Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๔๕

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

สันทกสูตร(1 ม. ม. ๑๓/๒๙๓-๓๑๓/๒๘๘-๓๐๙.) ว่าด้วยสันทกปริพาชกในกรุงโกสัมพี (ต่อ)

                  สันทกปริพาชกได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ก็ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นยังบริโภคกามทั้งหลายหรือ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรประพฤติล่วงฐานะทั้ง ๕ คือภิกษุขีณาสพเป็นผู้ไม่ควรแกล้งปลงสัตว์จากชีวิต ๑ เป็นผู้ไม่ควรถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้อันเป็นส่วนแห่งความเป็นขโมย ๑ เป็นผู้ไม่ควรเสพเมถุน ๑ เป็นผู้ไม่ควรกล่าวเท็จทั้งรู้ ๑ เป็นผู้ไม่ควรทำการสั่งสมบริโภคกามทั้งหลายเหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์ ในกาลก่อน ๑ ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรประพฤติล่วงฐานะทั้ง ๕ เหล่านี้

                  สันทกปริพาชกได้ถามต่อไปว่า ก็ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เมื่อภิกษุนั้นเดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับอยู่ก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี ความรู้ความเห็นว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว ดั่งนี้ ปรากฏเสมอเป็นนิตย์หรือ ท่านพระอานนท์ได้กล่าวตอบว่า ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจักทำ อุปมาแก่ท่าน วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมรู้ทั่วถึงอรรถแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนมือและเท้าของบุรุษขาดไป เมื่อบุรุษนั้นเดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับอยู่ก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี มือและเท้าก็เป็นอันขาดอยู่เสมอเป็นนิตย์นั่นเอง อนึ่ง เมื่อเขาพิจารณา ย่อมรู้ได้ว่า มือและเท้าของเราขาดแล้วดั่งนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เมื่อเธอเดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับอยู่ก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี อาสวะทั้งหลายก็เป็นอันสิ้นไปเสมอเป็นนิตย์นั่นเอง อนึ่ง เมื่อเธอพิจารณาย่อมรู้ได้ว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว

                  สันทกปริพาชกได้กล่าวถามอีกว่า ก็ในธรรมวินัยนี้ มีภิกษุผู้นำตนออกไปได้จากกิเลสและกองทุกข์มากเพียงไร ท่านพระอานนท์ได้กล่าวตอบว่า ก็ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุผู้นำตนออกไปได้จากกิเลสและกองทุกข์นั้น มีไม่ใช่ร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย ความจริงมีอยู่มากทีเดียว

                  สันทกปริพาชกได้กล่าวสรรเสริญขึ้นว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ไม่เป็นการยกย่องแต่ธรรมของตน และไม่เป็นการติเตียนธรรมของผู้อื่น มีแต่การแสดงธรรมตามเหตุผลเท่านั้น และผู้นำตนออกไปได้จากกิเลสและกองทุกข์มากถึงเพียงนั้นจักปรากฏได้ ส่วนอาชีวกเหล่านี้ชื่อว่า เป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตรตายแล้ว ยกย่องแต่ตนและติเตียนคนอื่นเท่านั้น ทั้งตั้งศาสดาไว้ ๓ คน คือนันทะ วัจฉะ ๑ กิสะ สังกิจจะ ๑ มักขลิ โคสาละ ๑ ว่าเป็นผู้นำตนออกจากกิเลสและกองทุกข์ได้

                  ลำดับนั้นสันทกปริพาชกเรียกบริษัทของตนมาว่า ผู้เจริญทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมย่อมมีผล แต่ว่าบัดนี้ ข้าพเจ้าจะสละลาภสักการะและความสรรเสริญเสียนั้นไม่ใช่ทำได้ง่าย สันทกปริพาชกส่งบริษัทของตนไปในการประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการฉะนี้แล

                  คำว่า ดิรัจฉานกถา แปลว่า ถ้อยคำที่ขัดขวาง คือขัดขวางทางสวรรค์และนิพพาน เพราะคำว่า
ติรัจฉานะ ที่เป็นชื่อของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายนั้น ตามศัพท์แปลว่า สัตว์ที่ไปทางด้านขวางของร่างกาย เพราะสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายแม้จะเป็นสัตว์ ๒ เท้า เช่นเป็ดไก่ ขาก็มาติดอยู่ตอนส่วนกลางของร่างกาย จึงเดินไปตามด้านขวางของร่างกาย ไม่ได้ตั้งกายตรงอย่างมนุษย์ แม้วานรซึ่งมีร่างกายคล้ายมนุษย์ แต่ก็ถือว่าเป็นสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้าหน้านั้น ไม่ถือว่าเป็นมือเหมือนอย่างมนุษย์ ก็คงไปทางด้านขวางเหมือนกันฉะนั้น เพราะแปลว่า ขวาง หรือไปขวาง คือไปทางด้านขวาง นอกจากใช้เป็นชื่อของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายซึ่งเป็นสัตว์ที่ไปทางด้านขวางของร่างกาย ทางร่างกายแล้ว ยังมาใช้เป็นชื่อของถ้อยคำของมนุษย์ด้วย คือถ้อยคำ ของมนุษย์ที่ไปทางด้านขวาง คือขัดขวางทางสวรรค์และนิพพานดังกล่าว ก็เรียกว่า ดิรัจฉานกถา ส่วนคำ ที่ว่า
ร่างกายนี้ในที่สุด คือเมื่อถึงแก่ความตายแล้ว ร่างกายนี้ก็กลายเป็นศพ มีเตียงเป็นที่ ๕ ก็หมายความว่าเตียงที่ศพนอนไปนั้น มีบุรุษ ๔ คนจับเท้าเตียงทั้ง ๔ ก็เป็น ๔ บนเตียงอีก ๑ ก็เป็น ๕ คือว่ายกเอาศพไป ศพนอนบนเตียงก็ชื่อว่า มีเตียงเป็นที่ ๕ หรือแม้ร่างกายนี้เอง เมื่อยังไม่ตาย หากจะนั่งไปบนเตียงให้เขายกไป มีคน ๔ คนจับเท้า เตียง ๔ ก็เป็น ๔ กับเตียงอีก ๑ ก็เป็น ๕ ได้เช่นเดียวกัน

                  ส่วนคำว่า ปุริสภูมิ ๘ ภูมิของบุรุษ คือมันทภูมิ ภูมิอ่อน ขิฑฑาภูมิ ภูมิเล่น ปทวีมังสกภูมิ ภูมิหัดเดิน อุชุคตภูมิ ภูมิเดิน เสกขภูมิ ภูมิศึกษา สมณภูมิ ภูมิสมณะ ชินภูมิ ภูมิเรียนรู้ ปันนภูมิ ภูมิบรรลุแล้ว ภูมิ ก็คือคำว่า ภู-มิ ในภูมิเหล่านั้นมีอธิบายว่า สัตว์คือบุรุษบุคคลทั้งหลายเป็นผู้ยังอ่อน ยังรับรู้อะไรไม่ได้ตลอด ๗ วันนับจากวันคลอดออกมาจากที่แคบ ชื่อว่า มันทภูมิ ภูมิอ่อน อนึ่ง สัตว์เหล่าใดมาจากทุคติ สัตว์เหล่านั้นย่อมร้องและร้องดังบ่อยๆ สัตว์มาจากสุคติ ระลึกถึงสุคตินั้นๆ แล้วหัวเราะนี้ชื่อว่า ขิฑฑาภูมิ ภูมิเล่น การจับมือของมารดาบิดาหรือเตียงตั่ง แล้วเหยียบเท้าลงบนดิน ชื่อว่า ปทวีมังสกภูมิ ภูมิหัดเดิน คราวที่สามารถเดินไปด้วยเท้าได้ เรียกว่า อุชุคตภูมิ ภูมิเดิน คือไปตรง ตั้งกายตรงเดินคราวศึกษาศิลปะชื่อว่า เสกขภูมิ คราวออกจากเรือนแล้วบวชชื่อว่า สมณภูมิ คราวคบอาจารย์แล้วรู้ชื่อว่า ชินภูมิ อนึ่ง ผู้รู้บรรลุแล้วไม่เรียนอะไรอีก เพราะเหตุนั้น ผู้ไม่ต้องเรียนอย่างนี้ชื่อว่า ปันนภูมิ ภูมิบรรลุแล้ว

                  ส่วน ฉฬาภิชาติ ที่แปลว่า ชาติคือความเกิดยิ่ง ๖ อย่าง ได้มีแสดงไว้ทั้งนอกพระพุทธศาสนาและทั้งในพระพุทธศาสนา ที่แสดงไว้นอกพระพุทธศาสนานั้น คือมีแสดงไว้ในฉฬาภิชาติสูตร ว่าปูรณกัสสปะบัญญัติชาติ ๖ ประการ คือ บัญญัติชาติดำ ชาติเขียว ชาติแดง ชาติเหลือง ชาติขาว ชาติขาวจัด มีอธิบายว่า  ปูรณกัสสปะ บัญญัติคนฆ่าแพะ คนฆ่าสุกร คนฆ่านก พรานเนื้อ ชาวประมง โจร เพชฌฆาต เจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือคนที่ทำบาปหยาบช้าอื่นๆ ว่าเป็นชาติดำบัญญัติพวกภิกษุพวกผู้เที่ยวไปในฝ่ายดำ หรือพวกกรรมวาทะ กิริยวาทะอื่นว่าเป็นชาติเขียว บัญญัติพวกนิครนถ์ ใช้ผ้าผืนเดียวว่าเป็นชาติแดง บัญญัติคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว สาวกของอเจลกะคือนักบวชเปลือยกายว่าเป็นชาติเหลือง บัญญัติอาชีวกอาชีวิกาว่าเป็นชาติขาว บัญญัติเจ้าลัทธิชื่อนันทะ วัจฉะ กิสะ สังกิจจะ มักขลิ โคสาละว่าเป็นชาติขาวจัด

                  ส่วนในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในฉฬาภิชาติสูตรนั้นว่า ส่วนพระองค์ได้ตรัสแสดงว่า ชาติ ๖ คือบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีชาติดำ ประพฤติธรรมดำ บางคนมีชาติดำ ประพฤติธรรมขาว บางคนมีชาติดำ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว บางคนมีชาติขาว ประพฤติธรรมดำ บางคนมีชาติขาว ประพฤติธรรมขาว บางคนมีชาติขาว บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว

                  พระองค์ได้ตรัสว่า บุคคลผู้มีชาติดำ ประพฤติธรรมดำ คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในสกุลต่ำคือสกุลจัณฑาล สกุลพรานป่า สกุลช่างจักสาน สกุลทำรถ สกุลเทหยากเยื่อ ซึ่งยากจน มีข้าวน้ำโภชนะน้อย เป็นอยู่ฝืดเคือง ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยยาก และเขาผู้นั้นเป็นผู้มีผิวพรรณทรามไม่น่าดู เป็นคนแคระ ขี้โรค ตาบอด ง่อย กระจอก เป็นอัมพาต ไม่ได้ข้าวน้ำเครื่องนุ่งห่มยานพาหนะดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้ที่นอนที่อยู่เครื่องประทีป เขายังประพฤติทุจริตด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกนี้ชื่อว่า บุคคลมีชาติดำ ประพฤติธรรมดำ

                  บุคคลมีชาติดำ ประพฤติธรรมขาว คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในสกุลต่ำ คือสกุลจัณฑาล สกุลพรานป่า สกุลช่างจักสาน สกุลทำรถ สกุลเทหยากเยื่อ ซึ่งยากจน มีข้าวน้ำ โภชนะน้อย เป็นอยู่ฝืดเคือง ได้อาหาร และเครื่องนุ่งห่มโดยยาก และเขาผู้นั้นเป็นผู้มีผิวพรรณทรามไม่น่าดู เป็นคนแคระ ขี้โรค ตาบอด ง่อย กระจอก เป็นอัมพาต ไม่ได้ข้าวน้ำเครื่องนุ่งห่มยานพาหนะดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้ที่นอนที่อยู่เครื่องประทีป แต่เขาประพฤติสุจริตด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ ครั้นประพฤติสุจริตด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ บุคคลมีชาติดำ ประพฤติธรรมขาวอย่างนี้

                  บุคคลมีชาติดำ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำ ไม่ขาว คือบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในสกุลต่ำ เป็นต้นว่าสกุลจัณฑาล มีผิวพรรณทรามไม่น่าดู เป็นคนแคระ เขาปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ ๕ ประการอันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ซึ่งทำปัญญาให้ทุรพล เป็นผู้มีจิตตั้งอยู่ด้วยดีในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง แล้วได้บรรลุนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว บุคคลมีชาติดำ แล้วบรรลุนิพพานอันไม่ดำ ไม่ขาวอย่างนี้

                  ก็บุคคลผู้มีชาติขาว ประพฤติธรรมดำ คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเกิดในสกุลสูง คือสกุลกษัตริย์มหาศาล สกุลพราหมณ์มหาศาล สกุลคฤหบดีมหาศาล ซึ่งมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์มีข้าวเปลือกมาก และเขาผู้นั้นเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่ง ได้ข้าวน้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้ที่นอนที่อยู่เครื่องประทีป เขาประพฤติทุจริตด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลมีชาติขาว ประพฤติธรรมดำอย่างนี้

                  ก็บุคคลผู้มีชาติขาว ประพฤติธรรมขาว คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในสกุลสูงเป็นต้น เขาประพฤติสุจริตด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ ครั้นประพฤติสุจริตด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ บุคคลมีชาติขาว ประพฤติธรรมขาวอย่างนี้

                  ก็บุคคลผู้มีชาติขาว บรรลุนิพพานอันไม่ดำ ไม่ขาว คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในสกุลสูงเป็นต้น เขาปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ ๕ ประการอันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ไม่ทำปัญญาให้ทุรพล เป็นผู้มีจิตตั้งอยู่ด้วยดี ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง แล้วได้บรรลุนิพพานอันไม่ดำ ไม่ขาว บุคคลมีชาติขาว บรรลุนิพพานอันไม่ดำไม่ขาวอย่างนี้

                  อนึ่ง ในสันทกสูตรนั้น ได้แสดงถึงเรื่องกรรมที่ว่า กรรมและครึ่งกรรมก็มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่ากรรม คือกายกรรม วจีกรรม ที่ชื่อว่าครึ่งกรรม คือมโนกรรม

 

ชาติ ๖ เพิ่มเติม

                  คนในส่วนต่างๆ ของโลกมีวรรณะคือผิวต่างกัน เช่น ผิวดำ ผิวขาว ผิวเหลือง และมีการถือผิว เช่นคนผิวขาวที่ดูหมิ่นเหยียดหยามคนผิวดำ ทั้งในปัจจุบันนี้ซึ่งต้องการให้ทุกๆ คนในทุกๆ ผิว มีสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์เสมอกัน ก็ยังมีข่าวว่าได้มีการรังเกียจผิว เช่น ในชมพูทวีปสมัยโบราณ คืออินเดียปากีสถานในปัจจุบัน ก็ยังได้มีการแบ่งวรรณะเป็นอันมาก ในปัจจุบันนี้แม้จะต้องการไม่ให้มีการถือผิวกาย แต่ก็มีการแบ่งผิวทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างรุนแรง การถือผิวต่างๆ นี้ ถ้ามีมูลเหตุเกิดจากผิวกายเพียงอย่างเดียวก็แก้ไขได้ง่าย แต่ถ้ามีมูลเหตุเกิดจากกิเลสภายในใจของตน เช่น อหังการ การทำให้เป็นเรา เช่นว่า เราต้องใหญ่โตข่มผู้อื่นลงให้ได้ ก็เป็นสิ่งที่แก้ยาก ฉะนั้น ผิวของใจนี่แหละจึงสำคัญกว่าผิวกาย เมื่อผิวของใจเป็นอย่างไร ก็แสดงออกมาเป็นอย่างนั้น เป็นดั่งนี้เหมือนกันแก่คนทุกชาติ ชั้นวรรณะ ศาสดานอกพระพุทธศาสนาก็ได้มีแสดงฉฬาภิชาติคือ ชาติ ๖ พระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงแบ่งบุคคลในโลกเป็น ๖ จำพวกตามผิวสีของใจ

                  อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้เขียนเป็นภาพอธิบายความหมายไว้ที่เสาพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารดั่งนี้

              ๑. กัณหาภิชาติ ชาติคนดำ คือคนใจหยาบช้าทารุณ เช่นพรานใจบาปหยาบช้าต่างๆ ตลอดจนถึงการล่าฆ่าสัตว์เล่นเป็นการสนุก

              ๒. นีลาภิชาต ชาติคนเขียว คือคนที่มีใจประกอบด้วยยุติธรรมมากขึ้น เช่นพิจารณาก่อนจึงนำ ตัวไปลงโทษ

              ๓. โลหิตาภิชาติ ชาติคนสีเลือด คือคนที่มีจิตใจสูงขึ้น ใฝ่หาศาสนาที่ถูกต้อง เหมือนดังกษัตริย์พราหมณ์พ่อค้าคนรับใช้กำลังเดินไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

              ๔. หลิททาภิชาติ ชาติคนสีเหลือง คือคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น เช่นผู้มีศีลธรรม เปรียบเหมือนคนนุ่งขาวห่มขาวหรืออุบาสกอุบาสิกา

              ๕. สุกกาภิชาติ ชาติคนขาว คือคนที่มุ่งปฏิบัติให้ละเอียดยิ่งขึ้นกว่าคฤหัสถ์ เหมือนอย่างพระภิกษุสงฆ์ ฤษี หรือนักบวชผู้ปฏิบัติชอบทั่วไป

              ๖. ปรมสุกกาภิชาติ ชาติคนขาวอย่างยิ่ง คือท่านผู้บริสุทธ์ทั้งหมดได้แก่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย รวมเรียกว่า ฉฬาภิชาติ อภิชาต ๖ ย่นลงเป็น ๓ คือ

                        ๑. กัณหะ คนดำ ได้แก่คนชั่วเพียงส่วนเดียว

                        ๒. กัณหสุกกะ คนดำๆ ขาวๆ ได้แก่คนทำชั่วบ้างดีบ้าง

                        ๓. สุกกะ คนขาว ได้แก่คนที่บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว

                  คนสามัญทั่วไปอยู่ในประเภท ๒ คือคนที่ดำๆ ขาวๆ แต่บางคนขาว แล้วค่อยๆ ดำ เป็นคนต้นตรงปลายคด บางคนดำแล้วค่อยๆ ขาว เป็นคนต้นคดปลายตรง พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมพระบารมีสูงขึ้นโดยลำดับ จึงได้ทรงเปลี่ยนผิวของใจให้สูงขึ้นจนถึงขาวอย่างยิ่ง จะเรียกว่า ลอกผิวออก หมดก็ได้ เพราะว่าขาวอย่างยิ่งนั้นไม่ควรนับว่าสีอะไร

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๓
หน้า ๒๒๓
-
๒๓๐
จบ เล่ม ๓ ต่อ เล่ม ๔