Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๔๗

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 

 พรรษาที่ ๑๐
รักขิตวัน หรือป่าปาริเลยยกะ

 พระประวัติของพระพุทธเจ้าในพรรษาที่ ๑๐

 

การทำสมาธิ

           ต่อไปนี้จะได้อธิบายประกอบบางส่วน คือว่าการทำสมาธินั้น จิตกำหนดอยู่ที่อารมณ์อันเดียวเหมือนดังเช่นทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้า กำหนดลมหายใจออก รวมจิตให้รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก โดยปกติจิตของเราพร่า คือว่าออกไปรู้อารมณ์ต่างๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง เรียกว่า พร่า คราวนี้ก็มารวมใจให้รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกเพียงอันเดียว ในการปฏิบัตินั้น เมื่อตั้งใจรวมจิตเข้ามาให้รู้อยู่ที่ลมหายใจดังเช่นในบัดนี้หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ รู้ตรงจุดที่ลมหายใจกระทบ อย่างเมื่อหายใจเข้าลมหายใจเข้ากระทบที่ปลายกระพุ้งจมูก หรือว่าริมฝีปากเบื้องบน ก็ให้รู้ ออกมากระทบที่นั่นก็ให้รู้ เมื่อได้ตั้งกำหนดอยู่ดังนี้ จิตก็มักจะหลบแวบออกไปข้างนอก ไม่อยู่ จะทำอย่างไรจึงจะมีสติขึ้นมา ก็ต้องดึงเอาจิตมาตั้งมากำหนดอยู่ที่นิมิตคือที่กำหนดเหมือนอย่างเก่า

           ความที่ยกจิตให้เข้ามาอยู่ที่นิมิตนี่แหละเรียกว่า วิตก วิตกมิใช่หมายความว่าตรึกตรองอะไรไปเหมือนอย่างที่เราพูดกัน แต่ว่าวิตกนั้นหมายถึงคอยยกเอาจิตเข้ามาตั้งอยู่ที่นิมิตของสมาธิ นิมิต แปลว่า ที่กำหนด เหมือนอย่างว่าเรากำหนดจุดที่ลมกระทบที่ปลายกระพุ้งจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน ตรงนั้นเรียกว่า นิมิต คือที่กำหนด จิตแวบออกไป ก็จับจิตมาใส่เข้าไว้ที่นั่น นี่เรียกว่าวิตก เมื่อจับจิตมาใส่เข้าไว้ที่นั่นแล้ว ก็คอยประคองจิตให้คลุกเคล้าอยู่กับนิมิตนั้น คือว่าให้แน่วแน่อยู่ที่นิมิตนั้น ไม่ให้ไปข้างไหน อาการแน่วหรือแซ่วอยู่ที่นิมิตนั้นไม่ไปข้างไหน นี่เรียกว่า วิจาร ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่าวิตกนั้นเหมือนอย่างตีระฆังดังเหง่งขึ้นแล้ว วิจารก็เหมือนอย่างเสียงครางของระฆัง วิตกก็จับจิตเข้ามาตั้งไว้ที่นิมิต วิจารก็คอยประคองจิตให้คลุกเคล้าอยู่ที่นิมิตอันนั้น ไม่ให้ไปข้างไหน

           ในการทำสมาธิทีแรก จะต้องคอยมีสติจับจิตมาใส่ไว้ที่นิมิต แล้วก็คอยประคองจิตให้อยู่ที่นั่นอยู่เสมอ เผลอเมื่อไรจิตก็แวบออกไป คราวนี้ความเร็วของจิตนั้นเราอาจจะกำหนดได้ในตอนนี้ เมื่อจิตแวบออกไปนั้น ครั้นจับจิตเข้ามาได้ก็ลองสอบสวนดู จะรู้สึกว่าแวบเดียวเท่านั้น แต่ว่าหลายเรื่องเหลือเกิน เหมือนดังเช่นว่า เมื่อจับจิตเข้ามาอยู่ที่นิมิตของสมาธิและให้คลุกเคล้าอยู่ที่นิมิตนั้น แน่วอยู่ที่นิมิตอันนั้น ครั้นได้ยินเสียงคนเดินอยู่ข้างนอกกุกๆ จิตมันก็จะแวบออกไป พอแวบออกไปที่นั่นแล้วก็ไปเรื่องนั้น ไปเรื่องนี้ ไปเรื่องโน้นอีกมากมาย กว่าเราจะได้สติแล้วก็ชักเข้ามาใหม่

             คราวนี้ลองสอบสวนดูว่ากี่เรื่องที่แวบออกไปนั้น ลองสอบสวนดูก็จะจับเรื่องได้แยะ ออกจากเรื่องนั้นไปเรื่องนี้ ออกจากเรื่องนี้ไปเรื่องโน้น กว่าจะจับตัวเข้ามาได้ ก็ออกไปมากมายหลายเรื่อง อันนี้แหละที่เราจะรู้สึกว่าจิตไปเร็วเพียงไร แต่ว่าต้องหัดทำความสงบแล้วก็คอยสอบสวน และเมื่อจิตถูกคอยสอบสวนอยู่ดังนี้แล้ว ทีหลังถ้าแวบออกไปอีก ก็มักไม่เป็นไปในเรื่องนั้นแต่ไปในเรื่องอื่น แม้ไปในเรื่องอื่นก็จับตัวมาสอบสวนดูอีก แล้วกลับมาตั้งไว้ใหม่ คราวนี้ถ้าไปในเรื่องอื่นอีก ก็จับตัวมาตั้งไว้แล้วก็สอบสวนกันใหม่อีก

            ในการหัดทำสมาธินั้น บางทีในขณะที่รวมจิตไม่ลง มันแวบออกไปอย่างนี้ ต้องคอยจับมาสอบสวนกันอยู่ตั้งค่อนชั่วโมงกว่าจะอยู่ เพราะฉะนั้นในการจะตั้งใจทำสมาธิ ต้องใช้ความพยายามที่เรียกว่า มีความเพียร แล้วก็ทำสติ ก็จิตของเราเองนั่นแหละ และเมื่อพอควบคุมจิตให้เป็นวิตกให้เป็นวิจาร วิตกก็คือว่าตั้งอยู่ในนิมิตของสมาธิ วิจารก็คือว่าให้แน่วอยู่หรือว่าแซ่วอยู่ในนิมิตของสมาธินั้น ไม่ให้ตกไปข้างไหน ก็จะเกิดผลคือว่า ปีติ ความอิ่มกายอิ่มใจ ต่อจากนั้นก็เกิด สุข คือว่าความสบายกายสบายใจ เมื่อได้ผลคือปีติและสุขดังกล่าวมานี้ จิตจึงจะตั้งมั่นเป็น อุเบกขา มีอารมณ์อันเดียวคือเป็นสมาธิที่แน่วแน่ สมาธิที่แน่วแน่จะต้องมีอารมณ์อันเดียวแล้วก็เป็นอุเบกขาคือความสงบเฉยไม่รู้สึกเป็นสุขไม่รู้สึกเป็นทุกข์ แล้วก็มีอารมณ์อันเดียวอยู่ ตัวอุเบกขาดังนี้จะมีขึ้นได้ก็จะต้องผ่านปีติและสุข ถ้าหากว่าทำสมาธิไม่ได้ปีติและสุข อุเบกขาคือสมาธิที่แน่วแน่บังเกิดไม่ได้ เพราะว่าจิตที่ไม่มีสุขนั้นสงบไม่ได้ จะต้องกระสับกระส่าย จิตที่สงบเป็นสมาธิที่แน่วแน่ที่เรียกว่าอุเบกขา ดังนี้ได้นั้น จะต้องเป็นจิตที่มีสุข กายก็มีสุข แล้วก็เมื่อมีสุขดังนี้แล้ว สมาธิที่แน่วแน่จึงจะบังเกิดขึ้น ที่เรียกว่าอุเบกขาในที่นี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงจัดองค์ของ ปฐมฌาน คือความเพ่งที่ ๑ ไว้ ๕ ได้แก่ ๑. วิตก ๒. วิจาร ๓. ปีติ ๔. สุข ๕. เอกัคคตา หรือว่าอุเบกขา เอกัคคตาก็แปลว่ามียอดอันเดียว คือมีอารมณ์อันเดียว อุเบกขาก็คือว่าวางจิตนิ่งเฉยอยู่ด้วยมีอารมณ์อันเดียวนั้น จะเรียกว่า เอกัคคตา แปลว่า มีอารมณ์อันเดียว หรือจะเรียกว่า อุเบกขา ก็ได้ จะเรียกคู่กันทั้ง ๒ อย่างก็ได้ แต่มีความหมายถึงสมาธิที่แน่วแน่ เป็นอันเดียวกัน

            พระพุทธเจ้าตามที่เล่าในพระสูตรนี้ ก็ได้ทรงทำสมาธิมาโดยลำดับ ในชั้นแรกทีเดียวก็ทรงทำสมาธิที่มีวิตกมีวิจาร เพราะว่าในขั้นเริ่มปฏิบัติจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเริ่มนำเอาจิตเข้ามาตั้งไว้ในนิมิตของสมาธิ แล้วก็จะต้องมีวิจาร คือว่าให้จิตอยู่ที่นิมิตของสมาธินั้น ไม่ให้ตกไปข้างไหน เมื่อชำนาญขึ้น ก็ไม่ต้องใช้วิตก คือหมายความว่าจิตแน่วแน่หรือว่าแซ่วอยู่ที่นิมิตของสมาธิอยู่ตัวแล้ว ก็ใช้วิจารคอยประคองจิตให้แน่วอยู่ที่นิมิตของสมาธินั้น ไม่ให้เผลอตัว คราวนี้เมื่อชำนาญยิ่งขึ้น วิจารก็ไม่ต้องใช้ อยู่กับปีติคือความอิ่มกายอิ่มใจ จิตก็จะอยู่ที่นิมิตของสมาธินั้น อาศัยปีติชำนาญขึ้นก็ไม่ต้องมีปีติ ปีติยังมีลักษณะซู่ซ่า ซู่ซ่าทางกายซู่ซ่าทางใจอย่างที่เรียกว่าปีติ ทั่วๆ ไป ก็ละปตี ิอยู่กับสุข คือความสบายกายสบายใจซึ่งเปน็ ความสุขอย่างสุขุม ไม่ปรากฏอาการซู่ซ่าอะไร สมาธิชำนาญขึ้นก็ไม่ต้องอาศัยสุข แปลว่าละสุขเสียได้ มาอยู่กับอุเบกขาคือความเพ่งเฉยอยู่ มีอารมณ์เดียว นี้ก็แปลว่าสมาธิบรรลุถึงขั้น อัปปนา คือขั้นแน่วแน่ นับว่าเป็น อุตตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์ อันนี้ภิกษุไปอวดเข้าไม่ได้ หมายความว่า หากไม่ได้ถึงแล้วไปอวดเข้า ต้องอาบัติถึงที่สุดคือปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทีเดียวแต่ว่าถ้าเป็นสมาธิอย่างสามัญชนิดที่มีวิตกวิจาร นั่นก็แปลว่า เป็นสมาธิสามัญยังต้องคอยจับจิตมาใส่ไว้ จิตแวบออกไปก็คอยจับเข้ามาใส่ไว้ที่นิมิตของสมาธิ อย่างนี้ถ้าไปอวดเข้า ก็ไม่เป็นอาบัติถึงที่สุด เพราะว่ายังไม่เป็นธรรมอันยิ่งของมนุษย์

 

รูปนิมิต ๒ อย่าง

            คราวนี้ เมื่อได้ทำสมาธิไปโดยลำดับแล้ว จิตเป็นสมาธิยิ่งขึ้น ก็จะปรากฏโอภาสคือแสงสว่างขึ้นในจิต และท่านที่ได้มีบารมีอบรมมาบ้างแล้ว ก็จะปรากฏรูปทัสสนะคือการเห็นรูปขึ้น เห็นรูปอะไรต่างๆ แต่ว่ารูปที่เห็นนั้นก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือรูปที่เป็นนิมิตของสมาธิอย่างหนึ่ง รูปที่เป็นผลของสมาธิอย่างสูงอย่างหนึ่ง

             รูปที่เป็นนิมิตของสมาธินั้น ก็คือเมื่อจิตทำสมาธิและเมื่อแวบออกไปสักหน่อยหนึ่งถึงรูปอะไร รูปนั้นก็มาปรากฏขึ้น บางทีก็เป็นสัตว์ บางทีก็เป็นคน บางทีก็เป็นเทวดา แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นเรียกว่า เป็นภาพอุปาทาน หรือว่าเป็นสัญญชะ คือเกิดจากสัญญาคือความที่เคยจำเอาไว้ อย่างสัตว์ที่มาปรากฏก็เป็นสัตว์ที่เคยเห็นมาแล้วเคยจำได้มาแล้ว คนก็เหมือนกัน เทวดาก็เหมือนกัน ก็เป็นเทวดาที่เคยเห็นมาแล้วอย่างเทวดาตามฝาผนังโบสถ์ นี่เรียกว่า เป็นสัญญชะ เกิดจากสัญญา เราเรียกว่า ภาพอุปาทาน เมื่อมาปรากฏขึ้น ก็ต้องให้กำหนดว่าไม่เป็นความจริง เป็นภาพลวงทั้งนั้นคือเป็นนิมิตของสมาธิเท่านั้น ไม่ต้องตื่นเต้นในภาพที่น่ายินดี ไม่ต้องตกใจในภาพที่น่ายินร้าย ในตอนนี้นั่นเองทำให้คนทำสมาธิเสียไปมาก เพราะไปหลงในภาพนั้น บางทีก็ปรากฏเป็นพระเสด็จเข้ามาแล้วก็มาแนะนำอย่างนั้นอย่างนี้ มาแนะนำให้ไม่นอนก็ไม่นอน แนะนำให้ไม่กินก็ไม่กินข้าว คราวนี้ก็เกิดเป็นโรคเส้นประสาทขึ้นมาเกิดจะตายขึ้น ก็ต้องแก้กัน เหล่านี้เรียกว่า เป็นภาพลวงทั้งนั้น

             มีรายหนึ่งเมื่อไม่สู้นานปีมานี้ พระฝรั่งจาไมก้า ทำกรรมฐานอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ก็มุ่งจะสำเร็จ นั่งทำกรรมฐานตลอดวันตลอดคืน ก็ปรากฏนิมิตขึ้นคือรูปทัสสนะ เห็นรูปขึ้น ก็เห็นพระเสด็จเข้ามาแล้วก็เสด็จออกไปทางหน้าต่างก็เลยตามเสด็จออกไป รุ่งขึ้นก็มีคนมาเห็นนอนสลบอยู่ที่พื้นข้างล่าง ต้องเอาตัวส่งโรงพยาบาล แล้วก็ต้องรักษาร่างกายรักษาประสาทกันอีกเป็นเวลานานวัน บัดนี้กลับไปอังกฤษแล้ว และก็ได้ข่าวว่าได้สึกแล้ว คนนี้มีการศึกษาทางโลกมาสูงถึงขั้นปริญญาตรีหรือโททางวิทยาศาสตร์ อันนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญที่เมื่อหัดทำสมาธิจะต้องรู้ว่า นี่เป็นภาพลวงตา ไม่ใช่ภาพจริง เรียกว่าเป็นสัญญชะ เกิดจากสัญญา หรือว่าเป็นภาพอุปาทาน

             อีกอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นภาพจริง อย่างที่ปรากฏแก่บางท่าน อย่างในพระสูตรนี้ที่พระอนุรุทธะกราบทูลพระพุทธเจ้า และพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสแนะนำนี้ท่านก็แสดงว่าเป็นภาพจริง อันนี้เรียกว่า เป็นพวกทิพยจักษุคือตาทิพย์ แต่ว่าน้อยคนนักที่จะประสบภาพจริง แต่ว่าแม้เช่นนั้น ในขั้นปฏิบัติภาพที่ปรากฏขึ้นก็ยังหายไปได้ ซึ่งพระอนุรุทธะก็ยังหาทางแก้ไม่ได้ จนถึงพระพุทธเจ้าได้มาทรงแนะนำถึงอุปกิเลสของสมาธิ ๑๑ ข้อดังที่กล่าวมานี้เมื่อบำเพ็ญสมาธิชั้นสูงได้อย่างนั้น และเมื่อบังเกิดความมืดขึ้น อย่างโอภาสบังเกิดขึ้นก็บังเกิดแสงสว่าง ครั้นโอภาสหายไปก็มืด รูปทัสสนะปรากฏขึ้นก็เห็นภาพ เมื่อหายไปก็ไม่เห็นอะไร นี่ก็เพราะเหตุว่ามีอุปกิเลส เครื่องเศร้าหมอง ๑๑ อย่าง ดังที่ได้กล่าวมาโดยลำดับ

             แต่ว่าแม้ในการบำเพ็ญสมาธิชั้นสามัญก็ต้องระมัดระวังบ้างเหมือนกัน ถ้ามีอุปกิเลสเหล่านี้ เช่นว่าเกิดสงสัยขึ้นมาเป็นต้น จิตก็จะออกจากนิมิตของสมาธิ แปลว่า พลัดตก ก็ต้องละความสงสัยนั้น แล้วก็ยกจิตเข้าไปตั้งในนิมิตของสมาธิใหม่ แปลว่าเริ่มใช้วิธีวิตกวิจารไปใหม่ดังกล่าวมาแล้ว

             ตอนนี้จักได้กล่าวถึงพระประวัติของพระพุทธเจ้าสืบต่อไป ในพระบาลี1ได้เล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่ป่ารักขิตวัน แถบบ้านปาริเลยยกะซึ่งมักเรียกกันว่า ป่าปาริเลยยกะ หรือ ป่าเลไลยก์ ในภาษาไทย ตามที่ทรงพอพระทัยแล้ว ก็ได้เสด็จไปสู่กรุงสาวัตถี ประทับ ณ พระเชตวัน ซึ่งเป็นอารามที่เศรษฐีอนาถปิณฑิกะสร้างถวาย

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔
หน้า ๑๘ - ๒๓