Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๔๘

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 

 พรรษาที่ ๑๐
รักขิตวัน หรือป่าปาริเลยยกะ

 พระประวัติของพระพุทธเจ้าในพรรษาที่ ๑๐

 

เภทกรณวัตถุ

            ฝ่ายอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีก็พากันคิดว่า พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีที่ทะเลาะวิวาทกันเหล่านี้ เป็นผู้ทำให้พวกตนเสียหาย เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรำคาญพระหฤทัยด้วยภิกษุเหล่านี้ จึงได้ทรงหลีกไป พวกตนก็ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้พบเห็นพระพุทธเจ้า จึงได้พร้อมใจกันงดการกราบไหว้ต้อนรับพระผู้วิวาทกัน งดการใส่บาตร เรียกว่า คว่ำขันข้าว พวกพระเหล่านั้นจะหลีกไป หรือว่าจะสึกไป หรือว่าจักไปทำพระศาสดาให้พอพระหฤทัยใหม่ก็สุดแต่

            ฝ่ายภิกษุชาวโกสัมพีทั้ง ๒ ฝ่ายซึ่งวิวาทกัน เมื่อถูกชาวบ้านปฏิบัติดังนั้นก็ค่อยรู้สึกสำ นึกตัว และกลับหันหน้าเข้าหารือกันว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดก็ตกลงใจกันว่าจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลให้ทรงระงับอธิกรณ์อันนี้ เมื่อได้ตกลงพร้อมกันแล้ว ก็พากันออกจากกรุงโกสัมพีไปยังกรุงสาวัตถี

           ในตอนนี้ ในคัมภีร์อรรถกถา1 คือคัมภีร์ที่อธิบายเนื้อความของพระบาลีซึ่งได้แต่งเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปประมาณ ๑,๐๐๐ ปีแล้ว ได้เล่าว่า เมื่อพวกชาวบ้านพากันงดใส่บาตรพระภิกษุชาวโกสัมพีนั้น อยู่ในระหว่างเข้าพรรษาพระเหล่านั้นก็ต้องพากันอยู่จำพรรษาด้วยความเดือดร้อนจนตลอดไตรมาส ครั้นออกพรรษาแล้วจึงได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

         ข่าวเรื่องพระภิกษุชาวโกสัมพีเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้แพร่ออกไปจนทราบถึงพุทธบริษัทในกรุงสาวัตถี ในชั้นบาลีได้เล่าว่า พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถามถึงข้อที่ควรปฏิบัติต่อพระภิกษุชาวโกสัมพีเหล่านั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงชี้แจงวิธีปฏิบัติเป็นพวกๆ ไป

            ในฝ่ายภิกษุบริษัท พระสารีบุตรซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ได้เข้าเฝ้ากราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า จะปฏิบัติในภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้ดำรงอยู่โดยธรรม พระสารีบุตรก็ได้กราบทูลถามว่า จะพึงรู้ว่าเป็นธรรมหรือว่าอธรรมอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า ภิกษุที่เป็นอธรรมวาที คือผู้กล่าวไม่เป็นธรรมนั้น พึงทราบได้ด้วยวัตถุ ๑ข้อ เมื่อรวมเป็นคู่ก็ได้ คู่ คือ

           คู่ที่ ๑ แสดงอธรรมว่าธรรม แสดงธรรมว่าอธรรม

           คู่ที่ ๒ แสดงอวินัยว่าวินัย แสดงวินัยว่าอวินัย

           คู่ที่ ๓ แสดงข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามิได้ตรัสไว้ แสดงข้อที่พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสไว้ว่าตรัสไว้

           คู่ที่ ๔ แสดงข้อที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงประพฤติว่าทรงประพฤติ แสดงข้อที่พระพุทธเจ้าทรงประพฤติว่ามิได้ทรงประพฤติ

           คู่ที่ ๕ แสดงข้อที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติว่าทรงบัญญัติ แสดงข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่ามิได้ทรงบัญญัติ

           คู่ที่ ๖ แสดงอนาบัติว่าอาบัติ แสดงอาบัติว่าอนาบัติ

           คู่ที่ ๗ แสดงอาบัติเบาว่าอาบัติหนัก แสดงอาบัติหนักว่าอาบัติเบา

           คู่ที่ แสดงอาบัติที่มีส่วนเหลือว่าเป็นอาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือ แสดงอาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือว่าเป็นอาบัติที่มีส่วนเหลือ

           คู่ที่ แสดงอาบัติชั่วหยาบว่าไม่ชั่วหยาบ แสดงอาบัติที่ไม่ชั่วหยาบว่าชั่วหยาบ

           ภิกษุที่มีวาทะดังกล่าวมานี้ก็ให้พึงรู้ว่าเป็นอธรรมวาที กล่าวไม่เป็นธรรม

           ส่วนภิกษุที่เป็นธรรมวาทีคือกล่าวเป็นธรรมนั้น ก็พึงทราบด้วยวัตถุ ๑ข้อ อันมีอรรถคือเนื้อความตรงกันข้ามจากที่กล่าวมาแล้ว คือ

           คู่ที่ ๑ แสดงอธรรมว่าอธรรม แสดงธรรมว่าธรรม

           คู่ที่ ๒ แสดงอวินัยว่าอวินัย แสดงวินัยว่าวินัย

           คู่ที่ ๓ แสดงข้อที่พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสไว้ว่ามิได้ตรัสไว้ แสดงข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าตรัสไว้

           คู่ที่ ๔ แสดงข้อที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงประพฤติว่ามิได้ทรงประพฤติแสดงข้อที่พระพุทธเจ้าทรงประพฤติว่าทรงประพฤติ

           คู่ที่ ๕ แสดงข้อที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติว่ามิได้ทรงบัญญัติแสดงข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่าทรงบัญญัติ

           คู่ที่ ๖ แสดงอนาบัติว่าอนาบัติ แสดงอาบัติว่าอาบัติ

           คู่ที่ ๗ แสดงอาบัติเบาว่าอาบัติเบา แสดงอาบัติหนักว่าอาบัติหนัก

           คู่ที่ แสดงอาบัติที่มีส่วนเหลือว่ามีส่วนเหลือ แสดงอาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือว่าไม่มีส่วนเหลือ

           คู่ที่ แสดงอาบัติชั่วหยาบว่าอาบัติชั่วหยาบ แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่าอาบัติไม่ชั่วหยาบ

          ภิกษุที่มีวาทะดังกล่าวมานี้เรียกว่า เป็นธรรมวาที กล่าวเป็นธรรม วัตถุฝ่ายอธรรมวาทีย่อมเป็นเหตุให้เกิดการวิวาทกันจนถึงแตกร้าวกัน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เภทกรณวัตถุ แปลว่า วัตถุเป็นเครื่องทำให้แตกกัน ส่วนวัตถุฝ่ายธรรมวาทีย่อมเป็นเครื่องทำให้ไม่แตกกัน ทำให้ปรองดองกันโดยตรงกันข้าม และวัตถุฝ่ายอธรรมวาที ๑ข้อ คู่ดังกล่าวมานี้ เป็นมูลเหตุแห่ง วิวาทาธิกรณ์ ในคณะสงฆ์ คืออธิกรณ์ที่เกิดขึ้นจากการวิวาทกัน

           การวิวาทกันนี้ไม่ใช่หมายถึงการวิวาทกันด้วยเรื่องส่วนตัวของใครผู้ใดผู้หนึ่ง แต่วิวาทกันคือทุ่มเถียงกันว่า นี่เป็นธรรมนี่ไม่เป็นธรรม นี่เป็นวินัยนี่ไม่เป็นวินัย เป็นต้น ตามคู่ทั้ง คู่นั้น เมื่อวิวาทกันแม้เพียงคู่ใดคู่หนึ่ง ก็เรียกว่า เป็นวิวาทที่จะก่อให้เกิดเรื่องราวอันเรียกว่าอธิกรณ์ขึ้นได้ และเมื่อเป็นวิวาทาธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์แล้ว ก็ย่อมจะปันสงฆ์ออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่มีความเห็นข้างนี้ ฝ่ายที่มีความเห็นข้างโน้น เหมือนดังในเรื่องโกสัมพีนี้ ฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าเป็นอาบัติ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่เป็นอาบัติ วัตถุของอาบัตินั้นตามอรรถกถาเล่าไว้ก็เพียงนิดเดียว คือเพียงเรื่องเหลือน้ำทิ้งไว้ในภาชนะน้ำในวัจจกุฎีเท่านั้น ซึ่งก็เป็นอาบัติเพียงทุกกฏ แต่ว่าอาศัยที่ทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นคณาจารย์ ซึ่งมีสิกขา (คือศึกษา) มามากด้วยกัน จึงต่างก็ไม่ยอมกันและก็ปฏิบัติต่อกันอย่างรุนแรง คือฝ่ายที่เห็นว่าเป็นอาบัติ เมื่อได้โอกาสก็ประชุมพวกของตนแล้วก็ทำ อุกเขปนียกรรม คือยกวัตร แปลว่า ตัดความเป็นผู้ใหญ่ ไม่กราบไม่ไหว้และไม่ยอมร่วมทำอุโบสถทำสังฆกรรมกันทีเดียว ฝ่ายที่ถูกทำเข้าดังนั้นก็ไม่ยอมเช่นกัน ก็เลยเกิดแตกกันขึ้นเป็น ๒ ฝ่าย แตกกันจนแยกกันทำสังฆกรรม และเมื่อแยกกันทำสังฆกรรม ก็เรียกว่าเป็น สังฆเภท คือความแตกของสงฆ์ ถ้ายังไม่ถึงกับแยกกันทำสังฆกรรม ก็ยังไม่เป็นสังฆเภท แต่เรียกว่าเป็น สังฆราชี คือเป็นความร้าวรานของสงฆ์เท่านั้น ครั้นเมื่อแยกกันทำสังฆกรรมแล้วก็เรียกว่าเป็นสังฆเภท ความแตกของสงฆ์ ภิกษุทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นก็เรียกว่าเป็น นานาสังวาสกะ คือมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมต่างๆ กัน เป็นนานาสังวาสกะของกันและกัน

          สังฆเภทตามที่เล่ามานี้ เกิดขึ้นจากวิวาทกันตามวัตถุ ๑ข้อ คู่ เหล่านั้น และเมื่อจับขึ้นพิจารณาดูแล้ว สมุฏฐานทีเดียวก็เพียงคู่ที่ว่าเป็นอาบัติกับไม่เป็นอาบัติเท่านั้น จัดเข้าในคู่นั้น แต่การปฏิบัติต่อกันนั้น ปฏิบัติด้วยอาการที่รุนแรงดังกล่าวมาแล้ว

 

สังฆเภท สังฆสามัคคี

          สังฆเภทดังกล่าวมานี้ ท่านไม่ปรับว่ามีใครหรือฝ่ายไหนเป็นผู้ทำสังฆเภทที่เป็นอนันตริยกรรม ดังอนันตริยกรรม ๕ ซึ่งมีข้อหนึ่งว่า ทำสังฆเภท คราวนี้ถ้าจะยกปัญหาขึ้นมาว่า ตามเรื่องที่เล่ามานี้ ใครเป็นผู้ทำสังฆเภท ซึ่งจะต้องเป็นอนันตริยกรรม ตอบได้ตามเรื่องในโกสัมพิกภิกษุที่เล่านี้ ท่านไม่กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำสังฆเภทซึ่งเป็นอนันตริยกรรม และทั้ง ๒ ฝ่ายก็ไม่ถูกหาว่าเป็นผู้ทำสังฆเภทที่เป็นอนันตริยกรรมดังกล่าวนั้น เพราะว่าทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นแยกกันก็เพราะวิวาทคือทุ่มเถียงกันตามวัตถุที่กล่าวแล้ว มีความเห็นแตกแยกกัน ประกอบด้วยทิฏฐิมานะเข้าใส่กันด้วย เพราะฉะนั้น จึงได้แยกกันออกไปเป็น ๒ ฝ่าย ทั้ง ๒ ฝ่ายนั้น ต่างก็เป็นผู้ที่บวชมาอย่างถูกต้องในพระธรรมวินัยนี้เสมอกัน เป็นผู้ที่มุ่งประพฤติดีปฏิบัติชอบด้วยกัน และก็ไม่ได้มุ่งที่จะให้สงฆ์แตกแยกกัน แต่ว่าเมื่อเกิดวิวาทกันขึ้นเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ก็เป็นชนวนให้เกิดแตกแยกกันออกไปเอง สงฆ์ที่พร้อมเพรียงกันอยู่เรียกว่า เป็นสมานสังวาสกะ คือมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมเสมอกัน

           พึงทราบความหมายในเรื่องนี้ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อเกิดวิวาทกันตามวัตถุดังกล่าวนั้น จนถึงเกิดความแตกแยกออกเป็นพวกเป็นฝ่าย แต่ว่ายังทำอุโบสถสังฆกรรมกันอยู่ นี่ไม่เรียกว่า สังฆเภท แต่เรียกว่า สังฆราชี แสดงความร้าวรานของสงฆ์ ครั้นแยกกันทำสังฆกรรม จึงเรียกว่า สังฆเภทตามสังฆเภทที่ได้เล่ามานี้ ไม่กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำซึ่งจะต้องเป็นอนันตริยกรรม พระทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นก็คงเป็นพระภิกษุ และต่อไปก็จะปรองดองกันตามเดิม

          ท่านแสดงว่า เมื่อพระสารีบุตรได้กราบทูลถามและพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสตอบอย่างนั้นแล้ว ก็ได้มีพระเถระอื่นๆ อีกหลายรูป เช่น พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ เป็นต้น ได้กราบทูลถามและพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสตอบเช่นเดียวกัน

          ในฝ่ายภิกษุณีบริษัท พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้กราบทูลถามเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า ให้ฟังธรรมในทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อฟังแล้วฝ่ายใดเป็นฝ่ายธรรมวาที จงพอใจความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจ และความเชื่อของภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น และภิกษุณีสงฆ์พึงหวังวัตรอันใดอันหนึ่งจากภิกษุสงฆ์ ก็พึงหวังวัตรทั้งหมดนั้นจากฝ่ายที่เป็นธรรมวาที

           ในฝ่ายอุบาสก คฤหบดีชื่ออนาถปิณฑิกะ คือผู้สร้างพระเชตวันถวาย ก็ได้กราบทูลถามเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสตอบว่า ให้ทำทานในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย แล้วก็ให้ฟังธรรมในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อฟังธรรมแล้วฝ่ายไหนเป็นธรรมวาที ก็ให้ถือเอาตามฝ่ายนั้น

            ในฝ่ายอุบาสิกา นางวิสาขาก็ได้กราบทูลถามเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสตอบให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับที่ตรัสแก่อนาถปิณฑิกะ

            ในข้อนี้พึงสังเกตว่า ในฝ่ายที่เกี่ยวกับอุบาสกอุบาสิกานั้น ไม่ได้ตรัสห้ามการทำบุญใส่บาตร แต่ทรงแนะนำให้บำเพ็ญทานในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่ายเหมือนกับในสงฆ์ทั่วๆ ไป ภิกษุชาวโกสัมพีได้ถูกคว่ำขันข้าวมาจากเมืองโกสัมพีแล้ว เมื่อมากรุงสาวัตถี ยังมาถูกเข้าเช่นนั้นอีก ก็คงจะอยู่ไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้

ตรัสสอนให้ปฏิบัติเช่นนั้น

            เมื่อภิกษุชาวโกสัมพีได้มาถึงกรุงสาวัตถี ก็ได้เข้าไปสู่พระเชตวัน พระสารีบุตรจึงกราบทูลถามว่า จะจัดเสนาสนะให้พักอาศัยอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสให้จัดเสนาสนะให้ซึ่งเป็นเสนาสนะว่าง ถ้าเสนาสนะว่างไม่มี ก็ให้จัดทำให้ว่างขึ้น แต่ว่าตรัสสั่งไม่ให้ห้ามกันสำหรับภิกษุที่แก่กว่า คือไม่รบกวนภิกษุที่เป็นผู้แก่กว่าให้ได้รับความลำบาก ในส่วนอามิสมีข้าวน้ำเป็นต้น ก็ให้จัดแบ่งให้สม่ำเสมอกัน

            ฝ่ายภิกษุชาวโกสัมพี เมื่อมาถึงกรุงสาวัตถีได้มาพำนักอยู่ ณ พรเชตวัน แล้วภิกษุที่ถูกสงฆ์ยกวัตรก็ได้มาพิจารณาตนเอง เห็นว่าต้องอาบัติ และที่ถูกสงฆ์ยกวัตรนั้นก็เป็นธรรม จึงได้เข้าไปหาภิกษุซึ่งเป็นผู้อนุวัตรตามตน กล่าวแสดงความรู้สึกให้ทราบ และขอให้ภิกษุเหล่านั้นประชุมสงฆ์เรียกเข้าหมู่คือระงับการยกวัตรนั้น ภิกษุที่เป็นฝ่ายของท่านก็ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงอำนวยให้เรียกภิกษุนั้นเข้าหมู่ คือว่าระงับการยกวัตร ภิกษุที่เป็นฝ่ายของท่านก็ได้ประชุมกันกระทำการระงับอุกเขปนียกรรมนั้น แล้วก็ได้ไปหาภิกษุอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้ทำการยกวัตร ได้แจ้งให้ทราบและชักชวนกันกระทำการสังฆสามัคคี คือการกระทำความพร้อมเพรียงของสงฆ์เพื่อสงบระงับอธิกรณ์นั้น ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถามถึงวิธีปฏิบัติ พระองค์ก็ได้ตรัสสอนให้ประชุมสงฆ์ทั้งหมด แม้ภิกษุไข้ก็ต้องมา เว้นไม่ได้ ครั้นแล้วก็ให้สวดประกาศแจ้งความระงับอธิกรณ์ที่บังเกิดขึ้น ครั้นสวดประกาศแล้วก็ให้ทำอุโบสถคือสวดปาติโมกข์ขึ้นในขณะนั้น เมื่อปฏิบัติดังนี้แล้วก็ชื่อว่า เป็นการทำสังฆสามัคคี ความพร้อมเพรียงของสงฆ์โดยเรียบร้อย ภิกษุเหล่านั้นก็ได้พากันปฏิบัติดังกล่าวนั้น

           เพราะฉะนั้น จึงได้มีอุโบสถพิเศษอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า สังฆสามัคคี-อุโบสถ คืออุโบสถสวดพระปาติโมกข์ เป็นการทำสังฆสามัคคี ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ ไม่ได้กำหนดว่าวันไหน เหมือนอย่างอุโบสถที่กำหนดทำอยู่โดยปกติ เมื่อเกิดสังฆเภทขึ้นและสงฆ์มาปรองดองสามัคคีกันเป็นสังฆสามัคคีเมื่อใดก็ทำอุโบสถสวดปาติโมกข์ขึ้นเมื่อนั้น เรียกว่า สามัคคีอุโบสถ

 

สังฆสามัคคี ๒ อย่าง

            เมื่อพระสงฆ์ที่แตกแยกกันได้ทำสังฆสามัคคีกันเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอุบาลีซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางทรงพระวินัย ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้กราบทูลถามว่า เมื่อเกิดสังฆเภท ความแตกแห่งสงฆ์ สังฆราชี ความร้าวรานแห่งสงฆ์ขึ้น เพราะวัตถุคือมีเรื่องอันใด สงฆ์ยังมิได้วินิจฉัยวัตถุอันนั้น ได้ดำเนินไปสู่มูลเหตุจากเรื่องที่ไม่ใช่เป็นมูลเหตุ กระทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นประกอบด้วยธรรมหรือไม่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า สังฆสามัคคีนั้นไม่ประกอบด้วยธรรม ท่านจึงได้กราบทูลถามต่อไปว่าเมื่อเกิดสังฆเภทสังฆราชีขึ้น เพราะวัตถุอันใด สงฆ์วินิจฉัยวัตถุอันนั้น ดำเนินไปสู่มูลเหตุจากเรื่องที่เป็นมูลเหตุ แล้วกระทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นประกอบด้วยธรรมหรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า สังฆสามัคคีนั้นประกอบด้วยธรรม

            ท่านจึงกราบทูลถามต่อไปว่า สังฆสามัคคีความพร้อมเพรียงกันของสงฆ์มีกี่อย่าง พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า มี ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่ง สังฆสามัคคีที่ปราศจากอรรถคือเนื้อความ ได้เพียงพยัญชนะคือถ้อยคำ อีกอย่างหนึ่ง สังฆสามัคคีที่เข้าถึง คือว่าได้ทั้งอรรถคือเนื้อความ ได้ทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ และได้ตรัสอธิบายตามที่ได้กราบทูลถามต่อไปว่า

          สังฆสามัคคีที่ปราศจากอรรถคือว่าไม่ได้อรรถเนื้อความ ได้แต่พยัญชนะคือถ้อยคำก็คือในเมื่อเกิดสังฆเภทสังฆราชีขึ้นเพราะวัตถุใด สงฆ์ไม่วินิจฉัยวัตถุนั้น ดำเนินไปสู่มูลเหตุจากเรื่องที่ไม่เป็นมูลเหตุ กระทำสังฆสามัคคี นี้ เรียกว่า สังฆสามัคคีที่ไม่ได้อรรถคือเนื้อความ ได้แต่พยัญชนะคือถ้อยคำ

           ส่วนเมื่อเกิดสังฆเภทสังฆราชีขึ้นเพราะวัตถุใด สงฆ์วินิจฉัยวัตถุนั้นดำเนินไปสู่มูลเหตุจากเรื่องที่เป็นมูลเหตุ กระทำสังฆสามัคคี นี้เรียกว่าสังฆสามัคคีที่ได้ทั้งอรรถคือเนื้อความ ได้ทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ

            น่าพิจารณาตามพุทธภาษิตนี้ ว่ามีพระพุทธประสงค์สังฆสามัคคีคือ ความพร้อมเพรียงของสงฆ์ ที่ได้ทั้งอรรถคือเนื้อความ ได้ทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ หมายความว่า ไม่ใช่เพียงแต่สักว่าสังฆสามัคคีโดยถ้อยคำเท่านั้น แต่ให้ได้ความหมายว่าสังฆสามัคคีโดยแท้จริงด้วย คราวนี้สังฆสามัคคีดังกล่าวนี้จะต้องปฏิบัติตามที่ได้ตรัสไว้นี้ คือสงฆ์วินิจฉัยวัตถุนั้น และก็จับมูลเหตุจากเรื่องที่เป็นมูลเหตุขึ้นวินิจฉัยโดยแท้จริง เมื่อปฏิบัติดังนี้แล้ว สังฆสามัคคีนั้นจึงจะได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะ

            เพราะฉะนั้น เรื่องของทางคณะสงฆ์จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แม้เมื่อเกิดความร้าวรานของสงฆ์ขึ้นจนถึงเกิดความแตกแยกของสงฆ์ขึ้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ พระองค์ก็มิได้ทรงบังคับให้ทำสังฆสามัคคี แต่ได้ทรงแนะนำให้ปรองดองกันด้วยวิธีต่างๆ จนถึงที่สุดชาวบ้านเข้ามาช่วยพระสงฆ์ที่แตกแยกกันนั้นจึงได้สำนึกตน และก็ได้หวนนึกถึงมูลเหตุแห่งความแตกแยกกัน ก็ได้พบว่ามูลเหตุมาจากเรื่องเพียงนิดเดียว คืออาบัติเล็กน้อยเพียงอันเดียวเท่านั้น ซึ่งฝ่ายหนึ่งไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ อีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นรุนแรงว่าเป็นอาบัติ จนถึงกับยกวัตรกันขึ้น เมื่อจับมูลเหตุอันนี้ได้แล้ว ฝ่ายที่ไม่เห็นว่าเป็นอาบัติก็กลับเห็นว่าเป็นอาบัติ แล้วก็ยอมแสดงอาบัติเสีย แล้วสงฆ์ก็เรียกเข้าหมู่ตามเดิม ระงับการยกวัตรนั้น ดังนี้เรียกว่า สงฆ์วินิจฉัยวัตถุนั้น แล้วก็จับเอามูลเหตุจากมูลเหตุขึ้นวินิจฉัยกันจริงๆ เมื่อเป็นดังนี้ สังฆสามัคคีคือความพร้อมเพรียงของสงฆ์ก็เกิดขึ้น ด้วยทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นยอมปฏิบัติให้ถูก เพราะฉะนั้น ความปรองดองกันนั้นจึงบังเกิดขึ้นด้วยทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นกลับปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ และเมื่อปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว สังฆสามัคคีก็บังเกิดขึ้นเป็นความพร้อมเพรียงที่มั่นคง ที่ถาวร ได้ทั้งอรรถคือเนื้อความ ได้ทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ

 

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔
หน้า ๒๓ - ๓๓