Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๔๐

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

ปิณโฑลภารทวาชสูตร

               พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะได้พยากรณ์อรหัตตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กรณียะคือกิจที่พึงทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะพยากรณ์อรหัตตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กรณียะคือกิจที่พึงทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงพยากรณ์อรหัตตผล พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะความที่อินทรีย์ ๓ ประการ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะจึงพยากรณ์อรหัตตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กรณียะคือกิจพึงทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี อินทรีย์ ๓ ประการ คือ สตินทรีย์ อินทรีย์ คือ สติ ๑ สมาธินทรีย์ อินทรีย์ คือ สมาธิ ๑ ปัญญินทรีย์ อินทรีย์ คือ ปัญญา ๑ อินทรีย์ ๓ ประการนี้มีอะไรเป็นที่สุด มีความสิ้นเป็นที่สุด มีความสิ้นแห่งอะไรเป็นที่สุด ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะเห็นความสิ้นแห่งชาติชราและมรณะ ดังนี้แล จึงพยากรณ์อรหัตตผลว่าเรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กรณียะทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี

 

เสขสูตร

               พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ปริยายที่ภิกษุผู้เป็นเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิ พึงรู้ว่าเราเป็นพระเสขะ ปริยายที่ภิกษุผู้เป็นอเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในอเสขภูมิ พึงรู้ว่าเราเป็นพระอเสขะ มีอยู่หรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแบบอย่าง มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่อาศัย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เนื้อความแห่งภาษิตนี้แจ่มแจ้งด้วยเถิด ภิกษุทั้งหลายฟังแล้วจากพระองค์จักทรงจำไว้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

               “ปริยายที่ภิกษุผู้เป็นเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิ พึงรู้ว่าเราเป็นพระเสขะ ปริยายที่ภิกษุผู้เป็นอเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในอเสขภูมิ พึงรู้ว่าเราเป็นพระอเสขะ มีอยู่ ปริยายที่ภิกษุผู้เป็นเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิย่อมรู้ว่าเราเป็นพระเสขะ เป็นไฉน ภิกษุผู้เป็นเสขะในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

               อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นเสขะ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์อื่นภายนอกจากศาสนานี้ ซึ่งจะแสดงธรรมที่แท้จริงแน่นอนเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า มีอยู่หรือ พระเสขะนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์อื่นภายนอกจากศาสนานี้ ซึ่งจะแสดงธรรมที่จริงแท้แน่นอน เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มี

               อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นเสขะย่อมรู้ชัดซึ่งอินทรีย์ ๕ คือสัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา ๑ วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือวิริยะ ความเพียร ๑ สตินทรีย์ อินทรีย์คือสติ ๑ สมาธินทรีย์ อินทรีย์คือสมาธิ ๑ ปัญญินทรีย์ อินทรย์คือปัญญา ๑ อินทรีย์ ๕ นั้นมีสิ่งใดเป็นคติ มีสิ่งใดเป็นอย่างอย่าง มีสิ่งใดเป็นผล มีสิ่งใดเป็นที่สุด ภิกษุผู้เป็นเสขะ ยังไม่ถูกต้องสิ่งนั้นด้วยนามกายอยู่ แต่เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ปริยายแม้นี้แลที่ภิกษุผู้เป็นเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิ ย่อมรู้ว่าเราเป็นพระเสขะ

               ก็ปริยายที่ภิกษุผู้เป็นอเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในอเสขภูมิ ย่อมรู้ว่าเราเป็นพระอเสขะ เป็นไฉน ภิกษุผู้เป็นอเสขะในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดซึ่งอินทรีย์ ๕ คือสัทธินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ อินทรีย์ ๕ มีสิ่งใดเป็นคติ มีสิ่งใดเป็นอย่างยิ่ง มีสิ่งใดเป็นผล มีสิ่งใดเป็นที่สุด อริยสาวกผู้เป็นอเสขะถูกต้องสิ่งนั้นด้วยนามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ปริยายแม้นี้แลที่ภิกษุผู้เป็นอเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในอเสขภูมิ ย่อมรู้ชัดว่าเราเป็นพระอเสขะ

               อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นอเสขะ ย่อมรู้ชัดซึ่งอินทรีย์ ๖ คือ จักขุนรีย์ อินทรีย์คือจักขุ ตา ๑ โสตินทรีย์ อินทรีย์คือโสตะ หู ๑ ฆานินทรีย์ อินทรีย์คือฆานะ จมูก ๑ ชิวหินทรีย์ อินทรีย์คือชิวหา ลิ้น ๑ กายินทรีย์ อินทรีย์คือ กาย ๑ มนินทรีย์ อินทรีย์คือมนะ ใจ ๑ อริยสาวกผู้เป็นอเสขะย่อมรู้ชัดว่า อินทรีย์ ๖ เหล่านี้จักดับไปหมดสิ้นโดยประการทั้งปวด ไม่มีเหลือ และอินทรีย์ ๖ เหล่านั้นจักไม่เกิดขึ้นในภพไหน ๆ ปริยายแม้นี้ที่ภิกษุผู้เป็นอเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในอเสขภูมิ ย่อมรู้ชัดว่าเราเป็นพระอเสขะ”

               ข้อที่ว่า พระเสขะยังไม่ถูกต้องคือได้เฉพาะด้วยนามกาย แล้วเฉยอยู่ อธิบายว่า ย่อมไม่อาจถูกต้องคือได้เฉพาะ คำว่า แต่เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา คือย่อมรู้ชัดด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา (ปัจจเวกขณญาน) ว่า ชื่อว่าอินทรีย์คืออรหัตตผลเบื้องบนยังมีอยู่ ส่วนในภูมิของอเสขะ คำว่าถูกต้องแล้วอยู่ คือได้เฉพาะแล้วเฉยอยู่ คำว่า ด้วยปัญญา คือย่อมรู้ชัดด้วยปัญญา เครื่องพิจารณาว่า ชื่อว่าอินทรีย์คืออรหัตตผลมีอยู่ (จริง) แม้คำว่าทั้ง ๒ ว่า น กุหิญฺจิ กิสฺมิญฺจิ เป็นคำที่ใช้แทนกนและกันอยู่ อธิบายว่า จะไม่เกิดขึ้นในภพไร ๆ ในสูตรนี้ อินทรีย์ ๕ เป็นโลกุตตระ ส่วนอินทรีย์ ๖ พระพุทธเจ้าตรัสที่เป็นโลกียะ อาศัยวัฏฏะเท่านั้น

 

ปทสูตร

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า รอยเท้าชนิดใดชนิดหนึ่งของสัตว์ผู้เที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมดย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างโลกกล่าวว่า เป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยเท้าใหญ่ แม้ฉันใด บทแห่งธรรมเหล่าใดเหล่าวหนึ่งย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ บทคือปัญญินทรีย์ อินทรีย์คือปัญญา เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งบทธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้เป็นไฉน ได้แก่บทแห่งธรรม คือสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมเป้นไปเพื่อความตรัสรู้

               คำว่า บทแห่งธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมเป้นไปเพื่อความตรัสรู้ คือบทแห่งธรรมบทใดบทหนึ่ง ได้แก่ส่วนธรรมคำสอนส่วนใดส่วนหนึ่ง ย่อเป็นไปเพือความตรัสรู้

 

สารสูตร ว่าด้วยปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งบทธรรม

               พระพุทธเจ้าตรัสว่า รอยเท้าชินดใดชนิดหนึ่งของสัตว์ผู้เที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมดย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างโลกกล่าวว่า เป็นยอดของรอยเท้าทั้งหลาย เพราะเป็นรอยเท้าใหญ่ แม้ฉันใดบทแห่งธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ บทคือปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งบทธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ฉันนั้นเหมือนกัน ไม้มีกลิ่นที่แห่งชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ อินทรีย์คือปัญญา เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน คือสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์เป็น
โพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ไม้มีกลิ่นที่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใดโพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ฉันนั้นเหมือนกัน

 

ปติฏฐิตสูตร

               พระพุทธเจ้าตรัสว่า อินทรย์ ๕ เป็นอันภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันเอก เจริญแล้ว เจริญดีแล้ว ธรรมอันเอกคือความไม่ประมาท ก็ความไม่ประมาทเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรักษาจิตในอาวนะและในธรรมที่มีอาสวะ เมื่อเธอรักษาจิตในอาสวะและในธรรมที่อาสวะ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรียื แม้ปัญญินทรีย์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เป็นอันภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันเอกเจริญแล้ว เจริญดีแล้ว แม้ด้วยประการนี้

               อธิบายคำว่า ย่อมรักษาจิตในอาสวะและในธรรมที่มีอาสวะ คือผุ้ปรารภธรรมที่เป็นไปใน ๓ ภูมิแล้ว ห้ามการเกิดขึ้นแห่งอาสวะ ชื่อว่าย่อมรักษาจิตในสิ่งที่เป็นอาสวะและที่ประกอบด้วย
อาสวะ

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เล่ม ๓
หน้า ๑๘๕ -๑๘๙