวะได้หลุดพ้นแล้ว แม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้ว แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตได้หลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

                   พราหมณ์ วิชชาที่ ๓ นี้แล เราได้บรรลุแล้ว ในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่ ๓ ของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ฉะนั้น

 

เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก

                   เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้ทูลคำนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดั่งนี้ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับอาราธนาอยู่จำพรรษาที่เมืองเวรัญชาของข้าพเจ้าเถิด

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณี ครั้นเวรัญชพราหมณ์ทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณหลีกไป

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๒๑๓ - ๒๒๖