Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๕๑

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 

พรรษาที่ ๑๑

เรื่องอุปกาชีวก1

                   อาชีวกชื่ออุปกะได้พบพระพุทธเจ้า ได้ทูลคำนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดูก่อนอาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่องท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบธรรมของใคร เมื่ออุปกาชีวกกราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่าดั่งนี้

                   “เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้วในธรรมทั้งปวง ละธรรมเป็นไปในภูมิ ๓ ได้หมด พ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว จะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเราก็ไม่มี บุคคลเสมอเหมือนเราก็ไม่มี ในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดา หาศาสดายิ่งกว่าไม่มี เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปเมืองในแคว้นกาสีเพื่อประกาศธรรมจักรให้เป็นไป เราจักตีกลองในโลกอันมืดเพื่อให้สัตว์ได้ธรรมจักษุ”

                   อุปกาชีวกทูลว่า ท่านปฏิญญาโดยประการใด ท่านควรเป็นผู้ชนะหาที่สุดมิได้โดยประการนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นอาสวะแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า เป็นผู้ชนะเช่นเรา ดูก่อนอุปกะ เราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่า เป็นผู้ชนะ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวกทูลว่า พึงเป็นผู้ชนะเถิด แล้วก้มศีรษะลง แล้วแยกทางหลีกไป

 

เรื่องถือนิสัย1

                   ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ในนครราชคฤห์นั้นแล ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ชนทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ทิศทั้งหลายคับแคบมืดมนแก่พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่พระสมณะพวกนี้ ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนี้แก่พระพุทธเจ้า

               ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงไปไขดาล บอกภิกษุทั้งหลายในบริเวณวิหารว่า อาวุโสทั้งหลายพระผู้มีพระภาคเจ้าปรารถนาจะเสด็จจาริกทักขิณาคิริชนบท ท่านผู้ใดมีความประสงค์ ท่านผู้นั้นจงมา

                   พระอานนท์รับสนองพระพุทธบัญชาแล้ว ไขดาล แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายในบริเวณวิหารว่า ดูก่อนอาวุโส พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาจะเสด็จจาริกทักขิณาคิริชนบท ท่านผู้ใดมีความประสงค์ ท่านผู้นั้นจงมา

                   ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสอานนท์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติให้ภิกษุถือนิสัยอยู่ตลอด ๑๐ พรรษา และให้ภิกษุมีพรรษาได้ ๑๐ ให้นิสัย พวกผมจะต้องไปทักขิณาคิรินั้น จักต้องถือนิสัยด้วย จักพักอยู่เพียงเล็กน้อยก็ต้องกลับมาอีก และจักต้องกลับถือนิสัยอีก ถ้าพระอาจารย์ของพวกผมไป แม้พวกผมก็จักไป หากท่านไม่ไป แม้พวกผมก็จักไม่ไป ความที่พวกผมมีใจเบาจักปรากฏ

                  ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกทักขิณาคิริชนบทกับภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อย ครั้นพระองค์เสด็จอยู่ ณ ทักขิณาคิริชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จกลับสู่พระนครราชคฤห์อีกตามเดิม และพระองค์ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาสอบถามว่า ดูก่อนอานนท์ ตถาคตจาริกทักขิณาคิริชนบทกับภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อยเพราะเหตุไร ท่านพระอานนท์จึงกราบทูลความเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทราบ

 

พระพุทธานุญาตให้ถือนิสัย

                   ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ ถือนิสัยอยู่ ๕ พรรษา และให้ภิกษุผู้ไม่ฉลาดถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิต

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้ คือ

๑. ไม่ประกอบด้วยกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ

๒. ไม่ประกอบด้วยกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ

๓. ไม่ประกอบด้วยกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ

๔. ไม่ประกอบด้วยกองวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ

๕. ไม่ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้

 

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบองค์ ๕ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ คือ

๑. ประกอบด้วยกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ

๒. ประกอบด้วยกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ

๓. ประกอบด้วยกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ

๔. ประกอบด้วยกองวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ

๕. ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ต้องถือนิสัยอยู่

 

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก จะไม่ถือ

นิสัยอยู่ไม่ได้ คือ

๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา

๒. เป็นผู้ไม่มีหิริ

๓. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ

๔. เป็นผู้เกียจคร้าน และ

๕. เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้

 

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ คือ

๑. เป็นผู้มีศรัทธา

๒. เป็นผู้มีหิริ

๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ

๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร และ

๕. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ต้องถือนิสัยอยู่

 

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก จะไม่ถือ

นิสัยอยู่ไม่ได้ คือ

๑. เป็นผู้วิบัติด้วยศีล ในอธิศีล

๒. เป็นผู้วิบัติด้วยอาจาระ ในอัธยาจาระ

๓. เป็นผู้วิบัติด้วยทิฏฐิ ในทิฏฐิยิ่ง

๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังน้อย และ

๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้

 

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ คือ

๑. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยศีล ในอธิศีล

๒. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยอาจาระ ในอัธยาจาระ

๓. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยทิฏฐิ ในทิฏฐิยิ่ง

๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก และ

๕. เป็นผู้มีปัญญา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ต้องถือนิสัยอยู่

 

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้ คือ

๑. ไม่รู้จักอาบัติ

๒. ไม่รู้จักอนาบัติ

๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา

๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก และ

๕. เธอจำปาติโมกข์ทั้ง ๒ ไม่ได้ดีโดยพิสดาร จำแนกไม่ได้ด้วยดี ไม่คล่องแคล่วดี วินิจฉัยไม่เรียบร้อย โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้

 

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ คือ

๑. รู้จักอาบัติ

๒. รู้จักอนาบัติ

๓. รู้จักอาบัติเบา

๔. รู้จักอาบัติหนัก และ

๕. เธอจำปาติโมกข์ทั้ง ๒ ได้ดีโดยพิสดาร จำแนกดี คล่องแคล่วดีวินิจฉัยเรียบร้อย โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ต้องถือนิสัยอยู่

 

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้ คือ

๑. ไม่รู้จักอาบัติ

๒. ไม่รู้จักอนาบัติ

๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา

๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก และ

๕. มีพรรษาหย่อน ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้

 

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ คือ

๑. รู้จักอาบัติ

๒. รู้จักอนาบัติ

๓. รู้จักอาบัติเบา

๔. รู้จักอาบัติหนัก และ

๕. มีพรรษาได้ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ต้องถือนิสัยอยู่

 

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้ คือ

๑. ไม่ประกอบด้วยกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ

๒. ไม่ประกอบด้วยกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ

๓. ไม่ประกอบด้วยกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ

๔. ไม่ประกอบด้วยกองวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ

๕. ไม่ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ และ

๖. มีพรรษาหย่อน ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้

 

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ คือ

๑. ประกอบด้วยกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ

๒. ประกอบด้วยกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ

๓. ประกอบด้วยกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ

๔. ประกอบด้วยกองวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ

๕. ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ และ

๖. มีพรรษาได้ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล ไม่ต้องถือนิสัยอยู่

 

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก จะไม่ถือ

นิสัยอยู่ไม่ได้ คือ

๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา

๒. เป็นผู้ไม่มีหิริ

๓. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ

๔. เป็นผู้เกียจคร้าน

๕. เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน และ

๖. มีพรรษาหย่อน ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้

 

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ คือ

๑. เป็นผู้มีศรัทธา

๒. เป็นผู้มีหิริ

๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ

๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร

๕. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น และ

๖. มีพรรษาได้ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล ไม่ต้องถือนิสัยอยู่

 

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก จะไม่ถือ

นิสัยอยู่ไม่ได้ คือ

๑. เป็นผู้วิบัติด้วยศีล ในอธิศีล

๒. เป็นผู้วิบัติด้วยอาจาระ ในอัธยาจาระ

๓. เป็นผู้วิบัติด้วยทิฏฐิ ในทิฏฐิยิ่ง

๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังน้อย

๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม และ

๖. มีพรรษาหย่อน ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้

 

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ คือ

๑. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยศีล ในอธิศีล

๒. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยอาจาระ ในอัธยาจาระ

๓. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยทิฏฐิ ในทิฏฐิยิ่ง

๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก

๕. เป็นผู้มีปัญญา และ

๖. มีพรรษาได้ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล ไม่ต้องถือนิสัยอยู่

 

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้ คือ

๑. ไม่รู้จักอาบัติ

๒. ไม่รู้จักอนาบัติ

๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา

๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก

๕. เธอจำปาติโมกข์ทั้ง ๒ ไม่ได้ดีโดยพิสดาร จำแนกไม่ได้ด้วยดีไม่คล่องแคล่วดี วินิจฉัยไม่เรียบร้อย โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ และ

๖. มีพรรษาหย่อน ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้

 

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ คือ

๑. รู้จักอาบัติ

๒. รู้จักอนาบัติ

๓. รู้จักอาบัติเบา

๔. รู้จักอาบัติหนัก

๕. เธอจำปาติโมกข์ทั้ง ๒ ได้ดีโดยพิสดาร จำแนกดี คล่องแคล่วดีวินิจฉัยเรียบร้อย โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ และ

๖. มีพรรษาได้ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล ไม่ต้องถือนิสัยอยู่

 

                   สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงประมวลคุณสมบัติแห่งภิกษุที่จะเป็นนิสสัยมุตติคือพ้นนิสัยได้ ไว้ในวินัยมุขเล่ม ๒ ดังต่อไปนี้ “ภิกษุผู้มีพรรษาได้ ๕ แล้ว แต่ยังหย่อน ๑๐ ได้ชื่อว่า มัชฌิมะ แปลว่า ผู้ปานกลาง มีองคสมบัติพอรักษาตนอยู่ตามลำพังได้ ทรงพระอนุญาตให้พ้นจากนิสัยอยู่ตามลำพังได้ เรียกว่า นิสสัยมุตตกะ ฝ่ายภิกษุผู้มีความรู้ไม่พอจะรักษาตน แม้พ้นพรรษา ๕ แล้ว ก็ต้องถือนิสัย องคสมบัติที่กำหนดไว้ในบาลีอย่างอุกฤษฎ์ เป็นคุณของพระอรหันต์ แต่ผ่อนลงมาเป็นหมวดๆ จนถึงเป็นคุณของภิกษุกัลยาณปุถุชน จักย่นกล่าวเฉพาะองค์อันสมแก่ภิกษุในบัดนี้

๑. เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีวิริยะ มีสติ

๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อาจาระ ความเห็นชอบ เคยได้ยินได้ฟังมาก มีปัญญา

๓. รู้จักอาบัติ มิใช่อาบัติ อาบัติเบา อาบัติหนัก จำปาติโมกข์ได้แม่นยำ ทั้งมีพรรษาได้ ๕ หรือยิ่งกว่า

องค์เหล่านี้แม้บกพร่องบางอย่างก็ยังได้ ที่ขาดไม่ได้คือกำหนดพรรษา”

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔
หน้า ๕๓ - ๖๖