Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๕๒

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 พรรษาที่ ๑๑

 

ชีวกโกมารภัจจ์1

                   พระอาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า ในพรรษาที่ ๑๑ ของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงจำพรรษาที่บ้านทักขิณาคิริ เอกนาฬา หรือที่ตำบลทักขิณาคิริ บ้านเอกนาฬาในแคว้นมคธ จึงจะได้แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าที่มาจากบาลีและอรรถกถาทั้งหลาย ขณะที่ประทับอยู่ในแคว้นมคธและเสด็จผ่านทักขิณาคิริบ้านเอกนาฬา ตามที่ได้ค้นพบ

                   โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันอันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์แห่งมคธรัฐ ครั้งนั้นพระนครเวสาลีเป็นบุรีที่มั่งคั่ง กว้างขวาง มีคนมาก มีคนคับคั่งและมีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลังมีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ และมีนางคณิกาคือหญิงงามเมืองชื่อ อัมพปาลี เป็นสตรีทรงโฉมสะคราญตาน่าเสน่หาประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่มีความประสงค์จะพาตัวไปร่วมอภิรมย์ด้วย ราคาตัวคืนละ ๕๐ กษาปณ์หรือกหาปณะ พระนครเวสาลีงามเพริศพริ้งยิ่งกว่าวิมาน เพราะนางอัมพปาลีหญิงงามเมืองนั้น

                   ครั้งนั้น พวกคนมีทรัพย์คณะหนึ่ง เป็นชาวพระนครราชคฤห์ ได้เดินทางไปพระนครเวสาลีด้วยกรณียะบางอย่าง และได้เห็นพระนครเวสาลีมั่งคั่งดังกล่าวนั้น ครั้นพวกเขาเสร็จกรณียะนั้นในพระนครเวสาลีแล้ว กลับมาพระนครราชคฤห์ตามเดิม เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องเมืองเวสาลีเพื่อทรงทราบ และได้กราบทูลว่า ขอเดชะ ฯ แม้ชาวเราจะตั้งหญิงงามเมืองขึ้นบ้างก็จะเป็นการดี พระราชารับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจงเสาะหากุมารีผู้มีลักษณะงามเช่นนั้น ที่ควรจะคัดเลือกให้เป็นหญิงงามเมือง

 

กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์

                   ก็ในสมัยนั้น ในพระนครราชคฤห์ มีกุมารีชื่อสาลวดี เป็นสตรีทรงโฉมสะคราญตาน่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง พวกคนมีทรัพย์ชาวพระนครราชคฤห์ จึงได้คัดเลือกกุมารีสาลวดีเป็นหญิงงามเมือง ครั้นนางกุมารีสาลวดีได้รับการคัดเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ไม่ช้านานเท่าไรนักก็ได้เป็นผู้ชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้องบรรเลงเครื่องดนตรี คนที่มีความประสงค์ต้องการตัวไปร่วมอภิรมย์ ราคาตัวคืนละ ๑๐๐ กษาปณ์หรือกหาปณะ

                   ครั้นมิช้ามินาน นางสาลวดีก็ตั้งครรภ์ นางจึงมีความเห็นว่า ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่พอใจของพวกบุรุษ ถ้าใครๆ ทราบว่าเรามีครรภ์ ลาภผลของเราจักเสื่อมหมด ถ้ากระนั้นเราควรแจ้งให้เขาทราบว่าเป็นไข้ ต่อมานางได้สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่า โปรดอย่าให้ชายใดๆ เข้ามา และผู้ใดถามหา จงบอกให้เขาทราบว่าเป็นไข้ คนเฝ้าประตูนั้นรับคำ นางสาลวดีหญิงงามเมืองว่า จะปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนั้น หลังจากนั้นอาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และกำชับทาสีว่า แม่สาวใช้จงวางทารกนี้ลงบนกระด้งเก่าๆแล้วนำออกไปทิ้งไว้ ณ กองหยากเยื่อ ทาสีนั้นรับคำนางแล้วก็จัดการตามที่นางได้สั่ง วางทารกนั้นลงบนกระด้งเก่าๆ แล้วนำไปทิ้งไว้ ณ กองหยากเยื่อ

                   ก็ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัยที่เรียกว่า อภัยราชกุมาร กำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตรเห็นทารกนั้นอันฝูงกาห้อมล้อมอยู่ ครั้นแล้วได้ถามมหาดเล็กว่า นั่นอะไร ฝูงการุมกันตอม มหาดเล็กกราบทูลว่า ทารกเจ้าชายอภัยก็ตรัสว่า ยังเป็นอยู่หรือ มหาดเล็กก็กราบทูลว่า ยังเป็นอยู่ เจ้าชายอภัยจึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นจงนำทารกนั้นไปที่วังของเรา ให้นางนมเลี้ยงไว้ คนเหล่านั้นรับสนองพระบัญชาว่า อย่างนั้น แล้วนำทารกนั้นไปยังวังเจ้าชายอภัย มอบแก่นางนมว่า โปรดเลี้ยงไว้ด้วย อาศัยคำว่า ยังเป็นอยู่ เขาจึงขนานนามทารกนั้นว่า “ชีวกะ” หรือ “ชีวก” ชีวกะหรือชีวกอันเจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้ เขาจึงได้ตั้งนามสกุลว่า โกมารภัจจ์

                   ต่อมาไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจจ์ก็รู้เดียงสา จึงเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัยครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ใครเป็นมารดา ใครเป็นบิดาของตน เจ้าชายอภัยรับสั่งว่า แม้ถึงตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า ก็แต่ว่าเราเป็นบิดาของเจ้า เพราะเราได้ให้เลี้ยงเจ้าไว้ ชีวกโกมารภัจจ์จึงมีความคิดเห็นว่า ราชสกุลเหล่านี้แล คนที่ไม่มีศิลปะ จะเข้าพึ่งพระบารมีทำไม่ได้ง่าย ถ้ากระไรเราควรเรียนวิชาแพทย์ไว้

 

เรียนศิลปะทางแพทย์

                   ก็โดยสมัยนั้น นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ตั้งสำนักอยู่ ณ เมืองตักกสิลา ชีวกโกมารภัจจ์ไม่ทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางไปเมืองตักกสิลา เดินรอนแรมไปโดยลำดับ ถึงเมืองตักกสิลา แล้วเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้น ครั้นแล้วได้กราบเรียนคำนี้แก่นายแพทย์ว่า ท่านอาจารย์ กระผมประสงค์จะศึกษาศิลปะนายแพทย์สั่งว่าถ้าเช่นนั้นจงศึกษาเถิด

                   ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์เรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย แล้ววิชาที่เรียนได้แล้วก็จำได้ไม่ลืม ครั้นล่วงมาได้ ๗ ปี ชีวกโกมารภัจจ์คิดว่าตัวเราเรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนมาก็จำได้ไม่ลืม และเราเรียนมาได้ ๗ ปีแล้วยังไม่สำเร็จศิลปะนี้ เมื่อไรจักสำเร็จเสียที จึงเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้น แล้วเรียนถามว่า ท่านอาจารย์ กระผมเรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม และกระผมได้เรียนมา ๗ ปีก็ยังไม่สำเร็จ เมื่อไรจักสำเร็จสักทีเล่า นายแพทย์ผู้นั้นจึงตอบว่า ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียมเที่ยวไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์ตรวจดูสิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา ชีวกโกมารภัจจ์รับคำ นายแพทย์ว่าเป็นเช่นนั้นท่านอาจารย์ ดังนั้นแล้วถือเสียมเดินไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์ มิได้เห็นสิ่งใดที่ไม่ได้เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่ง จึงเดินทางกลับไปหานายแพทย์ ได้กราบเรียนคำนี้ต่อนายแพทย์ว่า ท่านอาจารย์ กระผมเดินไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์แล้ว มิได้เห็นสิ่งที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่ง นายแพทย์บอกว่า พ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพได้ แล้วได้ให้เสบียงเดินทางเล็กน้อยแก่ชีวกโกมารภัจจ์

                   ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ถือเสบียงเล็กน้อยนั้นแล้ว ได้เดินทางมุ่งไปพระนครราชคฤห์ ครั้นเดินทางไป เสบียงเพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดลงที่เมืองสาเกตในระหว่างทาง จึงเกิดความปริวิตกว่า หนทางเหล่านี้กันดารอัตคัดอาหาร คนไม่มีเสบียงจักเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย เราจำต้องหาเสบียง

 

เริ่มปฏิบัติงานแพทย์

                   ก็โดยสมัยนั้น ภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกต เป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ขนเงินไปเป็นอันมาก ชีวกโกมารภัจจ์จึงเข้าไปสู่เมืองสาเกต ถามคนทั้งหลายว่า ใครเจ็บไข้บ้าง ฉันจะรักษา คนทั้งหลายพากันบอกว่า ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีนั้นปวดศีรษะมาอยู่ ๗ ปี เชิญไปรักษาภรรยาเศรษฐีเถิดท่านอาจารย์ ชีวกโกมารภัจจ์จึงเดินทางไปบ้านเศรษฐีคหบดี ครั้นถึงแล้วได้สั่งคนเฝ้าประตูว่า ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์จะเยี่ยมนาย คนเฝ้าประตูจึงเข้าไปหาภรรยาเศรษฐี แล้วกราบเรียนว่า หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์จะเยี่ยมนาย ภรรยาเศรษฐีถามว่า หมอเป็นคนเช่นไร คนเฝ้าประตูก็บอกว่า เป็นหมอหนุ่ม ภรรยาเศรษฐีจึงตอบว่า ไม่ละ หมอหนุ่มๆ จะทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก

                   นายประตูนั้นจึงเดินออกมาหาชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้แจ้งว่า ภรรยาเศรษฐีพูดอย่างนี้ ชีวกโกมารภัจจ์จึงพูดว่า ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า ขอนายอย่าเพิ่งให้อะไรๆ ต่อเมื่อหายโรคแล้ว นายประสงค์จะให้สิ่งใดจึงค่อยให้สิ่งนั้นเถิด นายประตูรับคำของชีวกโกมารภัจจ์ ได้เข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ได้กราบเรียนว่า หมอบอกข่าวมาว่า ขอนายอย่าเพิ่งให้อะไรๆ ไปก่อนต่อเมื่อนายหายโรคแล้ว ประสงค์จะให้สิ่งใด จึงค่อยให้สิ่งนั้นเถิด ภรรยาเศรษฐีสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นเชิญหมอมา นายประตูรับคำภรรยาเศรษฐี แล้วเข้าไปหาชีวกโกมารภัจจ์ แจ้งให้ทราบว่า ภรรยาเศรษฐีขอเชิญท่านเข้าไป

 

เริ่มรักษาภรรยาเศรษฐี

                   ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้เข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ครั้นแล้วตรวจดูความผันแปรของภรรยาเศรษฐี แล้วได้กล่าวคำนี้แก่ภรรยาเศรษฐีว่า ผมต้องการเนยใสหนึ่งซองมือ ครั้นภรรยาเศรษฐีสั่งให้หาเนยใสหนึ่งซองมือมาให้ชีวกแล้ว ชีวกโกมารภัจจ์จึงหุงเนยใสหนึ่งซองมือกับตัวยาต่างๆ ให้ภรรยาเศรษฐีนอนบนเตียง แล้วให้นัด ขณะนั้นเนยใสที่ให้นัดนั้นได้พุ่งออกจากปาก ภรรยาเศรษฐี ภรรยาเศรษฐีจึงถ่มเนยใสนั้นลงในกระโถน สั่งทาสีว่า แม่สาวใช้จงเอาสำลีซับเนยใสนี้ไว้ ชีวกโกมารภัจจ์จึงคิดว่า แปลกจริง แม่บ้านคนนี้เป็นคนสกปรก เนยใสนี้จำเป็นต้องทิ้ง ยังใช้ทาสีเอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงต่างๆ ยังปล่อยให้เสีย แม่บ้านคนนี้จะให้ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง

                ขณะนั้นภรรยาเศรษฐีสังเกตรู้อาการอันแปลกของชีวกโกมารภัจจ์แล้วได้ถามว่า อาจารย์ท่านแปลกใจอะไรหรือ ชีวกโกมารภัจจ์จึงได้แจ้งความคิดของตนนั้นแก่ภรรยาเศรษฐี ภรรยาเศรษฐีจึงตอบว่า พวกดิฉันได้ชื่อว่าเป็นคนมีเหย้าเรือน จึงต้องรู้จักสงวนสิ่งที่พึงสงวน เนยใสนี้ยังดีอยู่ จะใช้เป็นยาสำหรับทาเท้าพวกทาสหรือกรรมกรก็ได้ ใช้เป็นน้ำมันเติมตะเกียงก็ได้อาจารย์ท่านอย่าได้คิดวิตกไปเลย ค่าขวัญข้าวของท่านจักไม่ลดน้อย

                  คราวนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้กำจัดโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นมา ๗ ปีให้หาย โดยวิธีนัดยาคราวเดียวเท่านั้น ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้วได้ให้เงินชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรเศรษฐีได้ทราบว่า มารดาของเราหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลเพิ่มขึ้นอีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ ลูกสะใภ้ได้ทราบว่า แม่ผัวของเราหายโรคแล้ว ก็ได้ให้รางวัล ๔,๐๐๐ กษาปณ์ เศรษฐีคหบดีทราบว่า ภรรยาของเราหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลอีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ และให้ทาสทาสีรถม้าด้วย ชีวกโกมารภัจจ์จึงรับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาสทาสีและรถม้า เดินทางมุ่งไปสู่พระนครราชคฤห์ ถึงพระนครราชคฤห์โดยลำดับ เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย แล้วได้กราบทูลว่า เงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาสทาสีและรถม้านี้เป็นการกระทำครั้งแรกของเกล้ากระหม่อมขอได้ทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูเกล้ากระหม่อมเถิด พระราชกุมารรับสั่งว่า อย่าเลยพ่อชีวก ทรัพย์นี้จงเป็นของเจ้าคนเดียวเถิด เจ้าจงสร้างบ้านอยู่ในวังของเราเถิด ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับพระบัญชาเจ้าชายอภัยว่า เป็นพระกรุณายิ่ง แล้วได้สร้างบ้านอยู่ในวังเจ้าชายอภัย

 

พระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก

                   ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก พระภูษาเปื้อนพระโลหิต พวกพระสนมเห็นแล้วพากันเย้ยหยันว่า บัดนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีระดู ต่อมพระโลหิตบังเกิดแก่พระองค์แล้ว ไม่นานเท่าไรนักพระองค์จักประสูติ พระราชาทรงเก้อถึงคำเย้ยหยันของพระสนมนั้น ต่อมาท้าวเธอได้ตรัสความของเธอแก่เจ้าชายอภัยว่า พ่อป่วยเป็นโรคเช่นนั้นถึงกับภูษาเปื้อนโลหิต พวกพระสนมเห็นแล้วพากันเย้ยหยันว่าบัดนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีระดู ต่อมพระโลหิตบังเกิดแก่พระองค์ ไม่นานเท่าไรนักพระองค์จักประสูติ พ่ออภัย เจ้าช่วยหาหมอชนิดที่พอจะรักษาพ่อได้ให้ทีเถิด เจ้าชายอภัยจึงได้กราบทูลว่า นายชีวกผู้นี้เป็นหมอประจำข้าพระพุทธเจ้า ยังหนุ่ม ทรงคุณวุฒิ เธอจักรักษาพยาบาลพระองค์ได้ พระราชารับสั่งว่าถ้าเช่นนั้นเธอจงสั่งหมอชีวก เขาจักได้รักษาพ่อ

                  ครั้งนั้น เจ้าชายอภัยสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า พ่อชีวก ท่านจงไปรักษาพระเจ้าอยู่หัว ชีวกโกมารภัจจ์รับสนองพระบัญชาว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า แล้วเอาเล็บตักยาเดินเข้าไปในพระราชสำนัก ครั้นถึงแล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช แล้วได้กราบทูลคำนี้แก่พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจักตรวจโรคของพระองค์ แล้วรักษาโรคริดสีดวงงอกของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชให้หายขาดด้วยทายาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

                  ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชหายประชวร จึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐ นาง ตกแต่งเครื่องประดับทั้งปวง แล้วให้เปลื้องออกทำเป็นห่อ แล้วได้มีพระราชโองการแก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า พ่อชีวก เครื่องประดับทั้งปวงของสตรี ๕๐๐ นางนี้จงเป็นของเจ้า หมอชีวกโกมารภัจจ์กราบทูลว่า อย่าเลยขอพระองค์ได้ทรงระลึกว่า เป็นหน้าที่ของข้าพระพุทธเจ้าเถิด พระราชารับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงบำรุงเรากับพวกฝ่ายใน และพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่าเป็นอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔

หน้า ๖๖ - ๗๔ 

__