Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๕๐

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 

พรรษาที่ ๑๑

 หมู่บ้านพราหมณ์

 ชื่อเอกนาฬา

 

              มโนรถปูรณี อรรถกถาขุททกนิกาย กล่าวว่า พระพุทธองค์เสด็จจำพรรษาที่ ๑๑ ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกนาฬา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับภูเขาชื่อทักขิณาคิริทางตอนใต้ของกรุงราชคฤห์ ในสารัตถัปปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย กล่าวว่า ใกล้กับหมู่บ้านเอกนาฬานี้ มีวิหารหรือวัดแห่งหนึ่งชื่อทักขิณาคิริวิหาร ส่วนในมธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์ กล่าวว่า ในพรรษาที่ ๑๑ พระพุทธองค์เสด็จจำพรรษา ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อนาลา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับพระศรีมหาโพธิ ตำบลคยา และในเถรีคาถา ขุททกนิกาย กล่าวว่า หมู่บ้านนาลานี้เป็นบ้านเกิดของอุปกาชีวก ซึ่งเป็นผู้ที่ได้พบพระพุทธองค์เป็นคนแรก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้วใหม่ๆ

                    จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้นแสดงว่า เอกนาฬากับนาลานั้นเป็นสถานที่แห่งเดียวกัน แต่ในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา เรียกสถานที่แห่งนี้เป็น ๒ อย่าง คือ บางครั้งก็เรียกว่า เอกนาฬา แต่บางครั้งก็เรียกว่า นาลา คงเป็นทำนองเรียกชื่อเต็มหรือเรียกชื่อย่อ ตำบลอันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเอกนาฬา นั้นก็เรียกว่า ทักขิณาคิริ เส้นทางจากกรุงสาวัตถีไปยังกรุงราชคฤห์นั้น ผ่านตำบลทักขิณาคิริ พระพุทธองค์ได้เสด็จผ่านตำบลนี้ในระหว่างที่เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธ โดยได้เสด็จประทับ ณ ทักขิณาคิริวิหาร ในหมู่บ้านเอกนาฬา ครั้งหนึ่งในระหว่างเสด็จจาริกอยู่ ณ ตำบลนี้เอง พระพุทธองค์ได้ทรงเทศนาโปรดกสิภารทวาชะและธัมมสวะพร้อมด้วยบิดา จนท่านทั้ง ๓ ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาและได้บรรลุพระอรหัตในที่สุด

                   ครั้งหนึ่ง ในการเสด็จจาริกแคว้นมคธคราวนี้เอง พระพุทธองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ และทรงได้พระดำริรูปแบบจีวรสำหรับพระภิกษุโดยเลียนจากรูปคันนาของชาวมคธ พระอานนท์ก็เคยจาริกมาสู่ทักขิณาคิริพร้อมด้วยภิกษุหนุ่มหมู่ใหญ่ซึ่งไม่ค่อยสำรวมนัก และสุดท้ายก็ได้พากันลาสิกขาไปจำนวนมาก เป็นเหตุให้พระอานนท์ถูกพระมหากัสสปะตำหนิว่ายังเป็นเด็ก ในเวลาต่อมาในภายหลัง ก็ได้พบเรื่องของพระปุราณะ ซึ่งอยู่ที่ทักขิณาคิริพร้อมด้วยบริวารหมู่ใหญ่ พระปุราณะได้ปฏิเสธไม่ยอมรับการทำสังคายนาครั้งแรกของพระมหากัสสปะ ณ กรุงราชคฤห์ แต่พอใจจะปฏิบัติตามธรรมวินัยที่ตนได้ฟังมา นันทมาตาเวฬุกัณฑกีก็อาศัยอยู่ในทักขิณาคิริ พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะได้มาเยี่ยมเยียนครั้งหนึ่ง และนันทมาตาได้กล่าวถึงความอัศจรรย์ของธรรมของเธอ ๗ ประการให้พระเถระทั้ง ๒ ฟัง และในขณะที่พระสารีบุตรพำนักอยู่ที่ทักขิณาคิรินี้เอง ก็ได้ฟังเรื่องราวความร้ายของธนัญชานิพราหมณ์จากภิกษุรูปหนึ่ง และได้ไปโปรดธนัญชานิจนกลับใจมานับถือพระพุทธศาสนา

                   อารามทูสกชาดก พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงที่ทักขิณาคิริ

กสิสูตรหรือกสิภารทวาชสูตร1

                   พระสูตรนี้ ว่าด้วยศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาเป็นแอกและไถเป็นต้น

                  สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พราหมณคาม ชื่อเอกนาฬา ในแคว้นทักขิณาคิริชนบท สมัยนั้นกสิภารทวาชพราหมณ์ประกอบไถประมาณ ๕๐๐ ในเวลาเป็นที่หว่านพืช ในครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จทรงบิณฑบาต เสด็จเข้าไปยังที่การงานของกสิภารทวาชพราหมณ์ ในเวลานั้นการเลี้ยงดูของกสิภารทวาชพราหมณ์กำลังเป็นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปถึงที่เลี้ยงดู ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

               กสิภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนอยู่เพื่อบิณฑบาต ก็ได้เข้าไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพระองค์แลย่อมไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว ก็ย่อมบริโภค แม้พระองค์ก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว ก็จงบริโภคเถิด พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว ย่อมบริโภค พราหมณ์จึงถามว่า ข้าพระองค์ไม่แลเห็นแอก ไถ ผาล ปฏัก หรือโคของท่านพระโคดมเลย ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมตรัสอย่างนี้ว่า แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว ย่อมบริโภค ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสลงในถาดสำริดใหญ่ ลำดับนั้นกสิภารทวาชพราหมณ์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ย่อมปฏิญญาว่าเป็นชาวนา แต่ข้าพระองค์ไม่เห็นไถของพระองค์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอได้ตรัสบอกไถแก่ข้าพระองค์ โดยวิธีที่ข้าพระองค์พึงรู้จักไถของพระองค์

                   พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ศรัทธาของเราเป็นพืช ความเพียรของเราเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริของเราเป็นงอนไถ ใจของเราเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและปฏัก เราคุ้มครองกายคุ้มครองวาจา สำรวมในอาหารในท้อง ย่อมกระทำการถอนหญ้าคือการกล่าวให้คลาดด้วยสัจจะ ความสงบเสงี่ยมของเราเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลส ความเพียรของเรานำธุระไปเพื่อธุระ นำไปถึงแดนเกษมจากโยคะ ความเพียรของเรานำแอกไปเพื่อแอก นำไปถึงแดนเกษมจากโยคะ ไม่หวนกลับมา ย่อมถึงสถานที่ที่บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก การไถนานั้นเราไถแล้วอย่างนี้ การไถนานั้นย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลไถนานั้นแล้วย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

                   ลำดับนั้นกสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสลงในถาดสำริดใหญ่ แล้วน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ขอท่านพระโคดมเสวยข้าวปายาสเถิด เพราะพระองค์เป็นชาวนา ย่อมไถนาอันมีผลไม่ตาย พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เราไม่ควรบริโภคโภชนะที่ขับกล่อมได้มา ข้อนี้ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เห็นอยู่โดยชอบ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงห้ามโภชนะที่ขับกล่อมได้มา เมื่อธรรมมีอยู่ การแสวงหานี้เป็นความประพฤติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เชิญท่านบำรุงพระขีณาสพผู้บริสุทธิ์ด้วยคุณทั้งปวงผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มีความคะนองอันสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำอย่างอื่นเถิด เพราะว่าเขตนั้นเป็นเขตของบุคคลผู้มุ่งบุญ

                   พราหมณ์ได้กราบทูลถามว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพระองค์จะเป็นผู้ถวายข้าวปายาสให้แก่ใคร พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราย่อมไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลกมารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ผู้บริโภคข้าวปายาสนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยได้โดยชอบ นอกจากตถาคตหรือสาวกของตถาคตเลย ถ้าอย่างนั้นท่านจงทิ้งข้าวปายาสนั้นเสีย ในที่ปราศจากของเขียว หรือจมลงในน้ำซึ่งไม่มีตัวสัตว์เถิด ลำดับนั้นกสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสนั้นให้จมลงในน้ำ อันไม่มีตัวสัตว์ พอข้าวปายาสนั้นอันกสิภารทวาชพราหมณ์เทลงในน้ำก็มีเสียงดัง จิจจิฏะ จิฏิจิฏะ เป็นควันกลุ้มโดยรอบเหมือนดังก้อนเหล็กอันบุคคลเผาให้ร้อนตลอดวัน ทิ้งลงในน้ำมีเสียงดัง จิจจิฏะ จิฏิจิฏะ เป็นควันกลุ้มโดยรอบ ฉะนั้น

                   ลำดับนั้นกสิภารทวาชพราหมณ์สลดใจ มีขนชูชัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า แล้วกราบทูลว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เหมือนดังหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดโดยหวังว่าคนมีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอข้าพระองค์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญเถิด

              กสิภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไม่นาน ก็หลีกออกจากหมู่ อยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านักก็ทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญายิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านกสิภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

อรรถกถาของกสิสูตรบางตอน

                  อรรถกถาของกสิสูตรบางตอนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยพราหมณคามชื่อว่า เอกนาฬะ หรือเอกนาฬา ในมคธรัฐ ทรงรอคอยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ของพราหมณ์ในทักขิณาคิริวิหาร จนได้ทรงตรวจดูอุปนิสัยของผู้ที่จะทรงสั่งสอน อันเป็นกิจประจำวันของพระพุทธเจ้า ได้ทรงเห็นว่า พราหมณ์มีอินทรีย์แก่กล้า และเป็นเวลาเหมาะที่เสด็จไปโปรดได้ จึงเสด็จไปโปรดดังที่ได้แสดงแล้ว และในอรรถกถานี้ได้แสดงถึงกิจประจำวันของพระพุทธเจ้าว่ามี ๕ อย่าง คือ กิจในปุเรภัต ก่อนภัตตาหาร ๑ กิจในปัจฉาภัต ภายหลังภัตตาหาร ๑ กิจในปุริมยาม ๑ กิจในมัชฌิมยาม ๑ กิจในปัจฉิมยาม ๑

                   ใน ๕ อย่างนั้น กิจในปุเรภัตคือก่อนภัตดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลุกขึ้นแต่เช้าทีเดียว ทรงทำบริกรรมพระวรกาย มีบ้วนพระโอษฐ์เป็นต้น เพื่ออนุเคราะห์ภิกษุผู้อุปัฏฐากและเพื่อสำราญพระวรกาย แล้วทรงให้เวลาล่วงไป ณ เสนาสนะที่สงัดจนถึงเวลาเสด็จภิกขาจาร ถึงเวลาเสด็จภิกขาจาร ก็ทรงนุ่งสบง คาดประคดเอว แล้วทรงห่มจีวร ทรงถือบาตร บางครั้งเสด็จพระองค์เดียว บางคราวแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังคามหรือนิคมเพื่อบิณฑบาต บางครั้งก็เสด็จเข้าไปตามปกติ บางครั้งก็มีปาฏิหาริย์หลายอย่างเป็นไปอยู่ คือเมื่อพระโลกนาถเสด็จออกบิณฑบาต ลมอ่อนพัดชำระแผ่นดินไปข้างหน้า เมฆฝนหลั่งน้ำลงเป็นหยดๆ ให้ละอองในหนทางสงบ กั้นเป็นเพดานอยู่เบื้องบน ลมอีกอย่างพัดเอาดอกไม้มาเบื้องบนเกลี่ยลงในหนทาง ภูมิประเทศที่สูงขึ้นก็ต่ำลง ภูมิประเทศที่ต่ำลงก็สูงขึ้น ในสมัยทอดพระบาทลงพื้นแผ่นดินย่อมเรียบเสมอ ดอกปทุมที่เป็นสุขสัมผัสย่อมรับพระบาท พอพระองค์ทรงวางพระบาทขวาภายในเสาเขื่อน รัศมีมีพรรณะ ๖ ซ่านออกจากพระสรีระ กระทำเรือนยอดปราสาทให้มีสีเลื่อมพรายด้วยน้ำทอง และให้เป็นเหมือนแวดล้อมด้วยแผ่นผ้าอันวิจิตร ซ่านไปข้างโน้นข้างนี้ ช้างม้าและวิหคเป็นต้นยืนอยู่ในที่ของตนๆ ส่งเสียงด้วยอาการอันไพเราะ ดนตรีมีกลองและพิณเป็นต้น และอาภรณ์ที่สวมกายพวกมนุษย์อยู่ก็เป็นอย่างนั้น

                   ด้วยสัญญาณนั้นพวกมนุษย์ย่อมรู้กันว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้ามาบิณฑบาตในที่นี้ พวกเขานุ่งห่มเรียบร้อย ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นออกจากเรือน เดินไประหว่างถนน บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกไม้เป็นต้นโดยเคารพ ถวายบังคมแล้วทูลขอว่า ขอพระองค์โปรดประทานภิกษุแก่พวกข้าพระองค์ ๑๐ รูป แก่พวกข้าพระองค์ ๒๐ รูป แก่พวกข้าพระองค์ ๑๐๐ รูป รับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ให้ปูอาสนะต้อนรับโดยเคารพ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทรงตรวจดูสันดานของมนุษย์เหล่านั้น แล้วทรงแสดงธรรมอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์มหาชน โดยประการที่ชนบางพวกดำรงอยู่ในสรณคมน์ บางพวกดำรงอยู่ในศีล ๕ บางพวกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล และอนาคามิผล อย่างใดอย่างหนึ่ง บางพวกบวชแล้ว ดำรงอยู่ในพระอรหัตซึ่งเป็นผลอันเลิศ ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังพระวิหาร ประทับนั่งเหนือบวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ในโรงกรมใกล้พระคันธกุฎี ทรงรอคอยให้ภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จ ต่อแต่นั้นเมื่อภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จ ภิกษุอุปัฏฐากก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปในพระคันธกุฎีนี้เป็นกิจในปุเรภัตคือก่อนภัตเป็นอันดับแรก

                   ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำกิจในปุเรภัตอย่างนี้แล้ว ประทับนั่งในที่บำรุงที่พระคันธกุฎี ทรงให้ทาพระบาท แล้วประทับยืนบนตั่งรองพระบาท ทรงโอวาทภิกษุสงฆ์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด การอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าหาได้ยากในโลก การได้อัตภาพเป็นมนุษย์หาได้ยาก การถึงพร้อมด้วยศรัทธาหาได้ยาก การบรรพชาหาได้ยาก การฟังพระสัทธรรมหาได้ยาก ดังนี้

                   ในที่นั้นบางพวกทูลถามกรรมฐานกับพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานกรรมฐานอันเหมาะแก่จริยาของภิกษุเหล่านั้น แต่นั้นภิกษุทั้งหมดถวายบังคมแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ไปยังที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันของตนๆ บางพวกไปสู่ป่า บางพวกไปสู่โคนไม้ บางพวกไปสู่ภูเขาเป็นต้นแห่งใดแห่งหนึ่ง บางพวกไปสู่ภพชั้นจาตุมมหาราชิกา บางพวกไปสู่ภพชั้นวสวัตดี ดังนี้แล ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าพระคันธกุฎีถ้าพระองค์ทรงมีพระพุทธประสงค์ ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาสน์ครู่หนึ่งโดยพระปรัศว์เบื้องขวา ลำดับนั้นพระองค์ทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงลุกขึ้นตรวจดูโลกในภาคที่ ๒ ในภาคที่ ๓ ในบ้านหรือนิคมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยประทับอยู่ในปุเรภัต คือในเวลาก่อนภัตมหาชนถวายทาน

                   ในปัจฉาภัตคือภายหลังภัต เขานุ่งห่มเรียบร้อย ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ประชุมกันในวิหาร ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปด้วยปาฏิหาริย์อันเหมาะสมแก่บริษัทที่ประชุมกัน ประทับนั่งเหนือบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้ในธรรมสภา แสดงธรรมสมควรแก่กาลสมควรแก่สมัย ครั้นทรงทราบเวลา จึงทรงส่งบริษัทไป มนุษย์ทั้งหลายพากันถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป นี้เป็นกิจในปัจฉาภัต ภายหลังภัต

                   ครั้นพระองค์เสร็จกิจในปัจฉาภัต ภายหลังภัตอย่างนี้แล้ว ถ้ามีพระประสงค์จะโสรจสรงพระวรกาย ทรงลุกจากพระพุทธอาสน์ เสด็จเข้าซุ้มเป็นที่สรง ทรงทำพระวรกายให้เหมาะแก่ฤดูกาลด้วยน้ำที่อุปัฏฐากจัดถวายฝ่ายอุปัฏฐากได้นำพุทธอาสน์มาปูไว้ในบริเวณพระคันธกุฎี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งผ้าที่ย้อมแล้ว ๒ ชั้น คาดประคดเอว ทำเฉวียงบ่า เสด็จมาประทับอยู่ ณ ที่นั้น นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแต่พระองค์เดียว ลำดับนั้นภิกษุทั้งหลายมาจากที่นั้นๆ ไปยังที่อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรดาภิกษุเหล่านั้น บางพวกถามปัญหา บางพวกขอกรรมฐาน บางพวกขอฟังธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำความประสงค์ของภิกษุเหล่านั้นให้สำเร็จ ให้ปุริมยามคือกลางคืนยามที่ ๑ ล่วงไป นี้เป็นกิจในปุริมยาม

                   ก็ในเวลาที่กิจในปุริมยามสิ้นสุดลง เมื่อภิกษุทั้งหลายถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป เหล่าเทวดาในหมื่นโลกธาตุทั้งสิ้นได้โอกาสเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถามปัญหาตามที่แต่งขึ้น เร็วที่สุดถามถึงอักขระทั้ง ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแก้ปัญหาของเทวดาเหล่านั้น ก็ให้มัชฌิมยามล่วงไป นี้เป็นกิจในมัชฌิมยาม คือยามกลางของราตรี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแบ่งปัจฉิมยามคือยามสุดท้ายของราตรีออกเป็น ๓ ส่วน แล้วทรงให้ส่วนที่ ๑ ล่วงไปด้วยการจงกรม เพื่อจะทรงปลดเปลื้องความบอบช้ำแห่งพระวรกาย ซึ่งถูกการนั่งจำเดิมแต่ปัจฉาภัต ภายหลังภัตบีบคั้น ในส่วนที่ ๒ พระองค์เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ในส่วนที่ ๓ เสด็จลุกขึ้นประทับนั่งตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อทรงเห็นบุคคลผู้ได้สร้างบุญญาธิการไว้ โดยคุณมีทานและศีลเป็นต้น ในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าในปางก่อนทั้งหลาย นี้เป็นกิจในปัจฉิมยาม ยามสุดท้าย

                   แม้ในกาลนั้นเอง พระองค์ตรวจดูอย่างนี้ ทรงเห็นกสิภารทวาชพราหมณ์ถึงพร้อมด้วยธรรมอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตแล้ว ทรงทราบว่า เมื่อเราไปในที่นั้นจักมีการพูดจากัน เมื่อจบการพูดจากัน พราหมณ์นั้นฟังธรรมเทศนาแล้วพร้อมด้วยบุตรและภรรยา จักตั้งอยู่ในสรณะ ๓ จักหว่านทาน ภายหลังจะออกบรรพชา จักบรรลุพระอรหัต ดั่งนี้ จึงเสด็จไปในที่นั้น ทรงตั้งเรื่องขึ้นแล้วทรงแสดงธรรม

                   อนึ่ง ในปัจฉิมยามแห่งราตรีนี้ ในอรรถกถาอีกอรรถกถาหนึ่งได้แสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้ปัญหาของเทวดาเหล่านั้นอยู่จนถึงมัชฌิมยาม ต่อจากนั้นทรงกระทำปัจฉิมยามให้เป็น ๔ ส่วน ส่วนที่ ๑ ทรงอธิษฐานจงกรม ส่วนที่ ๒ เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ส่วนที่ ๓ ทรงยังเวลาให้ล่วงไปด้วยผลสมาบัติ ส่วนที่ ๔ ทรงเข้ามหากรุณาสมาบัติตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ เมื่อทรงตรวจดูสัตว์ผู้มีธุลีในจักษุน้อยหรือมีธุลีในจักษุมากเป็นต้น นี้รวมเข้าในปัจฉาภัตกิจ กิจภายหลังภัต ฉะนั้น ในการบอกวัตร จึงได้มีแต่งเป็นบทสวดของพระพุทธกิจของพระพุทธเจ้าไว้ว่า

ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ บิณฑบาตในเวลาเช้า

สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ทรงแสดงธรรมในเวลาเย็น

ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ ทรงโอวาทภิกษุในเวลาพลบค่ำ

อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ ทรงแก้ปัญหาเทวดาในเวลาเที่ยงคืน

                     ปจฺจูเส ว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ เมื่อกาลเวลาถึงเช้าตรู่ทรงตรวจดูสัตวโลกผู้ควรที่จะทรงโปรดหรือไม่ควรที่จะทรงโปรด พระมุนีผู้เป็นบุคคลเลิศในโลกทรงชำระกิจมีอย่าง ๕ เหล่านี้ ซึ่งมีเป็นภาษาบาลีว่า เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ วิโสเธติ มุนิปุงฺคโว

                    อนึ่ง แม้จีวรที่เราทั้งหลายใช้กันอยู่นี้ ก็เป็นแบบที่พระอานนท์ได้คิดถวายที่ทักขิณาคิริชนบท ซึ่งมีแสดงไว้ว่า ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระดำเนินไปทางทักขิณาคิริชนบท พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันดั่งทาง ๔ แพร่งตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไป ครั้นแล้วรับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า อานนท์เธอเห็นนาของชาวมคธซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนา ๔ เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาขึ้นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันดั่งทาง ๔ แพร่งตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไปหรือไม่ พระอานนท์กราบทูลว่า เห็นพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลายให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่ พระอานนท์กราบทูลว่า สามารถพระพุทธเจ้าข้า

                   ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิริชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จกลับมายังพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้วลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดขึ้นนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า อานนท์เป็นผู้ฉลาด อานนท์เป็นผู้เจ้าปัญญา อานนท์ได้ทราบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง อานนท์ทำผ้าชื่อว่ากุสิบ้าง ทำผ้าชื่อว่าอัฑฒกุสิบ้าง ทำผ้าชื่อมณฑลบ้าง ทำผ้าชื่ออัฑฒมณฑลบ้าง ทำผ้าชื่อวิวัฏฏะบ้าง ทำผ้าชื่ออนุวิวัฏฏะบ้าง ทำผ้าชื่อคีเวยยกะบ้าง ทำผ้าชื่อชังเฆยยกะบ้าง และทำผ้าชื่อพาหันตะบ้าง จีวรจักเป็นผ้าซึ่งตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ เราอนุญาตผ้าสังฆาฏิตัด ผ้าอุตตราสงค์คือจีวรตัด ผ้าอันตรวาสกคือสบงตัด

               และในวินัยมุขเล่ม ๒ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงอธิบายจีวรไว้ว่า “จีวรนั้นโปรดให้ตัดเอาอย่างคันนาของชาวมคธคือว่าเป็นกระทงมีเส้นคั่น กระทงใหญ่เรียกว่า มณฑล กระทงน้อย เรียกว่าอัฑฒมณฑล มีเส้นคั่นในระหว่างดุจคันนาขวางเรียกว่า อัฑฒกุสิ รวมมณฑล อัฑฒมณฑล และอัฑฒกุสิ เรียกว่า ขัณฑ์ ในระหว่างขัณฑ์และขัณฑ์ มีเส้นคั่นดุจคันนายืนเรียกว่า กุสิ จีวรผืนหนึ่งให้มีขัณฑ์ไม่น้อยกว่า ๕ เกินกว่านั้นใช้ได้ แต่ให้เป็นขัณฑ์ขอน คือ ๗ ๙ ๑๑ ขัณฑ์มากควรใช้ในยามหาผ้าชิ้นใหญ่ไม่ได้ ผ้าขอบจีวรเรียกว่า อนุวาต ขัณฑ์เหล่านั้นยังเรียกชื่อต่างกันออกไปอีก ขัณฑ์กลางเรียกชื่อว่า วิวัฏฏะ ขัณฑ์ริมทั้ง ๒ ข้างชื่อว่า อนุวิวัฏฏะ อีกอย่างหนึ่งเฉพาะ ๕ ขัณฑ์ ขัณฑ์กลางชื่อคีเวยยกะ เพราะเมื่อห่มจีวรอัฑฒมณฑลของขัณฑ์นั้นอยู่ที่คอ ขัณฑ์ถัดออกมา ๒ ข้างชื่อชังเฆยยกะ เพราะอัฑฒมณฑลของ ๒ ขัณฑ์นั้นอยู่ที่แข้งในเวลาห่ม ขัณฑ์ถัดออกมาอีกทั้ง ๒ ข้างชื่อพาหันตะ เพราะอัฑฒมณฑลของทั้ง ๒ ขัณฑ์นั้นอยู่ที่แขนในเวลาห่ม

            ฝ่ายพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า คีเวยยกะเป็นแผ่นผ้าเย็บทาบลงไปที่ตรงหุ้มคอ ชังเฆยยกะเป็นแผ่นผ้าเย็บทาบลงไปดุจเดียวกันที่ตรงแข้ง คีเวยยกะและชังเฆยยกะ ตามอรรถกถานัยนั้นน่าจะเห็นได้ว่า ได้แก่อนุวาตด้านบนและด้านล่างโดยลำดับกัน มากกว่าแผ่นผ้าอันเย็บทาบลงต่างหาก ถ้าสันนิษฐานตามทางนี้ พาหันตะก็พึงได้แก่อนุวาตด้านสกัดทั้ง ๒ อย่างไรชอบแก่เหตุ ข้าพเจ้าขอฝากนักวินัยให้พิจารณาต่อไป

                   ต่อไปนี้จะแสดงเรื่องพระพุทธเจ้าซึ่งได้เสด็จไปในคามนิคมชนบทรัฐนั้นๆ ในพรรษาต่างๆ จะแสดงเรื่องอุปกาชีวกที่ได้พบพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินทางไกลระหว่างแม่น้ำคยาและไม้โพธิพฤกษ์ หลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้วและได้ประทับเสวยวิมุตติสุขในที่ต่างๆ หลายสัปดาห์แล้ว จะเสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ แสดงปฐมเทศนา

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔
หน้า ๓๙ - ๕๒