Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๖๔

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

ประวัติท่านพระมหากัสสปะ

                       ในอรรถกถาจีวรสูตร กัสสปสังยุต สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ได้เล่าประวัติของท่านพระมหากัสสปเถระตั้งแต่ต้น เมื่อท่านเป็นมาณพชื่อว่า ปิปผลิมาณพ ตามอรรถกถานี้ได้เล่าไว้ว่า ปิปผลิมาณพนี้เกิดในท้องของอัครมเหสีของกบิลพราหมณ์ ในบ้านพราหมณ์มหาดิตถ์ แคว้นมคธ ส่วนภรรยาคือนางภัททกาปิลานี เกิดในท้องของอัครมเหสีของพราหมณ์โกสิยโคตร ในสาคลนคร แคว้นมคธ เมื่อเขาเจริญวัยโดยลำดับ ปิปผลิมาณพอายุ ๒๐ นางภัททาอาย ๑๖ มารดาบิดาแลดูบุตร คาดคั้นเหลือเกินว่า ลูกเอ๋ย ลูกเติบโตแล้ว ควรดำรงวงศ์ตระกูล มาณพกล่าวว่า คุณพ่อคุณแม่ อย่าพูดถ้อยคำเช่นนี้ให้เข้าหูลูกเลย ลูกจะปรนนิบัติตราบเท่าที่คุณพ่อคุณแม่ดำรงอยู่ ลูกจักออกบวชภายหลังคุณพ่อคุณแม่สิ้นแล้ว ล่วงไปอีกเล็กน้อย มารดาบิดาก็พูดอีก แม้มาณพก็ปฏิเสธเหมือนอย่างเดิม

                       ตั้งแต่นั้นมามารดาก็ยังพูดอยู่ไม่ขาดเลย มาณพคิดว่า เราจักให้มารดายินยอมเรา จึงให้ทองสีแดงพันลิ่ม ให้ช่างทองหล่อรูปหญิงคนหนึ่ง เมื่อสำเร็จการขัดสีรูปหญิงนั้น จึงให้นุ่งผ้าแดง ให้ประดับด้วยดอกไม้ สมบูรณ์ด้วยสี และด้วยเครื่องประดับต่างๆ แล้วเรียกมารดามาบอกว่า แม่จ๋า ลูกเมื่อได้อารมณ์เห็นปานนี้ จักดำรงอยู่ในเรือน เมื่อไม่ได้จักไม่ดำรงอยู่ พราหมณีเป็นหญิงฉลาดคิดว่า ลูกของเรามีบุญ ให้ทาน สร้างสมความดี เมื่อทำบุญมิได้ทำเพียงผู้เดียวเท่านั้น จักมีหญิงที่ทำบุญไว้มาก มีรูปเปรียบรูปทองเช่นรูปหญิงนี้แน่นอน จึงเรียกพราหมณ์ คนมา ให้อิ่มหนำสำราญด้วยความใคร่ทุกชนิด ให้ยกรูปทองขึ้นใส่รถแล้วสั่งว่า ไปเถิด พวกท่านจงค้นหาทาริกาเห็นปานนี้ในตระกูลที่เสมอด้วยชาติโคตรและโภคะของเรา พวกท่านจงให้รูปทองนี้เป็นของหมั้นหมาย พราหมณ์เหล่านั้นออกไปด้วยคิดว่า นี้เป็นงานของพวกเรา แล้วคิดต่อไปว่า เราจักไปที่ไหน รู้ว่าแหล่งเกิดของหญิงงามมีอยู่ในมัททรัฐ เราจักไปมัททรัฐ จึงพากันไปสาคลนครในมัททรัฐ พวกพราหมณ์ตั้งรูปทองนั้นไว้ที่ท่าน้ำ แล้วพากันไปนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

                       ครั้งนั้น พี่เลี้ยงของนางภัททา ให้นางภัททาอาบน้ำแต่งตัวแล้ว ให้นั่งในห้องอันเป็นสิริ แล้วมาอาบน้ำครั้นเห็นรูปนั้น จึงคุกคามด้วยสำคัญว่าลูกสาวนายของเรามาอยู่ในที่นี้ กล่าวว่า คนหัวดื้อ เจ้ามาที่นี้ทำไม เงื้อหอกคือฝ่ามือตบนางภัททาที่สีข้าง กล่าวว่า จงรีบไปเสีย มือสะท้านเหมือนกระทบที่หิน พี่เลี้ยงหลีกไปแล้วกล่าวว่า รูปนี้กระด้างอย่างนี้ เราเห็นแล้วนึกว่าลูกสาวนายของเรา ที่แท้รูปนี้แม้จะเป็นผู้ถือผ้านุ่งให้ลูกสาวนายของเราก็ยังไม่คู่ควร

                       ลำดับนั้น พวกคนล้อมพี่เลี้ยงนั้นแล้วพากันถามว่า ลูกสาวนายของท่านมีรูปอย่างนี้หรือ นางกล่าวว่า อะไรกัน แม่หญิงของเรามีรูปงามกว่าหญิงนี้ตั้งร้อยเท่าพันเท่า เมื่อนางนั่งอยู่ในห้องประมาณ ๑๒ ศอก ไม่ต้องตามประทีป เพียงความสว่างของร่างกายเท่านั้นก็กำจัดความมืดได้ พวกมนุษย์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงมา พาหญิงค่อมนั้นไป ให้ยกรูปทองไว้ในรถ ตั้งไว้ที่ประตูเรือนของพราหมณ์โกสิยโคตร ประกาศให้รู้ว่ามา พราหมณ์ทำปฏิสันถารแล้วถามว่า พวกท่านมาแต่ไหน พวกมนุษย์กล่าวว่า พวกเรามาแต่เรือนของกบิลพราหมณ์ ณ บ้านมหาดิตถ์ ในแคว้นมคธ ด้วยเหตุชื่อนี้ พราหมณ์กล่าวว่า ดีแล้วพ่อคุณ พราหมณ์ของพวกเรามีชาติโคตรและสมบัติเสมอกัน เราจักให้นางทาริกา แล้วรับบรรณาการไว้

                       พราหมณ์เหล่านั้นส่งข่าวให้กบิลพราหมณ์ทราบว่า ได้นางทาริกาแล้ว โปรดทำสิ่งที่ควรทำเถิด มารดาบิดาฟังข่าวนั้นแล้วจึงบอกแก่ปิปผลิมาณพว่า ข่าวว่าได้นางทาริกาแล้ว มาณพคิดว่า เราคิดว่าเราจักไม่ได้ ก็มารดาบิดากล่าวว่าได้แล้ว เราไม่ต้องการ จักส่งหนังสือไป จึงไปในที่ลับ เขียนหนังสือว่า แม่ภัททา จงครองเรือนตามสมควรแก่ชาติโคตรและโภคะของตนเถิด เราจักออกบวช ท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังเลย แม้นางภัททาก็สดับว่ามารดาบิดาประสงค์จะยกเราให้แก่ผู้โน้น จึงไปในที่ลับ เขียนหนังสือว่า บุตรผู้เจริญ จงครองเรือนตามสมควรแก่ชาติโคตรและโภคะของตนเถิด เราจักบวชท่านอย่าได้เดือดร้อนในภายหลังเลย หนังสือแม้ทั้ง ๒ ได้มาถึงพร้อมกันในระหว่างทาง ชนทั้งหลายถามว่า นี้หนังสือของใคร ตอบว่า ปิปผลิมาณพส่งให้นางภัททา ถามว่า นี้หนังสือของใคร ตอบว่า นางภัททาส่งให้ปิปผลิมาณพ ทั้ง ๒ ฝ่ายก็ได้พูดขึ้นว่า พวกท่านจงดูการกระทำของพวกทารกเถิด จึงเปิดดูแล้วทิ้งเสียในป่า เขียนหนังสือมีความเหมือนกันส่งไปทั้งข้างนี้และข้างโน้น เมื่อคนทั้ง ๒ ไม่ปรารถนาเหมือนกันนั่นแหละ ก็ได้มีการอยู่ร่วมกัน ก็ในวันนั้นเอง มาณพก็ให้ร้อยพวงดอกไม้พวงหนึ่ง แม้นางภัททาก็ให้ร้อยพวงหนึ่ง แม้คนทั้ง ๒ บริโภคอาหารในเวลาเย็นแล้ว จึงวางพวงดอกไม้เหล่านั้นไว้กลางที่นอน คิดว่าเราทั้ง ๒ จักเข้านอน มาณพนอนข้างขวา นางภัททานอนข้างซ้าย คนทั้ง ๒ นั้นเพราะกลัวการถูกต้องร่างกายกันและกัน จึงนอนไม่หลับจนล่วงไปตลอด ๓ ยาม แม้เพียงหัวเราะกันในเวลากลางวันก็ไม่มี คนทั้ง ๒ มิได้ร่วมกันด้วยโลกามิส เขาทั้ง ๒ มิได้สนใจสมบัติตลอดเวลาที่มารดาบิดายังมีชีวิตอยู่ เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมแล้วจึงสนใจ

                       มาณพมีสมบัติมาก ในวันหนึ่งควรได้ผงทองคำที่ขัดสีร่างกายแล้วทิ้งไว้ประมาณ ๑๒ ทะนานโดยทะนานของชาวมคธ มีสระใหญ่ติดเครื่องยนต์ ๖๐ แห่ง มีพื้นที่ทำการงาน ๑๒ โยชน์ มีบ้านทาส ๑๔ แห่งเท่าอนุราธบุรี มีช้างศึก ๑๔ เชือก รถ ๑๔ คัน วันหนึ่งมาณพขี่ม้าที่ตกแต่งแล้ว มีมหาชนแวดล้อมไปยังพื้นที่การงาน ยืนในที่สุดเขต เห็นนกมีกาเป็นต้นจิกสัตว์มีไส้เดือนเป็นต้นกินจากที่ถูกไถพลิกขึ้น จึงถามว่า นกเหล่านี้กินอะไร ตอบว่ากินไส้เดือนจ้ะนาย ถามว่า บาปที่นกเหล่านี้ทำจะมีแก่ใคร ตอบว่า แก่พวกท่านจ้ะนาย มาณพคิดว่า บาปที่นกเหล่านี้ทำจะมีแก่เรา ทรัพย์ ๗ โกฏิ จะทำอะไรเราได้ พื้นที่การงานประมาณ ๑๒ โยชน์จักทำอะไรได้ สระติดเครื่องยนต์ ๖๐ สระ หมู่บ้าน ๑๔ หมู่ จักทำอะไรได้ เราจักมอบสมบัติทั้งหมดให้แก่นางภัททา แล้วออกบวช

                       ในขณะนั้น แม้นางภัททกาปิลานี ก็ให้เทหม้องา ๓ หม้อลงในระหว่างพื้นที่ พวกพี่เลี้ยงนั่งล้อม เห็นกากินสัตว์ที่กินงา จึงถามว่า กาเหล่านี้กินอะไร แม่ ตอบว่า กินสัตว์จ้ะแม่นาย ถามว่า อกุศลจะมีแก่ใคร ตอบว่า จะมีแก่ท่านจ้ะแม่นาย นางคิดว่า เราควรได้ผ้าประมาณ ๔ ศอก และข้าวสุกประมาณทะนานหนึ่ง ก็ผิว่าอกุศลที่ชนประมาณเท่านี้ทำจะมีแก่เรา แต่เราไม่สามารถจะยกศีรษะขึ้นได้จากวัฏฏะตั้งพันภพ พอเมื่ออัยยบุตร (มาณพ) มาถึง เราจักมอบสมบัติทั้งหมดแก่เขา แล้วออกบวช

                       มาณพมาอาบน้ำแล้ว ขึ้นสู่ปราสาท นั่ง ณ บัลลังก์มีค่ามาก ลำดับนั้น ชนทั้งหลายจัดโภชนะอันสมควรแก่จักรพรรดิให้แก่เขา ทั้ง ๒ บริโภคแล้ว เมื่อบริวารชนออกไปแล้ว จึงไปนั่งในที่พูดเรื่องลับกันได้สะดวก แต่นั้นมาณพกล่าวกับนางภัททาว่า ดูก่อนแม่ภัททา ท่านมาสู่เรือนนี้นำทรัพย์มาเท่าไหร่ นางตอบว่า ๕๕,๐๐๐ เกวียนจ้ะนาย มาณพกล่าวว่า ทรัพย์ ๗ โกฏิและสมบัติมีสระติดเครื่องยนต์ ๖๐ สระ มีอยู่ในเรือนนี้ ทั้งหมดเรามอบให้แก่ท่านผู้เดียว นางถามว่า ก็ท่านเล่านาย ตอบว่า เราจักบวช นางกล่าวว่า แม้ฉันนั่งมองดูการมาของท่าน ฉันก็จักบวชจ้ะนาย ภพทั้ง ๓ เหมือนบรรณกุฎีที่ถูกไฟไหม้ ทั้ง ๒ คนกล่าวว่า เราจักบวชละ จึงให้นำผ้าเหลืองย้อมด้วยน้ำ ฝาดและบาตรดินเหนียวมาจากภายในตลาด ปลงผมให้กันและกัน บวชด้วยตั้งใจว่า บรรพชาของพวกเราอุทิศพระอรหันต์ในโลก เอาบาตรใส่ถลกคล้องบ่า ลงจากปราสาท บรรดาทาสและกรรมกรในเรือนไม่มีใครรู้เลย

                       ครั้งนั้น ชาวบ้านทาสจำเขาซึ่งออกจากบ้านพราหมณ์ไปทางประตูบ้านทาสได้ ด้วยสามารถจำอากัปกิริยา ชาวบ้านทาสต่างร้องไห้ หมอบลงแทบเท้า กล่าวว่า นายจ๋า นายจะทำให้ข้าพเจ้าไร้ที่พึ่งหรือ ทั้ง ๒ ตอบว่า เราทั้ง ๒ บวชด้วยคิดว่า ภพทั้ง ๓ นั้นเป็นเหมือนบรรณศาลาที่ถูกไฟไหม้เผาผลาญ หากเราทั้ง ๒ จะทำในพวกท่านคนหนึ่งๆ ให้เป็นไท แม้ร้อยปีก็ยังไม่หมด พวกท่านจงชำระศีรษะของพวกท่านแล้วจงเป็นไทเถิด เมื่อชนเหล่านั้นร้องไห้อยู่ ก็พากันหลีกไป

                       พระเถระเดินไปข้างหน้า เหลียวมองดูคิดว่า หญิงผู้มีค่าในสกลชมพูทวีปชื่อภัททกาปิลานีนี้ เดินมาข้างหลังเรา ข้อที่ใครๆ พึงคิดอย่างนี้ว่า เราทั้ง ๒ นี้ แม้บวชแล้วก็ไม่สามารถจะพรากจากกันได้ ย่อมกระทำกรรมอันไม่สมควร นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ อีกอย่างหนึ่ง ใครๆ พึงมีใจประทุษร้ายแล้วจะไปตกคลักในอบาย พระเถระจึงเกิดคิดขึ้นว่า เราควรละหญิงนี้ไป พระเถระไปข้างหน้าเห็นทาง ๒ แพร่ง จึงได้หยุดยืนในที่สุดทาง ๒ แพร่งนั้น แม้นางภัททาก็ได้มายืนไหว้ พระเถระกล่าวกับนางว่า แม่มหาจำเริญ มหาชนเห็นหญิงเช่นท่านเดินมาข้างหลังเราแล้วคิดว่า ท่านทั้ง ๒ นี้แม้บวชแล้วก็ไม่อาจจะพรากจากกันได้ จะพึงมีจิตคิดร้ายในพวกเรา จะไปตกคลักอยู่ในอบาย เธอจงถือเอาทางหนึ่งในทาง ๒ แพร่งนี้ ฉันจักไปผู้เดียว

                       นางภัททากล่าวว่า ถูกแล้วจ้ะ พระผู้เป็นเจ้า ชื่อว่ามาตุคามเป็นมลทินของพวกบรรพชิต ชนทั้งหลายจะชี้โทษของเราว่า ท่านทั้ง ๒ แม้บวชแล้วก็ยังไม่พรากกัน ขอเชิญท่านถือเอาทางหนึ่ง เราทั้ง ๒ จักแยกกัน นางกระทำประทักษิณ ๓ ครั้ง ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ในฐานะ ๔ ประคองอัญชลีอันรุ่งเรืองด้วยทสนขสโมธานคือความประชุมกันของนิ้วทั้งสิบ มิตรสันถวะที่ทำมานานประมาณแสนกัลป์ย่อมขาดลงในวันนี้ พระผู้เป็นเจ้าชื่อว่าเป็นทักษิณา ทางเบื้องขวาย่อมควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ดิฉันชื่อว่าเป็นมาตุคามเป็นฝ่ายซ้าย ทางเบื้องซ้ายย่อมควรแก่ดิฉัน ดั่งนี้ ไหว้แล้วเดินไปสู่ทาง

                       ในเวลาที่คนทั้ง ๒ แยกจากกันนี้ มหาปฐพีนี้ครืนครั่นสั่นสะเทือนดุจกล่าวว่า เราแม้สามารถจะทรงภูเขาในจักรวาลและเขาสิเนรุไว้ได้ ก็ไม่สามารถจะทรงคุณของท่านทั้ง ๒ นี้ไว้ได้ ย่อมเป็นไปดุจเสียงสายฟ้าบนอากาศ ภูเขาจักรวาลบันลือลั่น

                     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่ง ณ พระคันธกุฎีใกล้มหาวิหารเวฬุวันทรงสดับเสียงแผ่นดินไหว ทรงพระรำพึงว่า แผ่นดินไหวเพื่อใครหนอ ทรงทราบว่า ปิปผลิมาณพและนางภัททกาปิลานีสละสมบัติมากมายบวชอุทิศเรา การไหวของแผ่นดินนี้เกิดด้วยกำลังคุณของคนทั้ง ๒ ในที่ๆ เขาจากกันแม้เราก็ควรทำการสงเคราะห์แก่เขาทั้ง ๒ จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ไม่ทรงเรียกใครๆ ในบรรดามหาเถระ ๐ ทรงกระทำการต้อนรับห่างไปประมาณ ๓ คาวุต ประทับนั่งขัดสมาธิ ณโคนต้นพหุปุตตกนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์และกรุงนาลันทา ก็เมื่อประทับนั่ง มิได้ประทับนั่งเหมือนภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรรูปใดรูปหนึ่ง ทรงถือเพศแห่งพระพุทธเจ้า ประทับนั่งเปล่งพระพุทธรัศมีเป็นลำสู่ที่ประมาณ ๐ ศอก ในขณะนั้นพระพุทธรัศมีประมาณเท่าใบไม้ ร่ม ล้อเกวียน และเรือนยอดเป็นต้น แผ่ซ่านส่ายไปข้างโน้นข้างนี้ ปรากฏดุจเวลาพระจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้นพันดวง ได้กระทำบริเวณป่าใหญ่ให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน ด้วยประการฉะนี้

                       ประวัติต่อจากนี้ พระมหากัสสปเถระเมื่อครั้งเป็นปิปผลิมาณพออกบวชนั้น ก็ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้รับพระโอวาท ๓ ข้อ พระโอวาท ๓ ข้อนั้นได้แสดงไว้แล้วในจีวรสูตร มีอธิบายบางประการว่า

                       บทว่า เพราะเหตุนั้นแหละกัสสปะ ความว่า เพราะเราเมื่อรู้ เราก็กล่าวว่า เรารู้ และเมื่อเห็น เราก็กล่าวว่า เราเห็น ฉะนั้น ดูก่อนกัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้ บทว่า อย่างแรงกล้า แปลว่าหนา คือใหญ่ บทว่า หิริโอตตัปปะ ได้แก่ หิริและโอตตัปปะ บทว่า จักเข้าไปตั้ง ได้แก่จักเข้าไปตั้งไว้ก่อนอธิบายว่า จริงอยู่ ผู้ใดยังหิริและโอตตัปปะให้เข้าไปตั้งไว้ในพระเถระเป็นต้น แล้วเข้าไปหา แม้พระเถระเป็นต้นก็เป็นผู้มีหิริและโอตตัปปะเข้าไปหาผู้นั้นนี้เป็นอานิสงส์ในข้อนี้ บทว่า ซึ่งประกอบด้วยกุศล คืออาศัยธรรมเป็นกุศล บทว่า จักกระทำธรรมนั้นทั้งหมดให้เกิดประโยชน์ ความว่า ทำตนให้เป็นประโยชน์ด้วยธรรมนั้น หรือว่าทำธรรมนั้นให้เป็นประโยชน์ ว่านี้ประโยชน์ของเรา ดั่งนี้ บทว่า ใส่ใจ คือตั้งไว้ในใจ บทว่า ประมวลด้วยจิตทั้งหมด ความว่า ไม่ให้จิตไปภายนอกได้แม้แต่น้อย รวบรวมไว้ด้วยประมวลมาทั้งหมด บทว่า เงี่ยโสตสดับ แปลว่า เงี่ยหู อธิบายว่า เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักตั้งญาณโสตและปสาทโสตแล้ว ฟังธรรมที่เราแสดงแล้วโดยเคารพตั้งหูคือญาณ ความหยั่งรู้เรียกโสต ตั้งหูคือประสาท ได้แก่โสตประสาท หรือปสาทโสต คำว่า กายคตาสติที่สหรคตด้วยความสุขสำราญ ได้แก่ กายคตาสติสัมปยุตด้วยสุข ด้วยสามารถปฐมฌานในอสุภกรรมฐานและในอานาปานสติกรรมฐาน

                           ก็โอวาทนี้มี ๓ อย่างดังที่ได้แสดงมาแล้วในจีวรสูตรข้างต้น บรรพชาและอุปสมบทนี้ได้มีแก่พระเถระ

                       จริงอยู่ การบริโภคมี ๔ อย่างคือ ๑. เถยยบริโภค ๒. อิณบริโภค ๓. ทายัชชบริโภค และ ๔. สามิบริโภค ในบริโภคเหล่านั้น ภิกษุเป็นผู้ทุศีลแล้วนั่งบริโภคในท่ามกลางสงฆ์ ชื่อว่า เถยยบริโภค แปลว่า บริโภคโดยความเป็นขโมย เพราะเหตุไร เพราะไม่เป็นใหญ่ในปัจจัยสี่ ผู้มีศีล ไม่พิจารณาบริโภคชื่อว่า อิณบริโภค คือบริโภคโดยความเป็นหนี้ ส่วนผู้ที่บริโภคเป็นผู้บรรลุถึงคุณธรรมเป็นชั้นๆ ขึ้นไป แต่ยังไม่ถึงที่สุด ก็ชื่อว่า ทายัชชบริโภคบริโภคโดยเป็นทายาท ส่วนผู้ที่บริโภคโดยเป็นเจ้าของอันเรียกว่า สามิบริโภคนั้น คือบรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผลแล้ว ก็เป็นสามิบริโภค พระเถระเมื่อทำการบริโภคในขณะที่ตนเป็นปุถุชนบริโภค ก็เป็นอิณบริโภค แต่เมื่ออรหัตตผลได้เกิดขึ้นแล้วในวันที่ ก็เป็นสามิบริโภค คือเป็นผู้บริโภคโดยเป็นเจ้าของ

                       ส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องผ้าสังฆาฏิของท่านนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ผ้าสังฆาฏินี้แลของท่านอ่อนนุ่ม ก็แลพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อลูบคลำจีวรนั้นด้วยปลายพระหัตถ์มีสีดังดอกปทุม จึงตรัสพระวาจานี้ ถามว่า พระองค์ตรัสอย่างนี้เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะทรงประสงค์จะเปลี่ยนจีวรกับพระเถระ ถามว่า พระองค์ทรงประสงค์จะเปลี่ยนเพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะทรงประสงค์จะตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งของพระองค์ ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญจีวรหรือบาตร เป็นธรรมเนียมที่จะกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงรับสิ่งนี้เพื่อพระองค์เถิด เพราะฉะนั้น พระเถระจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับจีวรของข้าพระองค์เถิด พระองค์จึงตรัสว่า กัสสปะ เธอจักครองผ้าบังสุกุลทำด้วยผ้าป่านของเราได้ไหม เธอจักอาจเพื่อห่มได้ไหม ดังนี้ ก็แลพระองค์มิได้ทรงหมายถึงกำลังกาย จึงตรัสอย่างนี้ แต่ทรงหมายถึงการปฏิบัติให้บริบูรณ์ จึงตรัสอย่างนี้

                       ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ จีวรนี้เขาห่อศพนางทาสีชื่อปุณณะเอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบ เราเข้าไปสู่ป่าช้านั้น สบัดตัวสัตว์ประมาณทะนานหนึ่งที่เกลื่อนกล่นบนจีวรออกแล้ว ตั้งอยู่ในมหาอริยวงศ์ ถือเอา ในวันที่เรานั้นถือเอาจีวรนี้มหาปฐพีในหมื่นจักรวาลก็ส่งเสียงสั่นสะเทือน อากาศนั้นส่งเสียง ตฏะ ตฏะ เทวดาในจักรวาลได้ให้สาธุการว่า ภิกษุผู้ถือเอาจีวรนี้ควรเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต เป็นผู้อยู่ป่าตลอดชีวิต นั่งอาสนะเดียว (ฉันมื้อเดียว) ตลอดชีวิต เที่ยวไปตามลำดับตรอกตลอดชีวิต ท่านจักอาจทำให้สมควรแก่จีวรนี้ได้หรือดังนี้ ท่านได้กราบทูลเมื่อพระพุทธเจ้าจักขอทรงเปลี่ยนจีวร ท่านว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักครอง ดังนี้ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำการเปลี่ยนจีวรกันอย่างนี้แล้ว ทรงครองจีวรที่พระเถระครอง พระเถระครองจีวรของพระศาสดา

                       ในบทว่า บุตร ... ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นต้น ความว่า พระเถระอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดแล้วโดยอริยชาติ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า บุตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า ผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอษฐ์ เพราะอยู่ด้วยใจตั้งอยู่ในบรรพชาและอุปสมบทด้วยอำนาจพระโอวาทที่ออกจากพระโอษฐ์ ชื่อว่าผู้เกิดแต่พระธรรม ผู้อันธรรมนิรมิตแล้ว เพราะเกิดแต่พระธรรมโอวาท และเพราะทรงนิรมิตด้วยพระธรรมโอวาท ชื่อว่า ธรรมทายาท เพราะควรซึ่งทายาทด้วยพระธรรมโอวาทหรือควรซึ่งทายาทด้วยโลกุตตรธรรม

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๑๙๒ - ๒๐๑