Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๔๖

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๔
(พรรษาที่ ๑๐ – พรรษาที่ ๑๒)

 

 พรรษาที่ ๑๐
รักขิตวัน หรือป่าปาริเลยยกะ

พระประวัติของพระพุทธเจ้าในพรรษาที่ ๑๐

           ในบาลีพระวินัยไม่ได้บอกว่าทรงจำพรรษาที่ป่าปาริเลยยกะ แต่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาเล่าว่า ได้ทรงจำพรรษา ณ ป่าปาริเลยยกะนั้น และในคัมภีร์ชั้นบาลีก็ได้เล่าว่า เมื่อได้ประทับอยู่ตามพระอัธยาศัยแล้วก็เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี แต่ว่าในคัมภีร์อรรถกถา1 ได้มีเล่าว่า พวกเศรษฐีคฤหบดีชาวกรุงสาวัตถีส่งพระอานนท์กับพวกภิกษุเป็นทูตมาทูลเชิญเสด็จ และเมื่อพระอานนท์ได้เข้าไปสู่ที่ประทับของพระพุทธเจ้า ช้างก็ตั้งท่าจะทำร้ายเพราะคิดว่าศัตรู พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสบอกว่า นี่เป็นพุทธอุปัฏฐาก ตามที่เล่าไว้ในอรรถกถานี้ เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นภายหลังมากและได้แสดงรายละเอียดต่างๆ มาก และเรื่องที่ว่าพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากนั้น ก็ได้มีเล่าไว้ในที่อื่น2 ว่าพระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพุทธอุปัฏฐาก อีกหลายปีต่อมาจึงมารับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก เพราะฉะนั้น ข้อที่เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทดังกล่าวข้างต้น เมื่อนำไปเทียบกับที่มีกล่าวไว้ในที่อื่นแล้ว ความจึงไม่สมกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปนานและเป็นเรื่องปลีกย่อยไม่สู้มีความสำคัญอะไรมากนัก

 อุปกิเลส ๑๑

           อนึ่ง ก่อนที่จะเสด็จไปถึงป่าปาริเลยยกะนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแวะที่ปาจีนวังสะ1 อันเป็นสถานที่ซึ่งพระเถระ ๓ รูปได้อาศัยอยู่ในขณะนั้นคือ พระอนุรุทธะ พระนันทิยะ และพระกัมพิละ ท่านทั้ง ๓ รูปก็ได้ถวายการต้อนรับพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็ได้ทรงทำปฏิสันถารคือทรงทักทาย และได้ตรัสถามถึงการอยู่ร่วมกันของท่านทั้ง ๓ ว่า สามัคคีปรองดองกันดีหรือ ปฏิบัติอย่างไร ท่านทั้ง ๓ ก็ทูลเล่าถึงวิธีที่ท่านได้ปฏิบัติ เสร็จแล้วก็รับสั่งถามถึงว่าอยู่กันด้วยความไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปอยู่หรือ ท่านทั้ง ๓ ก็ทูลให้ทรงทราบ และก็ได้ทูลถึงวิธีที่ปฏิบัติต่อกัน เกี่ยวแก่วัตรในการจัดที่ฉันในการจัดตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ในการทำความสะอาด เป็นต้น ดังที่ได้เล่ามาแล้วในข้อวัตรปฏิบัติที่เล่ามานั้น ในบัดนี้วัดป่าทั้งหลาย ซึ่งเป็นสำนักพระกรรมฐานในต่างจังหวัดก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่เป็นส่วนมาก และก็อยู่ด้วยความเรียบร้อย เช่นว่าพระเป็นผู้จัดอาสนะ จัดเตรียมน้ำจัดทำความสะอาด ปัดกวาดเสนาสนะเป็นเวรหรือเป็นวาระเป็นต้น นัดเวลากันทำ แต่ว่าสำหรับในวัดที่อยู่ในเมืองซึ่งมุ่งหน้าศึกษาเล่าเรียนกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ปฏิบัติอย่างนี้

            อนึ่ง เมื่อพระเถระทั้ง ๓ ท่านได้กราบทูลพระพุทธเจ้าถึงวัตรปฏิบัติของท่านเกี่ยวกับความเป็นอยู่ทางกาย เกี่ยวกับสถานที่ ว่าทำกันอย่างไรแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถามถึงการปฏิบัติทางจิต การบรรลุคุณวิเศษคือการบรรลุถึงผลของการปฏิบัติของท่าน ว่าท่านทั้ง ๓ มีความไม่ประมาท มีความเพียรและส่งตนไปในด้านการปฏิบัติเพื่อบรรลุผลที่ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นอย่างไรบ้างท่านทั้ง ๓ ก็กราบทูลว่า ก็ได้ปฏิบัติทางจิตจนจิตเป็นสมาธิและได้โอภาสคือ แสงสว่าง ได้รูปทัสสนะ คือการเห็นรูปซึ่งปรากฏในสมาธิจริง แต่ว่าแสงสว่างและการเห็นรูปนั้นก็อันตรธานหายไป ท่านทั้ง ๓ รูปจึงไม่ได้ประสบแสงสว่างไม่ได้ประสบการเห็นรูป ไม่รู้แจ้งแทงตลอดนิมิตนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อแก้มิให้โอภาสและรูปทัสสนะนั้นหายไป โดยได้ทรงเล่าถึงการปฏิบัติที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติมา ซึ่งได้ทรงแสดงไว้ในพระสูตรอีกพระสูตรหนึ่งเรียกว่า อุปักกิเลสสูตร1 มีความว่า

            เมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงจำได้ว่าได้ทรงประสบโอภาสและรูปทัสสนะ แต่แล้วก็หายไป จึงได้ทรงค้นหาว่าอะไรเป็นเหตุให้หายไป ก็ได้ทรงพบเหตุที่ทำให้หายไปโดยลำดับดังนี้

            ๑. วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจ คือเมื่อเห็นโอภาสเห็นรูปทัสสนะ ก็เกิดลังเลสงสัยขึ้นว่า นี่อะไร พอเกิดลังเลสงสัยขึ้น โอภาสและรูปทัสสนะนั้นก็หายไป

            ๒. อมนสิการ การไม่ใส่ใจ คือเมื่อโอภาสและรูปทัสสนะปรากฏขึ้น จิตก็แวบไปเสียทางอื่น ไม่
กำ หนดแน่นอนอยู่ที่โอภาสและรูปทัสสนะนั้น เรียกว่าไม่กระทำไว้ในใจ โอภาสและรูปทัสสนะนั้นก็หายไป

            ๓. ถีนมิทธิ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เมื่อเกิดขึ้นก็ทำให้โอภาสและรูปทัสสนะหายไป

            ๔. ความสะดุ้งหวาดเสียว เมื่อโอภาสและรูปทัสสนะเกิดขึ้น เห็นรูปทัสสนะบางอย่างที่น่ากลัว ก็เกิดสะดุ้งหวาดเสียวขึ้น เมื่อเป็นดังนี้โอภาสและรูปทัสสนะก็หายไป

            ๕. ความคิดตื่นเต้นล่วงหน้า คือไม่ทันจะปรากฏโอภาสและรูปทัสสนะที่น่าตื่นเต้น แต่คิดคาดไปว่าจะได้ประสบอย่างนั้นๆ แล้วก็ตื่นเต้นขึ้นเสียก่อน หรือว่าเมื่อประสบโอภาสและรูปทัสสนะบางอย่างที่น่าตื่นเต้น ก็เกิดตื่นเต้นขึ้นทันที เข้าในลักษณะที่ใจฟุ้งขึ้น ก็เป็นเหตุให้โอภาสและรูปทัสสนะนั้นหายไปได้

            ๖. ความที่ร่างกายกระสับกระส่าย คือเมื่อร่างกายเกิดเมื่อยขบเจ็บขัดกระสับกระส่ายขึ้นคุมไว้ไม่อยู่ โอภาสและรูปทัสสนะนั้นก็หายไป

            ๗. ปรารภความเพียรจัดเกินไป ก็ทำให้โอภาสและรูปทัสสนะหายไปได้ เหมือนกับจับนกด้วยมือ ๒ มือแน่นเกินไป นกก็ตาย

            ๘. ความเพียรย่อหย่อนเกินไป ก็ทำให้โอภาสและรูปทัสสนะหายไปได้ เหมือนอย่างจับนกปล่อยมือหย่อนมากไป นกก็บินหนีไปได้

            ๙. ความกระซิบที่ใจ ได้แก่เมื่อได้ประสบโอภาสและรูปทัสสนะบางอย่าง ก็มีเครื่องมากระซิบใจ ได้แก่ความอยากความปรารถนา เมื่อบังเกิดขึ้นก็ทำให้โอภาสและรูปทัสสนะนั้นหายไป

            ๑๐. สัญญา คือความกำหนดหมายรูปที่มีอย่างต่างๆ ได้แก่เมื่อโอภาสและรูปทัสสนะปรากฏขึ้น ก็มีสัญญาคือความกำหนดหมายพร่าไปมาก เมื่อสัญญาพร่าไปไม่รู้ โอภาสและรูปทัสสนะก็หายไป

            ๑๑. ความใช้จิตเพ่งพินิจเกินไป ได้แก่เมื่อโอภาสและรูปทัสสนะปรากฏขึ้น ก็ใช้จิตเพ่งพินิจคาดคั้นเกินไป ก็ทำให้โอภาสและรูปทัสสนะนั้นหายไปได้

            เหล่านี้เรียกว่า อุปกิเลส เครื่องเศร้าหมองของสมาธิ ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องเศร้าหมองของสมาธิชั้นสูง

            พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสเล่าถึงการปฏิบัติของพระองค์ และเหตุที่ทำให้สมาธิของพระองค์เสียไป รวม ๑๑ ข้อดังนั้นแล้ว ก็ได้ตรัสว่า เมื่อได้ทรงค้นพบถึงเหตุแล้วก็ได้ทรงระมัดระวังจิต ละเหตุที่ทำให้สมาธิเหล่านั้นไม่บังเกิดขึ้น เมื่อทรงละได้แล้วก็ทรงบำเพ็ญสมาธิประสบผลสำเร็จที่สมบูรณ์ ต่อจากนั้นก็ได้ตรัสถึงสมาธิที่ทรงได้รับอันเรียกว่า ฌาน ได้แก่

            ๑. ได้ทรงอบรมสมาธิที่มีวิตกมีวิจาร

            ๒. ได้ทรงอบรมสมาธิที่ไม่มีวิตก สักแต่ว่ามีวิจาร

            ๓. ได้ทรงอบรมสมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร

            ๔. ได้ทรงอบรมสมาธิที่มีปีติ

            ๕. ได้ทรงอบรมสมาธิที่ไม่มีปีติ

            ๖. ได้ทรงอบรมสมาธิที่ประกอบด้วยความสุขสำราญ

            ๗. ได้ทรงอบรมสมาธิที่ประกอบด้วยอุเบกขา

            เมื่อสมาธิของพระองค์บริสุทธิ์แล้ว ก็บังเกิดญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็นขึ้นว่า วิมุตติของพระองค์ไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุด ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป

            พระพุทธเจ้าได้ตรัสอบรมพระอนุรุทธะเป็นต้นถึงวิธีปฏิบัติในการทำสมาธิ และได้ทรงเล่าถึงการปฏิบัติของพระองค์เองที่ได้ปฏิบัติมาและสมาธิที่ทรงได้รับตลอดจนผลที่ทรงบรรลุโดยลำดับ เป็นข้อแนะนำตักเตือนให้ท่านเหล่านั้นได้ปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท มีความเพียร และส่งตนไป เพื่อให้เจริญด้วยการปฏิบัติจนถึงประสบผลดังกล่าวนั้น

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๔
หน้า ๑๓ - ๑๗

 เล่ม ๔