Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๓๕

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

  

อาชีวกสูตร

            ท่านพระอานนท์อยู่ที่วัดโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี คฤหบดีสาวกของอาชีวกผู้หนึ่งเข้าไปหาท่าน ครั้นเข้าไปถึงแล้วอภิวาทท่าน ท่านนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงถามท่านพระอานนท์ว่า เรา ๒ พวก ธรรมของใครเป็นสวากขาโต คือกล่าวดี ใครเป็นสุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลก ใครเป็นสุคโต ดำเนินดีแล้วในโลก

            ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวถามคฤหบดีนั้น เป็นการย้อนถามว่า ถ้าเช่นนั้น จะขอย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านพอใจอย่างใด พึงตอบอย่างนั้น ท่านสำคัญข้อนี้ว่ากระไร บุคคลเหล่าใดแสดงธรรมเพื่อละราคะโทสะโมหะ ธรรมของบุคคลเหล่านั้นเป็นสวากขาโต คือธรรมที่กล่าวดีแล้วหรือไม่ หรือว่าท่านมีความคิดเห็นอย่างไรในข้อนี้

            คฤหบดีตอบว่า บุคคลเหล่าใดแสดงธรรมเพื่อละราคะโทสะโมหะ ธรรมของบุคคลเหล่านั้นเป็นสวากขาโต แสดงดีแล้ว ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้

            ท่านพระอานนท์ได้กล่าวต่อไปว่า บุคคลเหล่าใดแสดงธรรมเพื่อละราคะโทสะโมหะ บุคคลเหล่านั้นปฏิบัติดีแล้วในโลกหรือไม่ หรือว่าท่านมีความคิดเห็นอย่างไรในข้อนี้

คฤหบดีตอบว่า บุคคลเหล่าใดแสดงธรรมเพื่อละราคะโทสะโมหะ บุคคลเหล่านั้นเป็นสุปฏิปันโน คือเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลก ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้

ท่านพระอานนท์ได้กล่าวถามต่อไปว่า ราคะ โทสะ โมหะ อันบุคคลเหล่าใดละได้แล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ทำไม่ให้มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา บุคคลเหล่านั้นเป็นสุคตะหรือสุคโตผู้ดำเนินดีแล้วในโลกหรือไม่ หรือท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้

คฤหบดีได้กล่าวตอบว่า ราคะ โทสะ โมหะ อันบุคคลเหล่าใดละได้แล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ทำไม่ให้มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ชื่อว่า สุคตะหรือสุคโตผู้ดำเนินดีแล้วในโลก ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้

ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวว่า ข้อนี้ท่านก็ตอบเองแล้วว่า บุคคลเหล่าใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ธรรมของบุคคลเหล่านั้นเป็นสวากขาตะหรือสวากขาโต กล่าวดีแล้ว ข้อนี้ท่านก็ตอบเองแล้วว่า บุคคลเหล่าใดปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ บุคคลเหล่านั้นเป็นสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีแล้วในโลก ข้อนี้ท่านก็ตอบเองแล้วว่า ราคะ โทสะ โมหะ อันบุคคเหล่าใดละได้แล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ทำไม่ให้มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา บุคคลเหล่านั้นเป็นสุคโตหรือสุคตะ ผู้ดำเนินดีแล้วในโลก

คฤหบดีจึงได้กล่าวชมท่านพระอานนท์ว่า ประหลาดจริงๆ การแสดงธรรมแบบนี้ชื่อว่าไม่เป็นการยกธรรมฝ่ายตน และไม่เป็นการรุกรานธรรมของฝ่ายอื่น เป็นการแสดงอยู่ในเขตแดนแท้ กล่าวแต่เนื้อความ ไม่นำตนเข้าไปปะปนด้วย ท่านทั้งหลายแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ท่านทั้งหลายแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ธรรมของท่านเป็นสวากขาตะหรือสวากขาโต กล่าวดีแล้ว ท่านทั้งหลายปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ท่านทั้งหลายเป็นสุปฏิปันนะหรือสุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลก ราคะ โทสะ โมหะ อันท่านทั้งหลายละได้แล้ว ท่านทั้งหลายเป็นสุคโตหรือสุคตะ ผู้ดำเนินดีแล้วในโลก ดีจริง ดีจริง ท่านพระอานนท์บอกพระธรรมหลายปริยาย เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง ส่องตะเกียงในที่มืดเพื่อให้คนตาดีเห็นรูปร่างต่างๆ ฉะนั้น ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นอุบาสก ถึงสรณะแล้วตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้ไป

 

นิททสสูตร ว่าด้วยผู้ที่พึงเคารพยกย่องนับถือบูชา

            พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี สมัยหนึ่งเวลาเช้า ท่านพระอานนท์เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี ท่านคิดว่า เวลายังเช้านัก ควรจะเข้าไปยังอารามของพวกเดียรถีย์ปริพาชก คือของนักบวชในลัทธิอื่น ท่านจึงเข้าไปยังอารามของพวกเขา ได้สนทนากับเขา ครั้งนั้นพวกปริพาชกคือพวกนักบวชในลัทธิอื่น กำลังนั่งประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้นิททสะ คือผู้ที่พึงเคารพนับถือบูชา ท่านพระอานนท์ก็ไม่ยินดีไม่คัดค้านคำกล่าวของพวกเขา แล้วก็ลุกออกจากอาสนะหลีกออกไปด้วยตั้งใจว่า จะรู้ถึงเนื้อความแห่งคำกล่าวของพวกเขาในสำนักของพระพุทธเจ้า ครั้นท่านเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพี กลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังฉันภัตตาหารแล้ว ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ได้กราบทูลเล่าความที่ได้เข้าไปยังสำนักปริพาชก และได้ฟังเขากำลังประชุมสนทนากันอยู่จึงได้ตั้งใจจะมากราบทูล เพราะคิดว่าจะได้รู้ถึงเนื้อความของภาษิตนี้ในสำนักของพระพุทธเจ้า แล้วจึงได้กราบทูลพระองค์ว่า อาจหรือหนอ เพื่อที่จะทรงบัญญัติภิกษุผู้นิททสะ คือผู้ที่พึงเคารพยกย่องนับถือบูชาด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียวในธรรมวินัยนี้

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มีใครๆ อาจเพื่อบัญญัติภิกษุผู้นิททสะด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียวในธรรมวินัยนี้ วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้ เราคือพระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว คือ พระภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต สดับตรับฟังมาก ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑ วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว ภิกษุผู้ประกอบด้วยวัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปีก็ดี ควรจะเรียกได้ว่า ภิกษุผู้นิททสะ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปีก็ดี ๓๖ ปีก็ดี ๔๘ ปีก็ดี ก็ควรจะเรียกได้ว่า ภิกษุผู้นิททสะ คือผู้ที่พึงเคารพยกย่องนับถือบูชา

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๕๖ - ๑๕๙