Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๕๙

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

 

เรื่องสมาทานติตถิยวัตรมีเปลือยกายเป็นต้น1 วิ. มหา. ๕/๑๖๘ /๒๓๒ .

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเปลือยกายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้กราบทูลคำนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพรรณนาคุณแห่งความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย การเปลือยกายนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตการเปลือยกายแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษคือบุรุษเปล่า การกระทำของเธอนั้นไม่สมควร ไฉนเธอจึงได้สมาทานการเปลือยกายที่พวกเดียรถีย์สมาทานเล่า การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่าภิกษุไม่พึงสมาทานการเปลือยกายที่พวกเดียรถีย์สมาทาน รูปใดสมาทานต้องอาบัติถุลลัจจัย

                   สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าคากรอง ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าเปลือกไม้กรองภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าผลไม้กรอง ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้ากัมพลทำด้วยผมคน ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์ ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าทำด้วยปีกนกเค้า ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าหนังเสือ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพรรณนาคุณแห่งความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย หนังเสือนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำ จัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระกรุณา โปรดอนุญาตหนังเสือเป็นต้นแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้นไม่สมควร ไฉนเธอจึงได้ทรงผ้าคากรองเป็นต้น ตลอดจนถึงผ้าหนังเสืออันเป็นธงชัยของเดียรถีย์เล่า การกระทำของเธอนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส เป็นต้น ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุ

ทั้งหลายว่า ภิกษุไม่พึงทรงผ้าคากรองเป็นต้น ตลอดจนถึงหนังเสืออันเป็นธงชัยของเดียรถีย์ รูปใดทรง ต้องอาบัติถุลลัจจัย

                   สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าทำด้วยก้านดอกรัก รูปหนึ่งนุ่งผ้าทำด้วยเปลือกปอ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลคำนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพรรณนาคุณแห่งความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ผ้าทำด้วยก้านดอกรัก ผ้าทำด้วยเปลือกปอนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตผ้าทำด้วยก้านดอกรัก ผ้าทำด้วยเปลือกปอ แก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า การกระทำของเธอนั้นไม่สมควร ไฉนเธอจึงได้นุ่งผ้าทำด้วยก้านดอกรัก นุ่งผ้าทำด้วยเปลือกปอเล่า การกระทำของเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าทำด้วยก้านดอกรัก ไม่พึงนุ่งผ้าทำด้วยเปลือกปอ รูปใดนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ

 

พระฉัพพัคคีย์ทรงจีวรสีครามล้วนเป็นต้น

                   ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทรงจีวรสีครามล้วน ทรงจีวรสีเหลืองล้วน ทรงจีวรสีแดงล้วน ทรงจีวรสีบานเย็นล้วน ทรงจีวรสีดำล้วน ทรงจีวรสีแสดล้วน ทรงจีวรสีชมพูล้วน ทรงจีวรที่ไม่ตัดชาย ทรงจีวรมีชายยาว ทรงจีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ ทรงจีวรมีชายเป็นแผ่น สวมเสื้อ สวมหมวก ทรงผ้าโพก ประชาชนพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า ภิกษุไม่พึงทรงจีวรสีครามล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีเหลืองล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีแดงล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีบานเย็นล้วนไม่พึงทรงจีวรสีดำล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีแสดล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีชมพูล้วน ไม่พึงทรงจีวรที่ไม่ตัดชาย ไม่พึงทรงจีวรมีชายยาว ไม่พึงทรงจีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ ไม่พึงทรงจีวรมีชายเป็นแผ่น ไม่พึงสวมเสื้อ ไม่พึงสวมหมวก ไม่พึงทรงผ้าโพก รูปใดทรง ต้องอาบัติทุกกฏ

 

เรื่องจีวรยังไม่เกิดแก่ผู้จำพรรษา

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น หลีกไปเสียบ้าง สึกเสียบ้าง ถึงมรณภาพบ้าง ปฏิญญาเป็นสามเณรบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้วิกลจริตบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่เห็นอาบัติบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่ทำคืนอาบัติบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่สละคืนทิฏฐิอันลามกบ้าง ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์บ้าง ปฏิญญาเป็นคนลักเพศบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์บ้าง ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์บ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณีบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์บ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิตบ้าง ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนกบ้าง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแนะนำดังต่อไปนี้ว่า ก็ในข้อนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น หลีกไปเสีย เมื่อผู้รับแทนที่สมควรมีอยู่ สงฆ์พึงให้

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น สึกเสียถึงมรณภาพ ปฏิญญาเป็นสามเณร ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขา ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุ สงฆ์เป็น

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น ปฏิญญาเป็นผู้วิกลจริต ปฏิญญาเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ปฏิญญาเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่เห็นอาบัติ ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่ทำคืนอาบัติ ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่สละคืนทิฏฐิอันลามก เมื่อผู้รับแทนที่สมควรมีอยู่ สงฆ์พึงให้

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์เป็นต้น จนถึงปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก สงฆ์เป็นเจ้าของ

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ทันได้แบ่งกัน หลีกไปเสีย เมื่อผู้รับแทนที่สมควรมีอยู่ สงฆ์พึงให้

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ทันได้แบ่งกัน สึกเสีย ถึงมรณภาพ ปฏิญญาเป็นสามเณร ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขา ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุ สงฆ์เป็นเจ้าของ

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ทันได้แบ่งกัน ปฏิญญาเป็นผู้วิกลจริต ปฏิญญาเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ปฏิญญาเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่เห็นอาบัติ ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่ทำคืนอาบัติ ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่สละคืนทิฏฐิอันลามก เมื่อผู้รับแทนที่สมควรมีอยู่ สงฆ์พึงให้

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ทันได้แบ่งกัน ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์เป็นต้น จนถึงปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก สงฆ์เป็นเจ้าของ

                   อนึ่ง ในข้อนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาแล้วสงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้น ถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวายจีวรในอีกฝ่ายหนึ่งด้วยเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ นั่นเป็นของสงฆ์เท่านั้น

                   อนึ่ง ในข้อนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาแล้วสงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้น ถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวายจีวรในฝ่ายนั้นเหมือนกัน ด้วยเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ นั่นเป็นของสงฆ์เท่านั้น

                   อนึ่ง ในข้อนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาแล้วสงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้น ถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวายจีวรในอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าถวายฝ่ายหนึ่ง นั่นเป็นของเฉพาะฝ่ายหนึ่ง

                   อนึ่ง ในข้อนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาแล้วสงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้น ถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวายจีวรในฝ่ายนั้นเหมือนกัน ด้วยเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าถวายแก่ฝ่ายหนึ่ง นั่นเป็นของเฉพาะฝ่ายหนึ่ง

                   อนึ่ง ในข้อนี้ เมื่อจีวรเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษา แต่ยังมิทันได้แบ่ง สงฆ์แตกกัน พึงแบ่งส่วนให้ภิกษุทุกรูปเท่าๆ กัน

 

เรื่องพระเรวตเถระฝากจีวร

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระเรวตะฝากจีวรแก่ภิกษุรูปหนึ่งไปถวายท่านพระสารีบุตร ด้วยสั่งว่า จงถวายจีวรผืนนี้แก่พระเถระ ในระหว่างทางภิกษุรูปนั้นได้ถือเอาจีวรนั้นเสีย เพราะวิสาสะต่อท่านพระเรวตะ

                   กาลต่อมา ท่านพระเรวตะมาพบท่านพระสารีบุตร จึงเรียนถามว่า ผมฝากจีวรมาถวายพระเถระ ท่านได้รับจีวรนั้นแล้วหรือ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ผมยังไม่เห็นจีวรนั้นเลย ท่านพระเรวตะจึงได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า ผมฝากจีวรมาแก่ท่านให้ถวายพระเถระ ไหนจีวรนั้น ภิกษุนั้นตอบว่า ผมได้ถือเอาจีวรนั้นเสียเพราะวิสาสะต่อท่าน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแนะนำดังต่อไปนี้

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเสียในระหว่างทางเพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเสียในระหว่างทางเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ผู้ฝากถึงมรณภาพเสียแล้วจึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของผู้ฝาก ชื่อว่าอธิษฐานถูกต้องแล้ว ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ผู้รับถึงมรณภาพเสียแล้วจึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของผู้รับ ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ทั้ง ๒ รูปถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐานเป็นมรดกของผู้ฝาก ชื่อว่าอธิษฐานถูกต้อง อธิษฐานเป็นจีวรของผู้รับ ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเสียในระหว่างทางเพราะวิสาสะต่อผู้ฝากชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเสียในระหว่างทางเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ผู้ฝากถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของผู้ฝาก ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ผู้รับถึงมรณภาพเสียแล้วจึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของผู้รับ ชื่อว่าอธิษฐานถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง

                   อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ทั้ง ๒ รูปถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของผู้ฝาก ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้องอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของผู้รับ ชื่อว่าอธิษฐานถูกต้อง

 

จีวรที่เกิดขึ้นมี ๘ มาติกา11 วิ. มหา. ๕/๑๗๒ /๒๓๙ .

๑. ถวายแก่สีมา

๒. ถวายตามกติกา

๓. ถวายในสถานที่จัดภิกษา

๔. ถวายแก่สงฆ์

๕. ถวายแก่อุภโตสงฆ์ คือสงฆ์ ๒ ฝ่าย

๖. ถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว

๗. ถวายเจาะจง

. ถวายแก่บุคคล

                   ที่ชื่อว่าถวายแก่สีมา คือภิกษุมีจำนวนเท่าใดอยู่ภายในสีมา ภิกษุเหล่านั้นพึงแบ่งกัน

                   ที่ชื่อว่าถวายตามกติกา คือวัดมีหลายแห่ง ยอมให้มีลาภเสมอกัน เมื่อทายกถวายในวัดหนึ่ง ชื่อว่าเป็นอันถวายทุกวัดที่ชื่อว่าถวายในสถานที่จัดภิกษา คือถวายในสถานที่ๆ ทายกทำสักการะ

ประจำแก่สงฆ์

                   ที่ชื่อว่าถวายแก่สงฆ์ คือสงฆ์อยู่พร้อมหน้ากันแบ่งที่ชื่อว่าถวายแก่อุภโตสงฆ์ คือสงฆ์ ๒ ฝ่าย คือแม้มีภิกษุมาก มีภิกษุณีรูปเดียว ก็พึงให้ฝ่ายละครึ่ง แม้มีภิกษุณีมาก มีภิกษุรูปเดียว ก็พึงให้ฝ่ายละครึ่ง

                   ที่ชื่อว่าถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว คือภิกษุมีจำนวนเท่าใดจำพรรษาอยู่ในอาวาสนั้น ภิกษุเหล่านั้นพึงแบ่งกัน

                   ที่ชื่อว่าถวายเจาะจง คือถวายเฉพาะยาคู ภัตตาหาร ของควรเคี้ยว จีวรเสนาสนะ หรือเภสัช  ที่ชื่อว่าถวายแก่บุคคล คือถวายด้วยวาจาว่า ข้าพเจ้าถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้

 

                   ต่อไปนี้จะได้แสดงอธิบายในจีวรขันธกะ เฉพาะบางเรื่องที่มีในอรรถกถา อยู่ในถ้อยคำ อธิบายความของจีวรขันธกะ ที่พระอรรถกถาจารย์ได้เรียบเรียงไว้

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๑๓๖ - ๑๔๕