Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๖๒

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

 

นางจาปาเถรี ในจาปาเถรีคาถา

                   พระจาปาเถรี คือพระเถรีภิกษุณีชื่อว่า จาปา ก็คือนางนาวานั้นเอง ในที่นี้เรียกชื่อท่านว่าจาปา ก็คงจะเป็นอีกชื่อหนึ่งของท่าน ซึ่งเมื่ออุปกะอาชีวกออกบวชไปแล้ว นางนาวาหรือจาปาผู้ภรรยาก็ออกบวชตาม จนบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา แล้วได้กล่าวคาถาเรียกว่า “จาปาเถรีคาถา” แสดงถึงถ้อยคำที่โต้ตอบระหว่างอุปกาชีวกและพระจาปาเถรีเองเมื่อครั้งยังไม่ได้บวช ตอนที่อุปกะจะออกบวช พระเถรีแม้รูปนี้บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สร้างสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาในภพนั้นๆ สะสมกุศลมูลมาโดยลำดับ สร้างสมสัมภารธรรม เครื่องปรับปรุงวิโมกข์คือความหลุดพ้น มาในพุทธุปบาทกาล คือ กาลเป็นที่บังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านี้ ก็บังเกิดเป็นลูกสาวของหัวหน้าพรานล่าเนื้อในหมู่พรานล่าเนื้อตำบลหนึ่ง ในวังกหารชนบท นางมีชื่อว่า จาปา ซึ่งที่เล่ามาก็คือนางนาวานั้นเอง

                   นักบวชอาชีวกชื่ออุปกะ พบพระพุทธศาสดาซึ่งเสด็จออกจากโพธิมณฑลสถาน เจาะจงไปกรุงพาราณสีเพื่อประกาศพระธรรมจักร จึงถามพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบ ดังที่ได้เล่ามาแล้ว เขามีจิตเลื่อมใสเกิดขึ้น กล่าวว่าเออ เออ ผู้มีอายุ ท่านเป็นพระอรหันต์อนันตชินะหรือ ดั่งนี้ แล้วหลีกทางแยกไปยังวังกหารชนบท เข้าอาศัยอยู่หมู่บ้านพรานล่าเนื้อตำบลหนึ่งในชนบทนั้น หัวหน้าพรานล่าเนื้อในหมู่บ้านนั้นอุปัฏฐากบำรุงเขา วันหนึ่ง หัวหน้าพรานล่าเนื้อจะไปล่าเนื้อไกล จึงสั่งจาปาลูกสาวของตนว่า อย่าลืมพระอรหันต์ของพ่อนะ แล้วไปพร้อมกับลูกชายคนพี่หลายคน ลูกสาวของพรานนั้นมีรูปงามน่าชม เรื่องต่อไปก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

                   ครั้นเมื่ออุปกะอาชีวกเดินทางจากไปแล้ว นางจาปาก็มีใจเบื่อหน่าย จึงมอบลูกให้นายพรานผู้เป็นตาไว้ เดินไปตามทางอุปกะไปก่อนแล้ว ถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ก็บวชในสำนักภิกษุณีทั้งหลาย กระทำกิจกรรมในวิปัสสนา ก็ตั้งอยู่ในพระอรหัตตามลำดับมรรค ครั้นพิจารณาทบทวนถึงความเป็นมาของตน ก็กระทำคาถาที่อุปกะกับตนพูดกันไว้แต่ก่อน รวมเป็นอุทานคาถา ที่เรียกว่า “จาปาเถรีคาถา” คือได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

                   ท่านอุปกะกล่าวว่า แต่ก่อน เราบวชถือไม้เท้า บัดนี้ เรานั้นกลายเป็นพรานล่าเนื้อไปเสียแล้ว ไม่อาจข้ามจากตมคือตัณหาอันร้ายกาจ ไปสู่ฝั่งโน้นคือพระนิพพานได้ ดูก่อน จาปา เจ้าสำคัญเราว่าเป็นคนมัวเมา จึงกล่อมลูกเย้ยหยันเสียดสี เราจักตัดพันธะของจาปาไปบวชอีก

                   ข้าพเจ้า คือพระจาปาเถรีเมื่อครั้งยังเป็นนางจาปา กล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาวีระ โปรดอย่าโกรธจาปาเลย ข้าแต่ท่านมหามุนี โปรดอย่าโกรธจาปาเลย เพราะว่าผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ไม่มีความบริสุทธิ์ดอก แล้วตบะจะมีมาแต่ไหนเล่า

                   ท่านอุปกะกล่าวว่า เราจักหลีกออกไปจากบ้านนาลา ใครจักอยู่ในบ้านนาลานี้ได้ เจ้าผูกเหล่าสมณะผู้เลี้ยงชีพโดยธรรมด้วยมายาสตรี

                   ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้าแต่ท่านกาฬะ (ที่แปลว่า ท่านดำ เพราะท่านอุปกะมีผิวดำ จึงเป็นอีกชื่อหนึ่งของท่านอุปกะ) มาสิ กลับมาเถิด จงบริโภคกาม เหมือนแต่ก่อน จาปาและเหล่าญาติของจาปา ยอมอยู่ใต้อำนาจของท่าน

                   ท่านอุปกะกล่าวว่า ดูก่อนจาปา เจ้าจักกล่าวคำรักเช่นไรเป็น ๔ เท่าของคำนี้แก่เรา คำรักเช่นนั้นจะพึงโอฬาร คือใหญ่โต สำหรับบุรุษผู้ร่านรักในเจ้าเท่านั้นดอกนะ

                   ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้าแต่ท่านกาฬะ เพราะเหตุไรท่านถึงละทิ้งจาปาซึ่งสะสวย มีเรือนร่างงาม ดั่งต้นคนทาซึ่งออกดอกบานสะพรั่งบนยอดเขา ดั่งเครือทับทิมที่ดอกบานแล้ว ดั่งต้นแคฝอยบนเกาะ ผู้มีร่างไล้ด้วยจันทน์แดง นุ่งห่มผ้าชั้นเยี่ยมของแคว้นกาสีไปเสียเล่า

                   ท่านอุปกะกล่าวว่า เจ้าจักตามเบียดเบียนเราด้วยรูปที่ตกแต่ง เหมือนอย่างพรานนกประสงค์จะตามเบียดเบียนนก ไม่ได้ดอกนะ

                   ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้าแต่ท่านกาฬะ ผลคือลูกของเรานี้ท่านก็ทำให้เกิดมาแล้ว เพราะเหตุไรท่านจึงจะละทิ้งจาปาซึ่งมีลูกไปเสียเล่า

                   ท่านอุปกะกล่าวว่า เหล่าท่านผู้มีปัญญา มีความเพียรมาก ย่อมละพวกลูกๆ ต่อนั้นก็พวกญาติ ต่อนั้นก็ทรัพย์ พากันออกบวช เหมือนพญาช้างตัดเชือกที่ผูกฉะนั้น

                   ข้าพเจ้ากล่าวว่า บัดนี้ ข้าจะเอาไม้หรือมีดฟาดลูกคนนี้ของท่านให้ล้มลงเหนือพื้นดิน เพราะความเศร้าโศกถึงลูก ท่านจะไปไม่ได้แน่

                   ท่านอุปกะกล่าวว่า ดูก่อนหญิงเลว ถึงเจ้าจักโยนลูกให้ฝูงสุนัขจิ้งจอกเจ้าก็จักทำให้เราหวนกลับมา เพราะลูกเป็นต้นเหตุไม่ได้ดอก

                   ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้าแต่ท่านกาฬะ เอาเถิด เดี๋ยวนี้ ท่านจะไปที่ไหน คามนิคม นครราชธานีไหน

                   ท่านอุปกะกล่าวว่า แต่ก่อนได้มีพวกคณาจารย์ไม่เป็นสมณะ ก็ถือตัวว่าเป็นสมณะ จาริกกันไปตามคาม นิคม ชนบท ราชธานี ความจริงท่านผู้หนึ่งนั้นคือพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์เพื่อละทุกข์ทั้งปวง เราจะไปเฝ้าพระองค์ พระองค์จะเป็นศาสดาของเรา

                   ข้าพเจ้ากล่าวว่า บัดนี้ ขอท่านจงกราบทูลพระโลกนาถผู้ยอดเยี่ยม ถึงการถวายบังคมของจาปา และพึงทำประทักษิณเวียนขวา แล้วอุทิศกุศลทักษิณาแก่จาปาด้วย

                   ท่านอุปกะกล่าวว่า ข้อที่เจ้าพูดแก่เรา เราทำได้ บัดนี้ เราจักกราบทูลพระโลกนาถผู้ยอดเยี่ยม ถึงการถวายบังคมของเจ้า แล้วเราจักทำประทักษิณเวียนขวา แล้วอุทิศกุศลทักษิณาแก่เจ้าแน่

                   ต่อแต่นั้น ท่านกาฬะก็เดินทางไปใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้พบพระพุทธเจ้า ได้พบพระสัมพุทธเจ้ากำลังแสดงอมตบท คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความล่วงทุกข์และอริยมรรคมีองค์ ที่เข้าไประงับทุกข์ ท่านกาฬะถวายบังคมพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้ว กระทำประทักษิณพระองค์

แล้ว อุทิศส่วนกุศลแก่จาปา บวชเป็นอนาคาริกะ ไม่มีเรือน วิชชา ๓ ข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าก็กระทำเสร็จแล้ว

                   ในคาถาตอนท้ายนี้ก็ประกาศว่า พระจาปาเถรีเองเมื่อออกบวชเป็นภิกษุณีปฏิบัติธรรมก็ได้บรรลุวิชชา ๓ และได้กระทำเสร็จกิจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สำเร็จเป็นพระอรหันต์ กับจะแสดงอีกพระสูตรหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน เรียกว่า ฆฏิการสูตร ว่าด้วยภิกษุ ๗ รูปตัดเครื่องผูก

 

ฆฏิการสูตร1

                   ฆฏิการพรหมกราบทูลว่า ภิกษุ ๗ รูปผู้เข้าถึงพรหมโลกชื่อว่า อวิหา เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะโทสะสิ้นแล้ว ข้ามเครื่องเกาะเกี่ยวในโลกได้แล้ว

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ก็ภิกษุเหล่านั้นคือผู้ใดบ้าง ผู้ข้ามเครื่องข้อง คือบ่วงของมาร ที่ข้ามได้แสนยาก ละกายของมนุษย์แล้ว ก้าวล่วงซึ่งทิพยโยคะ คือเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์

                   ฆฏิการพรหมกราบทูลว่า คือ ท่านอุปกะ ๑ ท่านปลคัณฑะ ๑ ท่าน ปุกกุสาติ ๑ รวมเป็น ๓ ท่าน ท่านภัททิยะ ๑ ท่านขัณฑเทวะ ๑ ท่านพาหุทัตติ ๑ ท่านปิงคิยะ ๑ ท่านเหล่านี้ล้วนแต่ละกายของมนุษย์ ก้าวล่วงทิพยโยคะแล้ว

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ท่านเป็นผู้มีความฉลาด กล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้นผู้ละบ่วงมารได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นเธอรู้ธรรมของใครเล่า จึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้

                   ฆฏิการพรหมกราบทูลว่า ท่านเหล่านั้นตรัสรู้ธรรมของผู้ใด จึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ผู้นั้นไม่มีอื่นไปจากพระผู้มีพระภาคเจ้า และธรรมนั้นไม่มีอื่นไปจากคำสั่งสอนของพระองค์ นามและรูปดับไม่เหลือในธรรมใด ท่านเหล่านั้นได้รู้ธรรมนั้นในพระศาสนานี้ จึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ท่านกล่าววาจาลึก รู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก ท่านรู้ธรรมของใคร จึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้

            ฆฏิการพรหมกราบทูลว่า เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท ผู้เลี้ยงมารดาและบิดา ได้เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ด้วยเคยเป็นคนร่วมบ้านกับพระองค์ ทั้งได้เคยเป็นสหายของพระองค์ในกาลปางก่อน ข้าพระองค์รู้จักภิกษุ ๗ รูปเหล่านี้ ผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะและโทสะสิ้นแล้ว ผู้ข้ามเครื่องข้องในโลกได้แล้ว

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แน่ะ นายช่างหม้อ ท่านกล่าวเรื่องอย่างใดเรื่องนั้นได้เป็นจริงแล้วเช่นนั้นในกาลนั้น เมื่อก่อนท่านเคยเป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาบิดา เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้าเป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เป็นคนเคยร่วมบ้านกันกับเรา ทั้งได้เคยเป็นสหายของเราในปางก่อน พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า สหายเก่าทั้ง ๒ ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ทรงไว้ซึ่งสรีระมีในที่สุด ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๑๗๘ - ๑๘๓