Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๔๒

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

 

อินทขีลสูตร ว่าด้วยผู้รู้ตามเป็นจริง ย่อมรู้ผู้อื่นว่า รู้หรือไม่รู้

               พระพุทธเจ้าตรัสว่า ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-ปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์อื่น ว่าท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่ เปรียบเหมือนปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายเป็นของเบา คอยจะลอยไปตามลม บุคคลวางไว้ที่ภาคพื้นที่ราบเรียบแล้ว ลมทิศบูรพาพึงพัดปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายนั้นไปยังทิศประจิมได้ ลมทิศประจิมพึงพัดพาไปทางทิศบูรพาได้ ลมทิศอุดรพึงพัดพาไปทางทิศทักษิณได้ ลมทิศทักษิณพึงพัดพาไปทางทิศอุดรได้ ข้อนี้เพราะเหตุใด เพราะปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายนั้นเป็นของเบาฉันใด ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์อื่น ว่าท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่ข้อนี้เพราะเหตุไร เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ฉันนั้นเหมือนกัน

             ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ต้องมองดูหน้าสมณะหรือพราหมณ์อื่น ว่าท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่ เปรียบเหมือนเสาเหล็กหรือเสาหินมีรากลึก เขาฝังไว้ดีแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง แม้ลมฝนอย่างแรงจะพัดมาจากทิศบูรพา ทิศประจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ไม่สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะรากลึก เพราะเสาหินเขาฝังไว้ดีแล้ว ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นไม่ต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์อื่น ว่าท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเห็นอริยสัจ ๔ ดีแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

อธิบายคำว่า ย่อมต้องมองดูหน้า ได้แก่ตรวจดูอัธยาศัย อัธยาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาในคำว่า หน้า

1 สํ. มหา. ๑๙/๑๗๒๒/๕๕๔.

 

วาทีสูตร ว่าด้วยผู้รู้ตามความเป็นจริง ไม่หวั่นไหวต่อผู้ยกวาทะ

               พระพุทธเจ้าตรัสว่า ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีความต้องการวาทะ ผู้แสวงหาวาทะ พึงมาจากทิศบูรพา ทิศประจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ด้วยประสงค์ว่า จะยกวาทะของภิกษุนั้น ภิกษุนั้นจะสะเทือนสะท้าน หรือหวั่นไหวต่อสมณะหรือพราหมณ์นั้นโดยสหธรรม ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนเสาหิน ๑๖ ศอก เสาหินนั้นมีรากลึกไปข้างล่าง ศอก ข้างบน ศอก ถึงแม้ลมฝนอย่างแรงจะพัดมาแต่ทิศบูรพา ทิศประจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ไม่สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะรากลึก เพราะเสาหินเขาฝังไว้ดีแล้ว ฉันใด ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์ผู้ต้องการวาทะ ผู้แสวงหาวาทะพึงมาจากทิศบูรพา ทิศประจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ด้วยประสงค์ว่า จะยกวาทะของภิกษุนั้น ภิกษุนั้นจะสะเทือนสะท้าน หรือหวั่นไหวต่อสมณะหรือพราหมณ์นั้นโดยสหธรรม ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเห็นอริยสัจ ๔ ดีแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน ก็อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

1 สํ. มหา. ๑๙/๑๗๒๔/๕๕๕.

 

เขมกสูตร ว่าด้วยท่านพระเขมกะ

               สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นพระเถระหลายรูปอยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ก็สมัยนั้น ท่านพระเขมกะอาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่พทริการาม ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ภิกษุผู้เป็นพระเถระทั้งหลายออกจากที่พักแล้ว เรียกท่านพระทาสกะมากล่าวว่า ท่านทาสกะจงไปหาเขมกภิกษุถึงที่อยู่จงบอกกับเขมกภิกษุอย่างนี้ว่า พระเถระทั้งหลายได้ถามท่านอย่างนี้ ว่าท่านพออดทนได้หรือ ยังพอเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลงไม่กำเริบขึ้น ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่าทุเลา ไม่กำเริบขึ้นหรือ ท่านพระทาสกะรับคำภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายแล้ว เข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ได้กล่าวแก่ท่านพระเขมกะว่า พระเถระทั้งหลายถามถึงท่าน ว่าท่านพออดทนได้หรือยังพอเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ท่านพระเขมกะตอบว่า ผมอดทนไม่ไหว เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาอันกล้าของผมกำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ปรากฏว่ากำเริบขึ้นไม่ทุเลาลง

               ท่านพระทาสกะกลับจากสำนักท่านพระเขมกะ เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายถึงที่อยู่ และได้เล่าให้ภิกษุผู้เป็นเถระฟังถึงคำที่ท่านพระเขมกะได้กล่าว พระเถระทั้งหลายจึงได้กล่าวว่า ท่านทาสกะจงเข้าไปหาเขมกภิกษุถึงที่อยู่ จงกล่าวกะเขมกภิกษุอย่างนี้ว่า พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า อุปาทานขันธ์คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว คือขันธ์เป็นที่ยึดถือคือรูป ขันธ์เป็นที่ยึดถือคือเวทนา ขันธ์เป็นที่ยึดถือคือสัญญา ขันธ์ที่เป็นยึดถือคือสังขาร ขันธ์เป็นที่ยึดถือคือวิญญาณ ท่านเขมกะพิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ นี้ ว่าเป็นอัตตาหรือ ว่ามีอยู่ในอัตตาหรือ ท่านพระทาสกะรับคำของภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายแล้ว จึงเข้าไปหาท่านเขมกะถึงที่อยู่ และได้กล่าวกะท่านพระเขมกะตามที่พระเถระทั้งหลายได้สั่ง ท่านพระเขมกะได้กล่าวตอบว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว คืออุปาทานขันธ์คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ผมไม่พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ว่าเป็นอัตตา หรือว่ามีในอัตตา ท่านพระทาสกะก็กลับไปหาภิกษุผู้เป็นพระเถระทั้งหลาย และก็ได้กล่าวตามคำที่ท่านพระเขมกะได้พูดนั้น

               พระเถระทั้งหลายก็ได้สั่งท่านพระทาสกะว่า ท่านจงเข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงกล่าวกะภิกษุเขมกะอย่างนี้ว่า พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ คืออุปาทานขันธ์คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ได้ทราบว่า ถ้าท่านเขมกะไม่พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ว่าเป็นอัตตา หรือว่ามีในอัตตา ถ้าเช่นนั้น ท่านเขมกะก็เป็นพระอรหันตขีณาสพ ท่านพระทาสกะรับคำของภิกษุทั้งหลายเข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ แล้วกล่าวกับท่านพระเขมกะตามคำที่พระเถระทั้งหลายได้กล่าว ท่านพระเขมกะได้ตอบว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ คืออุปาทานขันธ์คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ผมไม่ได้พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ว่าเป็นอัตตาหรือว่ามีในอัตตา และผมก็ไม่ได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่ได้พิจารณาเห็นว่าเราเป็นนี้ ท่านพระทาสกะก็กลับจากสำนักท่านพระเขมกะ เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพระเถระทั้งหลาย แล้วก็เล่าให้ฟังถึงถ้อยคำที่ท่านพระเขมกะได้กล่าวตอบ

               พระเถระทั้งหลายก็ได้สั่งท่านทาสกะว่า จงไปหาภิกษุพระเขมกะถึงที่อยู่อีก และกล่าวอย่างนี้ว่า พระเถระทั้งหลายถามท่านอย่างนี้ว่า ที่ท่านกล่าวว่า เรามี นี้คืออย่างไร ท่านกล่าวรูปว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจากรูป ท่านกล่าวเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจากเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ที่ท่านเขมกะกล่าวว่า เรามีนั้นคืออย่างไร ท่านพระทาสกะรับคำของภิกษุทั้งหลายแล้ว ก็เข้าไปหาพระเขมกะอีก และก็ได้กล่าวถึงถ้อยคำที่ท่านพระเถระทั้งหลายได้สั่งให้ถามนั้น ท่านพระเขมกะจึงได้กล่าวว่า พอทีเถิดท่านทาสกะ ท่านเดินไปเดินมาอย่างนี้บ่อยๆ จะมีประโยชน์อะไร จงไปหยิบเอาไม้เท้ามาเถิด ผมจะไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายเอง

               ครั้งนั้น ท่านพระเขมกะยันไม้เท้าเข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายถึงที่อยู่ได้สนทนาปราศรัยกับภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลาย ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันและกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกะท่านพระเขมกะว่า ท่านเขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามีนั้นคืออย่างไร ท่านเขมกะตอบว่า ผมไม่กล่าวรูปว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากรูป ไม่กล่าวเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่าเรามีนอกจากเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่ได้พิจารณาเห็นว่า เราเป็นนี้ เปรียบเหมือนกลิ่นดอกอุบลก็ดี กลิ่นดอกปทุมก็ดี กลิ่นดอกบุณฑริก บัวขาวก็ดี ผู้ใดหนอจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า กลิ่นใบ กลิ่นดอก หรือว่ากลิ่นเกสร ผู้นั้นเมื่อกล่าวอย่างนี้จะพึงกล่าวชอบละหรือ พระภิกษุผู้เถระทั้งหลายก็ตอบว่า ไม่เป็นอย่างนั้นท่านพระเขมกะจึงกล่าวว่า โดยที่ถูก เมื่อจะกล่าวแก้ ควรกล่าวแก้อย่างไร ท่านพระเถระทั้งหลายก็กล่าวว่า โดยที่ถูก เมื่อจะกล่าวแก้ ควรจะกล่าวแก้ว่ากลิ่นดอก ท่านพระเขมกะก็กล่าวต่อไปว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ผมไม่กล่าวรูปว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากรูป ไม่กล่าวเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่พิจารณาเห็นว่า เราเป็นนี้ สังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ สมัยต่อมาท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ว่า รูปดั่งนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดั่งนี้ ความดับไปแห่งรูปดั่งนี้ เวทนาดั่งนี้ สัญญาดั่งนี้ สังขารดั่งนี้ วิญญาณดั่งนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาดั่งนี้ แห่งสัญญาดั่งนี้ แห่งสังขารดั่งนี้ แห่งวิญญาณดั่งนี้ ความดับแห่งเวทนาดั่งนี้ แห่งสัญญาดั่งนี้ แห่งสังขารดั่งนี้ แห่งวิญญาณดั่งนี้ เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ดั่งนี้อยู่ แม้ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ และอนุสัยนั้นก็ถึงการเพิกถอนได้ เปรียบเหมือนผ้าเปื้อนเปรอะด้วยมลทิน เจ้าของทั้งหลายมอบผ้านั้นให้แก่ช่างซักฟอก ช่างซักฟอกขยี้ผ้านั้นในนำ ด่างขี้เถ้า ในน้ำด่างเกลือ หรือในโคมัย แล้วเอาซักในน้ำใสสะอาด ผ้านั้นเป็นของสะอาดขาวผ่องก็จริง แต่ผ้านั้นยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า กลิ่นน้ำด่างเกลือ หรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด ช่างซักฟอกมอบผ้านั้นให้แก่เจ้าของทั้งหลาย เจ้าของทั้งหลายเก็บผ้านั้นไว้ในหีบอบกลิ่น แม้ผ้านั้นยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า กลิ่นน้ำด่างเกลือ หรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด แม้กลิ่นนั้นก็หายไป ฉันใด สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ สมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ว่า รูปดั่งนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดั่งนี้ ความดับไปแห่งรูปดั่งนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณดั่งนี้ ความดับไปแห่งเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณดั่งนี้ เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อยู่ แม้ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่าเรามีไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ และอนุสัยนั้นก็ถึงการเพิกถอนได้ ฉันนั้น

               เมื่อท่านพระเขมกะกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้กล่าวกับท่านพระเขมกะว่า ผมทั้งหลายไม่ได้ถามมุ่งหมายเบียดเบียนท่านเขมกะเลย แต่ว่าท่านเขมกะย่อมสามารถพอจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผยจำแนก ทำให้ตื้นซึ่งคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นโดยพิสดาร ตามที่ท่านพระเขมกะบอกแล้ว แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แต่งตั้งแล้ว เปิดเผยแล้ว จำแนกแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว โดยพิสดาร

               ท่านเขมกะกล่าวคำนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระเขมกะ เมื่อท่านพระเขมกะกล่าวคำไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุ ๖๐ รูป และของท่านพระเขมกะก็พ้นแล้วจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น

               พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่ดี เพราะแสดงถึงภูมิปฏิบัติของท่านที่สำเร็จเป็นถึงขั้นพระอนาคามีแล้ว คือท่านพระเขมกะ แต่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ซึ่งจิตของท่านพระเขมกะผู้ซึ่งเป็นอนาคามีแล้วนั้น ก็ไม่ได้ยึดถือในขันธ์ ๕ แต่ว่ายังมีความรู้สึกว่า เรามีอยู่ จึงได้เกิดปัญหาขึ้นว่า เรามีอยู่ คืออะไร ท่านพระเขมกะจึงได้ถามและตอบกันกับท่านพระเถระทั้งหลาย และความก็แจ่มแจ้งในอุปมาว่า เหมือนอย่างผ้าที่เปื้อนไม่สะอาด และเมื่อไปซักฟอกให้สะอาดด้วยเครื่องซักฟอกทั้งหลาย เมื่อผ้าเหล่านั้นสะอาดแล้ว กลิ่นแห่งเครื่องซักฟอกนั้นก็ยังติดผ้าอยู่ ก็เหมือนอย่างจิตของท่านที่เป็นพระอนาคามี ก็เป็นจิตที่สะอาดแล้ว แต่ว่ายังมีมานะอยู่ คือความสำคัญหมายว่า เรามีเราเป็นอยู่ ยังละไม่ได้ เหมือนอย่างผ้าที่ซักสะอาดแล้ว แต่ยังมีกลิ่นของเครื่องซักฟอกติดอยู่ จึงต้องเอาใส่หีบอบกลิ่น เมื่ออบกลิ่นแล้ว กลิ่นเครื่องซักฟอกนั้นก็จะหมดไปจากผ้า เพราะฉะนั้น จึงต้องปฏิบัติต่อไป ด้วยการพิจารณาเห็นเกิดดับของอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ยิ่งขึ้น ซึ่งยังเป็นชนวนอยู่ว่า เรามี ซึ่งเป็นตัวมานะ ซึ่งเปรียบเหมือนอย่างกลิ่นของเครื่องซักฟอกที่ยังติดผ้าอยู่ และกลิ่นนั้นก็จะหมดไป ก็เป็นอันว่า เหมือนอย่างที่ได้พิจารณาความเกิดดับของขันธ์ ๕ ยิ่งขึ้น ความสำคัญหมายว่า เรามีเราเป็นนั้นก็หมดไป ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐

               ท่านพระเขมกะก็ได้กล่าวเป็นธรรมสากัจฉากับท่านพระเถระทั้งปวงเหล่านี้เข้าในมงคลคาถาข้อว่า “กาเลน ธมฺมสากจฺฉา สนทนาธรรมโดยกาล” และเมื่อต่างสนทนากัน ภิกษุเถระทั้ง ๖๐ รูปก็พ้นจากอาสวะเป็นพระอรหันต์ ท่านพระเขมกะซึ่งเป็นพระอนาคามีแล้วก็เป็นพระอรหันต์ขึ้น เพราะไม่ยึดมั่น ข้อนี้เป็นเครื่องแสดงถึงแนวปฏิบัติทางจิต สืบขึ้นจากขั้นเป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์โดยอุปมาอันเปรียบด้วยผ้าสะอาดที่ซักแล้วยังมีกลิ่น คือเป็นอนาคามี เปรียบด้วยผ้าที่ซักสะอาดแล้ว ยังมีกลิ่น ต้องอบกลิ่น กลิ่นหมดจึงจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และความสำเร็จก็มีได้ด้วยการสนทนาธรรมโดยกาลของท่านพระเขมกะและท่านพระเถระทั้ง ๖๐ รูปนั้น

               ก็มีคำถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระทั้งหลายจึงส่งพระทาสกะนั้นไป ตอบว่า ด้วยหวังว่าเราจักคอยฟังธรรมจากสำนักพระธรรมกถึกผู้มีชื่อเสียง ถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ไปกันเอง ก็ตอบว่า เพราะป่าอันเป็นที่อยู่ของพระเถระคับแคบ ในป่านั้นพระเถระจำนวนตั้ง ๖๐ รูปไม่มีที่ว่างยืนหรือนั่งได้ เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นจึงไม่ไปเอง แต่ส่งท่านพระทาสกะไป ด้วยหวังว่า ขอท่านพระเขมกะจงมากล่าวธรรมแก่เราทั้งหลาย ณ ที่นี้ อนึ่ง หากจะถามว่า เพราะเหตุไรท่านพระเถระทั้งหลายจึงส่งท่านพระทาสกะนั้นไป ก็ตอบว่าเพราะท่านพระเขมกะอาพาธ ถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรจึงส่งไปบ่อย ก็ตอบว่า ส่งไปบ่อยก็ด้วยหวังว่า ท่านพระเขมกะทราบแล้ว จักมากล่าวธรรมแก่เราทั้งหลายด้วยตนเองทีเดียว ฝ่ายท่านพระเขมกะทราบอัธยาศัยของพระเถระเหล่านั้นจึงได้เดินไปเอง

1 สํ. ขนฺธ. ๑๗/๒๒๕/๑๕๔.

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๓

หน้า ๑๙๔ - ๒๐๑