Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๓๘

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

ยสสูตร

               พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นโกสัมพี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงพราหมณคามแห่งชนชาวโกศลชื่อ อิจฉานังคละ ประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ชื่อ อิจฉานังคละ ใกล้พราหมณคามชื่ออิจฉานังคละนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละได้สดับข่าว พากันถือของเคี้ยวของกินเป็นอันมากเข้าไปทางไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละนั้น ครั้นแล้วได้ยืนชุมนุมกันส่งเสียงอื้ออึ้งอยู่ที่ซุ้มด้านนอก

               สมัยนั้น ท่านพระนาคิตะเป็นพระอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสถามหาพระนาคิตะว่า พวกใครที่ส่งเสียงอื้ออึ้งอยู่นั้น คล้ายกับพวกชาวประมงแย่งปลากัน ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละเหล่านี้ พากันถือของเคี้ยวของกินเป็นจำนวนมาก มายืนชุมนุมกันอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธออย่าติดยศ และยศก็อย่าติดเรา ผู้ใดแลไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ผู้นั้นชื่อว่า พึงยินดีสุขอันไม่สะอาด สุขในการหลับนอน และสุขที่อาศัยลาภสักการะและการสรรเสริญ จึงไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขเหล่านั้น คือสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ ความออกเป็นต้น

               ท่านพระนาคิตะได้กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ ขอพระสุคตทรงรับ บัดนี้เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปทางใด ๆ พราหมณ์และคฤหบดีชาวนิคมและชาวชนบทก็จัดหลั่งไหลไปทางนั้น ๆ เปรียบเหมือนฝนเม็ดใหญ่ตกลงมา น้ำก็ย่อมไหลไปตามที่ลุ่มฉะนั้น ข้อนั้นเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีศีลและพระปัญญา

               พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธออย่าติดยศ และยศก็อย่าติดเรา ผู้ใดแลไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ วิเวก ความสงัด ความสงบ ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ผู้นั้นชื่อว่า พึงยินดีในสุขที่ไม่สะอาด สุขจากการหลับนอน และสุขที่อาศัยลาภสักการะและการสรรเสริญ แม้เทวดาบางพวกก็ไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ ความออก ความวิเวก ความสงัด ความสงบ ความตรัสรู้ที่เราพึงได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก แม้เธอทั้งหลายมาประชุมพร้อมกัน ประกอบการอยู่ด้วยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ย่อมมีความเห็นอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้ไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่ถึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขกันอันเกิดแต่เนกขัมมะ ความออก วิเวก ความสงัด ความสงบ ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากแน่นอน ก็ความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะท่านเหล่านี้มาประชุมพร้อมหน้ากัน ประกอบการอยู่ด้วยคลุกคลีหมู่คณะอยู่ เราเห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ใช้นิ้วจี้เล่นกระซิกกระซี้กันและกันอยู่ เรานั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านั้นไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ ความออก วิเวก ความสงัด ความสงบ ความตรัสรู้ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากแน่นอน ความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะท่านเหล่านี้มัวใช้นิ้วจี้เล่นกระซิกกระซี้กันและกันอยู่ เราเห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ฉันอาหารเต็มท้องพอแก่ความต้องการแล้ว มัวประกอบสุขในการนอน สุขในการเอน สุขในการหลับอยู่ เรานั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้ไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ ความออก วิเวก ความสงัด ความสงบ ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนาโดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากแน่นอน ความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะท่านเหล่านี้ ฉันอาหารเต็มท้องพอแก่ความต้องการแล้ว มัวประกอบสุขในการนอน ความสุขในการเอน ความสุขในการหลับอยู่ เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ นั่งสมาธิอยู่ที่วิหารใกล้บ้าน เรานั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้คนวัดหรือสมณุเทสคือเณรจักบำรุงท่านผู้นี้ทำให้เธอไปจากสมาธินั้นเสีย เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พอใจด้วยการอยู่ใกล้บ้านของภิกษุนั้น เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้นั่งโงกง่วงอยู่ในป่า เรานั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ท่านผู้นี้พอบรรเทาความลำบากในการหลับนอนนี้ได้แล้ว จักกระทำความสำคัญว่าอยู่ในป่าไว้ในใจได้ประมาณเท่านี้ เพราะเหตุนั้น เราจึงพอใจด้วยการอยู่ป่าของภิกษุนั้น เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้นั่งไม่เป็นสมาธิอยู่ในป่า เรานั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ท่านผู้นี้จักตั้งจิตมั่น หรือจักตามรักษาจิตที่ตั้งมั่นแล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงพอใจด้วยการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร นั่งสมาธิอยู่ในป่า เรานั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ท่านผู้นี้จักเปลื้องจิตที่ยังไม่หลุดพ้น หรือจักตามรักษาจิตที่หลุดพ้นแล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงพอใจการอยู่ป่าของภิกษุ่นั้น สมัยใด เราเดินทางไกล ไม่เห็นอะไรข้างหน้า ข้างหลัง สมัยนั้น เรามีความผาสุก

 

ปัตตสูตร ว่าด้วยการคว่ำบาตร

               พระพุทธเจ้าตรัสว่า สงฆ์หวังอยู่ พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ

๑. อุบาสกพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่ภิกษุทั้งหลาย

               ๒. พยายามเพื่อความฉิบหายแก่ภิกษุทั้งหลาย

               ๓. พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แก่ภิกษุทั้งหลาย

               ๔. ย่อมด่า บ่อมบริภาษภิกษุทั้งหลาย

               ๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกจากภิกษุทั้งหลาย

               ๖. ติเตียนพระพุทธเจ้า

               ๗. ติเตียนพระธรรม

               ๘. ติเตียนพระสงฆ์

               พระพุทธเจ้าตรัสว่า สงฆ์หวังอยู่ พึงหงานบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการคือ

               ๑. อุบาสกไม่พยายามเพื่อความเสื่อมลากแก่ภิกษุทั้งหลาย

               ๒. ไม่พยายามเพื่อความฉิบหายแก่ภิกษุทั้งหลาย

               ๓. ไม่พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แก่ภิกษุทั้งหลาย

               ๔. ไม่ด่า ไม่บริภาษภิกษุทั้งหลาย

               ๕. ไม่ยุยุงภิกษุทั้งหลายให้แตกจากภิกษุทั้งหลาย

               ๖. สรรเสริญพระพุทธเจ้า

               ๗. สรรเสริญพระธรรม

               ๘. สรรเสริญพระสงฆ์

               ในพระสูตรนี้ คำว่า พึงคว่ำบาตร ไม่ใช่หมายถึง เอาบาตรคว่ำหน้าลง แต่หมายถึงความไม่รับการถวายสักการะของอุบาสกนั้น ส่วนหงายบาตร หมายความว่า รับสักการะของอุบาสกนั้นได้ คว่ำบาตรก็คือไม่ให้รับไทยธรรมที่อุบาสกนั้นถวาย ไม่ใช่คว่ำบาตรโดยคว่ำปากบาตรลง หงายบาตรก็คือรับไทยธรรมที่อุบาสกนั้นถวาย

 

อัปปสาทสูตร

               พระพุทธจ้าตรัสว่า อุบาสกหวังอยู่ พึงประกาศความไม่เลื่อมใสแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ คือ

               ๑. ภิกษุพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๒. พยายามเพื่อความฉิบหายแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๓. ด่า บริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๔. ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๕. ติเตียนพระพุทธเจ้า

               ๖. ติเตียนพระธรรม

               ๗. ติเตียนพระสงฆ์

               ๘. และอุบาสกทั้งหลายย่อมเห็นภิกษุนั้นในที่อโคจร (คัมภีร์โบราณว่า เทวดาทั้งหลายย่อมเห็นภิกษุนั้นโดยประการนั้น)

               พระพุทธเจ้าตรัสว่า อุบาสกหวังอยู่ พึงประกาศความเลื่อมใสแก่ภิกษุผูประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ คือ

               ๑. ภิกษุไม่พยายามเพื่อความเสื่อมของคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๒. ไม่พยายามเพื่อความฉิบหายของคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๓. ไม่ด่า ไม่บริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๔. ไม่ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๕. สรรเสริญพระพุทธเจ้า

               ๖. สรรเสริญพระธรรม

               ๗. สรรเสริญพระสงฆ์

               ๘. และอุบาสกทั้งหลายย่อมเห็นภิกษุนั้นในที่โคจร (คัมภีร์โบราณว่าเทวดาทั้งหลายย่อมเห็นภิกษุนั้น โดยประการนั้น)

 

ปฏิสารณียสูตร

               พระพุทธเจ้าตรัสว่า สงฆ์หวังอยู่ พึงกระทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ คือ

               ๑. พยายามเพื่อความเสื่อมลาภของคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๒. พยายามเพื่อความฉิบหายของคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๓. ด่า บริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๔. ยุยงคฤหัสทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๕. ติเตียนพระพุทธเจ้า

               ๖. ติเตียนพระธรรม

               ๗. ติเตียนพระสงฆ์

               ๘. ไม่ยังคำรับต่อคฤหัสถ์ที่ชอบธรรมให้เป็นจริง

               พระพุทธเจ้าตรัสว่า สงฆ์หวังอยู่ พึงระงับปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ คือ

               ๑. ภิกษุไม่พยายามเพื่อความเสื่อมลากแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๒. ไม่พยายามเพื่อความฉิบหายแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๓. ไม่ด่า ไม่บริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๔. ไม่ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย

               ๕. กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า

               ๖. กล่าวสรรเสริญพระธรรม

               ๗. กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์

               ๘. ยังคำรับต่อคฤหัสถ์ที่ชอบธรรมให้เป็นจริง

               คำว่า ปฏิสารณียกรรม เป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่สงฆ์พึงกระทำแก่ภิกษุ คือประกาศว่าภิกษุชื่อนั้นได้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ คือ พยยามเพื่อความเสื่อมแก่คฤหัสทั้งหลาย เป็นต้น จึงสวดกรรมวาจาให้ภิกษุนั้นขอขมา ภิกษุนั้นเมื่อถูกสวดปฏิสารณียกรรมดั่งนี้ ต้องไปหาคฤหัสถ์นั้น ถ้าไปรูปเดียวไม่ได้ ก็ให้ไปกับภิกษุรูปหนึ่งเป็นอนุทูต และเมื่อพูดจาตกลงกันแล้ว ก็ให้แสดงอาบัติต่อหน้าคฤหัสถ์นั้นและขอขมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงอธิบายว่า ควรหมายความว่า ขอขมาต่อพระรัตนตรัย เพราะว่าได้กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้าด้วย ติเตียนพระธรรมด้วย ติเตียนพระสงฆ์ด้วย และเมื่อได้ปฏิบัติดั่งนี้แล้ว ก็ให้สวดกรรมวาจาระงับปฏิสารณียกรรมนั้นแก่ภิกษุผู้ประพฤติดั่งนั้น คือไม่พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลายเป็นต้น

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๗๐ - ๑๗๖