Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๕๘

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

 

ถวายจีวรเป็นของสงฆ์

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่แต่ผู้เดียว คนทั้งหลายในถิ่นนั้นได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์ ภิกษุรูปนั้นจึงได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่า สงฆ์ แต่เรารูปเดียว และคนเหล่านี้ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์ ดังนี้ ถ้าไฉนเราจักพึงนำจีวรของสงฆ์เหล่านี้ไปพระนครสาวัตถี ครั้นแล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปพระนครสาวัตถี กราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสว่า จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอผู้เดียว จนถึงเวลาเดาะกฐิน ก็ในข้อนี้ ภิกษุจำพรรษารูปเดียวประชาชนในถิ่นนั้นถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ เราอนุญาตจีวรเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียว จนถึงเวลาเดาะกฐิน

                   สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล ประชาชนในถิ่นนั้นได้ถวายจีวรเปล่งวาจา พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ ภิกษุรูปนั้นจึงได้ดำริดั่งนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่า สงฆ์ แต่เราอยู่ผู้เดียว และคนเหล่านี้ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่าพวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ ถ้าไฉนเราจักพึงนำจีวรของสงฆ์เหล่านี้ไปพระนครสาวัตถี ครั้นแล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปพระนครสาวัตถี แจ้งความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้สงฆ์ผู้อยู่พร้อมหน้ากันแจก

                   ก็ในข้อนี้ ภิกษุอยู่ผู้เดียวตลอดฤดูกาล ประชาชนในถิ่นนั้นได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ เราอนุญาตให้ภิกษุรูปนั้นอธิษฐานจีวรเหล่านั้นว่า จีวรเหล่านี้ของเรา ถ้าเมื่อภิกษุรูปนั้นยังไม่ได้อธิษฐานจีวรนั้น มีภิกษุรูปอื่นมา พึงให้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน ถ้าเมื่อภิกษุ ๒ รูปกำลังแบ่งจีวรนั้น แต่ยังมิได้จับสลาก มีภิกษุรูปอื่นมา พึงให้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน ถ้าเมื่อภิกษุ ๓ รูปกำลังแบ่งจีวรนั้น และจับสลากเสร็จแล้วมีภิกษุรูปอื่นมา พวกเธอไม่ปรารถนา ก็ไม่ต้องให้ส่วนแบ่ง

                   สมัยต่อมา มีพระเถระ ๒ พี่น้อง คือท่านพระอิสิทาสะ ๑ ท่านพระอิสิภัตตะ ๑ จำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี ได้ไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง คนทั้งหลายกล่าวกันว่า นานๆ พระเถระทั้ง ๒ จะได้มา จึงได้ถวายภัตตาหารพร้อมทั้งจีวร พวกภิกษุประจำถิ่นถามพระเถระทั้ง ๒ ว่า จีวรของสงฆ์เหล่านี้

เกิดขึ้นเพราะอาศัยพระคุณเจ้าทั้ง ๒ พระคุณเจ้าทั้ง ๒ จักยินดีรับส่วนแบ่งไหม พระเถระทั้ง ๒ ตอบว่า ผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว โดยประการที่จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านเท่านั้น จนถึงเวลาเดาะกฐิน

                   สมัยต่อมา ภิกษุ ๓ รูปจำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ ประชาชนในเมืองนั้นถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ดำริดั่งนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่า สงฆ์ แต่เรามี ๓ รูปด้วยกัน และคนเหล่านี้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ

                   สมัยนั้นพระเถระหลายรูป คือท่านพระนีลวาสี ท่านพระสาณวาสี ท่านพระโคปกะ ท่านพระภคุ และท่านพระผลิกสันทานะ อยู่ ณ วัดกุกกุฏาราม เขตนครปาตลีบุตร ภิกษุเหล่านั้นจึงเดินทางไปนครปาตลีบุตร แล้วเรียนถามพระเถระทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว โดยประการที่จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านเท่านั้น จนถึงเวลาเดาะกฐิน

 

พระพุทธบัญญัติห้ามรับจีวรในวัดที่ไม่ได้จำพรรษา

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระอุปนันทศากยบุตร จำพรรษาอยู่ในเขตพระนครสาวัตถี ได้ไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นปรารถนาจะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน ภิกษุเหล่านั้นพูดอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายจักแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วนแบ่งไหม ท่านพระอุปนันท์ตอบว่า ผมยินดี รับส่วนแบ่งจีวรแต่อาวาสนั้นแล้วไปวัดอื่น แม้ภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นก็ปรารถนาจะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน และพูดอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายจักแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วนแบ่งไหม ท่านพระอุปนันท์ตอบว่า ผมยินดี รับส่วนแบ่งจีวรแต่อาวาสนั้นแล้วไปวัดอื่น แม้ภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นก็ปรารถนาจะแบ่งจีวรจึงประชุมกัน และก็พูดอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายจักแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วนแบ่งไหม ท่านพระอุปนันท์ตอบว่า ผมยินดี รับส่วนแบ่งจีวรแต่อาวาสแม้นั้นแล้ว ถือจีวรห่อใหญ่กลับมาพระนครสาวัตถีตามเดิม

                   ภิกษุทั้งหลายชมเชยอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้าอุปนันท์ ท่านเป็นผู้มีบุญมาก จีวรจึงเกิดขึ้นแก่ท่านมากมาย ท่านพระอุปนันท์กล่าวว่า บุญของผมที่ไหน ผมจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถีนี้ ได้ไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง พวกภิกษุในวัดนั้นปรารถนาจะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน พวกเธอกล่าวกับผมว่าภิกษุทั้งหลายจักแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วนแบ่งไหม ผมตอบว่า ผมยินดี ได้รับส่วนแบ่งจีวรแต่อาวาสนั้นแล้วไปวัดอื่น แม้ภิกษุในวัดนั้นก็ปรารถนาจะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน และพวกเธอก็ได้กล่าวกับผมอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายจักแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วนแบ่งไหม ผมตอบว่า ผมยินดี ได้รับส่วนแบ่งจีวรแต่อาวาสนั้นแล้วไปวัดอื่น แม้ภิกษุในวัดนั้นก็ปรารถนาจะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน และกล่าวกับผมอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายจักแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วนแบ่งไหม ผมตอบว่า ผมยินดี แล้วได้รับเอาส่วนแบ่งจีวรแต่อาวาสแม้นั้น เพราะอย่างนี้จีวรจึงเกิดขึ้นแก่ผมมากมาย

                ภิกษุทั้งหลายถามว่า พระคุณเจ้าอุปนันท์ ท่านจำพรรษาในวัดหนึ่ง แล้วยังยินดีส่วนแบ่งจีวรในอีกวัดหนึ่งหรือ ท่านพระอุปนันท์ตอบว่า เป็นอย่างนั้น บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตรจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้ว จึงยินดีส่วนแบ่งจีวรในอีกวัดหนึ่งเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอบถามท่านพระอุปนันท์ว่า ข่าวว่าเธอจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้ว ยินดีส่วนแบ่งจีวรในอีกวัดหนึ่ง ท่านพระอุปนันท์กราบทูล

รับว่าจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้ว ไฉนจึงยินดีส่วนแบ่งจีวรในอีกวัดหนึ่งเล่า การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้ว ไม่พึงยินดีส่วนแบ่งจีวรในวัดอื่น รูปใดยินดี ต้องอาบัติทุกกฏ

                  สมัยต่อมา ท่านพระอุปนันทศากยบุตร รูปเดียวจำพรรษาอยู่ ๒ วัดด้วยคิดว่าโดยวิธีอย่างนี้ จีวรจักเกิดขึ้นแก่เรามาก ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า พวกเราจักให้ส่วนแบ่งจีวรแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสแนะว่า พวกเธอจงให้ส่วนแบ่งแก่โมฆบุรุษส่วนเดียว ก็ในข้อนี้ ภิกษุรูปเดียวจำพรรษาอยู่ ๒ วัด ด้วยคิดว่าโดยวิธีอย่างนี้ จีวรจักเกิดขึ้นแก่เรามาก ถ้าภิกษุจำพรรษาในวัดโน้นกึ่งหนึ่ง วัดโน้นกึ่งหนึ่ง พึงให้ส่วนแบ่งจีวรในวัดโน้นกึ่งหนึ่ง วัดโน้นกึ่งหนึ่ง หรือจำพรรษาในวัดใดมากกว่า พึงให้ส่วนแบ่งจีวรในวัดนั้น

 

พระอาพาธ1

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องร่วง นอนจมกองมูตรกองคูถของตนอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะเสด็จพระพุทธดำเนินไปตามเสนาสนะ ได้เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุรูปนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปนั้นนอนจมกองมูตรกองคูถของตนอยู่ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ภิกษุรูปนั้น แล้วตรัสถามว่า เธออาพาธเป็นโรคอะไรภิกษุ ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าอาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระองค์ตรัสถามว่า มีผู้พยาบาลไหมเล่า ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า ไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า เพราะเหตุไรภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลเธอ ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า เพราะข้าพระพุทธเจ้ามิได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลข้าพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า เธอจงไปตักน้ำมา เราจักสรงน้ำ ภิกษุรูปนั้น ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธบัญชา แล้วตักน้ำมาถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรดน้ำ นพระอานนท์ขัดสี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกศีรษะ ท่านพระอานนท์ยกเท้าแล้ววางบนเตียง

                 ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ในวิหารหลังโน้น มีภิกษุอาพาธหรือไม่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า มี ทรงถามว่าภิกษุรูปนั้นอาพาธเป็นโรคอะไร ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ภิกษุรูปนั้นอาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า มีผู้พยาบาลไหม ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่าไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า เพราะเหตุไรภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลเธอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เพราะท่านรูปนั้นมิได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลท่านรูปนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจะไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ผู้ใดจักพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีสัทธิวิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌายะอาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ

 

องค์ของภิกษุอาพาธที่พยาบาลได้ยาก ๕ อย่าง

                   ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นผู้พยาบาลได้ยาก คือไม่ทำความสบาย ๑ ไม่รู้ประมาณในความสบาย ๑ ไม่ฉันยา ๑ ไม่บอกอาการไข้ตามจริงแก่ผู้พยาบาลที่มุ่งประโยชน์ คือไม่บอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่ ๑ มีนิสัยเป็นคนไม่อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดปรากฏในร่างกาย อันกล้าแข็ง รุนแรง ไม่เป็นที่ยินดีไม่เป็นที่พอใจ อันจะพร่าชีวิตเสีย ๑ ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล เป็นผู้พยาบาลได้ยาก

 

 องค์ของภิกษุอาพาธที่พยาบาลได้ง่าย ๕ อย่าง

                   ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นผู้พยาบาลได้ง่าย คือทำความสบาย ๑ รู้ประมาณในความสบาย ๑ ฉันยา ๑ บอกอาการป่วยไข้ตามจริงแก่ผู้พยาบาลที่มุ่งประโยชน์ คือบอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่ ๑ มีนิสัยเป็นคนอดทนต่อทุกขเวทนาอันกล้าแข็ง รุนแรง ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่พอใจ อันจะพร่าชีวิตเสีย ๑ ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล เป็นผู้พยาบาลได้ง่าย

 

 องค์ของภิกษุผู้ไม่เข้าใจพยาบาล ๕ อย่าง

                   ภิกษุผู้พยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรพยาบาลไข้ คือเป็นผู้ไม่สามารถเพื่อประกอบยา ๑ ไม่รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือนำของแสลงเข้าไปให้ กันของไม่แสลงออกเสีย ๑ พยาบาลไข้เห็นแก่อามิส ไม่มีจิตเมตตา ๑ เป็นผู้เกลียดที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ เขฬะ หรือของที่อาเจียนออกไป ๑ เป็นผู้ไม่สามารถจะชี้แจงให้คนไข้เห็นแจ้ง สมาทานอาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาในกาลทุกเมื่อ ๑ ภิกษุผู้พยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ควรพยาบาลไข้


องค์ของภิกษุผู้เข้าใจพยาบาล ๕ อย่าง

                   ภิกษุผู้พยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรพยาบาลไข้ คือเป็นผู้สามารถประกอบยา ๑ รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือกันของแสลงออก นำของไม่แสลงเข้าไปให้ ๑ มีจิตเมตตาพยาบาลไข้ ไม่เห็นแก่อามิส ๑ เป็นผู้ไม่เกลียดที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ เขฬะ หรือของที่อาเจียนออกไปเสีย ๑ เป็นผู้สามารถที่จะชี้แจงให้คนไข้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วย ธรรมีกถาในกาลทุกเมื่อ ๑ ภิกษุพยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แลควรพยาบาลไข้

 

เรื่องให้บาตรจีวรของผู้ถึงมรณภาพแก่คิลานุปัฏฐาก

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไกลไปในโกศลชนบท ได้เข้าไปอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง บรรดาภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ปรึกษาตกลงกันดั่งนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญการพยาบาลภิกษุอาพาธ มิฉะนั้น พวกเราจงพยาบาลภิกษุรูปนี้เถิด แล้วพากันพยาบาลภิกษุอาพาธนั้น เธออันภิกษุเหล่านั้นพยาบาลอยู่ได้ถึงมรณภาพ ภิกษุเหล่านั้นจึงถือบาตรจีวรของเธอไปพระนครสาวัตถี แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสว่า เมื่อภิกษุถึงมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้าของบาตรจีวร แต่ภิกษุผู้พยาบาลไข้มีอุปการะมาก เราอนุญาตให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้

                   ก็แลสงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรอย่างนี้ คือภิกษุผู้พยาบาลไข้นั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้จีวรและบาตรของท่าน ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่าดั่งนี้

                    “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้ไตรจีวร และบาตรของเธอ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ นี้เป็นญัตติท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้ไตรจีวรและบาตรของเธอ สงฆ์ให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ การให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูดสงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”

 

สามเณรถึงมรณภาพ

                   สมัยต่อมา สามเณรรูปหนึ่งมรณภาพ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสว่า เมื่อสามเณรถึงมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้าของบาตรจีวร แต่ภิกษุผู้พยาบาลไข้มีอุปการะมาก เราอนุญาตให้สงฆ์มอบจีวรและบาตรให้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ก็แลสงฆ์พึงให้จีวรและบาตรอย่างนี้ คือภิกษุผู้พยาบาลไข้นั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า สามเณรมีชื่อนี้ถึงมรณภาพนี้จีวรและบาตรของเธอ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดั่งนี้

                    “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้จีวรและบาตรของเธอ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ นี้เป็นญัตติท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรมีชื่อนี้ถึงมรณภาพ นี้จีวรและบาตรของเธอ สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ การให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่งไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูดสงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”

 

ภิกษุและสามเณรช่วยกันพยาบาลไข้

                   สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่ง สามเณรรูปหนึ่ง ช่วยกันพยาบาลภิกษุอาพาธเธออันภิกษุและสามเณรนั้นพยาบาลอยู่ ได้ถึงมรณภาพ ภิกษุผู้พยาบาลไข้นั้น จึงได้มีความปริวิตกว่า เราพึงให้ส่วนจีวรแก่สามเณรผู้พยาบาลไข้อย่างไรหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้มอบส่วนแก่สามเณรผู้พยาบาลไข้เท่าๆ กัน

                    สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งมีของใช้มาก มีบริขารมาก ได้ถึงมรณภาพ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสว่า เมื่อภิกษุถึงมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้าของบาตรจีวร แต่ภิกษุผู้พยาบาลไข้มีอุปการะมาก เราอนุญาตให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตรให้แก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ บรรดาสิ่งของเหล่านั้น สิ่งใดเป็นลหุภัณฑ์ลหุบริขาร สิ่งนั้นเราอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันแบ่ง บรรดาสิ่งของเหล่านั้น สิ่งใดเป็นครุภัณฑ์ครุบริขาร สิ่งนั้นเป็นของสงฆ์ผู้อยู่ในจตุรทิศ ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา ไม่ควรแบ่ง ไม่ควรแจก

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔
หน้า ๑๒๔ - ๑๓๖