Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๓๖

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

จิตตสูตร ว่าด้วยวิญญาณฐิติ ที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ ประการ

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า วิญญาณฐิติ ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ ประการ คือ

๑.สัตว์บางพวกมีกายต่างกาย มีสัญญาต่างกัน เหมือนมนุษย์ เหมือนเทวดาบางพวก และวินิปาติกสัตว์ คือสัตว์ที่เกิดในภูมิที่ตกต่ำบางพวก

๒. สัตว์บางพวกมีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน เหมือนเทวดาชั้นพรหมกายิกาคือผู้ที่เกิดในหมู่พรหม ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน (ผู้บังเกิดก่อน ปฐมาภินิพฺพตฺตา)

๓. สัตว์บางพวกมีกายอย่างเดียวกัน แต่สัญญาต่างกัน เหมือนเทวดาชั้นอาภัสสระ

๔. สัตว์บางพวกมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เหมือนเทวดาชั้นสุภกิณหะ

๕. สัตว์บางพวกเข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ โดยมนสิการว่าง อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญาด้วยประการทั้งปวด เพราะดับปฏิฆสัญญาเสียได้ ไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญาคือความสำคัญหมายในอารมณ์ต่าง ๆ

๖. สัตว์บางพวกเข้าถึงชั้นวิญญานัญจายตนะ โดยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด เพราะล่วงอากานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง

๗. สัตว์บางพวกเข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ โดยมนสิการว่า ไม่มีอะไร ๆ เพราะล่วงวิญญานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง

มีอธิบายถึงสัตว์บางจำพวกไว้ว่า บรรดามนุษย์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ ในจักรวาลหาประมาณมิได้ แม้ ๒ คนจักชื่อว่าเสมือนมนุษย์คนเดียวกัน ด้วยอำนาจสีและทรวดทรงเป็นต้นหามีไม่ แม้มนุษย์เหล่าใดจักเป็นพี่น้องฝาแฝดกันตรงที่แลดู เหลียวดู พูด หัวเราะ เดินและยืน เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่า มีกายต่างกัน ก็ปฏิสนธิสัญญา ความสำคัญหมายในปฏิสนธิของสัตว์เหล่านั้น เป็นปฏิสนธิที่มีเหตุ ๓ ก็มี มีเหตุ ๒ ก็ดี หาเหตุมิได้ก็มีเพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า มีสัญญาต่างกัน ส่วนบทที่ว่า เทวดาบางพวก ก็ได้แก่ชั้นกามาพจร ๖ ชั้น จริงอยู่ บรรดาเทวดาชึ้นกามาพจร ๖ ชั้นนั้น เทวดาบางพวกมีกายเขียว บางพวกมีกายเหลืองเป็นต้น ส่วนสัญญาของเทวดาเหล่านั้นที่มีเหตุ ๒ ก็มี เหตุ ๓ กี ที่หาเหตุมิได้ก็มี

บทที่ว่า วินิปาติกะ คือสัตว์ที่เกิดในภูมิภพที่ตกต่ำบางพวก ก็ได้แก่สัตว์ผู้พ้นจากอบาย ๔ เป็นต้นว่า อุตตรมาตายักษิณี ปิยังกรมาตายักษิณี ผุสสมิตตายักษิณี ธัมมคุตตายักษิณี และเวมานิกเปรตคือเปรตมีวิมานเป็นต้น สัตว์เหล่านั้นมีกายต่างกันโดยผิว มีผิวเหลือง ผิวขาว ผิวดำ ผิวคล้ำ เป็นต้น และโดยผอม อ้วน เตี้ยและสูง แม้สัญญาก็ต่างกัน โดยเป็นสัตว์ที่มีเหตุ ๒ มีเหตุ ๓ และเป็นอเหตุกะ ไม่มีเหตุ แต่สัตว์เหล่านั้นไม่มีอำนาจมากเหมือนเทวดา มีอำนาจน้อย มีอากหารและเครื่องนุ่งห่มหายาก อยู่เป็นทุกข์เหมือนมนุษย์ยากไร้ บางพวกต้องทุกข์เวลาข้างแรม มีสุขเวลาข้างขึ้น ฉะนั้น จึงตรัสว่าวินิปาติกะ สัตว์ที่เกิดในภพภูมิที่ตกต่ำ เพราะตกไปจากกองสุข ส่วนบรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดที่เป็นสัตว์มีเหตุ ๓ สัตว์เหล่านั้นตรัสรู้ธรรมก็มี เหมือนอย่างปิยังกรมาตายักษณีเป็นต้น

บทว่า พรหมกายิกา ผู้บังเกิดในหมู่พรหม ได้แก่พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา บทที่ว่า บังเกิดก่อน ได้แก่สัตว์เหล่านั้นแม้ทั้งหมดบังเกิดด้วยปฐมฌาน คือคำว่า บังเกิดก่อน ก่อนก็คือปฐม ก็คือบังเกิดด้วยปฐมฌาน ส่วนพรหมปาริสัชชาบังเกิดด้วยปฐมฌานอย่างอ่อน พรหมปาริสัชชาเหล่านั้นมีอายุประมาณเท่ากับส่วนที่ ๓ แห่งกัป พรหมปุโรหิตาบังเกิดด้วยปฐมฌานปานกลาง มีอายุประมาณกึ่งกัป พรหมเหล่านั้นจึงมีกายกว้างกว่ากัน มหาพรหมาบังเกิดขึ้นโดยปฐมฌานอย่างประณีต มีอายุประมาณกัปหนึ่ง แต่มหาพรหมาเหล่านั้นมีกายกว้างอย่างยิ่ง ดังนั้น พรหมเหล่านั้นพึงทราบว่ามีกายต่างกัน มีสัญญาเป็นอันเดียวกันด้วยอำนาจปฐมฌาน สัตว์ในอบาย ๔ ก็เหมือนกับพรหมเหล่านั้น จริงอยู่ ในนรกทั้งหลาย สัตว์บางพวกมีอัตภาพคาวุต ๑ บางพวกกึ่งโยชน์ บางพวกโยชน์หนึ่ง แต่ของพระเทวทัต ๑๐๐ โยชน์ แม้ในบรรดาสัตว์เดรัจฉาน บางพวกเล็ก บางพวกใหญ่ แม้ในเปตติวิสัย บางพวก ๖๐ ศอก บางพวก ๑๐ ศอก บางพวกมีวรรณะดี บางพวกมีวรรณทราม พวกกาลกัญชกอสูรก็เหมือนกัน อีกอย่างหนึ่ง ในพวกอสูรเหล่านั้นชื่อว่า ทีฆปิฏฐิกอสูร ๖๐ โยชน์ ก็สัญญาของอสูรแม้ทั้งหมดเป็นอกุศลวิบากอเหตุกะ ดั่งนี้ สัตว์ผู้เกิดในอบายย่อมนับว่ามีกายต่างกัน มีสัญญาอันเดียวกัน

บทว่า อาภัสสรา ความว่า พรหมชื่อว่า อาภัสสรา เพราะพรหมเหล่านั้น มีรัศมีซ่านออก คือแผ่ออกไปจากสรีระ ดุจขาดตกลงเหมือนเปลวไฟแห่งคบไฟ ฉะนั้น อาภัสสราพรหมเหล่านั้น ผู้เจริญทุตยฌานและตติยฌานทั้ง ๒ อย่างอ่อน ในปัญจกนัย คือนัยที่ว่าด้วยพรหมที่ว่าด้วยฌาน ๕ เกิดขึ้นชื่อว่า ปริตรตาภาพรหม ปริตรตาภาพรหมเหล่านั้นมีอายุประมาณ ๒ กัป ที่เจริญทุติยฌานและตติยฌานอย่างกลาง เกิดขึ้นชื่อว่าอัปปมาณาภาพรหม อัปปมาณาภาพรหมเหล่านั้นมีอายุประมาณ ๔ กัป ที่เจริญทุติยฌานและตติยฌานอย่างประณีต เกิดขึ้นชื่อว่าอาภัสสราพรหม อาภัสสราพรหมเหล่านั้นมีอายุประมาณ ๘ กัป ในที่นี้ทรงถือเอาพรหมเหล่านั้นทั้งมดโดยการกำหนดอย่างอุกฤษฏ์ ความจริงพรหมเหล่านั้นทั้งหมดมีกายกว้างเป็นอย่างเดียว ส่วนสัญญาต่างกัน คือไม่มีวิตก เพียงมีวิจารบ้าง ไม่มีวิตกวิจารบ้าง

บทว่า สุภกิณหะ ความว่า พรหมทั้งหลายมีรัศมีจากสรีระระยิบระยับด้วยความงาม รัศมีแห่งสรีระโดยความงาม อธิบายว่า เป็นแท่งทึบโดยความงาม จริงอยู่ สุภกิณหะที่บังเกิดขึ้นชื่อว่า ปริตตสุภาพรหม อัปปมาณสุภาพรหม และสุภกิณหพรหม มีอายุ ๑๒ กัป ๒๔ กัป และ ๖๔ กัป ด้วยอำนาจจตุตถฌานอย่างอ่อน อย่างกลาง และอย่างประณีต ดั่งนั้น พรหมเหล่านั้นทั้งหมดพึงทราบว่ามีกายอย่างเดียวกัน และมีสัญญาอย่างเดียวกัน ด้วยสัญญาในจตุตถฌาน ส่วนเวหัปผลาพรหมย่อมนับเข้าวิญญาฐิติที่ ๔ นั่นเอง เหล่าอสัญญีสัตว์หรืออวิญญาณาภาพรหมไม่สงเคราะห์เข้าในวิญญาณฐิตินี้ แต่เข้าในสัตตาวาสทั้งหลาย สุทธาวาสพรหมตั้งอยู่ในฝ่ายวิวัฏฏะ ย่อมไม่มีตลอดกาลทุกเมื่อ คือไม่เกิดขึ้นในโลกที่ว่างจากพระพุทธเจ้าตลอดแสนกัปบ้าง อสงไขหนึ่งบ้าง เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นแล้วนั่นแหละ ย่อมเกิดขึ้นภายในเขตกำหนดอายุ ๑๖,๐๐๐ กัป ย่อมเป็นเสมือนค่ายพักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระธรรมจักรพรรดิ เพราะฉะนั้นจึงไม่จัดเข้าในวิญญาณฐิติและสัตตาวาส ส่วนพระมหาสิวเถระกล่าวว่า แม้พรหมชั้นสุทธาวาสก็ย่อมจัดเข้าในวิญญาณฐิติที่ ๔ และสัตตาวาสที่ ๔ โดยสูตรนี้ว่า “ดูก่อนสารีบุตร สัตตาวาสที่เราไม่เคยอยู่เลยโดยกาลอันยืดยาวนานนี่หาได้ยาก เว้นเทวดาเหล่าสุทธาวาส” คำนั้นเป็นที่ยอมรับแล้วเพราะไม่มีพระสูตรชัดแย้ง เนวสัญญนาสัญญายตนฌาน ชื่อว่า มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ เพราะแม้วิญญาณก็เป็นของละเอียดเหมือนสัญยา เพราะฉะนั้นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น จึงไม่ตรัสไว้ในวิญญาณฐิติทั้งหลาย

 

ปริขาสูตร ว่าด้วยองค์ที่เป็นบริขารของสมาธิ

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า องค์แห่งสมาธิ ๗ ประการนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ เอกัคคตาจิตคือสมาธิ ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้ เรียกว่า อริยสมาธิ ที่เป็นไปด้วยอุปนิสัยก็มี ที่เป็นไปด้วยบริขารก็มี

                ในพระสูตรนี้ตรัสถึงองค์ประกอบแห่งสมาธิสัมปยุตด้วยมรรค โดยยกสมาธิขึ้นเป็นที่ตั้ง อันได้แก่สัมมาสมาธิ อันเป็นมรรคข้อที่ ๘ และตรัสเอามรรคอีก ๗ ข้อข้างต้น มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น จนถึงสัมมาสติเป็นที่สุด มาเป็นองค์ประกอบแห่งสมาธิ และทั้งหมดนี้ก็เรียกว่า เป็นสมาธิบริขาร คือองคืประกอบแห่งสมาธิอันสัมปยุตด้วยมรรค

 

อัคคิสูตร ว่าด้วยไฟ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไฟ ๗ กองนี้ คือ ๑. ไฟคือราคะ ๒. ไฟคือโทสะ ๓. ไฟคือโมหะ ๔. ไปคืออาหุเนยยะ บุคคลที่ควรบูชา ๕. ไฟคือคฤหบดี ๖. ไฟคือทักขิเณยยบุคคล บุคคลที่ควรแก่ทักษณา ของทำบุญ การทำบุญ ๗. ไฟเกิดแต่ไม้

และได้มีอธิบายโดยย่อว่า กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ชื่อว่า อัคคิ ไฟ เพราะอรรถว่าตามเผาผลาญ ก็ได้แก่ไฟ ๓ กองข้างต้น ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ

ส่วน อาหุเนยยัคคิ ไฟคืออาหุเนยยะ บุคคลผู้ควรบูชา อธิบายว่าสักการะเรียกว่า อาหุนะ คือสิ่งที่นำมาบูชา ชนเหล่านั้นชื่อว่า อาหุเนยยะ และมีอธิบายว่ามารดาบิดาย่อมควรซึ่งอาหุนะ เพราะท่านทั้ง ๒ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุตรทั้งหลาย ท่านจึงชื่อว่า เป็นอาหุเนยยะ ผู้ควรของที่นำมาบูชาหรือสิ่งที่นำมาบูชาของบุตรทั้งหลาย หากว่าบุตรทั้งหลายปฏิบัติผิดในมารดาบิดาทั้ง ๒ นั้น ย่อมบังเกิดในอบายมีนรกเป็นต้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ามารดาและบิดา จะมิได้ตามเผาผลาญอยู่ก็จริง แต่ถึงกระนั้นท่านทั้ง ๒ ก็ยังคงเป็นปัจจัยแห่งการเผาผลาญได้ในเมื่อบุตรปฏิบัติผิดในท่าน จึงเรียกมารดาบิดาว่าอาหุเนยยัคคิ เพระอรรถว่าตามเผาผลาญนั่นแหละ

ส่วนไฟคือคฤหบดี เจ้าบ้านท่านเรียกว่า คหบดีหรือคฤหบดี จริงอยู่ คฤหบดีนั้นมีอุปการะมากแก่มาตุคาม คือหมายถึงว่าพ่อบ้านก็มีอุปการะมากแก่แม่บ้านคือภรรยาด้วยการมองให้ซึ่งที่นอนเสื้อผ้าและเครื่องประดับเป็นต้น เพราะฉะนั้น ภรรยาผู้เป็นแม่บ้านซึ่งนอกใจสมาธินั้นย่อมบังเกิดในอบาย เพราะฉะนั้น สามีแม้นั้นท่านก็เรียกว่า คหปตัคคิ ไฟคือคฤหบดี เพราะอรรถว่าตามเผาผลาญได้ โดยนัยที่มาตุคามหรือแม่บ้นประพฤตินอกใจ

ส่วนคำว่า ทักขิเณยยัคคิ ไฟคือทักขิเณยยะ บุคคลผู้ควรแก่ทักษิณา ภิกษุสงฆ์ชื่อว่า ทักขิเณยยะบุคคล ผู้ควรแก่ทักษิณา ของทำบุญ จริงอยู่ ภิกษุสงฆ์นั้นย่อมเป็นผู้มีอุปการะมากแก่คฤหัสทั้งหลาย ด้วยการประกอบไว้ในกัลยาณธรรมทั้งหลาย มีอาทิคือใน สรณะ ๓ ศีล ๕ ศีล ๑๐ การบำรุงมารดาบิดา การบำรุงสมณะและพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม คฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติผิดในภิกษุสงฆ์นั้น คือด่าบริภาษภิกษุสงฆ์ ย่อมบังเกิดในอบายทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ภิกษุสงฆ์นั้นท่านเรียกว่า ทักขิเณยยัคิ ไฟคือทักขิเณยยบุคคล เพราะอรรถว่าตามเผาผลาญดังกล่าว

ไฟตามปกติที่เกิดแก่ไม้ชื่อ กัฏฐัคคิ ไฟเกิดแต่ไม้

  

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๖๐ - ๑๖๖