Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๔๔

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

 

สันทกสูตร(1 ม. ม. ๑๓/๒๙๓-๓๑๓/๒๘๘-๓๐๙.) ว่าด้วยสันทกปริพาชกในกรุงโกสัมพี (ต่อ)

            ท่านพระอานนท์กล่าวต่อไปว่า อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครให้เนรมิต เป็นหมัน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน สภาวะ ๗ กอง คือกองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ และชีวะเป็นที่ ๗ สภาวะ ๗ กองนี้ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครให้เนรมิต เป็นหมัน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้ฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินก็ดีผู้กล่าวให้ได้ยินดีก็ดี ผู้เข้าใจความก็ดี ผู้ทำให้เข้าใจความก็ดี ไม่มีในสภาวะ ๗ กองนั้น เพราะแม้บุคคลจักเอาศัสตราอย่างคมตัดศีรษะกัน ก็ไม่ชื่อว่าใครๆ ปลงชีวิตใครๆ เป็นแต่ศัสตราสอดไปในช่องแห่งสภาวะ ๗ กองเท่านั้น ดั่งนี้ ก็แต่กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๕๐๐ กรรม ๕ กรรม ๓ กรรม ๑ ครึ่งกรรม ปฏิปทา ๖๒ อันตรกัป ๖๒ อภิชาต ๖ ปุริสภูมิ อาชีวก ๔,๐๐ ปริพาชก ๔,๐๐ นาคาวาส ๔,๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓,๐๐๐ รโชธาตุ ๓๖ สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ์ ๗ นิคันถครรภ์ ๗ เทวดา ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗ สระ ๗ ตาไม้ ๗ หิน ๗ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน ๗ สุบิน ๗๐๐ มหากัป ,๔๐๐,๐๐๐ เหล่านี้ที่พาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้ ความสมหวังว่าเราจักบ่มกรรมที่ยังไม่อำนวยผลให้อำนวยผล หรือเราสัมผัสถูกต้องกรรมที่อำนวยผลแล้ว จักทำให้สุดสิ้นด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ ไม่มีในที่นั้น สุขทุกข์ที่ทำให้มีที่สิ้นสุดได้ เหมือนตวงของให้หมดด้วยทะนานย่อมไม่มีในสงสารหรือสังสาระด้วยอาการอย่างนี้เลย ไม่มีความเสื่อมความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นเลื่อนลง พาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไป จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป ย่อมคลี่หมดไปเองฉะนั้น ดั่งนี้

            ท่านพระอานนท์กล่าวต่อไปว่า ในลัทธิของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักดั่งนี้ว่า ท่านศาสดาผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครให้เนรมิต เป็นหมัน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสา ระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านั้นไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกัน และกัน ไม่อาจทำให้เกิดสุขหรือทุกข์หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน สภาวะ ๗ กอง คือกองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ และชีวะเป็นที่ ๗ สภาวะ ๗ กองนี้ ไม่มีใครทำไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครให้เนรมิต เป็นหมัน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านั้นไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกัน และกัน ไม่อาจทำให้เกิดสุขหรือทุกข์หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้ฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินก็ดี ผู้กล่าวให้ได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความก็ดี ผู้ทำให้เข้าใจความก็ดี ไม่มีในสภาวะ ๗ กองนั้น เพราะแม้บุคคลจะเอาศัสตราอย่างคมตัดศีรษะกัน ก็ไม่ชื่อว่า ใครๆ ปลงชีวิตใครๆ แม้แต่ศัสตราสอดไปในช่องแห่งสภาวะ ๗ กองเท่านั้นดั่งนี้ ก็แต่กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๕๐๐ กรรม ๕ กรรม ๓ กรรม ๑ ครึ่งกรรม ปฏิปทา ๖๒ อันตรกัป ๖๒ อภิชาต ๖ ปุริสภูมิ อาชีวก ๔,๐๐ ปริพาชก ๔,๐๐ นาคาวาส ๔,๙๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓,๐๐๐ รโชธาตุ ๓๖ สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ์ ๗ นิคันถครรภ์ ๗ เทวดา ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗ สระ ๗ ตาไม้ ๗ หิน ๗ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน ๗ สุบิน ๗๐๐ มหากัป ,๔๐๐,๐๐๐ เหล่านี้ที่พาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้ ความสมหวังว่าเราจักบ่มกรรมที่ยังไม่อำนวยผลให้อำนวยผล หรือเราสัมผัสถูกต้องกรรมที่อำนวยผลแล้ว จักทำให้สุดสิ้นด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ ไม่มีในที่นั้น สุขทุกข์ที่ทำให้มีที่สิ้นสุดได้ เหมือนตวงของให้หมดด้วยทะนาน ย่อมไม่มีในสงสารหรือสังสาระด้วยอาการอย่างนี้เลย ไม่มีความเสื่อมความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นเลื่อนลง พาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไปจักทำที่สุดทุกข์ได้เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป ย่อมคลี่หมดไปเองฉะนั้น ดั่งนี้ ถ้าคำของท่านศาสดานี้เป็นคำจริง กรรมในลัทธินี้ที่ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเลย ก็เป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ในลัทธินี้ที่ประพฤติไม่ได้อยู่ประพฤติเลย ก็เป็นอันอยู่แล้ว ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่า เราทั้ง ๒ เร่ร่อนท่องเที่ยวไปแล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้ ดั่งนี้ แม้เราทั้ง ๒ ก็ชื่อว่า เป็นผู้เสมอกัน ถึงความเป็นผู้เสมอกันในลัทธินี้ ที่ยิ่งกว่ากันก็คือ ความที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติเปลือยกาย เป็นคนศีรษะโล้น ทำความเพียรในการเดินกระโหย่ง ถอนผมและหนวด เมื่อเราอยู่ครองเรือน นอนเบียดกับบุตร ประพรมแก่นจันทน์เมืองกาสี ทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ ก็จักเป็นผู้มีคติเสมอกันกับท่านศาสดานี้ในภพหน้าได้ เรานั้นรู้อะไรเห็นอะไรอยู่ จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้ วิญญูชนนั้นครั้นรู้ว่า ลัทธินี้ไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้ดั่งนี้แล้วย่อมเบื่อหน่าย หลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น ลัทธิอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่ ๔ นี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว

            ลัทธิสมัยอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ ๔ ประการนี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว

            สันทกปริพาชกกล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสลัทธิอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ประการที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ก็พรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดี ๔ ประการ ที่วิญญูชนมีพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว เป็นไฉน

            ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ศาสดาบางคนในโลกนี้ ตั้งต้นเป็นสัพพัญญู รู้เห็นธรรมทั้งปวง ปฏิญญาความรู้ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับอยู่ก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี ความรู้ความเห็นปรากฏเสมอเป็นนิตย์ ศาสดานั้นเข้าไปสู่เรือนว่างบ้าง ไม่ได้ก้อนข้าวบ้าง สุนัขกัดเอาบ้างพบช้างดุบ้าง พบม้าดุบ้าง พบโคดุบ้าง ถามถึงชื่อบ้าง โคตรบ้าง ของหญิงบ้าง ของชายบ้าง ถามถึงชื่อบ้าง หนทางบ้าง ของบ้านบ้าง ของนิคมบ้าง เมื่อถูกถามว่า นี่อะไร ก็ตอบเขาว่า เราเข้าไปสู่เรือนร่างด้วยกิจที่เราจำต้องเข้าไป เราไม่ได้ก้อนข้าวด้วยเหตุที่เราไม่ควรได้ เราเป็นผู้ถูกสุนัขกัดด้วยเหตุที่ควรถูกกัด เราพบช้างดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราพบม้าดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราพบโคดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราถามถึงชื่อบ้าง โคตรบ้าง ของหญิงบ้าง ของชายบ้าง ด้วยเหตุที่ควรถาม เราถามถึงชื่อบ้าง ทางบ้าง ของบ้านบ้าง ของนิคมบ้าง ด้วยเหตุที่ควรถาม ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมตระหนักดั่งนี้ว่า ศาสดาซึ่งตั้งตัวเป็นสัพพัญญู รู้เห็นธรรมทั้งปวง ปฏิญญาความรู้ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับอยู่ก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี ความรู้ความเห็นปรากฏเสมอเป็นนิตย์ ศาสดานั้นเข้าไปสู่เรือนว่างบ้าง ไม่ได้ก้อนข้าวบ้าง สุนัขกัดเอาบ้าง พบช้างดุบ้าง พบม้าดุบ้าง พบโคดุบ้าง ถามถึงชื่อบ้าง โคตรบ้าง ของหญิงบ้าง ของชายบ้าง ถามถึงชื่อบ้าง หนทางบ้าง ของบ้านบ้าง ของนิคมบ้าง ศาสดานั้น เมื่อถูกถามว่า นี่อะไร ก็ตอบเขาว่า เราเข้าไปสู่เรือนว่างด้วยกิจที่เราจำต้องเข้าไป เราไม่ได้ก้อนข้าวด้วยเหตุที่เราไม่ควรได้ เราเป็นผู้ถูกสุนัขกัดด้วยเหตุที่ควรถูกกัด เราพบช้างดุ ด้วยเหตุที่ควรพบ เราพบม้าดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราพบโคดุด้วยเหตุที่ควรพบเราถามถึงชื่อบ้าง โคตรบ้าง ของหญิงบ้าง ของชายบ้าง ด้วยเหตุที่ควรถามเราถามถึงชื่อบ้าง หนทางบ้าง ของบ้านบ้าง ของนิคมบ้าง ด้วยเหตุที่ควรถามดั่งนี้ วิญญูชนนั้นครั้นรู้ว่า พรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดีดั่งนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่าย หลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น พรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดี ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ ประการที่ ๑ นี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว

            อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เชื่อถือการฟังตามกันมาเป็นผู้เชื่อว่าจริงด้วยการฟังตามกันมา ศาสดานั้นจึงแสดงธรรมโดยการฟังตามกันมา โดยสืบๆ กันมาว่าอย่างไรนั้นๆ โดยอ้างตำรา ก็เมื่อศาสดาเชื่อถือการฟังตามกันมา เชื่อว่าจริงด้วยการฟังตามกันมาแล้ว ย่อมมีการฟังดีบ้างมีการฟังชั่วบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมทราบตระหนักดั่งนี้ว่า ท่านศาสดานี้เป็นผู้เชื่อถือการฟังตามกันมา เป็นผู้เชื่อว่าจริงด้วยการฟังตามกันมา ท่านศาสดาผู้นั้นแสดงธรรมโดยการฟังตามกันมา โดยสืบๆ กันมาว่าอย่างนั้นๆ โดยอ้างตำรา ก็เมื่อศาสดาเชื่อถือการฟังตามกันมา เชื่อว่าจริงด้วยการฟังตามกันมาแล้ว ย่อมมีการฟังดีบ้าง การฟังชั่วบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง ดั่งนี้ วิญญูชนนั้น ครั้นรู้ว่าพรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดีดั่งนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่าย หลีกไปเสียจากพรหมจรรย์นั้น พรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดี ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ ประการที่ ๒ นี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว

            อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้เป็นผู้ใช้ความตรึก เป็นผู้ใช้ความพิจารณา ศาสดานั้นจึงแสดงธรรมตามปฏิภาณของตน เทียบเหตุตามความที่ตนตรึก คล้อยตามความที่ตนพิจารณา ก็เมื่อศาสดาเป็นผู้ใช้ความตรึก เป็นผู้ใช้ความพิจารณาแล้ว ก็ย่อมมีความตรึกดีบ้าง ความตรึกชั่วบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมทราบตระหนักดังนี้ว่า ท่านศาสดานี้เป็นผู้ใช้ความตรึก เป็นผู้ใช้ความพิจารณา ท่านศาสดานั้นย่อมแสดงธรรมตามปฏิภาณของตน เทียบเหตุตามความที่ตนตรึก คล้อยตามความที่ตนพิจารณา ก็เมื่อศาสดาเป็นผู้ใช้ความตรึก เป็นผู้ใช้ความพิจารณาแล้ว ก็ย่อมมีความตรึกดีบ้าง ความตรึกชั่วบ้างเป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง วิญญูชนนั้นครั้นรู้ว่า พรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดีดั่งนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่าย หลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น พรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดี ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ ประการที่ ๓ นี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว

            อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้เป็นคนเขลา งมงาย เพราะเป็นคนเขลา เพราะเป็นคนงมงาย ศาสดานั้น เมื่อถูกถามปัญหาอย่างนั้นๆ ย่อมถึงความส่ายวาจาคือตอบดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า ความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่อย่างนั้นก็ไม่ใช่ อย่างอื่นก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ ดั่งนี้ ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมทราบตระหนักดั่งนี้ว่า ท่านศาสดานี้เป็นคนเขลา งมงาย เพราะเป็นคนเขลา เพราะเป็นคนงมงาย ศาสดานั้นเมื่อถูกถามปัญหาอย่างนั้นๆ ย่อมถึงความส่ายวาจาคือตอบดิ้นได้ไม่ตายตัวว่าความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ อย่างอื่นก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ ดั่งนี้ วิญญูชนนั้นครั้นรู้ว่า พรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดีดั่งนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่าย หลีกไปเสียจากพรหมจรรย์นั้น พรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดี ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ประการที่ ๔ นี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว

            พรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดี ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ ๔ ประการนี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว

            สันทกปริพาชกกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้อที่พรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดี ๔ ประการนั้นแหละ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสว่าเป็นพรหมจรรย์ อันเว้นจากความยินดี ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ก็ศาสดานั้นมีปกติกล่าวอย่างไร บอกอย่างไร ในพรหมจรรย์ที่วิญญูชนพึงอยู่โดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้

            ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะสันทกปริพาชกต่อไปว่า พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้นทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เพราะประกอบด้วยการได้ศรัทธานั้น ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลอยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย

            ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางท่อนไม้ วางศัสตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่

            ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาด

            ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน

            ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่ความจริง ดำรงสัตย์ พูดเป็นหลักฐานควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก

            ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน

            ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เสนาะหู กล่าวแต่คำที่น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ

            ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร

            เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาดจากการทัดทรงประดับประดาตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน เว้นขาดจากการรับธัญชาติดิบ เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เว้นจากจากการรับไก่และสุกร เว้นขาดจากการรับช้าง วัว ม้า และลา เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เว้นขาดจากการซื้อและการขาย เว้นขาดจากการฉ้อโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอมและการโกงด้วยเครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้นและกรรโชก

            เธอผู้เป็นสันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเองเป็นภาระบินไปได้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง

            ภิกษุนั้นประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสคือความยินดีและความยินร้ายครอบงำ ชื่อว่า รักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่า ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ เธอฟังเสียงด้วยหู... ดมกลิ่นด้วยจมูก... ลิ้มรสด้วยลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้แจ้งธัมมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสความยินดีความยินร้าย ครอบงำชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่า ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุผู้ประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันบริสุทธิ์ ไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน

            ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการแลในการเหลียว ย่อมทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้าในการเหยียดออก ย่อมทำความรู้สึกตัวในการทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ย่อมทำความรู้สึกตัวในการฉันการดื่มการเคี้ยวการลิ้ม ย่อมทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดินการยืนการนั่งการหลับการตื่นการพูดการนิ่ง

            ภิกษุนั้นประกอบด้วยสีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัดคือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง กองฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความโลภในโลก มีใจปราศจากความโลภอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความโลภ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

            ภิกษุนั้นครั้นละนิวรณ์ทั้ง ๕ เหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ถอยกำลังแล้ว เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกความสงบสงัดอยู่ ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้

            อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ประพฤติก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้

            อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้

            อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละทุกข์ละสุข และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้

            ท่านพระอานนท์ได้กล่าวต่อไปว่า ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ย่อมโน้มจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณเป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติ ๑ บ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการพร้อมทั้งอุเทศด้วยประการฉะนี้ ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้

            ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ย่อมโน้มจิตไปเพื่อรู้จุติ ความเคลื่อน และอุปบัติ ความเข้าถึง ของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติคือเคลื่อน กำลังอุปบัติคือเข้าถึง เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านั้นประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำ นาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านั้นประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดั่งนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้

            อีกประการหนึ่ง ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ย่อมโน้มจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ คือความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ กิเลสเครื่องดองสันดาน ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๓
หน้า ๒๐๘ – ๒๒๒
(มีต่อ)