Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๕๓

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

 

เศรษฐีพระนครราชคฤห์

                   ก็โดยสมัยนั้น เศรษฐีชาวราชคฤห์ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ขนเงินไปเป็นอันมาก อนึ่ง เศรษฐีนั้นถูกนายแพทย์บอกคืน นายแพทย์บางพวกได้ทำนายไว้ดังนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวกได้ทำนายไว้อย่างนี้ว่าจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗

                   ครั้งนั้น พวกคนร่ำรวยในพระนครราชคฤห์ได้มีความวิตกว่า เศรษฐีคหบดีผู้นี้แลมีอุปการะมากแก่พระเจ้าอยู่หัวและชาวนิคม แต่ท่านถูกนายแพทย์บอกคืนแล้ว นายแพทย์บางพวกทำนายไว้อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวกทำนายไว้อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ก็ชีวกผู้นี้เป็นนายแพทย์หลวงที่หนุ่ม ทรงคุณวุฒิถ้าเช่นนั้นพวกเราพึงทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรักษาเศรษฐีคหบดี แล้วจึงพากันเข้าไปในราชสำนัก ครั้นถึงแล้วได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลแก่พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธ ขอพระราชทานชีวกไปรักษา

                   ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช มีพระราชดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า พ่อชีวก เจ้าจงไปรักษาเศรษฐีคหบดี ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระราชโองการ แล้วไปหาเศรษฐีคหบดี สังเกตอาการที่ผิดแปลกของเศรษฐีคหบดีแล้ว ได้ถามเศรษฐีคหบดีว่า ท่านคหบดี ถ้าฉันรักษาให้หายโรคจะพึงมีรางวัลอะไรแก่ฉันบ้าง เศรษฐีคหบดีตอบว่า ท่านอาจารย์ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน และตัวข้าพเจ้าก็จักเป็นทาสของท่านชีวกได้ถามว่า ท่านคหบดี ท่านอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ไหมเศรษฐีตอบว่า ข้าพเจ้าอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ ชีวกถามว่าท่านอาจนอนข้างที่ ๒ ตลอด ๗ เดือนได้ไหม เศรษฐีตอบว่า ข้าพเจ้าอาจนอนข้างที่ ๒ ตลอด ๗ เดือนได้ ชีวกถามว่า ท่านอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ไหม เศรษฐีตอบว่า ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้

                   ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ให้เศรษฐีคหบดีนอนบนเตียง มัดไว้กับเตียงถลกหนังศีรษะ เปิดรอยประสานกะโหลกศีรษะ นำสัตว์มีชีวิตออกมา ๒ ตัว แล้วแสดงแก่ประชาชนว่า ท่านทั้งหลาย จงดูสัตว์ ๒ ตัวนี้ เล็กตัวหนึ่งใหญ่ตัวหนึ่ง พระอาจารย์ทำนายไว้อย่างนี้ว่า ท่านเศรษฐีจะถึงอนิจกรรม ในวันที่ ๕ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวใหญ่นี้ มันจักเจาะกินมันสมองของเศรษฐีคหบดี ในวันที่ ๕ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินมันสมองหมด ก็จักถึงอนิจกรรม สัตว์ตัวใหญ่นี้ชื่อว่าอันอาจารย์พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว ส่วนอาจารย์ที่ทำนายไว้อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวเล็กนี้ มันจักเจาะกินมันสมองของเศรษฐีคหบดี ในวันที่ ๗ เศรษฐีคหบดีจักถูกมันเจาะกินมันสมองหมดก็จักถึงอนิจกรรม สัตว์ตัวเล็กนี้ชื่อว่าอันอาจารย์พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว ดังนี้ แล้วปิดแนวประสานกะโหลกศีรษะ เย็บหนังศีรษะ แล้วให้ทายาสมานแผล

                   ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดีได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่าข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ ชีวกจึงได้กล่าวว่า ท่านรับคำฉันว่า อาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ ดังนี้ ไม่ใช่หรือ เศรษฐีตอบว่า รับคำท่านจริง แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ ชีวกบอกว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงนอนข้างที่ ๒ ตลอด ๗ เดือนเถิด

                   ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดีได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่าข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างที่ ๒ ตลอด ๗ เดือนได้ ชีวกจึงได้กล่าวว่า ท่านรับคำฉันว่า อาจนอนข้างที่ ๒ ตลอด ๗ เดือนได้ ดังนี้ ไม่ใช่หรือ เศรษฐีตอบว่า ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างที่ ๒ ตลอด ๗ เดือนได้ ชีวกจึงพูดว่า ถ้าเช่นนั้น จงนอนหงายตลอด ๗ เดือนเถิด

                   ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดีได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่าท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ ชีวกจึงพูดว่า ท่านรับคำฉันว่า ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ ดังนี้ ไม่ใช่หรือเศรษฐีตอบว่า ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ ชีวกจึงพูดว่า ถ้าฉันไม่บอกท่านไว้ ท่านก็นอนถึงเช่นนั้นไม่ได้ แต่ฉันทราบอยู่ก่อนแล้ว เศรษฐีคหบดีจักหายโรคใน ๓ สัปดาห์ ลุกขึ้นเถิดท่านหายป่วยแล้ว ท่านจงรู้ จะให้รางวัลอะไรแก่ฉัน เศรษฐีตอบว่า ก็ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน ตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาสของท่าน ชีวกจึงพูดว่า อย่าเลยท่านคหบดี ท่านอย่าให้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่ฉันเลย และท่านก็ไม่ต้องเป็นทาสแก่ฉัน จงทูลเกล้าถวายทรัพย์แก่พระเจ้าอยู่หัวแสนกษาปณ์ และให้ฉันแสนกษาปณ์ก็พอแล้ว ครั้นคหบดีหายป่วยแล้ว ได้ทูลเกล้าถวายทรัพย์พระเจ้าอยู่หัวแสนกษาปณ์ ได้ให้แก่ชีวกแสนกษาปณ์

 

บุตรเศรษฐีป่วยเป็นโรคเนื้องอกที่ลำไส้

                   ก็โดยสมัยนั้นแล เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสีผู้เล่นกีฬาหกคะเมนได้ป่วยเป็นเนื้องอกที่ลำไส้ ข้าวยาคูที่เธอดื่มเข้าไปก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานเข้าไปก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนั้นเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ครั้งนั้น เศรษฐีชาวพระนครพาราณสี ได้มีความวิตกดั่งนี้ว่า บุตรของเราได้เจ็บป่วยเช่นนั้น ข้าวยาคูที่เธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อยอุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก บุตรของเรานั้นซูบผอม เศร้าหมองมีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็นเพราะโรคนั้น ถ้ากระไรเราพึงไปพระนครราชคฤห์ และทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระเจ้าอยู่หัวเพื่อจะได้รักษาบุตรของเรา

                   ต่อแต่นั้นเศรษฐีชาวพระนครพาราณสีไปพระนครราชคฤห์ แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช แล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ บุตรของข้าพระพุทธเจ้าได้เจ็บป่วยเช่นนั้น ข้าวยาคูที่เธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เธอจึงซูบผอมเศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็นเพราะโรคนั้นๆขอพระราชทานพระราชวโรกาสขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระราชโองการสั่งนายแพทย์ชีวก เพื่อจะได้รักษาบุตรของข้าพระพุทธเจ้า

                   ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชได้มีพระราชดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า เจ้าจงไปพระนครพาราณสี แล้วรักษาบุตรของเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี

                   ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระราชโองการแล้วไปพระนครพาราณสี เข้าไปหาเศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสี เชิญประชาชนให้ออกไปเสีย ขึงม่านมัดเศรษฐีบุตรไว้กับเสา ให้ภรรยาอยู่ข้างหน้า ผ่าหน้าท้องนำเนื้องอกที่ลำไส้ออกแสดงแก่ภรรยาว่า เธอจงดูความเจ็บป่วยของสามีเธอ ข้าวยาคูที่สามีเธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่สามีเธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวกเพราะโรคนี้ สามีเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีดเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ดั่งนี้ แล้วตัดเนื้องอกในลำไส้ออก ใส่ลำไส้กลับดังเดิม แล้วเย็บหนังท้อง ทายาสมานแผล ต่อมาไม่นานเท่าไรนัก เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสีได้หายโรคนั้น แล้วครั้งนั้น เศรษฐีชาวพระนครพาราณสีคิดว่า บุตรของเราหายโรคพ้นอันตรายแล้ว จึงให้รางวัลแก่ชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ ชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์นั้น เดินทางกลับมาสู่พระนครราชคฤห์ตามเดิม

 

พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชวรโรคผอมเหลือง

                   ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าจัณฑปัชโชต ราชาในกรุงอุชเชนี ทรงประชวรโรคผอมเหลือง นายแพทย์ที่ใหญ่ๆ มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนมารักษาก็ไม่อาจทำให้โรคหาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ส่งราชทูตถือพระราชสาสน์เข้าไปในพระราชสำนักพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช มีใจความว่า หม่อมฉันเจ็บป่วยเป็นอย่างนั้น ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสโปรดสั่งหมอชีวก เขาจักรักษาหม่อมฉัน พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชจึงได้ดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า เจ้าจงไปเมืองอุชเชนี รักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชต

                   ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระราชโองการ แล้วเดินทางไปเมืองอุชเชนีเข้าไปในพระราชสำนัก แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าจัณฑปัชโชต ได้ตรวจอาการที่ผิดแปลกของพระเจ้าจัณฑปัชโชต และได้กราบทูลแก่ท้าวเธอว่า ข้าพระพุทธเจ้าจักหุงเนยใส พระองค์จักเสวยเนยใสนั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงห้ามว่า อย่าเลยนายชีวก ท่านเว้นเนยใสเสีย อาจรักษาเราให้หายโรคได้ด้วยวิธีใด ท่านจงทำวิธีนั้นเถิด เนยใสเป็นของน่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียนสำหรับฉัน

                   ขณะนั้นชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกว่า พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แล ทรงประชวรเช่นนี้ เราเว้นเนยใสเสีย ไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายโรคได้เราควรหุงเนยใสให้มีสีกลิ่นรสเหมือนน้ำฝาด ดั่งนี้ แล้วได้หุงเนยใสด้วยเภสัชนานาชนิดให้มีกลิ่นรสเหมือนน้ำฝาด ครั้นแล้วฉุกคิดได้ว่า เนยใสที่พระองค์เสวยแล้ว เมื่อย่อย จักทำให้เรอ คราวนี้จักทรงเกรี้ยวกราด จักรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ ถ้ากระไรเราพึงทูลลาไว้ก่อน วันต่อมาจึงไปพระราชสำนักเข้าเฝ้าพระเจ้าจัณฑปัชโชต แล้วได้กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าชื่อว่าเป็นนายแพทย์จักถอนรากไม้มาผสมยาชั่วเวลาครู่หนึ่งเช่นที่ประสงค์นั้น ขอประทานจงทรงมีพระราชโองการตรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและประตูทั้งหลายว่า หมอชีวกต้องการไปด้วยพาหนะใด จงไปด้วยพาหนะนั้น ปรารถนาไปทางประตูใด จงไปทางประตูนั้น ต้องการจะไปเวลาใด จงเข้าไปเวลานั้น ปรารถนาจะเข้ามาเวลาใด จงมาเวลานั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชตจึงมีพระราชดำรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและประตูทั้งหลายตามที่หมอชีวกกราบทูลขอพระราชานุญาตไว้ทุกประการ

                   ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าจัณฑปัชโชตมีช้างพังชื่อภัททวดี เดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์ หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงได้ทูลถวายเนยใสนั้นแก่พระเจ้าจัณฑปัชโชต ได้กราบทูลว่า ขอจงทรงเสวยน้ำฝาด ครั้นให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตเสวยเนยใสแล้ว ก็ไปโรงช้างหนีออกจากพระนครไปด้วยช้างพังภัททวดีขณะเดียวกันเนยใสที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตเสวยนั้นย่อย ได้ทำให้ทรงเรอขึ้น พระเจ้าจัณฑปัชโชตจึงได้รับสั่งแก่พวกมหาดเล็กว่า พนายทั้งหลาย เราถูกหมอชีวกชาติชั่วลวงให้ดื่มเนยใส พวกเจ้าจงค้นจับหมอชีวกมาเร็วไว พวกมหาดเล็กกราบทูลว่า หมอชีวกหนีออกจากพระนครไปด้วยช้างพังภัททวดี

                   ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าจัณฑปัชโชตมีมหาดเล็กชื่อกากะ ซึ่งอาศัยเกิดกับอมนุษย์ เดินทางได้วันละ ๖๐ โยชน์ พระเจ้าจัณฑปัชโชตจึงมีดำรัสสั่งกับกากะมหาดเล็กว่า เจ้าจงไปเชิญหมอชีวกกลับมา ด้วยอ้างว่า ท่านอาจารย์ พระราชารับสั่งให้เชิญท่านกลับไป ขึ้นชื่อว่าหมอเหล่านี้ แกมีมารยามาก เจ้าอย่ารับวัตถุใดๆ ของเขา

                   ครั้งนั้นกากะมหาดเล็กได้เดินทางไปทันหมอชีวกโกมารภัจจ์ผู้กำลังรับประทานอาหารมื้อเช้าในระหว่างทางเขตพระนครโกสัมพี จึงได้เรียนแก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ พระราชามีรับสั่งให้เชิญท่านกลับไป ชีวกได้กล่าวว่า ท่านจงรออยู่เพียงชั่วเวลาที่เรารับประทานอาหาร เชิญท่านรับประทานอาหารด้วยกันเถิด กากะมหาดเล็กกล่าวว่า ช่างเถิดท่านอาจารย์ พระราชารับสั่งข้าพเจ้าไว้ว่า ขึ้นชื่อว่าหมอเหล่านี้มีมารยามาก อย่ารับวัตถุใดๆ ของเขา ทันใดนั้นชีวกโกมารภัจจ์ได้แทรกยาทางเล็บ พลางเคี้ยวมะขามป้อมแล้วดื่มน้ำรับประทาน และได้ร้องเชิญกากะมหาดเล็กว่า เชิญนายกากะมาเคี้ยวมะขามป้อมแล้วดื่มน้ำ รับประทานด้วยกัน กากะมหาดเล็กจึงคิดว่า หมอคนนี้แลกำลังเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำรับประทาน คงไม่มีอะไรจะให้โทษ แล้วเคี้ยวมะขามป้อมครึ่งผลและดื่มน้ำรับประทาน มะขามป้อมครึ่งผลที่เขาเคี้ยวนั้น ได้ระบายอุจจาระออกมาในที่นั้นเอง

                  ครั้งนั้นกากะมหาดเล็กจึงได้เรียนถามชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ชีวิตของข้าพเจ้าจะรอดไปได้หรือ ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า อย่ากลัวเลย ท่านจักไม่มีอันตราย แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราไม่กลับละ แล้วมอบช้างพังภัททวดีให้แก่นายกากะแล้วเดินทางไปพระนครราชคฤห์ รอนแรมไปโดยลำดับ ถึงพระนครราชคฤห์ แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งว่า เจ้าไม่กลับไปนั้นชื่อว่าได้ทำถูกแล้ว เพราะพระราชาองค์นั้นเหี้ยมโหด จะพึงสั่งให้สำเร็จโทษเจ้าเสียก็ได้

                   ครั้นพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงหายประชวรแล้ว ทรงส่งราชทูตไปที่สำนักชีวกโกมารภัจจ์ว่า เชิญหมอชีวกมา เราจักให้พร ชีวกกราบทูลว่า ไม่ต้องไปก็ได้ ขอพระองค์จงทรงอนุสรณ์ถึงความดีของข้าพระพุทธเจ้า

 

พระเจ้าจัณฑปัชโชตพระราชทานผ้าสิไวยกะ

                   ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าสิไวยกะคู่หนึ่งบังเกิดขึ้นแก่พระเจ้าจัณฑปัชโชตเป็นผ้าเนื้อดีเลิศประเสริฐ มีชื่อ เด่นอุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่ ครั้งนั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ส่งผ้าสิไวยกะคู่นั้นพระราชทานแก่ชีวกโกมารภัจจ์ ชีวกโกมารภัจจ์จึงได้มีดำริว่า ผ้าสิไวยกะนี้พระเจ้าจัณฑปัชโชตส่งมาพระราชทานเป็นผ้าเนื้อดีเลิศประเสริฐ มีชื่อ เด่นอุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่ นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชแล้ว ใครอื่นไม่ควรอย่างยิ่งจะใช้ผ้าสิไวยกะคู่นี้

 

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยพระโอสถถ่าย

                   ก็โดยสมัยนั้น พระกายของพระพุทธเจ้าหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า กายของตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการจะฉันยาถ่าย ครั้งนั้นท่านพระอานนท์เดินทางไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวว่า ท่านชีวก พระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ พระตถาคตต้องการจะเสวยพระโอสถถ่าย ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า พระคุณเจ้า ถ้าอย่างนั้น ขอท่านโปรดทำพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วัน

                   ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทำพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วันแล้ว เดินทางไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวว่า ท่านชีวก พระกายของพระตถาคตชุ่มชื่นแล้ว บัดนี้ท่านรู้กาลอันควรเถิด ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกว่า การที่เราจะพึงทูลถวายพระโอสถถ่ายที่หยาบแก่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่สมควรเลย ถ้ากระไรเราพึงอบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วทูลถวายพระตถาคต ครั้นแล้วได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๑ แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ยังพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๒ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่าขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงถ่ายถึง ๓๐ ครั้ง

                   ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณกลับไป ขณะเมื่อชีวกโกมารภัจจ์เดินออกไปนอกซุ้มประตูแล้ว ได้มีความปริวิตกดั่งนี้ว่า เราทูลถวายพระโอสถถ่ายเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถ่ายแล้ว จักทรงสรงพระกาย ครั้นทรงสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของชีวกโกมารภัจจ์ ด้วยพระทัยแล้ว รับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า ชีวกโกมารภัจจ์กำลังเดินทางออกไปนอกซุ้มประตูวิหารนี้ ได้มีความปริวิตกดั่งนี้ว่า เราถวายพระโอสถถ่ายเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว พระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถ่ายแล้ว จักทรงสรงพระกาย ครั้นทรงสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง ถ้าอย่างนั้นเธอจงจัดเตรียมน้ำร้อนไว้ พระอานนท์รับพระพุทธพจน์แล้ว จัดเตรียมน้ำร้อนไว้ถวาย

                   ต่อมาชีวกโกมารภัจจ์ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถ่ายแล้วหรือ พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า เราถ่ายแล้ว ชีวกโกมารภัจจ์กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ากำลังเดินทางออกไปนอกซุ้มประตูวิหารนี้ ได้มีความปริวิตกดั่งนี้ว่า เราถวายพระโอสถถ่ายแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว พระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถ่ายแล้วจักทรงสรงพระกาย ครั้นทรงสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง ดั่งนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงโปรดทรงสรงพระภาย

                   ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรงน้ำอุ่น ครั้นทรงสรงแล้ว ทรงถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้เป็นอันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง ลำดับนั้นชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลคำนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เป็นปกติ

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๗๔ - ๘๓