Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๕๕

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

 

พระพุทธานุญาตน้ำย้อมเป็นต้น

                  ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายย้อมจีวรด้วยโคมัยบ้าง ด้วยดินแดงบ้าง จีวรมีสีคล้ำ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตน้ำย้อม ๖ อย่าง คือน้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเง่า ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้ ๑

                 สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายย้อมจีวรด้วยน้ำย้อมที่เย็น จีวรมีกลิ่นสาบ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่าเราอนุญาตหม้อย้อมขนาดเล็กเพื่อต้มน้ำย้อม น้ำย้อมล้นหม้อ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงอนุญาตว่า เราอนุญาตให้ผูกตะกร้อกันล้น

                 สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายไม่รู้ว่าน้ำย้อมต้มสุกแล้วหรือยังไม่สุก จึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้หยดหยาดน้ำลงในน้ำ หรือหลังเล็บ

                 สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายยกหม้อน้ำย้อมล้มลง หม้อกลิ้งไป หม้อแตก ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตกระบวยตักน้ำย้อม อันเป็นภาชนะมีด้าม

                 สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายไม่มีภาชนะสำหรับย้อม จึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตอ่างสำหรับย้อม หม้อสำหรับย้อม

                 สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายขยำจีวรในบาตรบ้าง ในถาดบ้าง จีวรขาด ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่าเราอนุญาตรางสำหรับย้อม

                 สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายตากจีวรบนพื้นดิน จีวรเปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่าเราอนุญาตเครื่องรองทำด้วยหญ้า

                 เครื่องรองทำด้วยหญ้าถูกปลวกกัด ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตราวจีวร สายระเดียง

                 ภิกษุทั้งหลายตากจีวรตอนกลาง น้ำย้อมหยดออกทั้ง ๒ ชาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่าเราอนุญาตให้ผูกมุมจีวรไว้

                 มุมจีวรชำรุด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงอนุญาตว่า เราอนุญาตด้ายผูกมุมจีวร

                 น้ำย้อมหยดออกชายเดียว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้ย้อมจีวรพลิกกลับไปกลับมา แต่เมื่อน้ำยังหยดไม่ขาดสาย อย่าหลีกไป

                 สมัยต่อมา จีวรเป็นผ้าเนื้อแข็ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้จุ่มลงในน้ำ

                 สมัยต่อมา จีวรเป็นผ้ากระด้าง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้ทุบด้วยฝ่ามือ

 

พระพุทธบัญญัติห้ามใช้จีวรที่ไม่ตัด

                ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด ใช้จีวรที่ย้อมน้ำฝาด มีสีเหมือนงาช้าง ประชาชนจึงพากันติเตียนเพ่งโทษโพนทะนา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสห้ามว่า ภิกษุทั้งหลายภิกษุไม่พึงใช้จีวรที่มิได้ตัด รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ

 

พระพุทธบัญชาให้แต่งจีวร

           ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางทักขิณาคิริชนบท พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกัน ครั้งนั้นรับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันหรือไม่ พระอานนท์กราบทูลว่า เห็นตามพระพุทธดำรัส พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลายให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่ พระอานนท์กราบทูลว่า สามารถ

               ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิริชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จกลับมายังพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว

 

ตรัสสรรเสริญท่านพระอานนท์

              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นผู้ฉลาด อานนท์เป็นผู้เจ้าปัญญา อานนท์ได้ทราบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง อานนท์ทำผ้าชื่อกุสิก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒกุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่อวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่ออนุวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อคีเวยยกะก็ได้ ทำผ้าชื่อชังเฆยยกะก็ได้ และทำผ้าชื่อพาหันตะก็ได้ จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตราสมด้วยสมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าสังฆาฏิตัด ผ้าอุตตราสงค์ตัด ผ้าอันตรวาสกตัด

 

เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกล1

           ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางนครเวสาลี พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกลระหว่างพระนครราชคฤห์และระหว่างพระนครเวสาลีต่อกัน ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุหลายรูปหอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกขึ้นบนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอว เดินมาอยู่ ครั้นแล้วได้ทรงดำริว่า โมฆบุรุษ (แปลว่า บุรุษเปล่า) เหล่านี้ เวียนมาเพื่อความมักมากในจีวรเร็วนัก เราพึงกั้นเขต ตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ทราบว่า2 พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณโคตมกเจดีย์ เขตพระนครเวสาลีนั้น

             ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผ้าจีวรผืนเดียว ประทับนั่งอยู่กลางแจ้งตอนกลางคืน ขณะน้ำค้างตก ในราตรีเหมันตฤดูกำลังหนาว ตั้งอยู่ในระหว่างเดือน ๓ กับเดือน ๔ ต่อกัน ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงทรงห่มจีวรผืนที่ ๒ ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงทรงห่มจีวรผืนที่ ๓ ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ขณะรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ความหนาวจึงได้มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงทรงห่มจีวรผืนที่ ๔ ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ได้ทรงพระดำริว่า กุลบุตรในพระธรรมวินัยนี้ ที่เป็นคนขี้หนาวกลัวต่อความหนาว อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้า ๓ ผืน ไฉนหนอเราจึงพึงกั้นเขต ตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย เราพึงอนุญาตผ้า ๓ ผืน

 

พระพุทธานุญาตไตรจีวร

                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเดินทางไกลในระหว่างพระนครราชคฤห์และระหว่างพระนครเวสาลีต่อกัน ได้เห็นภิกษุหลายรูปในธรรมวินัยนี้หอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกขึ้นบนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอวเดินมาอยู่ ครั้นแล้วเราได้ดำริว่า โมฆบุรุษ (แปลว่า บุรุษเปล่า) เหล่านี้เวียนมาเพื่อความมักมากในจีวรเร็วนัก ไฉนหนอเราจักพึงกั้นเขต ตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย

               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราครองผ้าผืนเดียว นั่งอยู่กลางแจ้ง ณ ตำบลนี้ ตอนกลางคืน ขณะน้ำค้างตก ในราตรีเหมันตฤดูกำลังหนาว ตั้งอยู่ระหว่างเดือน ๓ กับเดือน ๔ ต่อกัน ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่เรา เราจึงห่มจีวรผืนที่ ๒ ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่เรา เราจึงห่มจีวรผืนที่ ๓ ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ขณะรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ความหนาวจึงได้มีแก่เรา เราจึงห่มจีวรผืนที่ ๔ ความหนาวมิได้มีแก่เรา เรานั้นได้ดำริว่า กุลบุตรในพระธรรมวินัยนี้ที่เป็นคนขี้หนาวกลัวต่อความหนาว ก็อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้า ๓ ผืน ไฉนหนอเราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย เราจะพึงอนุญาตไตรจีวร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไตรจีวร คือผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าอุตตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว

 

พระพุทธบัญญัติอดิเรกจีวร

                 ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไตรจีวร จึงใช้จีวรสำรับหนึ่งสำหรับเข้าบ้าน สำรับหนึ่งสำหรับอยู่ในอาราม สำรับหนึ่งสำหรับลงสรงน้ำ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงทรงอดิเรกจีวรเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า

                 ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุไม่พึงทรงอดิเรกจีวร รูปใดทรง พึงปรับอาบัติตามธรรม

                สมัยต่อมา อดิเรกจีวรบังเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ และท่านประสงค์จะถวายจีวรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ถึงเมืองสาเกต ท่านพระอานนท์จึงได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่าภิกษุไม่พึงทรงอดิเรกจีวร ก็อดิเรกจีวรนี้บังเกิดแก่เรา และเราก็ใคร่จะถวายจีวรแก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านอยู่ถึงเมืองสาเกต เราจักพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ยังอีกนานเท่าไร สารีบุตรจักกลับมา ท่านพระอานนท์กราบทูลว่ายังอีก วันหรือ ๑๐ วัน

                 ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้นในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง

 

พระพุทธานุญาตให้วิกัปอดิเรกจีวร

                 สมัยต่อมา อดิเรกจีวรบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ขณะนั้นภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า พวกเราจักพึงปฏิบัติในอดิเรกจีวรอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสอนุญาตว่า เราอนุญาตให้วิกัปอดิเรกจีวร

 

พระพุทธานุญาตผ้าปะเป็นต้น

                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครพาราณสี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครพาราณสี ทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสีนั้น สมัยนั้นผ้าอันตรวาสกของพระภิกษุรูปหนึ่งขาดทะลุ และท่านได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตผ้า ๓ ผืน คือผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าอุตตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว ก็ผ้าอันตรวาสกของเรานี้ขาดทะลุ ไฉนหนอเราพึงดามผ้าปะ โดยรอบจักเป็น ๒ ชั้น ตรงกลางจักเป็นชั้นเดียว ดั่งนี้แล้วจึงได้ดามผ้าปะ พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินไปตามเสนาสนะได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุกำลังดามผ้าปะ ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ภิกษุนั้นได้ตรัสถามว่า เธอกำลังทำอะไรอยู่ ภิกษุนั้นกราบทูลว่า กำลังปะผ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เป็นการชอบแท้ที่เธอดามผ้าปะ

                   ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้นในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าอุตตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียวสำหรับผ้าใหม่มีกัปปะใหม่ ผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ผ้าอุตตราสงค์ ๒ ชั้น ผ้าอันตรวาสก ๒ ชั้นสำหรับผ้าที่เก็บไว้ล่วงฤดู พึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลจนพอต้องการ หรือทำอุตสาหะในผ้าที่ตกจากร้านตลาด เราอนุญาตผ้าปะการชุน รังดุม ลูกดุม การทำให้มั่น

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔
หน้า ๙๖ - ๑๐๕