Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๕๗

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

 

ผ้าป่า

                   ในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อบวชแล้วก็ดำรงชีวิตอยู่ด้วย นิสสัย ๔ อันได้แก่

                    ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ คำ ข้าวคือภัตตาหารที่ได้มาด้วยกำลังของปลีแข้ง อันได้แก่การเที่ยวบิณฑบาต

                   ปํสุกูลจีวรํ นุ่งห่มผ้าบังสุกุลคือผ้าเก่าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นต้น

                   รุกฺขมูลเสนาสนํ มีเสนาสนะนั่งนอนอยู่ตามโคนไม้

                   ปูติมุตฺตเภสชฺชํ ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า

                    นี้เป็นนิสสัย เครื่องอาศัยของผู้เข้ามาขอบวช เช่นเมื่อบวชเสร็จ พระอุปัชฌาย์ก็จักบอกให้รู้จักนิสสัย เครื่องอาศัยของบรรพชิต ๔ ประการนี้ พร้อมทั้งอกรณียกิจ คือกิจที่ไม่ควรกระทำ ๔ ประการ ซึ่งเมื่อล่วงละเมิดเข้า ก็จะทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ รวมเป็นอนุสาสน์ ข้อที่พระอุปัชฌาย์ ได้บอกตั้งแต่เมื่อบวชเสร็จ

                   ผ้าป่า นี้ก็คือผ้าบังสุกุลนี้เอง คำว่า บังสุกุล นั้นแปลว่า เปื้อนฝุ่น คือเปื้อนธุลีละอองและสิ่งสกปรกต่างๆ โดยเป็นผ้าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า โดยตรง คือเป็นผ้าห่อศพ ที่เมื่อเผาศพก็เปลื้องผ้าที่ห่อออกบ้าง เผาไปบ้าง แม้จะเปลื้องผ้าที่ห่อศพออกแล้ว ก็คงทิ้งไว้ในป่าช้านั้น ไม่มีใครต้องการ หรือว่าผ้าเก่าที่เขาทิ้งไว้ในกองขยะหรือในร้านตลาด แม้ในที่ใดที่หนึ่งซึ่งเป็นผ้าเก่า ผ้าคลุกฝุ่นเปื้อนฝุ่น และทั้งหมดนี้เรียกว่า ผ้าบังสุกุล และโดยเฉพาะผ้าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เคยเป็นผ้าห่อศพเป็นต้น หรือแม้ว่าเขาทิ้งไว้ในป่าทั่วไปก็เรียกว่า ผ้าป่า มีที่มาของคำว่า ผ้าป่า ดั่งนี้

                   ผ้าป่าคือผ้าบังสุกุลดังกล่าวนี้ ภิกษุพร้อมทั้งสามเณรในพระพุทธศาสนาจะกล่าวว่าพร้อมทั้งนางภิกษุณี นางสิกขมานา สามเณรีด้วยก็ได้ ได้เก็บเอามาซัก ตัด เย็บเป็นจีวร เป็นผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าสังฆาฏิตลอดมา มีกล่าวไว้ว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้เป็นผู้กราบทูลพระพุทธเจ้าขอประทานพร พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระตถาคตทรงล่วงพรแล้ว หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงกราบทูลว่า จะขอประทานพรที่สมควร ขอให้ทรงฟัง พระพุทธเจ้าก็ประทานอนุญาตให้หมอชีวกโกมารภัจจ์กราบทูลขอ หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็กราบทูลขออนุญาตให้พระสงฆ์รับ คหบดีจีวร คือผ้าที่คฤหบดีถวาย พระองค์ก็ตรัสอนุญาต เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นั้นมาพระจึงรับผ้าที่ทายกทายิกาถวายได้ เป็นผ้าใหม่ที่เป็นผ้าผืนๆ ก็ตาม หรือเย็บย้อมมาแล้วก็ตาม ท่านพระอาจารย์ผู้เรียบเรียงคำอธิบายได้กล่าวไว้ว่า พระองค์ทรงอนุญาตให้รับผ้าที่เขาถวายได้นับแต่ตรัสรู้มาก็เป็นเวลา ๒๐ ปี ก็หมายความว่าตั้งแต่เมื่อตรัสรู้มา ๒๐ ปี

                   พระภิกษุสงฆ์ก็ใช้ผ้าบังสุกุลดังกล่าว หรือผ้าป่าดังกล่าวเรื่อยมา จึงมาเริ่มรับผ้าที่เขาถวายเป็นผ้าใหม่ เมื่อตรัสรู้แล้วได้ ๒๐ ปีตามที่เล่ามานี้ เป็นที่มาของคำว่า ผ้าป่า โดยแท้จริง แต่ก็มีกล่าวกันว่า แม้ในสมัยหลังต่อมา ก็ยังมีพระที่ถือธุดงควัตรใช้ผ้าบังสุกุล คือเก็บผ้าที่เขาทิ้งไว้ในป่าดังกล่าว มาทำเป็นผ้านุ่งห่ม อันจัดเป็นธุดงควัตรข้อหนึ่ง ในปัจจุบันนี้ก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาต้องการที่จะถวายผ้าแก่พระ แต่พระที่ถือผ้าบังสุกุลเป็นธุดงควัตรไม่รับ จึงได้นำผ้าไปวางทิ้งไว้ในป่า กะว่าเป็นทางที่ท่านจะได้เดินผ่าน ในขณะเดินออกบิณฑบาตเป็นต้น เมื่อพระที่ถือธุดงควัตรข้อถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนี้ ไปพบผ้าที่เขาทิ้งไว้ดังกล่าว ก็นำเอามาทำเป็นผ้านุ่งห่ม ก็อาจจะทิ้งไว้ในป่านั้นเป็นผ้าผืนๆ เช่นเป็นผ้าเก่าผืนๆ บ้าง เป็นจีวรสำเร็จ เช่นเป็นไตรจีวรบ้าง ดั่งนี้ก็เป็นผ้าป่าได้ และเมื่อเอาไปวางทิ้งไว้ ก็ย่อมจะต้องเปื้อนฝุ่น เปื้อนธุลีละอองบ้าง ไม่มากก็น้อย ก็ถือเป็นผ้าบังสุกุลได้ แม้ในระยะเวลา ๒๐ ปีในครั้งพุทธกาล ก่อนที่จะทรงอนุญาตให้รับผ้าที่เขาถวาย ก็อาจจะมีเรื่องดังกล่าวนี้บ้างก็ได้ คือมีผู้มีศรัทธานำผ้าไปทิ้งไว้ในทางที่พระผ่าน เพื่อที่ท่านจะได้เก็บเอามาทำเป็นผ้านุ่งห่ม

                   ในบัดนี้ก็ยังใช้คำว่า บังสุกุล เกี่ยวกับศพแล้วนิมนต์พระไปบังสุกุลโดยโยงสายสิญจน์จากโลงศพ มายังผ้าภูษาโยง แล้วก็ทอดผ้า วางผ้าลงบนผ้าภูษาโยงให้พระชักบังสุกุล แม้ในโอกาสเผา ก็นำผ้าไปทอดไว้บนเมรุ ในที่ใกล้กับโลงศพหรือบนโลงศพ แล้วนิมนต์พระบังสุกุล ก็เรียกว่า “ชักมหาบังสุกุล” เป็นบังสุกุลใหญ่ เพราะว่าใกล้กับศพมาก เช่น ทอดไว้บนโลงศพหรือใกล้โลงศพที่สุด ก็เป็นธรรมเนียมที่ติดมาจากนิสสัยข้อนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตรดังกล่าวมาข้างต้น

                   ในบัดนี้ ก็เพียงแต่นำเอาคำว่า ผ้าป่า มาใช้ในการบริจาคทาน และในวิธีถวายทาน ก็มีคำถวายสงฆ์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นผ้าที่ถวายสงฆ์ นับเป็นผ้าที่มีผู้ถวายหรือนับเป็นผ้าที่เป็นคหบดีจีวรนั้นเอง และเมื่อถวายสงฆ์ก็เป็นของสงฆ์ ซึ่งสงฆ์ก็จะได้นำไปแจกกันตามพระวินัย และเมื่อเป็นผ้าป่าจริงๆ หรือว่าเป็นผ้าป่าที่มีผู้มีศรัทธานำเอาไปทิ้งไว้ในป่า หรือแม้ว่าไปวางไว้ตามโคนไม้ที่พระจะผ่าน ไม่มีการถวาย พระที่ไปพบเข้าก็ชักเอามาเอง จึงได้มีคำชักผ้าป่าที่ผูกเอาไว้ว่า อิมํ จีวรํ จีวรนี้ อสฺสามิกํ ไม่มีเจ้าของ มยฺหํ ปาปุณาตุ จงถึงแก่เราดั่งนี้ หรือว่าจงถึงแก่ข้าพเจ้า จงถึงแก่อาตมา ก็ชักคือเก็บเอาไป แม้การชักผ้าบังสุกุลหรือมหาบังสุกุลอันเนื่องกับศพ ก็ไม่มีคำถวาย พระก็ชักผ้าเหล่านี้ แต่ว่ามีคำสวดต่างออกไปว่า

                   อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ

                   อุปฺปาทวยธมฺมิโน มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา

                   อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

                   เตสํ วูปสโม สุโข ความสงบระงับแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นเหตุให้เกิดสุข ดั่งนี้

                 แต่ว่าธรรมเนียมทอดผ้าป่าการกุศลสามัคคี ก็เป็นอีกธรรมเนียมหนึ่งซึ่งมีการถวาย ก็ถือเป็นคหบดีจีวร เมื่อถวายเป็นของสงฆ์ก็ตกเป็นของสงฆ์ก็เป็นเรื่องที่ภิกษุจะนำไปเป็นของสงฆ์ แจกกันต่อไป แต่ทั้งหมดนี้ก็ชื่อว่าเป็นการบริจาคทานอันเป็นบุญข้อหนึ่ง และในพิธีการบำเพ็ญกุศลก็จะมีการสมาทานศีล มีการขอสรณะและขอศีล พระก็ให้สรณคมน์และให้ศีล ก็ทำให้ได้บุญอันสำเร็จจากศีลอีกข้อหนึ่ง และเมื่อมีการอบรม จะเป็นเทศน์ก็ตามเป็นการกล่าวอบรมก็ตามด้วยธรรม ก็ทำให้เกิดบุญอีกประการหนึ่ง เป็นภาวนามัยบุญ บุญสำเร็จด้วยภาวนา คือความอบรมจิตใจให้สงบเป็นสมาธิและอบรมปัญญา เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเป็นการมาทำบุญ และสำเร็จด้วยทานบ้าง สำเร็จด้วยศีลบ้าง สำเร็จด้วยภาวนาบ้าง ย่อมให้เกิดอานิสงสผลเป็นความสุข ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า

                   สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย ความสร้างสมบุญเป็นเหตุให้เกิดสุข ดังนี้

 พระนอนหลับลืมสติ1

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายฉันโภชนาหารอันประณีตแล้ว นอนหลับลืมสติไม่รู้สึกตัว เมื่อภิกษุเหล่านั้นนอนหลับลืมสติไม่รู้สึกตัว น้ำอสุจิเคลื่อนเพราะความฝัน เสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้ามีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จพุทธดำเนินไปตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นเสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ ครั้นแล้วรับสั่งถามท่านพระอานนท์ว่า เสนาสนะนั้นเปรอะเปื้อนอะไร ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายฉันโภชนาหารอันประณีตแล้ว นอนหลับลืมสติไม่รู้สึกตัว เมื่อภิกษุเหล่านั้นนอนหลับลืมสติไม่รู้สึกตัว น้ำอสุจิเคลื่อนเพราะความฝัน เสนาสนะนี้นั้นจึงเปรอะเปื้อน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ข้อที่กล่าวมานี้ย่อมเป็นอย่างนั้น ความจริงเมื่อภิกษุเหล่านั้นนอนหลับลืมสติไม่รู้สึกตัว น้ำอสุจิจึงเคลื่อนเพราะความฝัน ภิกษุเหล่าใดนอนหลับมีสติตั้งมั่นรู้สึกตัว น้ำอสุจิของภิกษุเหล่านั้นไม่เคลื่อน อนึ่ง น้ำอสุจิของภิกษุปุถุชนผู้ปราศจากความกำหนัดในกามก็ไม่เคลื่อน ข้อที่น้ำอสุจิของพระอรหันต์จะพึงเคลื่อนนั้น ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาส

                   ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายวันนี้เรามีอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เที่ยวเดินไปตามเสนาสนะ ได้เห็นเสนาสนะเปรอะเปื้อนด้วยน้ำอสุจิ จึงถามอานนท์ว่า เสนาสนะนั้นเปรอะเปื้อนอะไรอานนท์ชี้แจงว่า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายฉันโภชนาหารอันประณีตแล้ว นอนหลับลืมสติไม่รู้สึกตัว เมื่อภิกษุเหล่านั้นนอนหลับลืมสติไม่รู้สึกตัว น้ำอสุจิเคลื่อนเพราะความฝัน เสนาสนะนี้นั้นจึงเปรอะเปื้อน เราได้กล่าวรับรองว่าข้อที่กล่าวมานั้นย่อมเป็นอย่างนั้น ความจริงเมื่อภิกษุเหล่านั้นนอนหลับลืมสติไม่รู้สึกตัว น้ำอสุจิเคลื่อนเพราะความฝัน ภิกษุเหล่าใดนอนหลับมีสติตั้งมั่น รู้สึกตัว น้ำอสุจิของภิกษุเหล่านั้นไม่เคลื่อน อนึ่ง น้ำอสุจิของภิกษุปุถุชนผู้ปราศจากความกำหนัดในกามก็ไม่เคลื่อน ข้อที่น้ำอสุจิของพระอรหันต์จะพึงเคลื่อนนั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส

                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับลืมสติไม่รู้สึกตัว มีโทษ ๕ ประการนี้ คือหลับเป็นทุกข์ ๑ ตื่นเป็นทุกข์ ๑ เห็นความฝันอันลามก ๑ เทพดาไม่รักษา ๑ อสุจิเคลื่อน ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับลืมสติไม่รู้สึกตัว มีโทษ ๕ ประการนี้แล

                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับมีสติตั้งมั่นรู้สึกตัว มีคุณ๕ ประการนี้ คือหลับเป็นสุข ๑ ตื่นเป็นสุข ๑ ไม่เห็นความฝันอันลามก ๑ เทพดารักษา ๑ อสุจิไม่เคลื่อน ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับมีสติตั้งมั่นรู้สึกตัว มีคุณ ๕ ประการนี้แล

 พระพุทธานุญาตผ้านิสีทนะ

                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้านิสีทนะคือผ้าปูนั่ง เพื่อรักษากายรักษาจีวร รักษาเสนาสนะ

 พระพุทธานุญาตผ้าปัจจัตถรณะ

                   สมัยต่อมา ผ้านิสีทนะเล็กเกินไป ป้องกันเสนาสนะได้ไม่หมด ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุต้องการผ้าปูนอนใหญ่เพียงใด เราอนุญาตให้ทำผ้าปูนอนใหญ่เพียงนั้น

 พระพุทธานุญาตผ้าปิดฝี

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระเวลัฏฐสีสะ พระอุปัชฌายะของท่านพระอานนท์อาพาธเป็นโรคฝีดาษหรืออีสุกอีใส ผ้านุ่งผ้าห่มกรังอยู่ที่ตัวเพราะน้ำหนองของโรคนั้น ภิกษุทั้งหลายเอาน้ำชุบๆ ผ้าเหล่านั้น แล้วค่อยๆ ดึงออกมา ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพระพุทธดำเนินไปตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นกำลังเอาน้ำชุบๆ ผ้าเหล่านั้น แล้วค่อยๆ ดึงออกมา ครั้นแล้วจึงเสด็จพระพุทธดำเนินเข้าไปทางภิกษุเหล่านั้น ได้ตรัสว่า ภิกษุรูปนี้อาพาธเป็นโรคอะไร ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ท่านรูปนี้อาพาธเป็นโรคฝีดาษหรืออีสุกอีใส ผ้ากรังอยู่ที่ตัวเพราะน้ำหนอง พวกข้าพระพุทธเจ้าเอาน้ำชุบๆ ผ้าเหล่านั้น แล้วค่อยๆ ดึงออกไป

                   ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า เราอนุญาตผ้าปิดฝีแก่ภิกษุที่อาพาธเป็นฝีก็ดี เป็นพุพองก็ดี เป็นสิวก็ดี เป็นโรคฝีดาษหรืออีสุกอีใสก็ดี

 พระพุทธานุญาตผ้าเช็ดหน้าผ้าเช็ดปาก

                   ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาถือผ้าเช็ดหน้าผ้าเช็ดปากเข้าไปในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพระกรุณาโปรดรับผ้าเช็ดหน้าผ้าเช็ดปากของหม่อมฉัน ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่หม่อมฉันตลอดกาลนานด้วยเถิด

                   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผ้าเช็ดหน้าผ้าเช็ดปาก ครั้นแล้วได้ทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ครั้นนางวิสาขามิคารมาตาอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณกลับไป

                   ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า เราอนุญาตผ้าเช็ดหน้าผ้าเช็ดปาก

องค์ของการถือวิสาสะ ๕ ประการ

                   ก็โดยสมัยนั้นแล เจ้าโรชะ มัลลกษัตรย์ เป็นพระสหายของท่านพระอานนท์ได้ฝากผ้าโขมพัสตร์ผืนเก่าๆ ไว้กับท่านพระอานนท์ และท่านพระอานนท์ก็มีความต้องการด้วยผ้าโขมพัสตร์ผืนเก่าๆ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า ให้ถือวิสาสะแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ เคยเห็นกันมา ๑ เคยคบกันมา ๑ เคยบอกอนุญาตกันไว้ ๑ เขายังมีชีวิตอยู่ ๑ รู้ว่าเมื่อเราถือเอาแล้ว เขาจักพอใจ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือวิสาสะแก่บุคคลที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้

พระพุทธานุญาตผ้าบริขาร

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายมีไตรจีวรบริบูรณ์ แต่ยังต้องการผ้ากรองน้ำบ้าง ถุงบ้าง จึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าบริขาร

พระพุทธานุญาตผ้าที่ต้องอธิษฐานและวิกัป

                   ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไตรจีวรบ้าง ผ้าอาบน้ำฝนบ้าง ผ้าปูนั่งบ้าง ผ้าปูนอนบ้าง ผ้าปิดฝีบ้าง ผ้าเช็ดหน้าบ้าง ผ้าเช็ดปากบ้าง ผ้าบริขารบ้าง ผ้าทั้งหมดนั้นต้องอธิษฐานหรือวิกัปหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่าผ้าไตรจีวร เราอนุญาตให้อธิษฐาน ไม่ใช่ให้วิกัป ผ้าวัสสิกสาฎกให้อธิษฐานตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน พ้นจากนั้นให้วิกัป ผ้านิสีทนะให้อธิษฐาน ไม่ใช่ให้วิกัป ผ้าปัจจัตถรณะให้อธิษฐาน ไม่ใช่ให้วิกัป ผ้าปิดฝีให้อธิษฐานตลอดเวลาที่อาพาธ พ้นจากนั้นให้วิกัป ผ้าเช็ดหน้าผ้าเช็ดปากให้อธิษฐาน ไม่ใช่ให้วิกัป ผ้าบริขารให้อธิษฐาน ไม่ใช่ให้วิกัป

                   ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า ผ้าขนาดเล็กเพียงเท่าไรหนอต้องวิกัป จึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า ผ้าขนาดเล็ก ยาว นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว โดยนิ้วพระสุคต เราอนุญาตให้วิกัป

                   สมัยต่อมา ผ้าอุตตราสงค์ที่ทำด้วยผ้าบังสุกุลของท่านพระมหากัสสปะเป็นของหนัก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้ทำการเย็บด้วยด้าย      มุมสังฆาฏิไม่เสมอกัน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้เจียนมุมที่ไม่เสมอออกเสีย

                   ด้ายลุ่ยออก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้ติดผ้าอนุวาต

                   ผ้าหุ้มขอบแผ่นผ้าสังฆาฏิลุ่ยออก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้เย็บตะเข็บดังตาหมากรุก

 พระพุทธานุญาตผ้าที่ตัดและไม่ตัด

                   ก็โดยสมัยนั้นแล เมื่อสงฆ์กำลังทำจีวรให้ภิกษุรูปหนึ่ง ผ้าตัดทั้งหมดไม่พอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตผ้าที่ต้องตัด ๒ ผืน ไม่ต้องตัด ๑ ผืน

                   ผ้าต้องตัด ๒ ผืน ไม่ต้องตัดผืนหนึ่ง ผ้าก็ยังไม่พอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตผ้า ๒ ผืนไม่ต้องตัด ผืนหนึ่งต้องตัด

                   ผ้า ๒ ผืนไม่ต้องตัด ผืนหนึ่งต้องตัด ผ้าก็ยังไม่พอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้เพิ่มผ้าเพลาะ แต่ผ้าทุกผืนที่ไม่ได้ตัด ภิกษุไม่พึงใช้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ

พระให้ผ้าแก่โยมมารดาบิดาได้

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าเกิดขึ้นแก่ภิกษุรูปหนึ่งหลายผืน และท่านปรารถนาจะให้ผ้านั้นแก่โยมมารดาบิดา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เมื่อภิกษุให้ด้วยรู้ว่ามารดาบิดา เราจะพึงว่าอะไร เราอนุญาตให้สละแก่มารดาบิดา แต่ภิกษุไม่พึงทำศรัทธาไทย1ให้ตกไป รูปใดทำให้ตกไป ต้องอาบัติทุกกฏ

พระพุทธบัญญัติห้ามครองผ้า ๒ ผืนเข้าบ้าน

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเก็บสังฆาฏิไว้ในวิหารอันธวัน แล้วครองผ้าอุตตราสงค์กับผ้าอันตรวาสกเข้าบ้านบิณฑบาต คนร้ายขโมยผ้าสังฆาฏินั้นไป ภิกษุจึงใช้ผ้าเก่า ครองจีวรคร่ำคร่า ภิกษุทั้งหลายพูดอย่างนี้ว่า เพราะเหตุไรจึงใช้ผ้าเก่า ครองจีวรคร่ำคร่าเล่า ภิกษุนั้นตอบว่า ผมเก็บผ้าสังฆาฏิไว้ในวิหารอันธวันนี้ แล้วครองอุตตราสงค์กับผ้าอันตรวาสกเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต คนร้ายขโมยผ้าสังฆาฏินั้นไป เพราะเหตุนั้นผมจึงใช้ผ้าเก่า ครองจีวรคร่ำคร่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสห้ามว่า ภิกษุมีแต่ผ้าอุตตราสงค์กับผ้าอันตรวาสกไม่พึงเข้าบ้าน รูปใดเข้าไป ต้องอาบัติทุกกฏ

                   สมัยต่อมา ท่านพระอานนท์ลืมสติ ครองแต่ผ้าอุตตราสงค์กับผ้าอันตรวาสกเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวคำนี้แก่ท่านพระอานนท์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติห้ามไว้แล้วมิใช่หรือว่า ภิกษุมีแต่ผ้าอุตตราสงค์กับผ้าอันตราวาสกไม่พึงเข้าบ้าน ดั่งนี้ ไฉนพระคุณเจ้าจึงมีแต่ผ้าอุตตราสงค์กับผ้าอันตราวาสกเข้าบ้านเล่า พระอานนท์ตอบว่า จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติห้ามไว้แล้วว่า ภิกษุมีแต่ผ้าอุตตราสงค์กับผ้าอันตรวาสกไม่พึงเข้าบ้าน ก็แต่ว่าผมเข้าบ้านด้วยลืมสติ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า

                   ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า เหตุที่เก็บผ้าสังฆาฏิไว้ได้มี ๕ อย่างนี้ คือเจ็บไข้ ๑ สังเกตเห็นว่าฝนจะตก ๑ ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๑ ที่อยู่คุ้มได้ด้วยดาล ๑ ได้กรานกฐิน ๑ เหตุที่เก็บผ้าสังฆาฏิไว้ได้มี ๕ อย่างนี้แล

                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอุตตราสงค์ไว้ได้มี ๕ อย่างนี้ คือเจ็บไข้ ๑ สังเกตเห็นว่าฝนจะตก ๑ ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๑ ที่อยู่คุ้มได้ด้วยดาล ๑ ได้กรานกฐิน ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอุตตราสงค์ไว้ได้มี ๕ อย่างนี้แล

                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอันตรวาสกไว้ได้มี ๕ อย่างนี้ คือเจ็บไข้ ๑ สังเกตเห็นว่าฝนจะตก ๑ ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๑ ที่อยู่คุ้มได้ด้วยดาล ๑ ได้กรานกฐิน ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอันตรวาสกไว้ได้มี ๕ อย่างนี้แล

                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอาบน้ำฝนไว้ได้มี ๕ อย่างนี้ คือเจ็บไข้ ๑ ไปนอกสีมา ๑ ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๑ ที่อยู่คุ้มได้ด้วยดาล ๑ ผ้าอาบน้ำฝนที่ยังไม่ได้ทำ หรือทำ ค้างไว้ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุที่เก็บผ้าอาบน้ำ ฝนไว้ได้มี ๕ อย่างนี้แล

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๑๑๑ -๑๒๔