Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๖๑

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

 

มาตาสูตร1

                   สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ จาริกไปในทักขิณาคิริชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็สมัยนั้น นันทมารดาอุบาสิกา ชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ ลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะ สมัยนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชมีกรณียกิจบางอย่าง เสด็จจากทิศอุดรไปยังทิศทักษิณ ได้ทรงสดับนันทมารดาอุบาสิกาสวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะ ประทับรอฟังจนจบ ขณะนั้นนันทมารดาอุบาสิกาสวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะจบแล้วนิ่งอยู่ ท้าวเวสสวัณมหาราชทรงทราบว่ากถาของนันทมารดาอุบาสิกาจบแล้ว จึงทรงอนุโมทนาว่า สาธุ พี่หญิง สาธุ พี่หญิง นันทมารดาอุบาสิกาถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ท่านนี้คือใครเล่า

                   ท้าวเวสสวัณมหาราชตอบว่า เราคือท้าวเวสสวัณมหาราช พี่ชายของเธอ

                   นันทมารดาอุบาสิกากล่าวว่า ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ดิฉันสวดแล้วนี้ จงเป็นเครื่องต้อนรับแด่ท่าน

                  ท้าเวสสวัณมหาราชกล่าวว่า ดีแล้ว นั่นจงเป็นเครื่องต้อนรับแก่ฉัน พรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นประมุขยังไม่ได้ฉันเช้า จักมาถึงเวฬุกัณฏกนคร เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์หมู่นั้น แล้วพึงอุทิศทักษิณาทานให้ฉันด้วย ก็การทำอย่างนี้จักเป็นเครื่องต้อนรับฉัน

                   ลำดับนั้น ครั้นล่วงราตรีนั้นไป นันทมารดาอุบาสิกาสั่งบุรุษผู้หนึ่ง ให้จัดแจงขาทนียโภชนียาหารอันประณีตไว้ในนิเวศน์ของตน ครั้งนั้น ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้าเดินทางมาถึงเวฬุกัณฏกนคร นันทมารดาอุบาสิกาจึงเรียกบุรุษผู้หนึ่งมาสั่งว่ามาเถิด ท่านจงไปยังอารามบอกภัตตกาลแด่ภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กาลนี้เป็นภัตตกาล ภัตตาหารในนิเวศน์ของแม่เจ้านันทมารดาสำเร็จแล้ว บุรุษนั้นรับคำนันทมารดาอุบาสิกาแล้ว ไปยังอารามบอกภัตตกาลแด่ภิกษุสงฆ์อย่างนั้น

                 ครั้งนั้น เวลาเช้า ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุขนุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของนันทมารดาอุบาสิกา นั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดไว้ ลำดับนั้น นันทมารดาอุบาสิกาอังคาสภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุขให้อิ่มหนำสำราญด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน ครั้นทราบว่าท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จ ลดมือลงจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

                   ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้ถามว่าใครบอกการมาถึงของภิกษุสงฆ์แก่ท่านเล่า นันทมารดาอุบาสิกากราบเรียนว่า ดิฉันลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะจบแล้วนั่งอยู่ ลำดับนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชทรงทราบถึงการจบคาถาของดิฉันแล้ว ทรงอนุโมทนาว่า สาธุ พี่หญิง สาธุ พี่หญิง ดิฉันถามว่า ท่านนี้คือใครเล่า ท้าวเวสสวัณตอบว่า เราคือท้าวเวสสวัณมหาราช พี่ชายของเธอ ดิฉันกล่าวว่า ดีละ ถ้าเช่นนั้นขอธรรมบรรยายที่ดิฉันสวดแล้วนี้ จงเป็นเครื่องต้อนรับแด่ท่าน ท้าวเวสสวัณกล่าวว่า ดีแล้ว นั่นจงเป็นเครื่องต้อนรับฉันด้วย พรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า จักมาถึงเวฬุกัณฏกนคร เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์หมู่นั้น แล้วพึงอุทิศทักษิณาทานให้ฉันด้วยก็การทำอย่างนี้จงเป็นไปเพื่อความสุขแด่ท่านท้าวเวสสวัณมหาราชเถิด

                   ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านเจรจากันต่อหน้าได้กับท้าวเวสสวัณมหาราช ซึ่งเป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มีศักดิ์มากอย่างนี้

                   นันทมารดาอุบาสิกากล่าวว่า ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วมิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ดิฉันมีบุตรน้อยอยู่คนหนึ่งชื่อนันทะ เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ พระราชาได้ข่มขี่ปลงเธอเสียจากชีวิตในเพราะเหตุเพียงนิดเดียว เมื่อบุตรของดิฉันนั้นถูกจับแล้วก็ดี กำลังถูกจับก็ดี ถูกฆ่าแล้วก็ดี กำลังจะถูกฆ่าก็ดี ถูกประหารแล้วก็ดี กำลังจะถูกประหารก็ดี ดิฉันไม่รู้สึกความเปลี่ยนแปลงแห่งจิตเลย

                   ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์

                นันทมารดาอุบาสิกากล่าวว่า ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก สามีของดิฉันกระทำกาละแล้วเกิดเป็นยักษ์ตนหนึ่ง ซึ่งอรรถกถาแสดงว่าเป็นภุมมเทวดา มาแสดงตนแก่ดิฉันด้วยรูปร่างอย่างครั้งก่อนทีเดียว ดิฉันไม่รู้สึกความเปลี่ยนแปลงแห่งจิตเพราะข้อนั้นเป็นเหตุเลย

                   ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์

                นันทมารดาอุบาสิกากล่าวว่า ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมองดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีกดิฉันยังสาวถูกส่งตัวให้แก่สามีหนุมไม่เคยคิดทีจะนอกใจเลย ไฉนจะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า

                   ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์

                   นันทมารดาอุบาสิกากล่าวว่า ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก เมื่อดิฉันแสดงตนเป็นอุบาสิกาแล้ว ไม่รู้สึกว่าได้จงใจล่วงสิกขาบทอะไรๆ เลย

                   ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์

                  นันทมารดาอุบาสิกากล่าวว่า ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วมิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ดิฉันหวังอยู่เพียงใด ดิฉันสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดจากสมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เข้าจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เพียงนั้น

                   ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า น่าอัศจรรย์ ดูก่อนนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว นันทมารดาอุบาสิกากล่าวว่า ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ดิฉันไม่พิจารณาเห็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วข้อใดข้อหนึ่ง ที่ยังละไม่ได้ในตน

                   ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า น่าอัศจรรย์ ดูก่อนนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว

                   ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้ชี้แจงให้นันทมารดาอุบาสิกาเห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

                   ในอรรถกถาของมาตาสูตรนี้ ได้แสดงไว้ว่า ได้ยินว่า พระศาสดาทรงจำพรรษาปวารณาแล้ว ทรงละพระอัครสาวกทั้ง ๒ ไว้ เสด็จออกไปด้วยหมายจะเสด็จจาริกในทักขิณาคิริชนบท พระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี วิสาขามหาอุบาสิกา และชนอื่นเป็นอันมาก ไม่สามารถจะให้พระศาสดาเสด็จกลับได้ ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีนั่งครุ่นคิดในที่ลับว่า เราไม่สามารถจะให้พระศาสดาเสด็จกลับได้

                   ลำดับนั้น นางทาสีชื่อปุณณาเห็นเข้าแล้วจึงถามว่า นายท่านมีอินทรีย์ไม่ผ่องใสเหมือนแต่ก่อน เป็นเพราะเหตุไร ท่านคฤหบดีตอบว่า พระศาสดาเสด็จออกไปสู่ที่จาริกแล้ว ข้าไม่อาจทำให้พระองค์เสด็จกลับได้ ทั้งไม่ทราบว่า พระองค์จะเสด็จกลับมาเร็วหรือไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าจึงนั่งครุ่นคิดอยู่

                   นางทาสีถามว่า ถ้าดิฉันให้พระทศพลเสด็จกลับได้เล่า ท่านเศรษฐีจะทำ อย่างไรแก่ดิฉัน ท่านคฤหบดีตอบว่า ข้าจะทำให้เจ้าเป็นไทสิ นางทาสีไปถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลว่า ขอพระองค์ได้โปรดเสด็จกลับเถิด พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า เพราะเหตุที่เรากลับ เจ้าจักกระทำอะไรเล่า นางทาสีทูลว่า ขอพระองค์ได้โปรดทรงทราบว่า หม่อมฉันเป็นคนอาศัยผู้อื่นเขา หม่อมฉันไม่อาจทำอะไรอื่นได้ แต่หม่อมฉันจักตั้งอยู่ในสรณะ รักษาศีล ๕ พระศาสดาตรัสว่า ดีละ ดีละ ปุณณา แล้วเสด็จกลับในเพราะคำๆ เดียว เท่านั้น เพราะความเคารพในธรรมสมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาถตเคารพในธรรม มีธรรมเป็นที่เคารพ ดั่งนี้พระศาสดาเสด็จ กลับเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร

                   มหาชนได้ให้สาธุการพันหนึ่งแก่นางปุณณา พระศาสดาทรงแสดงธรรมในสมาคมนั้น สัตว์ ,๐๐๐ ดื่มน้ำอมฤตแล้ว ฝ่ายนางปุณณาอันเศรษฐีอนุญาตแล้ว ได้ไปสู่สำนักของภิกษุณีแล้วบรรพชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรียกพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะมาแล้วตรัสว่า เราออกจาริกไป ณ ทิศใด เราจะไม่ไปในทิศนั้น พวกเธอพร้อมบริษัทของเธอจงจาริกไป ณ ทิศนั้น ดั่งนี้ แล้วจึงส่งไปคำว่า เวฬุกัณฏกี นั้น ได้แก่ ผู้อาศัยอยู่ในเมืองเวฬุกัณฏกะ ได้ยินว่าชาวเมืองนั้นพากันปลูกต้นไผ่รอบกำแพง เพื่อจะรักษากำแพงเมืองนั้น เพราะเหตุนั้น เมืองนั้นจึงมีชื่อว่า เวฬุกัณฏกะนั่นแล

                   คำว่า ปารายนํ ความว่า ธรรมอันได้โวหารว่า ปารายนะ เพราะเป็นที่ดำเนินไปถึงฝั่งคือพระนิพพาน

                   นันทมารดาอริยสาวิกา นั่งในที่มีอารักขาอันเขาจัดแจงไว้ดีแล้ว บนพื้นชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น ให้ครึ่งราตรีผ่านล่วงไปด้วยกำลังแห่งสมาบัติ ครั้นออกสมาบัติแล้วคิดว่า เราจักให้ราตรีที่เหลือเพียงเท่านี้ ผ่านล่วงไปด้วยความยินดีอย่างไหน แล้วกระทำความตกลงว่า จะให้ผ่านล่วงไปด้วยความยินดีในธรรม ดั่งนี้แล้ว นั่งบรรลุผล ๓ แล้วจึงกล่าวปารายนสูตรประมาณ ๒๕๐ คาถา โดยทำนองสรภัญญะอันไพเราะ

                   ท้าวเวสสวัณมหาราชทรงตรวจดูวิมานอันตั้งอยู่ในอากาศแล้ว ขึ้นสู่ยานนาริวาหนะ เสด็จออกไปโดยทางอันผ่านส่วนเบื้องบนปราสาทนั้น ได้ยินเสียงปารายนสูตร ครั้นแล้วตรัสถามว่า พนาย นั่นเสียงอะไร เมื่อยักขบริษัท ทูลว่า นั่นคือเสียงสวดโดยทำนองสรภัญญะของนันทมารดาอุบาสิกา ดั่งนี้แล้ว เสด็จลงรอคอยการจบเทศนานี้

                   บทที่ว่า สาธุ พี่หญิง สาธุ พี่หญิง ก็คือท่าวเวสสวัณมหาราชตรัสว่า ธรรมเทศนาท่านรับมาดีแล้ว กล่าวดีแล้ว เราไม่เห็นอะไรที่จะต่างกัน ระหว่างวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับที่ปาสาณกเจดีย์ ตรัสแก่ปารายนิกพราหมณ์ ๑๖ คน และที่นี่ท่านกล่าวในวันนี้ คำที่นี่ท่านกล่าวแล้วเป็นเสมือนกับพระดำรัสที่พระศาสดาตรัสแล้วนั่นแล เหมือนกับทองคำที่ขาดตรงกลาง เมื่อจะให้สาธุการจึงตรัสอย่างนั้น

                   เพราะเสียงที่ดังถึงเพียงนี้ ก้องไปในที่ที่มีอารักขาไว้ดั่งนี้ นันทมารดาอริยสาวิกาผู้บรรลุผล ๓ แล้ว ปราศจากความเกรงกลัว กล่าวว่า ท่านนี้เป็นใคร เป็นนาค เป็นครุฑ เป็นเทวดา เป็นมาร หรือเป็นพรหม ดั่งนี้แล้วเมื่อจะกล่าวกับท้าวเวสสวัณจึงกล่าวอย่างนี้

                   ท้าวเวสสวัณทรงสำคัญพระอริยสาวิกาผู้เป็นพระอนาคามีว่าเป็นพี่ เพราะพระองค์เองเป็นพระโสดาบัน จึงตรัสว่า พี่หญิง แล้วจึงสำคัญพระอริยสาวิกาผู้เป็นพระอนาคามีนั้นว่าเป็นน้องของพระองค์อีก เพราะนางยังอยู่ในปฐมวัย แต่พระองค์แก่กว่า เพราะพระองค์มีพระชนมายุถึง ล้านปีแล้ว จึงตรัสเรียกพระองค์เองว่า พี่ชาย

 

อุปกาชีวกพบพระพุทธเจ้า

                   จะแสดงเรื่อง อาชีวกชื่ออุปกะที่ได้พบพระพุทธเจ้าในสมัยต้นพุทธกาล ขณะเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วที่พุทธคยา และได้เสด็จนั่งเสวยวิมุตติสุขแล้วได้ทรงพิจารณาผู้ที่สมควรจะได้รับปฐมเทศนาของพระองค์

                   ทีแรก ได้ทรงระลึกถึงท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ก่อน คือท่านอาฬารดาบสและอุททกดาบส ได้ทรงทราบว่าท่านทั้ง ๒ นั้นได้มรณภาพเสียแล้ว จึงทรงระลึกถึงฤษีทั้ง ๕ ที่เรียกชื่อว่า ปัญจวัคคีย์ ทรงเห็นว่าสมควรจะรับปฐมเทศนาได้ จึงเสด็จพระพุทธดำเนินจากพุทธคยาเพื่อไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี อันเป็นที่ๆ ท่านทั้ง ๕ นั้นได้อาศัยอยู่ ในขณะที่ทรงดำเนินถึงที่ระหว่างตำบลคยาและต้นมหาโพธิ์ ได้ทรงพบอาชีวกชื่ออุปกะ ก็ได้ตรัสเล่าไว้ ตามพระบาลีใน ปาสราสิสูตร1 ว่า

                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาชีวกชื่ออุปกะ ได้พบเราผู้กำลังเดินทางไกลที่ระหว่างตำบลคยาและต้นมหาโพธิ์ จึงถามเราว่า ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ฉวีวรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร เมื่ออุปกาชีวกถามอย่างนี้ เราจึงได้กล่าวตอบว่า เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง ไม่ติดข้องในธรรมทั้งปวง ละเว้นธรรมทั้งปวง ไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง เราจะพึงแสดงใครเล่าว่าเป็นอาจารย์ อาจารย์ของเราไม่มี ผู้ที่เหมือนเราไม่มี ผู้ที่เทียบเสมอเราไม่มี ในโลกทั้งเทวโลก ความจริงเราเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยมเป็นเอก เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เย็น ดับกิเลสแล้ว เราจะไปราชธานีของชาวกาสีเพื่อประกาศธรรมจักร โดยหมายจะย่ำอมฤตเภรี กลองธรรม ในโลกที่มืดมน

                   อุปกาชีวกถามเราว่า เหตุใดท่านจึงปฏิญญาว่าเป็น อรหันตอนันตชินะ เราจึงกล่าวตอบว่า ผู้ที่ถึงอาสวักขัยคือสิ้นอาสวะเช่นเรา ย่อมเป็นผู้มีนามว่า ชินะ เพราะเราชนะบาปธรรมทั้งหลายแล้ว ฉะนั้น เราจึงมีนามว่า ชินะ

                   เมื่อเรากล่าวตอบอย่างนี้ อุปกาชีวกนั้นได้กล่าวว่า เป็นเช่นนั้นหรือท่านแล้วสั่นศีรษะแยกทางไป

                   อาชีวกชื่ออุปกะนี้ ได้มีเล่าไว้ในอรรถกถาปาสราสิสูตรว่า เขาแยกทางไปสู่วังกหารชนบท ในชนบทนั้น อุปกาชีวกคืออาชีวกชื่ออุปกะ อาศัยหมู่บ้านพรานล่าเนื้ออยู่ หัวหน้าพรานบำรุงเขาไว้ ในชนบทนั้นมีชาวประมงดุร้ายให้เขาอยู่ด้วยภาชนะใบเดียว (ฉบับพม่าว่า : มีแมลงดูดเลือด ชาวบ้านจึงให้

เขาอยู่ในโอ่งน้ำใบหนึ่ง) พรานล่าเนื้อจะไปล่าเนื้อในที่ไกล จึงสั่งธิดาชื่อนาวา (หรือฉาวา) ว่า อย่าประมาทในพระอรหันต์ของเรา แล้วไปกับเหล่าบุตรผู้เป็นพี่ๆ ก็ธิดาของพรานนั้นมีรูปโฉมน่าชม สมบูรณ์ด้วยส่วนสัด วันรุ่งขึ้นอุปกะอาชีวกมาเรือน พบหญิงรุ่นนั้นเข้ามาเลี้ยงดูทำการปรนนิบัติทุกอย่างเกิดรักอย่างแรง ไม่อาจแม้แต่จะกิน ถือภาชนะอาหารไปที่อยู่ วางอาหารไว้ข้างหนึ่ง คิดว่า ถ้าเราได้แม่นาวาจึงจะมีชีวิต ถ้าไม่ได้ก็จะตายเสีย แล้วนอนอดอาหาร

                   วันที่ ๗ นายพรานกลับมา ถามเรื่องอุปกะอาชีวกกับธิดา ธิดาบอกว่าเขามาวันเดียวเท่านั้นแล้วไม่เคยมาอีก โดยชุดที่มาจากป่านั่นแหละ นายพรานบอกธิดาว่า พ่อจะเข้าไปถามเขาเอง แล้วไปทันที จับเท้าถามว่า ไม่สบายเป็นอะไรไป อุปกะอาชีวกถอนใจ กลิ้งเกลือกไปมา นายพรานกล่าวว่า บอกสิข้าอาจทำได้ก็จักทำทุกอย่าง อุปกาชีวกจึงบอกว่า ถ้าเราได้แม่นาวา ก็จะมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ได้ก็จะตายในที่นี่แหละประเสริฐกว่า นายพรานถามว่า ท่านรู้ศิลปะอะไรบ้าง อุปกะอาชีวกตอบว่า เราไม่รู้เลย นายพรานกล่าวว่า เมื่อไม่รู้ศิลปะอะไรๆ จะอยู่ครองเรือนได้หรือ อุปกะอาชีวกนั้นจึงกล่าวว่า ถึงเราไม่รู้ศิลปะ แต่เราจักเป็นคนแบกเนื้อของท่านมาขายได้นะ

                   นายพรานคิดว่า เขาชอบกิจการนี่ของเรา จึงให้ผ้านุ่งผืนหนึ่ง นำไปเรือนมอบธิดาให้ อาศัยการสมสู่ของคนทั้ง ๒ นั้น ก็เกิดบุตรขึ้นมาคนหนึ่ง ทั้ง ๒ สามีภรรยาจึงตั้งชื่อบุตรว่า สุภัททะ เวลาบุตรร้องนางจะพูดว่า เจ้าลูกคนแบกเนื้อ เจ้าลูกพรานเนื้อ อย่าร้อง ดั่งนี้เป็นต้น เย้ยหยันอุปกะด้วยเพลงกล่อมลูก อุปกะกล่าวว่า แม่นาง เจ้าเข้าใจว่าข้าไม่มีที่พึ่งหรือ ข้ามีสหายคนหนึ่งชื่ออนันตชินะ ข้าจะไปยังสำนักเขา นางนาวารู้ว่าสามีอึดอัดใจด้วยอาการอย่างนี้ จึงกล่าวบ่อยๆ วันหนึ่ง อุปกะนั้นไม่บอกกล่าว ก็มุ่งหน้าไปยังมัชฌิมประเทศ

                   ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ทรงสั่งภิกษุทั้งหลายไว้ว่า ผู้ใดมาถามหาอนันตชินะ พวกท่านจงแสดงเราแก่เขา แม้อุปกาชีวกก็ถามเรื่อยๆ ไปว่า อนันตชินะอยู่ไหน มาถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ ยืนอยู่กลางพระวิหารถามว่า อนันตชินะอยู่ไหน ภิกษุทั้งหลายก็พาเขาไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า อุปกะนั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจำข้าได้ไหม ตรัสว่า จำได้สิ ก็ท่านอยู่ไหนล่ะ ทูลว่า วังกหารชนบท ตรัสว่า อุปกะท่านแก่แล้วนะ บวชได้หรือ ทูลว่า พอจะบวชได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าให้การบวช ประทานกรรมฐานแก่เขา อุปกะนั้นกระทำกิจในกรรมฐาน ตั้งอยู่ในอนาคามิผล กระทำกาละแล้วบังเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา แล้วบรรลุพระอรหัตในขณะที่เกิดนั่นเอง จริงอยู่ ชน ๗ คน พอเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา ก็บรรลุพระอรหัต ในจำนวน ๗ คนนั้น อุปกะก็เป็นคนหนึ่ง สมจริงดังคำที่กล่าวไว้ดั่งนี้ว่า

                   ภิกษุ ๗ รูปพ้นแล้ว สิ้นราคะโทสะแล้ว ข้ามกิเลสที่ซ่านไปในโลกเข้าถึงสุทธาวาสพรหมชั้นอวิหา คือ ๓ คน ได้แก่อุปกะ ปลคัณฑะ ปุกกุสาติ๔ คน คือ ภัททิยะ ขัณฑเทวะ พาหุทัตติ และปิงคิยะ ทั้ง ๗ คนนั้นละกายมนุษย์แล้ว เข้าถึงกายทิพย์

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๑๖๘ - ๑๗๘