Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๓๗

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

อนุรุทธสูตร พระสูตรที่แสดงปรารภท่านพระอนุรุทธะ

                สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตารม กรุงโกสัมพี สมัยนั้นท่านพระอนุรุทธะไปยังวิหารที่พักกลางวัน หลีกเร้นอยู่ ได้มีเทวดาเหล่ามนาปกายิกา คือเหล่าที่มีเรือนร่างน่าชอบใจ มากมาย พากันเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวกับท่านว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นเทวดาชื่อ มนาปกายิกา มีความเป็นใหญ่และอำนาจในฐานะ ๓ ประการ คือข้าพเจ้าทั้งหลายหวังวรรณะใด ก็ได้วรรณะนั้นโดยพลัน หวังเสียงเช่นใด ก็ได้เสียงเช่นนั้นโดยพลัน หวังความสุขเช่นใด ก็ได้ความสุขเช่นนั้นโดยพลัน ท่านพระอนุรุทธะดำริว่า โอหนอขอให้เทวดาทั้งปวงนี้พึงมีร่างเขียว นุ่งผ้าเขียว มีผิวพรรณเขียว มีเครื่องประดับเขียว เทวดาเหล่านั้นทราบดำริของท่านพระอนุรุทธะแล้ว ก็ล้วนมีร่างเขียว นุ่งผ้าเขียว มีผิวพรรณเขียว มีเครื่องประดับเขียว ท่านพระอนุรุทธะจึงดำริต่อไปว่า ขอให้เทวดาทั้งปวงนี้พึงมีร่างเหลือง และต่อมาท่านก็ดำริให้อีกว่าขอให้พึงมีร่างแดง ต่อไปท่านก็ดำริอีกว่า ขอให้พึงมีร่างขาว และให้มีผ้านุง มีผิวพรรณ มีเครื่องประดับเป็นสีเช่นเดียวกัน เทวดาเหล่านั้นทราบดำริของพระอนุรุทธะแล้ว ก็ล้วนมีร่างเป็นต้นเป็นสีเขียว เป็นสีแดง เป็นสีขาว เหมือนอย่างที่ท่านดำรินั้น เทวดาเหล่านั้น องค์หนึ่งขับร้อง องค์หนึ่งฟ้อนรำ องคืหนึ่งปรบมือ เปรียบเหมือนดนตรีมีองค์ ๕ ที่เขาปรับดีแล้ว ตีดังไพเราะ ทั้งบรรเลงโดยนักดนตรีผู้เชี่ยวชาญ มีเสียงไพเราะเร้าใจ ชวนให้เคลิบเคลิ้ม ดูดดื่ม และน่ารื่นรมย์ฉันใด เสียงแห่งเครื่องประดับของเทวดาเหล่านั้นก็ฉันนั้น ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธะ
ทอดอินทรีย์ลง เทวดาเหล่านั้นทราบว่าท่านผู้เป็นเจ้าอนุรุทธะไม่ยินดี จึงอันตรธานหายไป ณ ที่นั้น

                ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ท่านพระอนุรุทธะออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูบว่า วันนี้ข้าพระองค์ไปยังวิหารที่พักกลางวันหลีกเร้นอยู่ ครั้งนั้นเทวดาเหล่ามนาปกายิกามากมายเข้ามาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ยืน ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวแก่ข้าพระองค์ว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นเทวดาชื่อมนาปกายิกา มีความเป็นใหญ่และอำนาจในฐานะ ๓ ประการ (ดังกล่าวข้างต้น) ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอให้เทวดาทั้งปวงนี้พึงมีร่างเขียวเป็นต้น มีร่างเหลืองเป็นต้น มีร่างแดงเป็นต้น มีร่างขาวเป็นต้น เทวดาเหล่านั้นก็ทราบความดำริของข้าพระองค์แล้ว ล้วนมีร่างเขียวเป็นต้น ตามที่ข้าพระองคืดำริให้เป็น เทวดาเหล่านั้น องค์หนึ่งขับร้อง องค์หนึ่งฟ้อนรำ องค์หนึ่งปรบมือ เหมือนอย่างดนตรีมีองค์ ๕ ที่เขาปรับดีแล้ว ตีดังไพเราะ ทั้งบรรเลงโดยนักดนตรีผู้เชี่ยวชาญ มีเสียงไพเราะ เร้าใจ ชวนให้เคลิบเคลิ้ม ดูดดื่ม และน่ารื่นรมย์ฉันใด เสียงแห่งเคื่องประดับของเทวดาเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์จึงทอดอินทรีย์ลง เทวดาเหล่านั้นทราบว่า ข้าพระองค์ไม่ยินดี จึงอันตรธานหายไป ณ ที่นั้นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มาตุคามคือสตรีภาพประกอบด้วยธรรมเท่าไร เมื่อตายไป จึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่า มนาปกายิกา

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา
เหล่ามนาปกายิกา ธรรม ๘ ประการ คือ

                ๑. มาตุคามในโลกนี้ ที่มารดาบิดาผู้มุ่งประโยชน์ แสวงหาความเกื้อกูล อนุเคราะห์ เอื้อเอ็นดู ยอมยกให้แก่ชายใดผู้เป็นสามี สำหรับชายนั้นเธอต้องตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยรับใช้ ประพฤติให้ถูกใจ กล่าวถ้อยคำเป็นที่รัก

                ๒. ชนเหล่าใดเป็นที่เคารพของสามี คือมารดาบิดาหรือสมณพราหมณ์ เธอสักการะเคารพนับถือบูชาชนเหล่านั้น และต้อนรับท่านเหล่านั้นผู้มาถึงแล้วด้วยอาสนะและน้ำ

                ๓. การงานใดเป็นงานในบ้านของสามี คือการทำผ้าขนสัตว์หรือผ้าฝ้าย เธอเป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำ

                ๔. ชนเหล่าใดเป็นคนภายในบ้านของสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกร ย่อมรู้การงานที่ชนเหล่านั้นทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ และย่อมรู้อาการของคนภายในผู้เป็นไข้ ว่าดีขึ้นหรือว่าทรุดลง และย่อมแบ่งปันของกินของบริโภคให้แก่เขาตามควร

                ๕. สิ่งใดที่สามีหามาได้ จะเป็นทรัพย์ ข้าว เงินหรือทอง ย่อมรักษาคุ้มครองสิ่งนั้นไว้ และไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ

                ๖. เป็นอุบาสิก ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ

                ๗. เป็นผู้มีศีล งดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

                ๘. เป็นผู้มีการบริจาค มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกแจกทาน

                มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่ามนาปกายิกา

                พระอาจารย์ได้อธิบายว่า ดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ คือ

                ๑. ดนตรีที่หุ้มหนังหน้าเดียว ในจำพวกกลองเป็นต้นที่หุ้มหนัง เรียกว่า อาตตะ

                ๒. ดนตรีที่หุ้มหนัง ๒ หน้า ชื่อว่า วิตตะ

                ๓. ดนตรีที่หุ้มหนังทั้งหมด ชื่อว่า อาตตะวิตตะ

                ๔. ดนตรีมีปี่เป็นต้น ชื่อว่า สุสิระ

                ๕. ดนตรีที่มีสัมมดาล (ฉิ่ง) ทำด้วยไม้ตาลเป็นต้น ชื่อว่า ฆนะ

                และข้อว่า ทอดอินทรีย์ลงอันเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านัน้รู้ว่าพระเถระไม่ต้องการ จึงพากันอันตรธานหายไป คือพระเถระคิดว่า เทวดาเหล่านี้ทำสิ่งที่ไม่สมควร จึงทอดอินทรีย์ลงเบื้องต่ำ คือลืมตาไม่มองดู ทอดสายตาลงไม่มองดู เทวดาเหล่านั้นคิดว่า เราฟ้อน เราขับ แต่พระผู้เป็นเจ้าอนุรุทธะ ไม่ยินดี ลืมตาไม่มองดู เราจะฟ้อนจะขับไปทำไม ดั่งนี้แล้ว จึงหายไปในที่นั่นเอง

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๖๗ - ๑๗๐