Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๔๑

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

สีสปาสูตร เปรียบสิ่งที่ตรัสรู้มีมาก เหมือนใบไม้บนต้น

            พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ สีสปาวัน คือป่าไม้ประดู่ลาย กรุงโกสัมพี ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตัดเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ใบประดู่ร้าน ๒-๓ ใบที่เราถือด้วยฝ่ามือกับใบบนต้น อันไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุททั้งหลายกราบทูลว่า ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือด้วยฝ่าพระหัตถ์มีปริมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่างนั้นก็เหมือนกัน สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายมีมาก ก็เพราะเหตุไรจึงไม่บอก เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่บอก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรที่เราได้บอกแล้ว เราได้บอกแล้วว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็เพราะเหตุไรเราจึงบอก เพราะสิ่งนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์ เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน เพราะฉะนั้น เราจึงบอก เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

 

ขทิรสูตร ว่าด้วยการทำที่สุดแห่งทุกข์เพราะตรัสรู้อริยสัจ ๔

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ตรัสรู้ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ดั่งนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจะเอาใบตะเคียน ใบทองหลาง หรือใบมะขามป้าห่อน้ำหรือตาลปัตรนำไป ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ตรัสรู้ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบดั่งนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ส่วนผู้ใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราได้ตรัสรู้
ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบดั่งนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนผู้ดึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจะเอาใบบัว ใบทองกวาว หรือใบย่านทรายห่อน้ำหรือนตาลปัตรนำไป ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราได้ตรัสรู้ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบดั่งนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อความรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

            อธิบายคำว่า ไม่ได้ตรัสรู้แล้ว คือไม่บรรลุแล้ว และไม่แจ้งแทงตลอดแล้วด้วยญาณ

ทัณฑสูตร ว่าด้วยผู้ท่องเที่ยวไปในโลกเพราะไม่เห็นอริยสัจ

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า เปรียมเสมือนท่อนไม้ที่บุคคลขว้างขึ้นไปบนอากาศแล้วบางคราวเอาโคนตกลงมาก็มี บางคราวเอาตอนกลางตกลงมาก็มี บางคราวเอาปลายตกลงมาก็มี ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้มีนิวรณ์คืออวิชชา มีตัณหาเป็นเครื่องประดับ ได้แล่นไปอยู่ ท่องเที่ยวไปอยู่ บางคราวจากโลกนี้ไปสู่ปรโลกก็มี บางคราวจากปรโลกมาสู่โลกนี้ก็มี ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนี้เพราะเหตุไร เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีอริยสัจ เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

            อธิบายคำว่า จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก ความว่าจากโลกนี้ไปโลกอื่น คือนรกบ้าง กำเนิดสัตว์เดรัจฉานบ้าง เปตวิสัยบ้าง มนุษย์บ้าง เทวโลกบ้าง อธิบายว่า เกิดในวัฏฏะนั่นแหละบ่อย ๆ

 

เจลสูตร ว่าด้วยให้รีบเพียรเพื่อตรัสรู้ เหมือนรีบดับไฟบนศรีษะ

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อผ้าหรือศรีษะถูกไฟไหม้แล้ว ควรกระทำอย่างไร ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เมื่อผ้าหรือศรีษะถูกไฟไหม้แล้ว ควรกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความไม่ย่นย่อ ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ อย่างแรงกล้า เพื่อดับไฟที่ผ้าหรือศรีษะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลพึงวางเฉย ไม่ใส่ใจถึงผ้าหรือศรีษะที่ถูกไฟไหม้แล้ว พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความไม่ย่นย่อ ความไม่ท้อถอย สติ และสัมปชัญญะ อย่างแรงกล้า เพื่อตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่ยังไม่ตรัสรู้ตามความเป็นจริง อริยสัจจ์ ๔ เป็นไฉน คือทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อตรัสรู้ความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

 

สัตติสตสูตร ว่าด้วยการตรัสรู้อริยสัจ ๔

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี พึงกล่าวอย่างนี้แก่ผู้มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปีว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ชนทั้งหลายจักเอาหอกทัง้ ๑๐๐ เล่มทิ่มแทงท่านในเวลาเช้า ในเวลาเที่ยง ในเวลาเย็น ท่านนั้นถูกเขาเอาหอกแทง ๓๐๐ เล่มทิ่มแทงอยู่ทุก ๆ วัน มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี จักตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่ยังไม่ได้ตรัสรู้โดยล่วง ๑๐๐ ปีไป กุลบุตรผู้นั้นไปในอำนาจแห่งประโยชน์ ควรจะรับเอา (ข้อเสนอนั้น) ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารหรือสังสาระนี้มีเบื้องต้น ที่สุดอันบุคคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดแห่งการประหารด้วยหอก ดาบ หลาว และขวาน ย่อมไม่ปรากฏ ฉันใด ข้อนี้พึงมีได้ฉันนั้นว่า ก็เราไม่กล่าวการตรัสรู้อริยสัจ ๔ พร้อมด้วยโสมนัส อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพราะฉะนั้นและ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อความรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

            มีคำอธิบายว่า คำว่า ข้อนี้พึงมีได้ฉันนั้น คือภิกษุทั้งหลาย ถ้าเหตุนี้พึงมีอยู่อย่างนี้ไซร้ เมื่อทุกข์และโทมนัสนั่นเทียวกระทบอยู่ไม่ขาดระยะ ก็จะพึงบรรลุสัจจะนั้นพร้อมกันทีเดียว

 

ปาณสูตร ว่าด้วยผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพ้นจากอบายใหญ่

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า เปรียบบุรุษพึงตัดหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ชมพูทวีปนี้ รวบรวมเข้าด้วยกัน ครั้นแล้วกระทำให้เป็นหลาว ครั้นกระทำให้เป็นหลาวแล้ว พึงร้อยสัตว์ขนาดใหญ่ในมหาสมุทรด้วยหลาวขนาดใหญ่ สัตว์ขนาดกลางด้วยหลาวขนาดกลาง สัตว์ขนาดเล็กด้วยหลาวขนาดเล็ก ก็สัตว์ขนาดเขื่องในมหาสมุทรยังไม่ทันหมด หญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ในชมพูทวีปพึงมีความสิ้นไปหมดไปโดยแท้ การที่จะเอาหลาวร้อยสัตว์ขนาดเล็กในมหาสมุทรซึ่งมีมากกว่าสัตว์มีมากกว่าสัตว์ขนาดเขื่องนั้น มิใช่กระทำได้ง่าย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตัวมันเล็ก ฉันใด อบายก็โตใหญ่ฉันนัน บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ พ้อนจากอบายใหญ่โตอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

 

ปฐมสุรยูปมสูตร ว่าด้วยสิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อนการตรัสรู้อริยสัจ

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่จะขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือแสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อนการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบฉันนั้นเหมือนกัน อันภิกษุผู้มีความเห็นชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงดั่งนั้น

 

ทุติยสุรยูปมสูตร ว่าด้วยพระตถาคตอุบัติขึ้น ความสว่างย่อมปรากฏขึ้น

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ยังไม่เกิดขึ้นในโลกเพียงใด ความปรากฏแห่งแสงสว่างแจ่มจ้าอย่างมากก็ยังไม่มีเพียงนั้น เวลานั้นมีแต่ความมืดมิด มีแต่ความมัวเป็นหมอก กลางคืนกลางวันไม่ปรากฏ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนไม่ปรากฏ ฤดูและปีไม่ปรากฏ เมือใดพระจันทร์และพระอาทิตย์เกิดขึ้นในโลก เมือนั้นความปรากฏแห่งแสงสว่างแจ่มจ้าอย่างมากย่อมมี เวลานั้นไม่มีความมืดมิด ไม่มีความมัวเป็นหมอก กลางคืนกลางวันปรากฏ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏ ฉันใดฉันนั้นเหมือนกัน พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้นในโลกเพียงใด ความปรากฏแห่งแสงสว่างแจ่มแจ้งอย่างมากก็ยังไม่มีเพียงนั้น เวลานั้นมีแต่ความมืดมิด มีแต่ความมัวเป็นหมอก การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก กระทำให้ง่าย ซึ่งอริยสัจทั้ง ๔ ก็ยังไม่มี เมื่อใดพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก เมื่อนั้นความปรากฏแห่งแสงสว่างแจ่มแจ้งอย่างมากก็ย่อมมี เวลานั้นไม่มีความมืดมิด ไม่มีความมัวเป็นหมอก การบอก ฯลฯ การกระทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ ก็ย่อมมี อริยสัจ ๔ เป็นไฉน ก็คือทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๓

หน้า ๑๘๗ - ๑๙๒