Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๓๓

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

  

ตติยสมาธิสูตร สมาธิสูตรที่ ๓ ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก จำพวกที่ ๓

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ

๑.      บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ได้ความสงบใจในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

๒.    บุคคลบางคนได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา แต่ไม่ได้ความสงบใจในภายใน

๓.     บุคคลบางคนไม่ได้ทั้งความสงบใจในภายใน ไม่ได้ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

๔.     บุคคลบางคนได้ทั้งความสงบใจในภายใน ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

แม้ในพระสูตรนี้ก็แสดงบุคคล ๔ จำพวกเหมือนกันกับสมาธิสูตรที่ ๓ คือ สมาธิสูตรที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ นี้ แสดงบุคคล ๔ จำพวกเหมือนกัน แต่ว่าพระพุทธาธิบายนี้มีต่างกัน สำหรับในสมาธิสูตรที่ ๓ นี้ มีพระพุทธาธิบายว่า ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น

๑.      บุคคลใดที่ได้ความสงบใจในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา บุคคลนั้นควรเข้าไปหาบุคคลผู้ได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา แล้วไต่ถามว่าสังขารทั้งหลายจะพึงเห็นอย่างไร จะพึงกำหนดอย่างไร จะพึงเห็นแจ้งอย่างไร บุคคลผู้ได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา ย่อมจะกล่าวแก้แก่บุคคลนั้นตามที่ตนเห็น ตามที่ตนรู้ว่า สังขารทั้งหลายพึงเห็นอย่างนี้ พึงกำหนดเอาอย่างนี้ พึงเห็นแจ้งอย่างนี้ ต่อไปบุคคลนั้นก็ย่อมจะได้ทั้งความสงบใจในภายใน ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

๒.    บุคคลใดผู้ได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา แต่ไม่ได้ความสงบใจในภายใน บุคคลนั้นควรเข้าไปหาบุคคลผู้ได้ความสงบใจในภายใน แล้วไต่ถามว่าจิตจะพึงดำรงไว้อย่างไร พึงน้อมไปอย่างไร พึงทำให้เป็นอารมณ์เดียวอย่างไร พึงทำให้เป็นสมาธิอย่างไร บุคคลผู้ได้ความสงบใจในภายในย่อมจะกล่าวแก้แก่บุคคลนั้นตามที่ตนเห็น ตามที่ตนรู้ว่า จิตพึงดำรงไว้อย่างนี้ พึงน้อมไปอย่างนี้ พึงทำให้เป็นอารมณ์เดียวอย่างนี้ พึงทำให้เป็นสมาธิอย่างนี้ ต่อไปบุคคลนั้นก็ย่อมจะได้ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา ทั้งความสงบใจในภายใน

๓.     บุคคลใดที่ไม่ได้ทั้งความสงบใจในภายใน ไม่ได้ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา บุคคลนั้นควรเข้าไปหาบุคคลผู้ได้ธรรมทั้ง ๒ อย่างนั้น แล้วไต่ถามว่าจิตจะพึงดำรงไว้อย่างไร พึงน้อมไปอย่างไร พึงทำให้เป็นอารมณ์เดียวอย่างไร พึงทำให้เป็นสมาธิอย่างไร สังขารทั้งหลายจะพึงเห็นอย่างไร พึงกำหนดเอาอย่างไร พึงเห็นแจ้งอย่างไร บุคคลผู้ได้ธรรมทั้ง ๒ อย่างนั้น ย่อมจะกล่าวแก้แก่บุคคลนั้นตามที่ตนเห็น ตามที่ตนรู้ว่า จิตพึงดำรงไว้อย่างนี้ พึงน้อมไปอย่างนี้ พึงทำให้เป็นอารมณ์เดียวอย่างนี้ พึงทำให้เป็นสมาธิอย่างนี้ สังขารทั้งหลายพึงเห็นอย่างนี้ พึงกำหนดเอาอย่างนี้ พึงเห็นแจ้งอย่างนี้ ต่อไปบุคคลนั้นก็ย่อมจะได้ทั้งความสงบใจในภายใน ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

๔.     บุคคลที่ได้ทั้งความสงบใจในภายใน ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา บุคคลนั้นควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้ง ๒ นั้น แล้วทำการประกอบความเพียรเพื่อความสิ้นอาสวะยิ่งขึ้นไป

 พระอาจารย์ได้กล่าวอธิบายบางบทว่า ข้อที่ว่าสังขารทั้งหลายพึงเห็นอย่างนี้ คือพึงเห็นว่า ธรรมดาว่าสังขารทั้งหลาย พึงพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง พึงกำหนดในความไม่เที่ยง พึงเห็นแจ้งในความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา และข้อว่าพึงตั้งจิตไว้อย่างนี้ คือจิตจะพึงดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจปฐมฌาน พึงน้อมใจไปด้วยอำนาจปฐมฌาน พึงทำอารมณ์ให้เป็นหนึ่งด้วยอำนาจปฐมฌาน พึงให้เป็นสมาธิด้วยอำนาจปฐมฌาน จิตจะพึงดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจทุติยฌานเป็นต้น ก็อย่างนั้น

ในพระสูตรทั้ง ๓ พระสูตรนี้ คือสมาธิสูตรที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ตรัสสมถะและวิปัสสนา เป็นโลกียะและโลกุตตระนั่นเทียว

 

ฉวาลาตสูตร ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก จำพวกที่ ๔

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ

๑.      บุคคลไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น

๒.    บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน

๓.     บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น

๔.     บุคคลปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระพุทธาธิบายว่า ดุ้นฟืนเผาศพที่ไฟไหม้ปลาย ๒ ข้าง ตรงกลางก็เปื้อนคูถ ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ที่จะใช้เป็นเคร่องไม้ในบ้านในป่าฉันใด พระองค์ตรัสบุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นว่า มีอุปมาฉันนั้น ในบุคคล ๒ พวกข้างต้น บุคคลจำพวกที่ ๒ ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนดีกว่า ประณีตกว่า ในบุคคล ๓ จำพวกข้างต้น บุคคลจำพวกที่ ๓ ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นดีกว่า ประณีตกว่า ในบุคคลทั้ง ๔ จำพวก บุคคลจำพวกที่ ๔ ผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นประธาน เป็นผู้อุดม เป็นผู้สูงสุด เปรียบเหมือนน้ำนมโค นมส้มดีกว่าน้ำนม เนยข้นดีกว่านมส้ม เนยใสดีกว่าเนยข้น ยอดเนยใสที่เรียกว่าสัปปิมัณฑะดีกว่าทั้งหมด ยอดเนยใสที่เรียกว่าสัปปิมัณฑะนับว่าเป็นเลิศฉันใด ในบุคคล ๔ จำพวก บุคคลจำพวกที่ ๔ ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เป็นเลิศ เป็นประธาน เป็นผู้อุดม เป็นผู้สูงสุด

 

ราคสูตร ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก จำพวกที่ ๕

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือบุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นพวก ๑ บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนพวก ๑ บุคคลไม่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่นพวก ๑ บุคคลปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่นพวก ๑ พระพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวกซ้ำเป็นครั้งที่ ๕ หรือจำพวกที่ ๕ แต่ว่าทั้ง ๕ จำพวกมีพระพุทธาธิบายที่แตกต่างกัน ดังในจำพวกที่ ๕ นี้ ได้มีพระพุทธาธิบายว่า

๑.                  บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ

๒.                บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะด้วยตนเอง แต่ชักชวนผู้อื่นเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ

๓.                 บุคคลไม่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะด้วยตนเอง ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่นเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ

๔.                 บุคคลปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คือบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะด้วยตนเอง ชักชวนผู้อื่นเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะด้วย

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๔๗ - ๑๕๑