Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๖๕

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

 

ชีวกสูตร1

                   สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดั่งนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดั่งนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ากล่าวตรงกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ไม่ชื่อว่า กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำอันไม่เป็นจริง ชื่อว่า ยืนยันธรรมอันสมควรแก่ธรรมและสหธรรมิกผู้กล่าวตามวาทะจะไม่ถึงข้อติเตียนหรือ

                   พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนชีวก ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดั่งนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่า กล่าวตรงกับที่เรากล่าวหามิได้ ชื่อว่า กล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง ดูก่อนชีวกเรากล่าวว่า เนื้อเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือเนื้อที่ตนเห็น ๑ เนื้อที่ตนได้ยิน ๑ เนื้อที่ตนรังเกียจ ๑ เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือเนื้อที่ตนไม่ได้เห็น ๑ เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน ๑ เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ ๑ ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล

 

การแผ่เมตตา

                   ดูก่อนชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า โดยความมีตนทั่วไป ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียนอยู่ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีเข้าไปหาเธอ แล้วนิมนต์ด้วยภัตเพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น ดูก่อนชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ก็รับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีนั้นอังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดำริว่าดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีผู้นี้อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีตดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เธอ แม้ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีผู้นี้พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตเช่นนี้แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอเธอไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องถอนตน บริโภคอยู่ ดูก่อนชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนว่า ในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้างหรือชีวกกราบทูลว่า ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษ มิใช่หรือ

                   ชีวกกราบทูลว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมีปกติอยู่ในเมตตา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นองค์พยานปรากฏแล้วด้วยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา

                   พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนชีวก บุคคลพึงมีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้นตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ดูก่อนชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะเป็นต้นนี้ เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน

                   ชีวกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าหมายเอาการละราคะ โทสะ และโมหะเป็นต้นนี้

 

การแผ่กรุณา มุทิตา อุเบกขา

                   พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจประกอบด้วยกรุณา ประกอบด้วยมุทิตา ประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า โดยความมีตนทั่วไป ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีเข้าไปหาเธอ แล้วนิมนต์ด้วยภัตเพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น ดูก่อนชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ก็รับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีนั้น พึงอังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดำริว่า ดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีผู้นี้อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีต ดั่งนี้ย่อมไม่มีแก่เธอ แม้ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีผู้นี้พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตเช่นนี้แม้ต่อไป ดั่งนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องถอนตน บริโภคอยู่ ดูก่อนชีวก ท่านจะสำคัญวามข้อนั้นเป็นไฉนว่า ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้างหรือ

                   ชีวกกราบทูลว่า ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า

                   พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษ ไม่ใช่หรือ

                   ชีวกกราบทูลว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมีปกติอยู่ด้วยกรุณา มุทิตา อุเบกขา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าสดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นองค์พยานปรากฏแล้ว ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีปกติอยู่ด้วยกรุณา มุทิตา อุเบกขา

                   พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนชีวก บุคคลพึงมีความเบียดเบียน มีความไม่ยินดี มีความกระทบกระทั่ง เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ดูก่อนชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะเป็นต้นนี้ เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน

                   ชีวกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะเป็นต้นนี้

 

ฆ่าสัตว์ทำบุญ ได้บาปด้วยเหตุ ๕ ประการ

                   พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์ เจาะจงตถาคตหรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ

                   ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย จงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา ดังนี้ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๑ นี้

                   สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๒ นี้

                   ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่า ย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้

                   สัตว์นั้นเมื่อเขากำลังฆ่า ย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้

                   ผู้นั้นย่อมยังตถาคตและสาวกตถาคตให้ยินดีด้วยเนื้อ เป็นอกัปปิยะชื่อว่า ย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๕ นี้

                   ดูก่อนชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์ เจาะจงตถาคตหรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้

                   เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายย่อมฉันอาหารอันไม่มีโทษหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลผู้หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจรญิ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล

                   อรรถกถาของพระสูตรนี้ ได้แสดงว่า ที่ชื่อว่า ชีวกะ เพราะยังเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่ ที่ชื่อว่า โกมารภัจจ์ เพราะพระราชกุมารชุบเลี้ยงไว้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระกุมารหมายถึงพระอภัยราชกุมารถามว่า นั่นอะไร พนาย ฝูงกาจึงเกลื่อนกลาด พวกราชบุรุษทูลว่า ทารกพระเจ้าข้า ตรัสถามว่า ยังเป็นอยู่หรือ พนาย ทูลตอบว่า ยังเป็นอยู่พระเจ้าข้า จึงตรัสสั่งให้นำทารกเข้าวังมอบให้แม่นมเลี้ยงดู ชนทั้งหลายจึงตั้งชื่อทารกนั้นว่า ชีวกะ เพราะยังเป็นอยู่ และตั้งสร้อยชื่อว่า โกมารภัจจ์ เพราะพระราชกุมารให้ชุบเลี้ยงไว้

                   ในพระสูตรนี้ มีความสังเขปดังได้กล่าวมานี้ ส่วนเรื่องโดยพิสดาร มาใน ชีวกวัตถุ ใน ขันธกวินัย แม้คำวินิจฉัยเรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์นั้น ท่านก็ได้กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาพระวินัยชื่อสมันตปาสาทิกา

                   หมอชีวกะหรือหมอชีวกโกมารภัจจ์ผู้นี้ ถวายพระโอสถระบายอ่อนๆ ระบายพระกายที่มากไปด้วยโทษของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เวลาจบอนุโมทนา ถวายผ้าคู่ที่ได้มาจากแคว้นสีพี ดำริว่า เราต้องไปเฝ้าอุปัฏฐากพระพุทธองค์วันละ ๒-๓ ครั้ง พระเวฬุวันแห่งนี้ก็อยู่ไกลเกินไป สวนมะม่วงของเรายังใกล้กว่า อย่าเลย เราจะสร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าในสวนมะม่วงของเรานี้แหละ ดังนั้น จึงให้สร้างที่เร้น กุฎี และมณฑป เป็นต้น สำหรับพักกลางคืนและพักกลางวัน สร้างพระคันธกุฎีที่เหมาะแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าในสวนอัมพวันนั้น สร้างกำแพงสีแผ่นทองแดง สูง ๑ศอก ล้อมสวนอัมพวันไว้ อังคาสเลี้ยงภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยภัตตาหาร พร้อมด้วยจีวรและหลั่งทักษิโณทกมอบถวายวิหาร

                   บรรดาส่วนทั้ง ๓ มีส่วนที่เห็นแล้วเป็นต้น เห็นเขาฆ่าเนื้อและปลา แล้วเอามาทำอาหารถวายภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า ส่วนที่เห็นแล้ว

                   ได้ยินว่า เขาฆ่าปลาและเนื้อ เอามาถวายภิกษุ ชื่อว่า ส่วนที่ได้ยินแล้ว

                   ส่วนที่สงสัยมี ๓ อย่าง คือส่วนที่สงสัยว่าได้เห็นมา ส่วนที่สงสัยว่าได้ยินมา ส่วนที่สงสัยอันนอกไปจากทั้ง ๒ อย่างนั้น ชื่อว่า ส่วนที่ตนรังเกียจ ในส่วนที่สงสัยทั้ง ๓ นั้น มีวินิจฉัยรวบรัดดังนี้

                   ภิกษุทั้งหลายในพระศาสนานี้ เห็นคนทั้งหลายถือตาข่ายและแหเป็นต้น กำลังออกไปจากบ้านหรือกำลังเที่ยวอยู่ในป่า พอวันรุ่งขึ้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตในบ้านหลังนั้น คนเหล่านั้นก็นำบิณฑบาต (อาหาร) ที่มีปลาเนื้อเหล่านั้นถวาย ภิกษุเหล่านั้นก็สงสัยโดยการเห็นนั้นว่า ปลาเนื้อเขาทำมาเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายหรือหนอ นี้ชื่อว่า สงสัยโดยเห็น รับอาหารที่สงสัยโดยเห็นนั้นไม่ควร อาหารใดภิกษุไม่ได้สงสัยอย่างนั้น รับอาหารนั้นก็ควร ก็ถ้าคนเหล่านั้นถามว่า ท่านเจ้าข้า เหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่รับ ฟังคำตอบของภิกษุแล้วก็กล่าวว่า อาหารนี้พวกเราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายดอก แต่เราทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง และเพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการเป็นต้นต่างหาก รับอาหารนั้นก็ควร

                   ภิกษุทั้งหลายไม่เห็นอย่างนั้นเลย แต่ได้ยินมาว่า เขาว่าคนทั้งหลายถือตาข่ายและแหเป็นต้น ออกจากบ้านไปหรือเที่ยวไปในป่า รุ่งขึ้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น คนเหล่านั้นก็นำบิณฑบาตที่มีปลาเนื้อมาถวาย ภิกษุเหล่านั้นก็สงสัยโดยการได้ยินนั้นว่า เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายหรือหนอ นี้ชื่อว่า สงสัยโดยได้ยินมา รับอาหารนั้นไม่ควร อาหารใดมิได้สงสัยอย่างนั้น รับอาหารนั้นก็ควร แต่ถ้าคนทั้งหลายถามว่า ท่านเจ้าข้าเหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่รับ ฟังคำตอบของภิกษุเหล่านั้นแล้วก็กล่าวว่า ท่านเจ้าข้าอาหารนี้พวกเรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายดอก แต่พวกเราทำเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่พวกข้าราชการเป็นต้นต่างหาก รับอาหารนั้นก็ควร

                   อนึ่ง ภิกษุไม่เห็น ไม่ได้ยินมา เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น คนทั้งหลายรับบาตรเอาไปตกแต่งบิณฑบาตที่มีปลาเนื้อ นำไปถวายภิกษุเหล่านั้นก็สงสัยว่า เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายหรือหนอ นี้ชื่อว่า สงสัยนอกไปจากทั้ง ๒ อย่างนั้น รับอาหารแม้นั้นก็ไม่ควร อาหารใดมิได้สงสัยอย่างนั้น รับอาหารนั้นก็ควร แต่ถ้าคนเหล่านั้นถามว่า ท่านเจ้าข้าเหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่รับ ฟังคำตอบของพวกภิกษุแล้วก็กล่าวว่า ท่านเจ้าข้าอาหารพวกนี้เรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายดอก เราทำเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือว่าเพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการเป็นต้นต่างหาก หรือว่าพวกเราได้ปวัตตมังสะคือเนื้อที่เขามีอยู่แล้ว เป็นของกัปปิยะ (ควร) ทั้งนั้น จึงตบแต่งเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทัง้ หลาย รับอาหารนั้นก็ควร ในอาหารที่เขาทำเพื่อประโยชน์เป็นเปตกิจคืออุทิศสำหรับคนที่ตายไปแล้ว หรือเพื่อประโยชน์

แก่งานมงคลเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน

                   แท้จริงอาหารใดๆ ที่เขาไม่ได้กระทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย และภิกษุทั้งหลายก็มิได้เคลือบแคลงสงสัยในอาหารอันใด รับอาหารนั้นทุกอย่างก็ควร แต่ถ้าอาหารเขาทำเจาะจงภิกษุทั้งหลายในวัดหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่าเขาทำเพื่อประโยชน์แก่ตน ภิกษุเหล่าอื่นรู้ ภิกษุเหล่าใดรู้ อาหารนั้นก็ไม่ควรแก่ภิกษุเหล่านั้น ควรแก่ภิกษุนอกจากนี้ ภิกษุเหล่าอื่นไม่รู้ ภิกษุเหล่านั้นเท่านั้นรู้ อาหารนั้นก็ไม่ควรแก่ภิกษุเหล่านั้น ควรแก่ภิกษุเหล่าอื่น แม้ภิกษุเหล่านั้นรู้ว่าเขาทำเพื่อประโยชน์แก่พวกเรา แม้ภิกษุเหล่าอื่นก็รู้ว่า เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุเหล่านั้น อาหารนั้นก็ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหมด ภิกษุทั้งหมดไม่รู้ ก็ควรแก่ภิกษุทั้งหมดนั่นแหละ

                   บรรดาสหธรรมิก ๕ ประเภท อาหารที่เขาทำเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมไม่ควรแก่สหธรรมิกหมดทุกรูป แต่ถ้าบางคนเขาฆ่าสัตว์เจาะจงภิกษุรูปหนึ่ง แล้วบรรจุบาตรเต็มด้วยเนื้อสัตว์นั้นถวาย แม้ภิกษุนั้นก็รู้อยู่ว่าเขาทำเพื่อประโยชน์แก่ตน ครั้นรับแล้ว ก็ถวายแก่พระภิกษุรูปอื่น ภิกษุนั้นก็ฉันด้วยความเชื่อถือภิกษุนั้น ถามว่า ใครเป็นอาบัติ ตอบว่า ไม่เป็นอาบัติทั้ง ๒ รูป เพราะว่าอาหารใดเขาทำเจาะจงแก่เธอ เธอก็ไม่เป็นอาบัติ เพราะเธอไม่ฉันอาหารนั้น อีกรูปหนึ่งฉัน ก็ไม่เป็นอาบัติเพราะไม่รู้ ในการรับกัปปิยมังสะคือเนื้อที่สมควรแก่สมณะ ไม่เป็นอาบัติ ภิกษุไม่รู้ว่าเป็นอุทิสสมังสะคือเนื้อที่เขาทำเจาะจง มารู้ภายหลังที่ฉันแล้ว ก็ไม่มีกิจคือการแสดงอาบัติ ส่วนภิกษุไม่รู้ว่าเป็นอกัปปิยมังสะคือเนื้อที่ไม่สมควร มารู้ภายหลังฉันแล้ว ต้องแสดงอาบัติ ภิกษุรู้ว่าเป็นอุทิสสมังสะเนื้อที่เจาะจง แล้วฉัน เป็นอาบัติ ถึงแม้ภิกษุไม่รู้ว่าเป็นอกัปปิยมังสะ มังสะที่ไม่สมควร แล้วฉัน ก็เป็นอาบัติทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้กลัวอาบัติ แม้กำหนดดูรูปลักษณะอาหารอยู่ ถามแล้วค่อยรับมังสะคือเนื้อ หรือเธอรับโดยคิดว่า ในเวลาฉันจักถามแล้วฉัน ควรถามแล้วค่อยฉัน ถามว่า เพราะอะไร เพราะว่าเป็นของที่รู้ได้ยากจริงอยู่ เนื้อหมีก็เหมือนๆ กับเนื้อหมู แม้เนื้อเสือเหลืองเป็นต้นก็คล้ายกับเนื้อมฤค เพราะฉะนั้น พระอาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า ถามแล้วค่อยรับจึงควร

                   คำว่า ไม่เห็น คือไม่เห็นเนื้อที่เขาฆ่า แล้วเอามาเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย

                   คำว่า ไม่ได้ยิน คือไม่ได้ยินว่า เขาฆ่าแล้วเอามาเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย

                   คำว่า ไม่สงสัย คือไม่สงสัยด้วยอำนาจสงสัยว่าเห็นมา เป็นต้น

                   มังสะที่บริสุทธิ์ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ ชื่อว่า บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ จริงอยู่ การฉันมังสะที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ นั้น ก็เช่นเดียวกับฉันกับข้าวและผักดองที่เกิดเองในป่า ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา ฉันมังสะเช่นนั้นย่อมไม่มีโทษ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ก็มังสะนั้นควรฉันได้

                   คนที่ให้ภิกษุฉันเนื้อหมีด้วยให้เชื่อว่าเนื้อหมู ฉันเนื้อเสือเหลืองโดย ให้เชื่อว่าเนื้อมฤค แล้วพูดเสียดสีว่า ท่านยังชื่อว่า สมณะหรือ ท่านฉันอกัปปิยมังสะ เนื้อที่ไม่สมควร เชื่อว่าให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ส่วนคนเหล่าใดรู้ว่าเนื้อหมีเหมือนเนื้อหมู เนื้อเสือเหลืองเหมือนเนื้อมฤค ในยามหาอาหารยากหรือใช้เยียวยาความเจ็บไข้ ก็พูดว่า นี้เนื้อหมู นี้เนื้อมฤค ให้ภิกษุฉันด้วยอัธยาศัยเกื้อกูล พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงหมายถึงคนเหล่านั้นคือคำตรัสมิได้หมายถึงคนเหล่านั้น คนเหล่านั้นย่อมได้บุญเป็นอันมาก

                   ส่วนหมอชีวกเป็นอริยสาวกผู้ประสบผล ผู้รู้คำสั่งสอน เป็นผู้ถึงสัจจะแล้ว แต่หยั่งซึ้งพระธรรมเทศนานี้ เกิดความเลื่อมใส เมื่อจะกระทำการชมเชย(สดุดี) พระธรรมกถา จึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระบาทนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งพระธรรม ทั้งพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะอนึ่ง ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ในคำนั้น ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัสคำว่าภิกษุไว้โดยไม่เจาะจงแม้ก็จริง แต่ที่แท้พึงทราบว่า ทรงหมายถึงพระองค์นั่นเอง จึงตรัสอย่างนี้ จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงพระองค์เองนั่นแหละ ใน ๓ อาคตสถาน คือใน ๓ ที่มา คือใน มหาวัจฉโคตตสูตร ใน จังกีสูตร และในสูตรนี้ แล้วทรงแสดงเทศนา

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๒๐๒ - ๒๑๑