Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๔๓

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

 

สันทกสูตร(1 ม. ม. ๑๓/๒๙๓-๓๑๓/๒๘๘-๓๐๙.) ว่าด้วยสันทกปริพาชกในกรุงโกสัมพี

            สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตเมืองโกสัมพี สมัยนั้น สันทกปริพาชก พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ อาศัยอยู่ ณ ถ้ำปิลักขคูหา ครั้งนั้นเวลาเย็น ท่านพระอานนท์ออกจากที่เร้นแล้ว เรียกภิกษุทั้งหลายว่า เราทั้งหลายจะเข้าไปยังบ่อน้ำที่น้ำฝนเซาะเพื่อจะดูถ้ำกันเถิด ท่านพระอานนท์พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมากเข้าไปยังบ่อน้ำที่น้ำฝนเซาะ สมัยนั้นสันทกปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ กำลังพูดดิรัจฉานกถาเป็นอันมากด้วยเสียงสูงเสียงใหญ่อึงคะนึง คือพูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องนางกุมภทาสี คือนางทาสีตักน้ำด้วยหม้อที่ท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ

            สันทกปริพาชกได้เห็นท่านพระอานนท์กำลังมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนให้สงบเสียงว่า จงเบาเสียงเถิด อย่าทำเสียงดังต่อไปเลย นี่สาวกของพระสมณโคดม เป็นสมณะชื่ออานนท์กำลังมาอยู่ สมณะชื่ออานนท์นี้เป็นสาวกองค์หนึ่งในบรรดาสาวกของพระสมณโคดมที่อาศัยอยู่ ณ เมืองโกสัมพี ก็ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ในความเป็นผู้มีเสียงเบา แนะนำในความมีเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา ถ้ากระไรสมณะชื่ออานนท์นั้นทราบว่าบริษัทมีเสียงเบาแล้วพึงสำคัญที่จะเข้ามาใกล้ ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นได้นิ่งอยู่ ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาปริพาชกถึงที่ใกล้ สันทกปริพาชกได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า เชิญมาเถิด ท่านพระอานนท์มาดีแล้ว ต่อนานๆ ท่านพระอานนท์จึงจะได้ทำเหตุเพื่อจะมาในที่นี้ เชิญนั่งเถิดท่านพระอานนท์นี้อาสนะปูไว้แล้ว ท่านพระอานนท์นั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้ว แม้สันทกปริพาชกถือเอาอาสนะอันต่ำแห่งหนึ่ง แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

            ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะสันทกปริพาชกว่า ท่านทั้งหลายประชุมสนทนากันเรื่องอะไร และเรื่องอะไรที่ท่านทั้งหลายหยุดค้างไว้ในระหว่าง สันทกปริพาชกตอบว่า เรื่องที่ข้าพเจ้าทั้งหลายประชุมสนทนาเมื่อตะกี้นั้น ขอยกไว้เสียเถิด เรื่องนั้นท่านพระอานนท์จะได้ฟังแม้ในภายหลังโดยไม่ยาก ดีละหนอ ขอท่านพระอานนท์จงกล่าวเรื่องที่เป็นธรรมในลัทธิอาจารย์ของตนให้แจ่มแจ้งเถิด ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงมนสิการให้ดี เราจะกล่าว สันทกปริพาชกรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ลัทธิสมัยอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ประการนี้ และพรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดี ๔ ประการ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว สันทกปริพาชกกล่าวว่า ก็ลัทธิสมัยอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ประการ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรม เครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้วนั้นเป็นไฉน

            ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ศาสดาบางคนในโลกนี้ มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบปฏิบัติชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง และสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก คนเรานี้เป็นแต่ประชุมมหาภูตะทั้ง ๔ เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปสู่อากาศ คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ ๕ จะหามเขาไปเมื่อตายแล้ว ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกมีสีดุจนกพิราบ การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด ทานนี้คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคน บางคนที่พูดว่า มีผลๆ ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ เพราะกายสลายทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญพินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมไม่มี ดั่งนี้

            ท่านพระอานนท์กล่าวต่อไปว่า ในลัทธิของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมตระหนักดั่งนี้ว่า ท่านศาสดาผู้มีปกติกล่าวดั่งนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ที่ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพรหมณ์ผู้ดำเนินชอบปฏิบัติชอบ ซึ่งทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก คนเรานี้มีแต่ประชุมมหาภูตะทั้ง ๔ เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดินก็ไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปสู่อากาศ คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ ๕ จะหามเขาไปเมื่อตายแล้ว ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกมีสีดุจนกพิราบ การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด ทานนี้คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางคนที่พูดว่า มีผลๆ ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญพินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมไม่มีดั่งนี้ ถ้าคำของศาสดานี้เป็นคำจริง กรรมในลัทธินี้ที่ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเลย ก็เป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ในลัทธินี้ที่ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ประพฤติเลย ก็เป็นอันอยู่แล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวว่าเพราะกายสลาย แม้เราทั้ง ๒ จะขาดสูญพินาศสิ้นเบื้องหน้าแต่ตายไปจะไม่มี ดั่งนี้ แม้เราทั้ง ๒ ก็ชื่อว่า เป็นผู้เสมอกัน ถึงความเป็นผู้เสมอกันในลัทธินี้ ที่ยิ่งกว่ากันก็คือ ความที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติเปลือยกายเป็นคนศีรษะโล้น กระทำความเพียรในการเดินกระโหย่ง ถอนผมและหนวด เมื่อเราอยู่ครองเรือน นอนเบียดกับบุตร ประพรมแก่นจันทน์เมืองกาสี ทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ ก็จักเป็นผู้มีคติเสมอกันกับท่านศาสดานี้ในภพหน้าได้ เรานั้นรู้อะไรเห็นอะไรอยู่ จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้ วิญญูชนนั้น ครั้นรู้ว่าลัทธินี้ไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้ดั่งนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่าย หลีกไปจากพรหมจรรย์นี้ลัทธิอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่ ๑ นี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว

            ท่านพระอานนท์กล่าวต่อไปว่า อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ทำ เขาให้ดิ้นรนเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์เอง ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ลักทรัพย์เอง ใช้ผู้อื่นให้ลัก ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภรรยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป แม้หากผู้ใดจะใช้จักรซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำ คงคา ให้ทานเอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ทาน บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นให้บูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา, ด้วยการให้ทาน การอบรมอินทรีย์ การสำรวมในศีล การกล่าวคำสัตว์ บุญย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ดั่งนี้

            ท่านพระอานนท์กล่าวต่อไปว่า ในลัทธิท่านศาสดานี้ วิญญูชนย่อมเห็นทราบตระหนักดั่งนี้ว่า ท่านศาสดาผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่าเมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ทำเขาให้ดิ้นรนเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์เอง ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ลักทรัพย์เอง ใช้ผู้อื่นให้ลัก ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภรรยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป แม้หากผู้ใดจะใช้จักรซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน บาปที่มีการทำ เช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้ทานเอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ทาน บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชาบุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา, ด้วยการให้ทาน การอบรมอินทรีย์ การสำรวมในศีล การกล่าวคำสัตย์ บุญย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ดั่งนี้ ถ้าคำของศาสดานี้เป็นคำจริง กรรมในลัทธินี้ที่ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเลย ก็เป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ในลัทธินี้ที่ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ประพฤติเลย ก็เป็นอันอยู่แล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวว่าเราทั้ง ๒ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป ดั่งนี้ แม้เราทั้ง ๒ ก็ชื่อว่า เป็นผู้เสมอกัน ถึงความเป็นผู้เสมอกันในลัทธินี้ ที่ยิ่งกว่ากันก็คือ ความที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติเปลือยกาย เป็นคนศีรษะโล้น ทำความเพียรในการเดินกระโหย่ง ถอนผมและหนวด เมื่อเราอยู่ครองเรือน นอนเบียดกับบุตร ประพรมแก่นจันทน์เมืองกาสี ทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ ก็จักเป็นผู้มีคติเสมอกับท่านศาสดานี้ในภพหน้าได้ เรานั้นรู้อะไรเห็นอะไรอยู่ จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้ วิญญูชนนั้น ครั้นรู้ว่าลัทธินี้ไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้ดั่งนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่าย หลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น ลัทธิอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่ ๒ นี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว

            ท่านพระอานนท์กล่าวต่อไปว่า อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนคนโลกนี้มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาเหตุหาปัจจัยมิได้ ย่อมเศร้าหมองเอง ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาเหตุหาปัจจัยมิได้ ย่อมบริสุทธิ์เอง ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียรไม่มีเรี่ยวแรงของบุรุษ ไม่มีความบากบั่นของบุรุษ สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวงภูตะทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร แปรไปตามเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ตามความประจวบ ตามความเป็นเอง ย่อมเสวยสุขเสวยทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖ เท่านั้น

            ท่านพระอานนท์กล่าวต่อไปว่า ในลัทธิของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักดั่งนี้ว่า ท่านศาสดาผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาเหตุหาปัจจัยมิได้ ย่อมเศร้าหมองเอง ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาเหตุปัจจัยมิได้ ย่อมบริสุทธิ์เอง ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีเรี่ยวแรงของบุรุษ ไม่มีความบากบั่นของบุรุษ สัตว์ทั้งปวงปาณะทั้งปวง ภูตะทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร แปรไปตามเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ตามความประจวบ ตามความเป็นเองย่อมเสวยสุขเสวยทุกข์ในอภิชาตทั้ง ๖ เท่านั้น ดั่งนี้ ถ้าคำ ของท่านศาสดานี้เป็นคำจริง กรรมในลัทธินี้ที่ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเลย ก็เป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ในลัทธินี้ที่ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ประพฤติเลย ก็เป็นอันอยู่แล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวว่าเราทั้ง ๒ หาเหตุหาปัจจัยมิได้ จักบริสุทธิ์เอง ดั่งนี้ แม้เราทั้ง ๒ ก็ชื่อว่า เป็นผู้เสมอกัน ถึงความเป็นผู้เสมอกันในลัทธินี้ ที่ยิ่งกว่ากันก็คือ ความที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติเปลือยกาย เป็นคนศีรษะโล้น ทำความเพียรในการเดินกระโหย่ง ถอนผมและหนวด เมื่อเราอยู่ครองเรือน นอนเบียดกับบุตร ประพรมแก่นจันทน์เมืองกาสี ทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ยินดีทองและเงินอยู่ ก็จักเป็นผู้มีคติเสมอกันกับท่านศาสดานี้ในภพหน้าได้ เรานั้นรู้อะไรเห็นอะไรอยู่ จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้ วิญญูชนนั้น ครั้นรู้ว่า ลัทธินี้ไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้ดั่งนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่าย หลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น ลัทธิอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ประพฤติก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่ ๓ นี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว

 

 

(มีต่อ)

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๓

หน้า ๒๐๒ - ๒๐๘