Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๖๓

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

จีวรสูตร1

                   ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค ว่าด้วยภิกษุสัทธิวิหาริกของพระอานนท์ ๓๐ รูปลาสิกขา

                   สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิริชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของท่านประมาณ ๓๐ รูป โดยมากยังเป็นเด็กหนุ่ม พากันลาสิกขา เวียนมาเพื่อความเป็นคฤหัสถ์

                   ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวจาริกไปตามชอบใจในทักขิณาคิริชนบท แล้วกลับสู่พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปะหรือท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ไหว้พระมหากัสสปะ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหากัสสปะได้กล่าวปราศรัยกับท่านพระอานนท์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอำนาจประโยชน์เท่าไรหนอ จึงทรงบัญญัติติกโภชนะคือการขบฉันหมวด ๓ ในตระกูลเข้าไว้

                   ท่านพระอานนท์กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ข้อ จึงได้ทรงบัญญัติการขบฉันหมวด ๓ ในตระกูลเข้าไว้ คือเพื่อข่มคนหน้าด้าน เพื่อให้ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักอยู่เป็นสุข และเพื่ออนุเคราะห์ตระกูล โดยเหตุที่พวกมีความปรารถนาลามก อาศัยสมัครพรรคพวกแล้ว จะพึงทำสงฆ์ให้แตกกันไม่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ข้อนี้แล จึงทรงบัญญัติติกโภชนะคือการขบฉันหมวด ๓ ในตระกูลเข้าไว้

                   ท่านพระมหากัสสปะกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเที่ยวไปกับภิกษุเหล่านี้ ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร เพื่อประโยชน์อะไรเล่า เธอมัวแต่จาริกไปเหยียบย่ำข้าวกล้า มัวแต่จาริกไปเบียดเบียนตระกูล บริษัทของเธอย่อมลุ่ยหลุดไป สัทธิวิหาริกของเธอซึ่งโดยมากเป็นผู้ใหม่ ย่อมแตกกระจายไป เธอนี้ยังเป็นเด็ก ไม่รู้จักประมาณ

                   ท่านพระอานนท์กล่าวว่า บนศีรษะของกระผม ผมหงอกแล้วมิใช่หรือ ถึงอย่างนั้นพวกกระผมก็ยังไม่พ้นจากท่านพระมหากัสสปะว่าเป็นเด็ก

                   ท่านพระมหากัสสปะกล่าวว่า ก็เป็นจริงอย่างนั้น เธอยังเที่ยวไปกับภิกษุใหม่ๆ เหล่านี้ ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร เธอมัวแต่จาริกไปเหยียบย่ำข้าวกล้า มัวแต่จาริกไปเบียดเบียนตระกูล บริษัทของเธอย่อมลุ่ยหลุดไป สัทธิวิหาริกของเธอซึ่งโดยมากเป็นผู้ใหม่ ย่อมแตกกระจายไป เธอนี้ยังเป็นเด็ก ไม่รู้จักประมาณ

                   ภิกษุณีถุลลนันทาได้ยินแล้วคิดว่า ทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ถูกพระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปะรุกรานด้วยวาทะว่าเป็นเด็ก ไม่พอใจจึงเปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจว่า อะไรเล่าพระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปะผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ จึงสำคัญพระคุณเจ้าอานนท์ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์

ว่า ตนควรรุกรานด้วยวาทะว่าเป็นเด็ก ท่านพระมหากัสสปะได้ยินภิกษุณีถุลลนันทากล่าววาจานี้แล้ว

                   ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะจึงกล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า ภิกษุณีถุลลนันทายังไม่ทันพิจารณาก็กล่าววาจาพล่อยๆ เพราะเราเองปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชบรรพชิต ไม่นึกเลยว่า เราบวชอุทิศศาสดาอื่น นอกจากพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ครั้งก่อน เมื่อเรายังเป็นคฤหัสถ์เคยคิดว่า ฆราวาสช่างคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาปลอดโปร่ง ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวประดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่ายนัก ทางที่ดีเราควรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

                   สมัยต่อมา เราทำผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่า ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อุทิศเฉพาะท่านผู้เป็นพระอรหันต์ในโลก เมื่อบวชแล้วยังเดินไปสิ้นระยะทางไกล ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าระหว่างเมืองราชคฤห์กับบ้านนาลันทคาม กำลังประทับอยู่ ณ พหุปุตตเจดีย์ พอเราพบเข้าก็รำพึงอยู่ว่า เราพบพระศาสดา ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย เราพบพระสุคต ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย เราพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย เรานั้นจึงซบเศียรเกล้าลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ที่นั้นเอง ได้กราบทูลกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดั่งนี้

                   เมื่อเรากราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับเราว่า ดูก่อนกัสสปะ ผู้ใดเล่ายังไม่รู้ถึงสาวกผู้ประมวลมาด้วยจิตทั้งหมดอย่างนี้แล้ว จะพึงพูดว่ารู้ ยังไม่เห็นเลย จะพึงพูดว่าเห็น ศีรษะของบุคคลนั้นพึงแตก ดูก่อนกัสสปะ แต่เรารู้อยู่ จึงพูดว่ารู้ เห็นอยู่ จึงพูดว่าเห็น เพราะเหตุนั้นแหละกัสสปะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปตั้งหิริ ความละอายใจ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวอย่างแรงกล้าในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ผู้นวกะ ผู้มัชฌิมะ เราจักฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล จักกระทำธรรมนั้นทั้งหมดให้เกิดประโยชน์ ใส่ใจถึงธรรมนั้นทั้งหมด จักประมวลด้วยจิตทั้งหมด เงี่ยโสตสดับพระธรรม เราจักไม่ละกายคตาสติ สติไปในกาย ที่สหรคตด้วยความสุขสำราญ ดูก่อนกัสสปะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโอวาทเราด้วยพระโอวาทนี้ เสด็จลุกจากอาสนะแล้ว ทรงหลีกไป เราเป็นหนี้บริโภคก้อนข้าวของราษฎรถึง ๑ สัปดาห์ วันที่ อรหัตตผลจึงปรากฏขึ้น คราวนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกจากหนทางตรงไปยังโคนไม้แห่งหนึ่ง เราจึงเอาผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าปูเป็น ๔ ชั้นถวาย แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนาน พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวาย

                   ครั้นประทับนั่งแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับเราว่า กัสสปะ ผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าของเธอผืนนี้อ่อนนุ่ม เราก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดอนุเคราะห์ ทรงรับผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าของข้าพระองค์เถิด พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนกัสสปะ เธอจักครองผ้าบังสุกุลที่ทำ

ด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่หรือ เราก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักครองผ้าบังสุกุลที่ทำ ด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดั่งนี้

                   เราได้มอบถวายผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า และได้รับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดูก่อนอาวุโส ก็เมื่อบุคคลจะพูดให้ถูก พึงพูดถึงผู้ใดว่า บุตรผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดแต่พระธรรมอันธรรมนิรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท จึงรับผ้าบังสุกุลซึ่งทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ เมื่อเขาจะพูดให้ถูก พึงพูดถึงผู้นั้น คือเราว่า บุตรผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดแต่พระธรรมอันธรรมนิรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท รับผ้าบังสุกุลซึ่งทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่

                   เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปิติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ตราบเท่าที่เราหวัง ฯลฯ

                   ท่านพระมหากัสสปะได้กล่าวต่อไปจนจบ อนุปุพพวิหาร ๙ และอภิญญา ๕

                   เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ ผู้ใดสำคัญเราว่า ควรปกปิดด้วยอภิญญา ๖ ผู้นั้นก็ควรสำคัญช้าง ศอกหรือ ๗ ศอกครึ่งว่าจะพึงปกปิดด้วยใบตาลได้

                   ก็แลภิกษุณีถุลลนันทาเคลื่อนจากพรหมจรรย์เสียแล้ว

                   อรรถกถาแห่งจีวรสูตรนี้ ได้แสดงอธิบายว่า

                   บทว่า ในทักขิณาคิริ ความว่า ชนบทภาคทักษิณของภูเขาเป็นเทือกล้อมกรุงราชคฤห์ชื่อว่า ทักขิณาคิริ อธิบายว่า เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิริชนบทนั้น ชื่อว่าจาริก มี ๒ อย่าง คือรีบไป ๑ ไม่รีบไป ๑ ในจาริกเหล่านั้น ภิกษุบางรูปนุ่งผ้ากาสายะผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่งตลอดเวลา คล้องบาตรและจีวรที่บ่าถือร่ม วันหนึ่งเดินไปได้ ๗-โยชน์ มีเหงื่อไหลท่วมตัว ก็หรือว่าพระพุทธเจ้าทรงเห็นสัตว์พึงตรัสรู้ไรๆ ขณะเดียวเสด็จไปได้ร้อยโยชน์บ้างพันโยชน์บ้าง อย่างนี้ชื่อว่า รีบไป ก็ทุกวันที่พระพุทธเจ้ารับนิมนต์เพื่อฉัน ในวันนี้ เสด็จไปทำการสงเคราะห์คนมีประมาณเท่านี้ในระยะทางคาวุตหนึ่งกึ่งโยชน์ สามคาวุต หนึ่งโยชน์ นี้ชื่อว่า ไม่รีบไป ในที่นี่ประสงค์จาริกนี้

                   พระเถระคือท่านพระอานนทเถระ ได้อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์พระทศพลตลอด ๒๕ ปีดุจเงามิใช่หรือ ท่านไม่ให้โอกาสแก่พระดำรัสเพื่อตรัสถามว่าอานนท์ไปไหน ท่านได้โอกาสเที่ยวจาริกไปกับภิกษุสงฆ์ในกาลไหน ในปีพระศาสดาปรินิพพาน ได้ยินว่า เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะเถระนั่งในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ ประชุมพร้อมกันในการปรินิพพานของพระศาสดา เลือกภิกษุ ๕๐๐ รูปเพื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัย กล่าวว่าก็ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายจักอยู่จำพรรษาในกรุงราชคฤห์ สังคายนาพระธรรมวินัย ท่านทั้งหลายก่อนเข้าพรรษา จงตัดปลิโพธส่วนตัวเสีย แล้วประชุมพร้อมกันในกรุงราชคฤห์เถิด ก็ไปยังกรุงราชคฤห์ด้วยตนเอง

                   พระอานนทเถระถือบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าปลอบมหาชนไปยังกรุงสาวัตถี ออกจากกรุงสาวัตถีนั้น ไปยังกรุงราชคฤห์ เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิริชนบท นี้ท่านกล่าวหมายถึงข้อนั้น

                   บทที่ว่า เป็นเด็กโดยมาก ความว่า ภิกษุเหล่านั้นใด ชื่อว่าเวียนมาเพื่อความเป็นคฤหัสถ์ ภิกษุเหล่านั้น โดยมากเป็นเด็กหนุ่มยังอ่อน คือเป็นภิกษุพรรษาเดียว สองพรรษา และเป็นสามเณร ถามว่า ก็เพราะเหตุไร เด็กเหล่านั้นจึงบวช เพราะเหตุอะไรจึงเวียนมาเพื่อความเป็นคฤหัสถ์ ตอบว่าได้ยินว่า มารดาบิดาของเด็กนั้นคิดว่า พระอานนทเถระเป็นผู้คุ้นเคยกับพระศาสดา ทูลขอพร ประการแล้วจึงอุปัฏฐาก ทั้งสามารถเพื่อจะพาเอาพระศาสดาไปยังสถานที่ที่ตนปรารถนาและตนปวารณาได้ เราทั้งหลายจึงให้พวกเด็กของพวกเราบวชในสำนักของพระอานนท์นั้น พระอานนท์ก็จักพาพระศาสดามา เมื่อพระศาสดามาแล้ว เราทั้งหลายจักได้ทำสักการะเป็นอันมากดั่งนี้ พวกญาติของเด็กเหล่านั้นจึงให้เด็กเหล่านั้นบวชด้วยเหตุนี้ก่อน แต่เมื่อพระศาสดาปรินิพพาน ความปรารถนาของคนเหล่านั้นก็หมดไป เมื่อเป็นดั่งนี้จึงให้เด็กเหล่านั้นสึกแล้วในวันเดียวเท่านั้น

                   บทว่า ตามความชอบใจ ก็ได้แก่ ตามชอบใจคือตามอัธยาศัย

                   บทว่า บัญญัติโภชนะหมวด ๓ ท่านกล่าวถึงบทนี้ว่า เป็นปาจิตตีย์ในเพราะคณโภชน์ เว้นไว้แต่สมัย ดั่งนี้ ก็ภิกษุ ๓ รูปพอใจแม้รับนิมนต์เป็นอกัปปิยะร่วมกัน เป็นอนาบัติในคณโภชน์นั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โภชนะหมวด ๓

                   ข้อว่า เพื่อข่มคนหน้าด้าน ได้แก่ เพื่อข่มคนทุศีล

                   บทว่า เพื่อให้ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักอยู่เป็นสุข ความว่า อุโบสถและปวารณาเป็นไปเพื่อภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ด้วยการข่มคนหน้าด้านนั่นเอง การอยู่พร้อมเพรียงกันย่อมมี นี้เป็นผาสุวิหารคืออยู่เป็นสุข ของเปสลภิกษุ คือภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักเหล่านั้น เพื่อประโยชน์แก่การอยู่เป็นสุขนี้

                   เทวทัตออกปากขอในตระกูลด้วยตนเอง บริโภคอยู่ อาศัยพวกภิกษุผู้ปรารถนาลามก ทำลายสงฆ์ฉันใด ภิกษุผู้ปรารถนาลามกเหล่าอื่น ออกปากขอในตระกูลโดยเป็นคณะบริโภคอยู่คือบริโภคเป็นหมู่ ทำคณะให้ใหญ่ขึ้น แล้วอาศัยพรรคพวกนั้นทำลายสงฆ์ได้ ฉันนั้น ดั่งนี้ จึงทรงบัญญัติไว้ด้วยเหตุนี้แล

                   เมื่อภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถและปวารณาอยู่พร้อมเพรียงกัน พวกมนุษย์ถวายสลากภัตเป็นต้น ย่อมเป็นผู้มีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า อธิบายว่า และทรงบัญญัติไว้เพื่ออนุเคราะห์ตระกูล ด้วยประการฉะนี้

                   เธอเที่ยวไปเหมือนเหยียบย่ำข้าวกล้า เธอเที่ยวไปเหมือนทำลายเบียดเบียนตระกูล เป็นอธิบายของคำที่ว่า เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้า เที่ยวเบียดเบียนตระกูล

                   ภิกษุเหล่านั้นโดยมากคือส่วนมากของท่านเป็นผู้ใหม่ เป็นหนุ่มมีพรรษาเดียวหรือ ๒ พรรษา และเป็นสามเณรดังกล่าว หลุดหายคือกระจายไปพระเถระเมื่อกล่าวขู่พระเถระ คือพระมหากัสสปะเมื่อกล่าวขู่พระอานนทเถระว่า เด็กนี้ไม่รู้จักประมาณตน ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า พวกเรายังไม่พ้นวาทะว่าเป็นเด็ก ท่านพระมหากัสสปะกล่าวเพื่อแสดงเหตุ เพราะท่านพระอานนทเถระนี้พึงถูกกล่าวอย่างนี้ ในข้อนี้มีความประสงค์ดั่งนี้ว่า เพราะท่านเที่ยวไปกับภิกษุใหม่เหล่านี้ ผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ ฉะนั้น ท่านเที่ยวไปกับพวกเด็ก จึงควรถูกเขากล่าวว่าเป็นเด็ก

                   ข้อที่ว่า นางภิกษุณีรูปนั้นได้กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะว่า เคยเป็นเดียรถีย์ฝ่ายอื่นมาก่อน ก็เพราะอาจารย์อุปัชฌาย์ของพระเถระไม่ปรากฏในศาสนานี้เลย ตนถือเอาผ้ากาสายะแล้วออกบวช ฉะนั้น ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวบอกถึงพระมหากัสสปะเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ คือเดียรถีย์ในศาสนาอื่นจากพุทธศาสนามาก่อน เพราะความไม่พอใจ

                   ที่กล่าวว่า กล่าวโดยไม่คิด ก็คือแม้ผู้ประพฤติด้วยราคะและโมหะคือไม่ทันตรึก แต่บทนี้ท่านกล่าวด้วยอำนาจความประพฤติด้วยโทสะ คือที่นางถุลลนันทาภิกษุณีนั้นกล่าวด้วยอำนาจของโทสะ คือยังไม่ทันพิจารณา

                   บัดนี้ พระมหากัสสปเถระ เมื่อยังบรรพชาของตนให้บริสุทธิ์ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า จำเดิมแต่บวชแล้ว ในบทเหล่านั้น บทว่า เพื่ออุทิศศาสดาอื่น หมายความว่า เราไม่นึกเพื่ออุทิศอย่างนี้ว่า เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้า คนอื่นจะเป็นครูของเรา

                   ในบทเป็นต้นว่า ฆราวาสเป็นที่คับแคบ ความว่า แม้หากว่าสามีและภรรยาทั้ง ๒ ย่อมอยู่ในเรือนกว้าง ๖๐ ศอก หรือแม้ในระหว่างร้อยโยชน์การอยู่ครองเรือนของสามีภรรยาเหล่านั้น ก็ชื่อว่าคับแคบอยู่นั่นเอง เพราะอรรถว่า มีกิเลสเครื่องกังวล คือห่วงใย

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๑๘๓ – ๑๙๒