Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๓๙

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

วัตติสูตร

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุผู้อันภิกษุสงฆ์ลงตัสสปาปิยสิกากรรม ต้องประพฤติชอบในธรรม ๘ ประการ คือ

            ๑. ไม่พึงให้อุปสมบท

            ๒. ไม่พึงให้นิสัย

            ๓. ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก

            ๔. ไม่พึงยินดีการสมมติตนเป็นผู้ให้โอวาทภิกษุณี

            ๕. แม้ได้รับสมมติแล้ว ก็ไม่พึงให้โอวาทภิกษุณี

            ๖. ไม่พึงยินดีการได้รับสมมติไร ๆ จากสงฆ์

            ๗. ไม่พึงได้รับตำแหน่งหัวหน้าไร ๆ

            ๘. ไม่พึงเป็นประธานให้ประพฤติวุฏฐานวิธี

            ตัสสปาปิยสิกากรรม เป็นกรรมอย่างหนึ่งคือการลงโทษ สำหรับทำแก่พระภิกษุผู้เป็นจำเลย ผู้จงใจปกปิดความประพฤติเสียของตนด้วยให้การเท็จ

 

ราคเปยยาลสูตร

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอทั้งหลายพึงเจริญธรรม ๘ ประการ เพื่อความรู้ยิ่งซึ่งราคะ คือสัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอทั้งหลายพึงเจริญธรรม ๘ ประการ เพื่อความรู้ยิ่งซึ่งราคะธรรม ธรรม ๘ ประการ คือ

            ๑. ผู้มีรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเล็กน้อย ทั้งมีผิวพรรณดี ทั้งมีผิวพรรณทราม ย่อมมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เราครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว จึงรู้จึงเห็น

                ๒. ผู้มีรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกหาประมาณมิได้ ทั้งมีผิวพรรณดี ทั้งมีผิวพรรณทราม ย่อมมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เราครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว จึงรู้จึงเห็น

            ๓. ผู้มีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเล็กน้อย ทั้งมีผิวพรรณดี ทั้งมีผิวพรรณทราม ย่อมมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เราครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว จึงรู้จึงเห็น

            ๔. ผู้มีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกหาประมาณมิได้ ทั้งมีผิวพรรณดี ทั้งมีผิวพรรณทราม ย่อมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เราครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว จึงรู้จึงเห็น

            ๕. ผู้มีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเขียว มีสีเขียว มีรัศมีเขียว แสงสว่างเขียว ย่อมมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เราครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว จึงรู้จึงเห็น

            ๖. ผู้มีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกเหลือง มีสีเหลือง มีรัศมีเหลือง แสงสว่างสีเหลือง ย่อมมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เราครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว จึงรู้จึงเห็น

            ๗. ผู้มีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกแดง มีสีแดง รัศมีแดง แสงสว่างแดง ย่อมมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เราครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว จึงรู้จึงเห็น

            ๘. ผู้มีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกขาว มีสีขาว รัศมีขาว แสงสว่างขาว ย่อมมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เราครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว จึงรู้จึงเห็น

           

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอทั้งหลายพึงเจริญธรรม ๘ ประการ เพื่อความรู้ยิ่งซึ่งราคะ ธรรม ๘ ประการ คือ

            ๑. ผู้ได้รูปฌานย่อมเห็นรูปทั้งหลาย

            ๒. ผู้มีอรูปสัญญาภายใน ย่อมเห็นรูปทั้งหลายในภายนอก

            ๓. ย่อมน้อมใจเชื่อว่า งาม (ในอรรถกถามัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อธิบายบาลีข้อ ๓๔๐ ว่า น้อมใจว่ากสิณงาม บริสุทธิ์หมดจด หรืองาม คือสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่น่าเกลียดด้วยอำนาจเมตตาเป็นต้น)

            ๔. เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา ความสำคัญหมายกระทบกระทั่ง เพราะไม่มีมนสิการถึงนานัตตสัญญา คือ ความสำคัญหมายต่าง ๆ ในรูปเป็นต้น ย่อมเข้าถึงอากาสนัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้

            ๕. เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง ย่อมเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้

            ๖. เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง ย่อมเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า อะไร ๆ ย่อมไม่มี

            ๗. เพราะล่วงอากิญจัญญาตนะโดยประการทั้งปวง ย่อมเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ

                ๘. เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง ย่อมเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับสัญญาเวทนา

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอทั้งหลายพึงเจริญกรรมฐาน ๘ ประการนี้ เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไปรอบ เพื่อละ เพื่อความสิ้นไป เพื่อความเสื่อมไป เพื่อความคลายไป เพื่อความดับ เพื่อสละ เพื่อสละคืนราะ เพื่อสละคืนซึ่งโทสะ ความร้ายกาจ เพื่อสละคืนซึ่งโทสะ ความหลง เพื่อสละคืนซึ่งโกธะ ความโกรธ เพื่อสละคืนซึ่งอุปนาหะ ความผูกโกรธไว้ เพื่อสละคืนซึ่งมักขะ ความลบหลู่คุณท่าน เพื่อสละคืนซึ่งปลาสะ ความตีเสมอคือยกตนข่มท่าน เพื่อสละคืนอิสสา ริษยา เพื่อสละคืนมัจฉริยะ ความตระหนี่ เพื่อสละคืนมายา เจ้าเล่ห์ เพื่อสละคืนสาเถยะ ถือตัว เพื่อสละคืนอติมานะ ดูหมิ่นท่าน เพื่อสละคืนมทะ ความมัวเมา เพื่อสละคืนปมาทะ ความประมาท รวมเป็นเพื่อสละคืนกิเลส ๑๗ ประการ

            ในพระสูตรนี้ แสดงธรรมปฏิบัติเพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไปรอบเพื่อละ เพื่อความสิ้นไป เพื่อความเสื่อมไป เพื่อความคลายไป เพื่อความดับไป เพื่อความสละ เพื่อความสละคืน กิเลส ๑๗ ประการ ข้อต่างจากอุปกิเลส ๑๖ คือข้อ ๑ แห่งอุปกิเลส ๑๖ ว่า อภิชฌาวิสมโลภะ แต่ในที่นี้ข้อ ๑ ว่า ราคะ กับในอุปกิเลส ๑๖ นั้นไม่มีโทสะ คือไม่ได้แสดงโมหะไว้โดยตรง แต่ในที่นี้มีโมหะ เพราะในอุปกิเลส ๑๖ ไม่ได้แสดงโมหะไว้จึงมี ๑๖ แต่ในที่นี้มีแสดงไว้จึงเป็น ๑๗ ฉะนั้น ในที่นี้จึงเท่ากับว่าแสดงกิเลสหรือุปกิเลส ๑๗

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๗๘ - ๑๘๑