Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๓๔

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

  

นิสันติสูตร ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก จำพวกที่ ๖

            พระพุทธเจ้าตรัสบุคคล ๔ จำพวก เช่นเดียวกับจำพวกที่ ๕ และมีพระพุทธาธิบายว่า

๑. บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้รู้ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งเป็นผู้มีอุปนิสัยทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้ เป็นผู้ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ เป็นผู้รู้อรรถทั่วถึงแล้วรู้ธรรมทั่วถึงแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ไม่เป็นผู้มีวาจาไพเราะ ไม่เป็นผู้มีถ้อยคำอ่อนหวาน ไม่ประกอบด้วยถ้อยคำของชาวเมือง ถ้อยคำที่สละสลวย ไม่มีโทษ ทำให้รู้เนื้อความง่าย และไม่แสดงธรรมให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง

๒.  บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้รู้ได้รวดเร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งไม่เป็นผู้มีอุปนิสัยทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว ไม่เป็นผู้ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้ และหารู้อรรถรู้ธรรมทั่วถึงแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ แต่เป็นผู้มีวาจาไพเราะ มีถ้อยคำอ่อนหวาน ประกอบด้วยถ้อยคำของชาวเมือง ถ้อยคำสละสลวย ไม่มีโทษ ทำให้รู้เนื้อความง่าย และแสดงธรรมให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง

๓.    บุคคลไม่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้รู้ได้รวดเร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งไม่เป็นผู้มีอุปนิสัยทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว ไม่เป็นผู้ที่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้ และหารู้อรรถรู้ธรรมทั่วถึงแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ ซ้ำไม่เป็นผู้ที่มีวาจาไพเราะ ไม่เป็นผู้ที่มีถ้อยคำอ่อนหวาน ไม่ประกอบด้วยถ้อยคำของชาวเมือง ถ้อยคำที่สละสลวย หาโทษมิได้ ทำให้รู้เนื้อความง่าย และไม่แสดงธรรมให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง

๔.     บุคคลปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้รู้ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งเป็นผู้มีอุปนิสัยทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้ เป็นผู้ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้ว เป็นผู้รู้อรรถทั่วถึงแล้วรู้ธรรมทั่วถึงแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นผู้มีวาจาไพเราะ มีถ้อยคำอ่อนหวาน ประกอบด้วยถ้อยคำของชาวเมือง ถ้อยคำสละสลวย ปราศจากโทษ ทำให้รู้เนื้อความง่าย และเป็นผู้แสดงธรรมให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง

 

อัตตหิตสูตร ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก จำพวกที่ ๗

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ

บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นจำพวก ๑

บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนจำพวก ๑

บุคคลไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่นจำพวก ๑

บุคคลผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่นจำพวก ๑

บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก

 

สิกขาสูตร ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก จำพวกที่ ๘

            พระพุทธเจ้าตรัสบุคคล ๔ จำพวก เหมือนอย่างจำพวกที่ ๗ หรือ ๗ จำพวกที่แล้วมา และมีพระพุทธาธิบายว่า

๑.  บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ละเว้นจากปาณาติบาตด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นเพื่อละเว้นจากปาณาติบาต เป็นผู้ละเว้นอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นเพื่อละเว้นจากอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน

๒.  บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ละเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นทั้ง ๕ ข้อนั้น แต่ชักชวนผู้อื่นเพื่อละเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นทั้ง ๕ ข้อนั้น

๓.    บุคคลไม่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ตนเองก็ไม่ละเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นทั้ง ๕ ข้อนี้ ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่นเพื่อละเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นทั้ง ๕ ข้อนั้น

๔.      บุคคลปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทั้งละเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นทั้ง ๕ ข้อนั้นด้วยตนเอง ทั้งชักชวนผู้อื่นเพื่อละเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นทั้ง ๕ ข้อนั้น

 

โปตลิยสูตร

            พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับปริพาชกชื่อ โปตลิยะ ผู้เข้าไปเฝ้าพระองค์ว่าบุคคล ๔ จำพวก คือ

๑.   บุคคลจำพวกหนึ่งกล่าวติคนที่ควรติตามเรื่องที่จริงที่แท้ตามกาลอันควร แต่ไม่กล่าวชมคนที่ควรชม ตามเรื่องที่จริงที่แท้ตามกาลอันควร

๒.  บุคคลจำพวกหนึ่งกล่าวชมคนที่ควรชมตามเรื่องที่จริงแท้ตามกาลอันควร แต่ไม่กล่าวติคนที่ควรติ ตามเรื่องที่จริงที่แท้ตามกาลอันควร

๓.   บุคคลจำพวกหนึ่งทั้งไม่กล่าวติคนที่ควรติ ทั้งไม่กล่าวชมคนที่ควรชม ตามเรื่องที่จริงที่แท้ตามกาลอันควร

๔.   บุคคลจำพวกหนึ่งกล่าวติคนที่ควรติบ้าง กล่าวชมคนที่ควรชมบ้าง ตามเรื่องที่จริงที่แท้ตามกาลอันควร

โปตลิยปริพาชกกล่าวทูลว่า บุคคล ๔ จำพวกนี้ทั้งไม่กล่าวติคนที่ควรติ ทั้งยังไม่กล่าวชมคนที่ควรชม นี้ชอบใจแก่ตนคือปริพาชกนั้นว่า ดีกว่า ประณีตกว่า เพราะเหตุว่ามีอุเบกขา ความมัธยัสถ์วางตนเป็นกลางหรือวางเฉย นั่นเป็นการดี พระพุทธเจ้าตรัสค้านว่า ในบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลจำพวกหนึ่งกล่าวติคนที่ควรติบ้าง กล่าวชมคนที่ควรชมบ้าง ตามเรื่องที่จริงที่แท้ตามกาลอันควรนี้ชอบใจเราคือชอบใจพระองค์ พระพุทธเจ้าว่าดีกว่าประณีตกว่า เพราะเหตุว่าเป็นผู้รู้จักกาลในสถานนั้นๆ นั่นเป็นการดี โปตลิยปริพาชกกราบทูลเห็นด้วยตามพระพุทธดำรัส และประกาศตนเป็นอุบาสกว่า บุคคล ๔ จำพวกนี้ จำพวกที่กล่าวติคนที่ควรติบ้าง กล่าวชมคนที่ควรชมบ้าง ตามเรื่องที่จริงที่แท้ตามกาลอันควร นี้ชอบใจแก่ตนกว่า ดีกว่าประณีตกว่า เพราะเหตุว่าเป็นผู้รู้จักกาลในสถานนั้นๆ นั่นเป็นการดี และได้กล่าวชมพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ได้ประกาศธรรมหลายปริยาย เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดเผยของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องตะเกียงในที่มืดให้คนมีตาดีได้เห็นรูปต่างๆ ฉะนั้น จึงขอถึงพระโคดมผู้เจริญ กับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระโคดมทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้ไป

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๕๒ - ๑๕๖