Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๔๙

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 

 พรรษาที่ ๑๐
รักขิตวัน หรือป่าปาริเลยยกะ

 พระประวัติของพระพุทธเจ้าในพรรษาที่ ๑๐

 

 

เหตุให้แตกแยกนิกาย

              ตามที่กล่าวมานี้ เป็นข้อที่ควรศึกษาถึงเรื่องความแตกแยกกันหรือว่าปรองดองกันทางคณะสงฆ์ ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร และจะมีได้เพราะอะไร เมื่อสรุปลงแล้ว ความแตกแยกของคณะสงฆ์นั้นก็มีมาจากคณะสงฆ์เอง ซึ่งตามเรื่องดังกล่าวมาแล้วก็เกิดจากการวิวาทกัน และความปรองดองของสงฆ์นั้นก็เกิดจากคณะสงฆ์เอง ที่ยกเรื่องขึ้นวินิจฉัยโดยที่จับเอาเรื่องมูลเหตุขึ้นมาจากเรื่องที่เป็นมูลเหตุจริงๆ มาวินิจฉัยกัน แล้วก็ปฏิบัติกันให้ถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้สังฆสามัคคีก็บังเกิดขึ้น แต่ว่าถ้าบุคคลภายนอกจากคณะสงฆ์จะเป็นใครก็ตาม จะมาทำให้เกิดสังฆเภทขึ้น หรือทำให้เกิดสังฆสามัคคีขึ้นไม่ได้ และถ้าบุคคลภายนอกไม่ได้เป็นผู้ที่ศึกษาให้รู้พระพุทธศาสนา ไม่ได้เข้ามาใกล้ชิดการปฏิบัติพระธรรมวินัยของพระ ไม่รู้ความละเอียดอ่อนของพระธรรมวินัย ก็ยิ่งไม่สามารถที่จะกระทำได้

              ในประวัติศาสตร์ตอนหลังๆ มา ก็ได้มีเรื่องเกิดขึ้นเพราะได้มีการพยายามทำกันด้วยวิธีต่างๆ หลายอย่าง แต่ว่าเมื่อเรื่องมันจะเป็น ก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งได้ ก็เป็นไป เหมือนอย่างที่เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมานานเข้า ก็แตกออกเป็น หีนยาน หรือ ทักษิณนิกาย อย่างที่นับถือกันในประเทศลังกา พม่า ไทยเป็นต้น และเป็น มหายาน หรือ อุตตรนิกาย อย่างที่นับถือกันในประเทศจีน ญวน เกาหลี ธิเบตเป็นต้น และในยานใหญ่ๆ ทั้ง ๒ นี้ ก็ยังแยกออกไปเป็นนิกายย่อยๆ อีกเป็นอันมาก เหมือนอย่างในเมืองไทยนี้ก็มีธรรมยุตกับมหานิกาย

               ความที่แตกแยกกันนี้มีมาด้วยเหตุผลหลายอย่าง เหมือนดังที่เล่ามาแล้วในเรื่องภิกษุชาวโกสัมพีแตกกัน นี่ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็เคร่งครัดด้วยกันมุ่งจะทำให้ถูกด้วยกัน แต่ว่ามาเกิดเข้าใจผิดกันในเบื้องต้นเพียงเล็กน้อย อาบัติก็ตัวเล็กนิดเดียว แต่แล้วก็เกิดทิฏฐิมานะยืนยันกันไปจนถึงการแตกแยกกัน แต่ว่าในต่อมายังมีเหตุต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก เช่นว่าเกิดมีความเห็นในพระธรรมวินัยต่างกัน เรียกว่ามีทิฏฐิต่างกัน และเมื่อมีทิฏฐิต่างกัน ศีล คือความประพฤติก็ต่างกันออกไปด้วยตามทิฏฐิ และนอกจากนี้ยังมีความเคร่งครัดและย่อหย่อนประกอบเข้ามาอีก ที่เคร่งครัดก็คือเป็นผู้หนักในพระธรรมวินัย ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อไม่ให้ผิดพลาด แต่ว่าฝ่ายที่ย่อหย่อนนั้น ประพฤติย่อหย่อนลงมา หลบเลี่ยงพระธรรมวินัยบ้าง ฝืนเอาดื้อๆ บ้าง บางทีก็ต่อหน้าแสดงว่าประพฤติ แต่ลับหลังไม่ประพฤติ ไม่เห็นพระวินัยว่าเป็นข้อสำคัญ อย่างพวกที่มีความคิดแบบใหม่ๆ นี้เรียกว่า เป็นพวกย่อหย่อน

                คราวนี้เมื่อเป็นดังนี้ ความประพฤติก็แตกต่างกันแล้ว ไฉนจะเกิดความแตกแยกออกไปไม่ได้ เพราะว่าฝ่ายที่เคร่งครัดก็ย่อมจะยินดีพอใจอยู่กับฝ่ายที่เคร่งครัดด้วยกัน ฝ่ายที่ย่อหย่อนก็ย่อมจะยินดีพอใจกับฝ่ายที่ย่อหย่อนด้วยกัน และเมื่อเกิดความย่อหย่อนกันขึ้นในข้อหนึ่ง ก็จะสืบเนื่องไปถึงข้ออื่น ในเรื่องของภิกษุชาวโกสัมพีนี้ อาบัติเล็กน้อยนิดเดียวเท่านั้นยังยกเป็นเหตุให้เกิดร้าวฉานแตกร้าวกันขึ้น แต่ว่ามาพิจารณาดูถึงความประพฤติย่อหย่อนก็พึงเห็นได้ว่า มีมากกว่าหรือว่าหนักกว่าเรื่องที่เป็นมูลเหตุในเรื่องที่ภิกษุชาวโกสัมพีวิวาทกันอยู่นี้มากมาย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็แยกกันไปเองตามความเห็นและตามความประพฤติ เพราะฉะนั้น ความที่แยกกันไปเองนี้ ก็เพราะสงฆ์เองไม่ใช่คนอื่นมาทำ

               คราวนี้เมื่อถึงคราวที่จะทำสังฆสามัคคี ก็จะต้องพระสงฆ์เองนั่นแหละเป็นผู้ทำ คือว่าจะต้องยกเอาข้อที่เป็นมูลเหตุจริงๆ จากมูลเหตุนี้มาวินิจฉัยตามพระธรรมวินัย แล้วก็มุ่งปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยกันเป็นข้อๆ ไป เมื่อเป็นดังนี้นั่นแหละ จึงจะเกิดเป็นสังฆสามัคคีขึ้นไป ต้องพระสงฆ์เองเป็นผู้ที่ทำขึ้น ส่วนบุคคลภายนอกนั้นได้เคยมีความพยายามดังที่กล่าวมาแล้วด้วยวิธีที่อ่อนโยนบ้าง รุนแรงบ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าสำเร็จ

 

พระสงฆ์ธรรมยุต พระสงฆ์มอญ

               เหมือนอย่างในเมืองมอญ พระเจ้ามหาปิฎกธร ทรงส่งพระที่หงสาวดี ไปบวชใหม่ที่ลังกาในสีมาน้ำ แม่น้ำกัลยาณี แล้วก็กลับมาเมืองมอญ ให้พระที่บวชมาใหม่นั้นผูกสีมาขึ้นแห่งหนึ่งที่ชานเมืองหงสาวดี ตั้งชื่อว่า สีมากัลยาณี เมื่อผูกสีมาเสร็จแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ออกพระราชกฤษฎีกาให้พระในเมืองมอญสึกออกมาบวชใหม่ทั้งหมด เพื่อจะรวมให้เป็นนิกายเดียวกัน ก็ปรากฏตามตำนานที่พระเมืองมอญเขียนไว้ว่า มีพระจำนวนมากสึกออกมาบวชใหม่ในสีมากัลยาณีนั้น เกือบจะเรียกว่าทั้งประเทศ ถ้าไม่สึกออกมาบวชใหม่และยืนยันที่จะประพฤติย่อหย่อนอย่างเก่า พระเจ้าแผ่นดินก็จะพระราชทานผ้าขาว

ให้สึกออกไป ก็เป็นอันว่าท่านได้บวชพระใหม่กันทั้งประเทศสำเร็จในสมัยนั้น แต่แล้วเมื่อกาลเวลาล่วงมา พระมอญนั่นเองก็กลับแตกออกเป็นนิกายอีกมากมาย เพราะว่าจิตใจไม่ได้สมัคร แต่ทำด้วยเกรงพระราชอำนาจ

               แต่ว่าพิจารณาการกระทำของท่านที่ผูกสีมาแล้วเอาพระมาบวชใหม่นั้น ก็เพราะท่านจับมูลเหตุขึ้นอันหนึ่งเหมือนกัน คือจับมูลเหตุที่ว่า สีมาที่ผูกไว้เก่านั้นไม่ถูกต้อง เป็นสีมาวิบัติ เมื่อบวชกันในสีมาวิบัติ ก็ไม่เป็นพระสงฆ์ เพราะฉะนั้น จึงให้ไปผูกใหม่ แล้วก็บวชกันใหม่ ก็จับเอาเหตุเพียงประการเดียวขึ้นมา แต่ว่าเหตุแห่งการแตกแยกกันนั้นมีมากมาย ไม่ใช่ประการเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้รวมกันได้จริงๆ จะต้องยกเหตุมาทุกประเด็นทุกข้อ แล้วก็ตกลงกันทุกข้อ และก็ต้องตกลงกันด้วยความสมัครใจ เมื่อเป็นดังนี้แล้วละก็จึงจะถาวร

           งานที่ทรงทำไว้นั้นก็สำเร็จอยู่ชั่วสมัยหนึ่งแล้วก็ไม่สำเร็จ แต่ว่าการกระทำครั้งนั้นก็มีผลเนื่องมาถึงเมืองไทย คือว่า พระธรรมยุต นี่บังเกิดขึ้นก็เพราะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อผนวชอยู่ ได้เสด็จไปทรงพบปะพระรามัญที่บวชมาจากสีมากัลยาณีที่เล่านี่แหละ แล้วก็ทรงสอบสวนดู ปรากฏว่าแสดงพระวินัยแสดงวงศ์ของการบรรพชาอุปสมบทที่สืบเนื่องมาให้ทรงเลื่อมใสได้ จึงได้ทรงญัตติใหม่ในพระสงฆ์ที่บวชมาจากสีมากัลยาณีนั้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นท่านเล่าว่า ได้ทรงทำทัฬหีกรรมอุปสมบทใหม่หลายครั้งหลายหน ด้วยทรงรังเกียจโน่นบ้าง รังเกียจนี่บ้าง ทำแล้วทำเล่าจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

               การที่พระเจ้ามหาปิฎกธรทรงส่งพระสงฆ์มอญไปบวชใหม่ที่สีมาแม่น้ำกัลยาณีในลังกาดังที่เล่ามานั้น ก็ไปบวชในสายของพระสงฆ์ฝ่าย มหาวิหาร ซึ่งพระสงฆ์ฝ่ายนี้ได้สืบมาจากสายพระมหินท์ที่ว่าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชในสมัยที่สังคายนาครั้งที่ ๓ ผนวชเป็นพระภิกษุแล้วก็เป็นหัวหน้าคณะนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในประเทศลังกา เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงแล้วราว ๓๐๐ กว่าปี พระสงฆ์ลังกาทีแรกก็เป็นศิษย์ของพระสงฆ์สายพระมหินท์ทั้งนั้น แต่แล้วก็ไปแยกกันออกไป เป็นฝ่ายที่เคร่งครัดกับฝ่ายที่ไม่เคร่งครัด เป็นนิกายกันออกไปอีก แต่ว่าฝ่ายมหาวิหารนี้เป็นฝ่ายที่นับถือกันว่าเคร่งครัด พระเจ้าแผ่นดินลังกาก็ได้ทรงนับถือสืบๆ กันมาโดยลำดับ จนถึงสมัยพระเจ้ามหาปิฎกธรของมอญส่งพระมอญไปบวชในสำนักของพระสงฆ์สายนี้ แล้วก็มาตั้งขึ้นในเมืองมอญ แล้วพระสงฆ์ธรรมยุตก็สืบมาจากพระสงฆ์สายนี้อีกทีหนึ่ง รวมความก็เป็นสายของพระสงฆ์คณะมหาวิหารของลังกานั่นเอง

           แต่ว่าฝ่ายพระสงฆ์ธรรมยุตนี้ เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระศิษย์ ก็บวชในคณะมหานิกายคือนิกายที่มีอยู่เดิมมาทีหนึ่งแล้ว แล้วก็ไปทำซ้ำ หรือบวชซ้ำในพระสงฆ์สายสีมากัลยาณีของมอญดังกล่าวแล้วเข้าอีกหนหนึ่ง และทำอีกหลายหน ก็เป็นอันว่าเป็นที่รวมทั้งของไทยที่รับสะสมกันมาแต่เดิมและทั้งของมอญสายมหาวิหาร นอกจากนั้น ก็ยังได้รับเอาแบบของลังกามาปฏิบัติด้วย เช่น การสวดมนต์ ตั้งแต่การขานนาค สวดทำวัตรเช้าเย็น หรือ สวดแบบธรรมยุต ก็เอาแบบลังกามาใช้ เพราะสำเนียงลังกาที่ว่าภาษาบาลีนั้นเป็นที่นับถือกันว่าเป็นสากล ถึงทางยุโรปอเมริกาก็กำหนดเสียงของการออกเสียงภาษาบาลีเหมือนอย่างที่ลังกา เช่น ทะ ออกเสียงเป็นดะ เทวะ ก็ออกเสียงเป็น เดวะ เป็นต้น ถึงจะเขียนเป็นอักษรโรมันก็ใช้ตัว D เพราะฉะนั้น สำเนียงลังกาที่พระธรรมยุตนำมาใช้อยู่นี่จึงเป็นสากล ในปัจจุบันนี้ก็เป็นสำเนียงสากล เพราะฉะนั้น ขนบธรรมเนียมที่พระสงฆ์ธรรมยุตใช้อยู่นี้จึงเป็นสิ่งที่เลือกผสม คือเป็นของแบบไทยมาเก่าบ้าง เป็นของรามัญบ้าง เป็นของลังกาหรือที่ใช้เป็นแบบสากลบ้าง แต่ว่าก็ต้องให้ถูกต้องในพระธรรมวินัย เรียกว่า เป็นแบบที่ปรับปรุงมาให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔
หน้า ๓๓ - ๓๗