Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๖๐

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

 

อดีตของหมอชีวกโกมารภัจจ์

                        นับแต่กัลป์นี้ไปแสนกัลป์ ชีวกได้เห็นแพทย์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ซึ่งมีคุณแผ่ไปในภายในบริษัททั้ง ๔ ว่า หมอนี้เป็นพุทธอุปัฏฐาก จึงคิดว่าทำอย่างไรหนอเราจะพึงถึงฐานันดรเช่นนี้บ้าง แล้วถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้กระทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในอนาคตกาล ข้าพระองค์พึงเป็นพุทธอุปัฏฐากบ้างเหมือนอย่างหมอคนโน้นเป็นอุปัฏฐากของพระองค์เถิด ชีวกนั้นผู้แม้อันความปรารถนาเดิมนั้นเตือนใจอยู่ จึงหมายเอาเฉพาะศิลปะทางแพทย์คิดว่า เราพึงเรียนศิลปะเถิด

                         ก็ในสมัยนั้น พวกพ่อค้าชาวเมืองตักกสิลา ได้ไปเพื่อเฝ้าอภัยราชกุมารชีวกจึงถามพวกพ่อค้าเหล่านั้นว่า พวกท่านมาจากไหน

                        เขาได้ตอบว่า มาจากเมืองตักกสิลา

                        จึงถามว่า ในเมืองนั้นมีอาจารย์ผู้สอนศิลปะทางแพทย์ไหม

                        ได้ฟังว่า แพทย์ผู้เป็นทิศาปาโมกข์มี อาศัยอยู่ในเมืองตักกสิลา

                        จึงสั่งว่า เวลาที่ท่านจะไป ขอให้บอกเราด้วย

                         พ่อค้าเหล่านั้นได้กระทำตามสั่ง เขาไม่ทูลลาพระบิดา ได้ไปเมืองตักกสิลากับพ่อค้าเหล่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์คือพระอาจารย์ผู้ร้อยกรองพระไตรปิฎกจึงกล่าวว่า ไม่ทูลลาอภัยราชกุมาร ครั้นไปถึงเมืองตักกสิลา จึงเข้าไปหาอาจารย์แพทย์เมืองตักกสิลาผู้มีชื่อเสียง

                         อาจารย์ได้ถามว่า พ่อเป็นใครกัน

                        ก็ตอบว่า เป็นนัดดาของพระเจ้าพิมพิสารมหาราช เป็นบุตรของอภัยราชกุมาร

                        แพทย์ถามว่า ก็เหตุไรเล่าจึงมาที่นี่

                        เขาตอบว่า เพื่อศึกษาศิลปะในสำนักของท่าน แล้วกล่าวว่า ท่านอาจารย์ ผมอยากศึกษาศิลปะในสำนักอาจารย์นั้น

                         ศิษย์เหล่าอื่นมีขัตติยราชกุมารเป็นต้น ได้ให้ทรัพย์แก่อาจารย์แล้วไม่กระทำการงานอะไร ศึกษาแต่ศิลปะเท่านั้นฉันใด ชีวกหาได้กระทำฉันนั้นไม่ เขาไม่ได้ให้ทรัพย์อะไรๆ เป็นอย่างธัมมันเตวาสิก กระทำการงานของอุปัชฌาย์ ในเวลาหนึ่ง ศึกษาในเวลาหนึ่งเท่านั้น แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น กุลบุตรผู้สมบูรณ์ด้วยอภินิหาร เพราะตนเป็นผู้มีปัญญา ย่อมเรียนได้มาก เรียนได้เร็ว ย่อมจำทรงไว้ดี ทั้งศิลปะที่เขาเรียนแล้ว ย่อมไม่หลงลืม ได้ยินว่าเพียง ๗ ปี ชีวกนี้เรียนแพทยศิลปะจบเท่าที่อาจารย์รู้ทั้งหมด ซึ่งศิษย์เหล่าอื่นเรียนถึง ๑๖ ปี

                        ฝ่ายพระสักกเทวราชได้มีพระรำพึงอย่างนี้ว่า ชีวกนี้จักเป็นอุปัฏฐาก ผู้มีความคุ้นเคยอย่างยอดของพระพุทธเจ้า เอาเถิด เราจะให้เขาศึกษาการประกอบยา จึงเข้าสิงในสรีระของอาจารย์ให้ชีวกนั้นศึกษาการประกอบยาโดยวิธีที่แพทย์สามารถรักษาโรคไม่มีส่วนเหลือ ยกเว้นวิบากของกรรมเสียให้หายด้วยการประกอบยาขนานเดียวเท่านั้น

                        ส่วนเขาสำคัญว่า เราเรียนในสำนักอาจารย์ เพราะฉะนั้น พอท้าวสักกะปล่อยด้วยทรงดำริว่า บัดนี้ชีวกสามารถเพื่อเยียวยาได้ เขาจึงคิดอย่างนั้นแล้วถามอาจารย์

                        ส่วนอาจารย์ทราบดีว่า ชีวกนี้ไม่ได้เรียนศิลปะด้วยอานุภาพของเรา เรียนด้วยอานุภาพของเทวดา จึงได้กล่าวว่า ให้เที่ยวไปในที่ ๑ โยชน์โดยรอบ แล้วก็หาดูว่า ยังมีต้นไม้สักต้นหนึ่งที่ไม่ใช่ยาอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้นำมา ดั่งนี้ และเวลาที่จะกลับก็ได้ให้เสบียงไปมีประมาณน้อย เพราะเหตุว่าแพทยาจารย์นั้นได้มีความวิตกอย่างนี้ว่า ชีวกนี้เป็นบุตรของมหาสกุล พอไปถึงเท่านั้นจักได้สักการะใหญ่จากสำนักบิดาและปู่ เหตุนั้น เขาจักไม่รู้คุณของเราหรือของศิลปะ แต่เขาสิ้นเสบียงในกลางทางแล้ว จักต้องใช้ศิลปะ จักรู้คุณของเรา และของศิลปะเป็นแน่แท้ เพราะเหตุนั้น จึงให้เสบียงแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

                        อนึ่ง ยังมีข้อเบ็ดเตล็ดที่อื่นที่ควรทราบในคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์นั้น เรื่องผ้าสิไวยกะ ได้ยินว่า ผ้าสิไวยกะที่ชีวกโกมารภัจจ์ถวายพระพุทธเจ้านั้น คือผ้าอวมงคลที่เขาทิ้งที่ป่าช้าในอุตตรกุรุทวีป มนุษย์ในทวีปนั้นเอาผ้านั้นห่อหุ้มศพคนตายแล้วทิ้งเสีย นกหัสดีลิงค์กำหนดห่อนั้นว่าเป็นชิ้นเนื้อ เฉี่ยวเอาไปวางที่ยอดเขาหิมพานต์ เปลื้องผ้าออกแล้วกิน พวกพรานไพรพบผ้าเข้า นำมาถวายพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระเจ้าจัณฑปัชโชตพระราชทานหมอชีวก อาจารย์บางพวกกล่าวว่า หญิงผู้ฉลาดในแคว้นสิวี ฟั่นด้ายด้วยขนสัตว์ ๓ เส้น ผ้าสิไวยกะนั้นทอด้วยด้ายนั้น

                        พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจแล้ว หมอชีวกนั้นซึึ่งได้รับพระราชทานผ้าสิไวยกะจากพระเจ้าจัณฑปัชโชต ได้ถือคู่ผ้าสิไวยกะนั้นเข้าเฝ้าถวายพระพุทธเจ้า ขอประทานพรถวายคหบดีจีวรแก่สงฆ์ ในระหว่างนี้คือตั้งแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ จนถึงเรื่องถวายคหบดีจีวรที่เกิดขึ้น เป็นเวลา๒๐ ปี ซึ่งหมายความว่าในช่วงเวลา ๒๐ ปีตั้งแต่ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ทรงผ้าบังสุกุลจีวรกันอย่างเดียว แต่มาเริ่มทรงผ้าคหบดีจีวรตั้งแต่เมื่อชีวกโกมารภัจจ์ได้ขอประทานพรถวายผ้าคหบดีจีวรแก่สงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต และชีวกโกมารภัจจ์เองก็ได้ถวายคู่ผ้าสิไวยกะนั้นแก่พระพุทธเจ้าเป็นประเดิม

                        ที่เรียกว่า กาสี ๑ นั้น เป็นมาตราเงิน คือ ๑,๐๐๐ เรียกว่า กาสี ๑

                        ผ้าโกเชาว์ หรือผ้าโกชวะ เป็นผ้าทำด้วยขนสัตว์ คล้ายกับผ้าปาวาร

 

ธนัญชานิสูตร1

                        สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน สวนที่ใช้เลี้ยงกระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิริชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงทักขิณาคิริชนบท ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

                        ท่านพระสารีบุตรได้ถามภิกษุนั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพระประชวร และยังทรงพระกำลังอยู่หรือ ภิกษุนั้นกราบเรียนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพระประชวร ยังทรงพระกำลังอยู่ ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ก็ภิกษุสงฆ์ไม่ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่หรือ ภิกษุนั้นกล่าวตอบว่า แม้ภิกษุสงฆ์ก็ไม่ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่ ท่านพระสารีบุตรถามว่า ธนัญชานิพราหมณ์อยู่ที่ใกล้ประตูตัณฑุลปาละในพระนครราชคฤห์นั้น เขาไม่ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่หรือ ภิกษุนั้นกล่าวตอบว่า แม้ธนัญชานิพราหมณ์ก็ไม่ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่ านพระสารีบุตรถามว่า ธนัญชานิพราหมณ์นั้นยังเป็นผู้ไม่ประมาทหรือ ภิกษุนั้นได้กราบเรียนท่านว่า ที่ไหน ธนัญชานิพราหมณ์ของเราจะไม่ประมาท เขาอาศัยพระราชาเที่ยวปล้นพวกพราหมณ์และคฤหบดี อาศัยพวกพราหมณ์และคฤหบดีปล้นพระราชา ภรรยาของเขาผู้มีศรัทธา ซึ่งนำมาจากสกุลที่มีศรัทธาทำกาละเสียแล้ว เขาได้หญิงอื่นมาเป็นภริยาผู้หาศรัทธามิได้ เขานำมาจากสกุลที่ไม่มีศรัทธา ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า เราได้ฟังว่า ธนัญชานิพราหมณ์เป็นผู้ประมาท เป็นอันได้ฟัง ชั่วหนอ ทำไฉนเราจะพึงได้พบกับธนัญชานิพราหมณ์บางครั้งบางคราว ทำไฉนจะพึงได้เจรจาปราศรัยกันสักเล็กน้อย

                        ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรอยู่ในทักขิณาคิริชนบทพอสมควรแล้ว จึงหลีกจาริกไปทางพระนครราชคฤห์ เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ได้ถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ได้ยินว่า สมัยนั้นท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน สวนที่ใช้เลี้ยงกระแต ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปยังพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น ธนัญชานิพราหมณ์ใช้คนให้รีดนมโคอยู่ที่คอกโคภายนอกพระนคร ท่านพระสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ภายหลังภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปหาธนัญชานิพราหมณ์ถึงที่อยู่ ธนัญชานิพราหมณ์ได้เห็นท่านพระสารีบุตรกำลังมาแต่ไกล จึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรแล้วได้กล่าวว่า นิมนต์ดื่มน้ำนมสดทางนี้เถิดท่านพระสารีบุตร ท่านยังมีเวลาฉันอาหาร ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า อย่าเลยพราหมณ์ วันนี้ฉันทำภัตกิจเสร็จแล้ว ฉันจักพักกลางวันที่โคนต้นไม้โน้น ท่านพึงมาในที่นั้น ธนัญชานิพราหมณ์รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ครั้งนั้นธนัญชานิพราหมณ์บริโภคอาหารเวลาเช้าเสร็จแล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

                        ท่านพระสารีบุตรได้ถามว่า ธนัญชานิ ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทหรือ ธนัญชานิพราหมณ์ได้ตอบว่า ที่ไหนข้าพเจ้าจะไม่ประมาท เพราะข้าพเจ้าต้องเลี้ยงมารดาบิดา ต้องเลี้ยงบุตรภริยา ต้องเลี้ยงพวกทาสกรรมกรและคนรับใช้ต้องทำกิจสำหรับมิตรและอำมาตย์แก่มิตรและอำมาตย์ ต้องทำกิจสำหรับญาติสาโลหิต ต้องทำกิจสำหรับแขกแก่แขก ต้องทำบุญที่ควรทำแก่ปุพพเปตชนส่งไปให้ปุพพเปตชน ต้องทำการบวงสรวงแก่พวกเทวดา ต้องทำราชการให้แก่หลวง แม้กายนี้ก็ต้องให้อิ่มหนำต้องให้เจริญ ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบิดามารดา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือว่า เราเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบิดามารดา ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือมารดาบิดาของผู้นั้นจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

                        ธนัญชานิพราหมณ์ได้กล่าวตอบท่านว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านสารีบุตรที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็พึงโยนลงในนรกจนได้

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภริยา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าผู้นั้นไปนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภริยา ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่าบุตรภริยาของผู้นั้น จะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ที่แท้ถึงท่านผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็จะพึงโยนเขาลงในนรกจนได้

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกรและคนรับใช้ นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งทาสกรรมกรและคนรับใช้ ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่าพวกทาสกรรมกรและคนรับใช้ของเขา จะพึงได้ตามความ

ปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่ามิตรและอำมาตย์ของเขา จะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เขาจะได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่าญาติสาโลหิตของเขาจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งแขก นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งแขก ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่าแขกของเราจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งปุพพเปตชน นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งปุพพเปตชน ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่าปุพพเปตชนของเขาจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเทวดา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเทวดา ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่าเทวดาของเขาจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพระราชา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพระราชาขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่าพระราชาของเขาผู้นั้นจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุแห่งการทำนุบำรุงกาย นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรมประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุแห่งการทำนุบำรุงกาย ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่าชนเหล่าอื่นของเขา จะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุแห่งการทำนุบำรุงกาย ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดาไหนจะประเสริฐกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า ผู้ที่ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ไม่ประเสริฐ ส่วนผู้ประพฤติชอบธรรมประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงมารดาบิดาได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภริยา กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภริยา ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภริยา ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภริยา ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงบุตรและภริยาได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพวกทาสกรรมกรและคนรับใช้ กับบุคคล ผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งพวกทาสกรรมกร และคนรับใช้ ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพวกทาสกรรมกรและคนรับใช้ ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งพวกทาสกรรมกรและคนรับใช้ ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงพวกทาสกรรมกรและคนรับใช้ได้ ไม่ต้องกระทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ ประเสริฐด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่มิตรและอำมาตย์ได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่ญาติสาโลหิตได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งแขก กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรมประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งแขก ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งแขก ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรมประพฤติถูกธรรม ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรมประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่แขกได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งปุพพเปตชน กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งปุพพเปตชน ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งปุพพเปตชน ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งปุพพเปตชน ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่ปุพพเปตชนได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเทวดา กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งเทวดา ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเทวดา ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งเทวดา ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรม และการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติ ไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่เทวดาได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพระราชา กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งพระราชา ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวตอบว่า บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพระราชา ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งพระราชา ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรม และการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่พระราชาได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุแห่งการทำนุบำรุงกาย กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุแห่งการทำนุบำรุงกาย ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุแห่งการทำนุบำรุงกาย ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุแห่งการทำนุบำรุงกาย ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงกาย ทำนุบำรุงกายได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามกและให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่

                        ครั้งนั้นแล ธนัญชานิพราหมณ์ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของท่านพระสารีบุตร ลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว

                        ครั้นสมัยต่อมา ธนัญชานิพราหมณ์เป็นผู้อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก จึงเรียกบุรุษคนหนึ่งมาว่า บุรุษผู้เจริญ มานี่เถิดท่าน ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ จงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์อาพาธได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า และจงไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ แล้วจงไหว้เท้าท่านพระสารีบุตรตามคำของเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์อาพาธ ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก เขาไหว้เท้าท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า แล้วจงเรียนท่านอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอโอกาส ขอท่านพระสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของธนัญชานิพราหมณ์เถิด

                        บุรุษนั้นรับคำธนัญชานิพราหมณ์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า แล้วได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ไหว้ท่านพระสารีบุตรแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้เรียนท่านพระสารีบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญธนัญชานิพราหมณ์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาไหว้เท้าของท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า และสั่งมาอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอโอกาส ขอท่านพระสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของธนัญชานิพราหมณ์เถิด ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์ด้วยอาการดุษณีภาพ

                        ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของธนัญชานิพราหมณ์ แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ได้ถามธนัญชานิพราหมณ์ว่า ดูก่อนธนัญชานิ ท่านยังพอทนได้หรือ พอจะยังชีวิตให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาค่อยถอยลงไม่เจริญขึ้นหรือ อาการปรากฏค่อยคลายไม่ทวีขึ้นหรือ

                        ธนัญชานิพราหมณ์กราบเรียนว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ข้าพเจ้าทนไม่ไหว จะยังชีวิตให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพเจ้ากล้านัก เจริญขึ้นไม่ถอยเลย ปรากฏอาการทวียิ่งขึ้น ไม่ลดถอย ข้าแต่ท่านพระสารีบุตรผู้เจริญเปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เอาเหล็กแหลมคมกดศีรษะฉันใด ข้าพเจ้าก็ฉันนั้นแล ลมเสียดแทงศีรษะกล้านัก ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ข้าพเจ้าทนไม่ไหว จะยังชีวิตให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพเจ้ากล้านัก เจริญขึ้น ไม่ถอยเลย ปรากฏอาการทวียิ่งขึ้น ไม่ลดถอย เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเอาเส้นเชือกที่เขม็งมัดรัดศีรษะฉันใด เวทนาในศีรษะของข้าพเจ้าก็เหลือทนฉันนั้น ข้าพเจ้าทนไม่ไหว จะยังชีวิตให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพเจ้ากล้านัก เจริญขึ้น ไม่ถอยเลย ปรากฏอาการทวียิ่งขึ้น ไม่ลดถอย ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร เปรียบเหมือนนายโคฆาตคือคนฆ่าโคหรือลูกมือนายโคฆาตผู้ชำนาญ เอามีดสำหรับเชือดเนื้อโคอันคมมาเชือดท้องฉันใด ข้าพเจ้าก็ฉันนั้นลมเสียดท้องกล้านัก ข้าพเจ้าทนไม่ไหวจะยังชีวิตให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพเจ้ากล้านัก เจริญขึ้น ไม่ถอยเลย ปรากฏอาการทวียิ่งขึ้น ไม่ลดถอย ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง ๒ คน ช่วยกันจับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าคนละแขน รมย่างไว้ที่หลุมถ่านเพลิงฉันใด ในกายของข้าพเจ้าก็ร้อนเหลือทนฉันนั้น ข้าพเจ้าทนไม่ไหว จะยังชีวิตให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพเจ้ากล้านัก เจริญขึ้น ไม่ถอยเลย ปรากฏอาการทวียิ่งขึ้น ไม่ลดถอย

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน นรกกับกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ไหนจะดีกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานดีกว่านรก

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานกับปิตติวิสัย ไหนจะดีกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า ปิตติวิสัยดีกว่ากำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน ปิตติวิสัยกับมนุษย์ ไหนจะดีกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า มนุษย์ดีกว่าปิตติวิสัย

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน มนุษย์กับเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ไหนจะดีกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า เทวดาชั้นจาตุมมหาราชดีกว่ามนุษย์

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน เทวดาชั้นจาตุมมหาราชกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ไหนจะดีกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์ดีกว่าเทวดาชั้นจาตุมมหาราช

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน เทวดาชั้นดาวดึงส์กับเทวดาชั้นยามา ไหนจะดีกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า เทวดาชั้นยามาดีกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน เทวดาชั้นยามากับเทวดาชั้นดุสิต ไหนจะดีกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า เทวดาชั้นดุสิตดีกว่าเทวดาชั้นยามา

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน เทวดาชั้นดุสิตกับเทวดาชั้นนิมมานรดี ไหนจะดีกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า เทวดาชั้นนิมมานรดีดีกว่าเทวดาชั้นดุสิต

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน เทวดาชั้นนิมมานรดีกับเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ไหนจะดีกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีดีกว่าเทวดาชั้นนิมมานรดี

                        ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีกับพรหมโลก ไหนจะดีกว่ากัน

                        ธนัญชานิพราหมณ์ถามว่า ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า พรหมโลกหรือท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า พรหมโลกหรือ

                        ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรมีความดำริว่า พราหมณ์เหล่านี้น้อมใจไปในพรหมโลก ถ้ากระไร เราพึงแสดงทางเพื่อความเป็นสหายกับพรหมแก่ธนัญชานิพราหมณ์เถิด ดั่งนี้ แล้วจึงกล่าวว่า ธนัญชานิ เราจักแสดงทางเพื่อความเป็นสหายกับพรหม ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักกล่าว ธนัญชานิพราหมณ์รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว

                        ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ก็ทางเพื่อความเป็นสหายกับพรหมเป็นไฉน ดูก่อนธนัญชานิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายกับพรหม อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีใจประกอบด้วยกรุณา มีใจประกอบด้วยมุทิตา มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกันตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยกรุณา มุทิตา อุเบกขาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ นี้แลเป็นทางเพื่อความเป็นสหายกับพรหม

                        ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า ตามคำของข้าพเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า

                        ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้ประดิษฐานธนัญชานิพราหมณ์ไว้ในพรหมโลกชั้นต่ำ ในเมื่อยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นได้ แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป เมื่อท่านพระสารีบุตรหลีกไปไม่นาน ธนัญชานิพราหมณ์ทำกาละ แล้วไปบังเกิดยังพรหมโลก

                        ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรนี้ได้ประดิษฐานธนัญชานิพราหมณ์ไว้ในพรหมโลกชั้นต่ำ ในเมื่อยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นได้ แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

                        ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สารีบุตร ทำไมเธอจึงประดิษฐานธนัญชานิพราหมณ์ไว้ในพรหมโลกชั้นต่ำในเมื่อยังมีกิจอันพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปได้ แล้วลุกจากอาสนะหลีกไปเล่า

                        ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า พราหมณ์เหล่านี้น้อมใจไปพรหมโลก ถ้ากระไร เราพึงแสดงทางเพื่อความเป็นสหายกับพรหมแก่ธนัญชานิพราหมณ์เถิด ดั่งนี้ พระเจ้าข้า

                        พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สารีบุตร ธนัญชานิพราหมณ์ทำกาละไปบังเกิดในพรหมโลกแล้ว

                        ในพระสูตรนี้ ได้แสดงถึงเรื่องท่านพระสารีบุตรเที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิริชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ท่านพระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายว่า ภูเขาชื่อคิริ คำนี้เป็นชื่อของชนบทในด้านทิศทักษิณแห่งภูเขาที่ตั้งล้อมกรุงราชคฤห์ และในพระสูตรที่กล่าวว่า ธนัญชานิพราหมณ์อยู่ที่ใกล้ประตูตัณฑุลปาละ ในพระนครราชคฤห์นั้น ท่านอธิบายว่า กรุงราชคฤห์มีประตูใหญ่ ๓๒ ประตู ประตูเล็ก ๖๔ ประตู บรรดาประตูเหล่านั้น ประตูหนึ่งชื่อว่า ประตูตัณฑุลปาละ ท่านพระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวหมายเอาประตูตัณฑุลปาละนั้น และข้อที่ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนแจ้งแก่ท่านพระสารีบุตร คือท่านพระสารีบุตรได้ถามภิกษุทั้งหลายว่า ธนัญชานิพราหมณ์นั้นยังเป็นผู้ไม่ประมาทหรือ ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลว่า ที่ไหนได้ ธนัญชานิพราหมณ์ของเราจะไม่ประมาท เขาอาศัยพระราชาเที่ยวปล้นพวกพราหมณ์และคฤหบดี อาศัยพวกพราหมณ์และคฤหบดีปล้นพระราชา

                        ท่านอธิบายว่า ธนัญชานิพราหมณ์อันพระราชาทรงส่งไปว่า จงไปเก็บส่วนแบ่งข้าวกล้าโดยไม่เบียดเบียนประชาชน เขาไปเก็บข้าวกล้ามาหมดเลย และเป็นผู้อันประชาชนพูดว่า อย่าทำพวกข้าพเจ้าให้ฉิบหาย กลับกล่าวว่า ข้าวกล้าที่หว่านไว้ในราชสกุลมีน้อย พระราชาทรงสั่งเราอย่างนี้ในเวลาที่จะมาทีเดียว พวกท่านอย่าได้คร่ำครวญไปเลย ธนัญชานิพราหมณ์อาศัยพระราชาอย่างนี้ ชื่อว่าย่อมปล้นพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ข้าวเข้าบ้านตนโดยส่วนมาก ส่งเข้าราชสกุลมีประมาณน้อยแล และถูกพระราชาตรัสถามว่าท่านไม่ได้ทำการบีบบังคับพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายหรือ ก็กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ในวาระนี้นามีข้าวกล้าน้อย เพราะฉะนั้น เมื่อข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้บีบบังคับเก็บเอา จึงไม่มากแล ธนัญชานิพราหมณ์อาศัยพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายอย่างนี้ปล้นพระราชา

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๑๔๖ - ๑๖๗