Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๓๒

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

  

อสุรสูตร ว่าด้วยสมณะ ๔ จำพวก

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ

๑.      อสุโร อสุรปริวาโร คนอสูร     มีอสูรเป็นบริวาร

๒.    อสุโร เทวปริวาโร   คนอสูร     มีเทวดาเป็นบริวาร

๓.     เทโว   อสุรปริวาโร คนเทวดา มีอสูรเป็นบริวาร

๔.     เทโว   เทวปริวาโร   คนเทวดา มีเทวดาเป็นบริวาร

มีพระพุทธาธิบายไว้ว่า

๑.                  บุคคลเป็นอสูร มีอสูรเป็นบริวาร คือบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนทุศีล มีธรรมอันลามก แม้บริษัทของเขาก็เป็นคนทุศีล มีธรรมอันลามกเหมือนกัน อย่างนี้แล บุคคลเป็นอสูร มีอสูรเป็นบริวาร

๒.                บุคคลเป็นอสูร มีเทวดาเป็นบริวาร คือบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนทุศีล มีธรรมอันลามก แต่บริษัทของเขาเป็นคนมีศีล มีธรรมอันงาม อย่างนี้แล บุคคลเป็นอสูร มีเทวดาเป็นบริวาร

๓.                 บุคคลเป็นเทวดา มีอสูรเป็นบริวาร คือบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนมีศีล มีธรรมอันงาม แต่บริษัทของเขาเป็นคนทุศีล มีธรรมอันลามก อย่างนี้แล บุคคลเป็นเทวดา มีอสูรเป็นบริวาร

๔.                 บุคคลเป็นเทวดา มีเทวดาเป็นบริวาร คือบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนมีศีล มีธรรมอันงาม แม้บริษัทของเขาก็เป็นคนมีศีล มีธรรมอันงามด้วย อย่างนี้แล บุคคลเป็นเทวดา มีเทวดาเป็นบริวาร

เรื่องเทวดาและอสูรนี้ ได้มีแสดงไว้ในพระสูตร คือธชัคคสูตร พระสูตรที่แสดงถึงยอดธง ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า เทวดาและอสูรทำสงครามกัน ท้าวสักกะซึ่งเป็นจอมเทวดา ก็ได้บอกแก่เทวดาทั้งหลายว่า เมื่อเข้าสู่สงครามกับอสูร เมื่อมีความกลัวบังเกิดขึ้น ก็ให้เทวดาทั้งหลายมองดูยอดธงของพระองค์ หากจะไม่ดูยอดธงของพระองค์ ก็ให้ดูยอดธงของเทพชั้นหัวหน้าทั้งหลายที่รองลงมา เมื่อเทวดาทั้งหลายปฏิบัติอย่างนี้ก็จะเกิดความกล้า ความกลัวก็จะหายไป พระพุทธเจ้าจึงได้ยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาตรัสเทศน์สอนภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายเข้าไปสู่ป่าก็ดี สู่โคนไม้ก็ดี สู่เรือนว่างก็ดี เมื่อเกิดความกลัวขึ้น ก็ให้ระลึกถึงพระองค์ตามบทที่ว่า “อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหันต์ผู้ไกลกิเลส ผู้ควรไหว้ควรบูชา เป็นสัมมาสัมพุทโธ ผู้ตรัสรู้เองชอบเป็นต้น” เมื่อระลึกถึงดั่งนี้ ความกลัวก็จะหายไป ถ้าไม่ระลึกถึงพระองค์ ก็ให้ระลึกถึงพระธรรมว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เป็นต้น ซึ่งแปลความว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เมื่อระลึกถึงพระธรรมดั่งนี้ ความกลัวก็จะหายไป ถ้าไม่ระลึกถึงพระธรรม ก็ให้ระลึกถึงพระสงฆ์ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นต้น แปลความว่า หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้น เมื่อระลึกถึงดั่งนี้ ความกลัวก็จะหายไป

และได้ตรัสว่า สำหรับเรื่องเทวดาและอสูรรบกัน และท้าวสักกะจอมเทพได้กล่าวแก่เทพทั้งหลายว่า เมื่อความกลัวของเทพทั้งหลายเกิดขึ้นในสงคราม ก็ให้เทพมองดูยอดธงของพระองค์เป็นต้นนั้น ความกลัวก็จะหายไปบ้างไม่หายไปบ้าง เพราะท้าวสักกะจอมเทพยังมีราคะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังไม่สิ้นราคะ ยังไม่สิ้นโทสะ ยังไม่สิ้นโมหะ ยังมีความกลัว ยังมีการสะดุ้ง ยังมีการหนี แต่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีความกลัว ไม่มีความสะดุ้ง ไม่มีการหนี เพราะฉะนั้นเมื่อระลึกถึงพระองค์เป็นพุทธานุสสติ หรือระลึกถึงพระธรรมเป็นธัมมานุสสติ หรือระลึกถึงพระสงฆ์เป็นสังฆานุสสติ ความกลัวจึงหายไปได้

 

ปฐมสมาธิสูตร สมาธิสูตรที่ ๑ ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก จำพวกที่ ๑

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ

๑.      บุคคลบางพวกในโลกนี้ เป็นผู้ได้ความสงบใจในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

๒.    บางคนได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา แต่ไม่ได้ความสงบใจในภายใน

๓.     บางคนไม่ได้ทั้งความสงบใจในภายใน ไม่ได้ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

๔.     บางคนได้ทั้งความสงบใจในภายใน ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

พระอาจารย์อธิบายไว้ว่า ความสงบใจในภายใน ได้แก่จิตตสมาธิ สมาธิของจิตที่เป็นอัปปนา คือที่แนบแน่นในภายใน คำว่า อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา ได้แก่ วิปัสสนาญาณที่กำหนดสังขารเป็นอารมณ์ ที่แท้วิปัสสนาญาณนั้นนับว่าเป็นอธิปัญญา และเป็นวิปัสสนาในธรรมทั้งหลายกล่าวคือเบญจขันธ์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

 

ทุติยสมาธิสูตร สมาธิสูตรที่ ๒ ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก จำพวกที่ ๒

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ

๑.      บุคคลบางพวกในโลกนี้ เป็นผู้ได้ความสงบใจในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

๒.    บุคคลบางคนได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา แต่ไม่ได้ความสงบใจในภายใน

๓.     บุคคลบางคนไม่ได้ทั้งความสงบใจในภายใน ไม่ได้ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

๔.     บุคคลบางคนได้ทั้งความสงบใจในภายใน ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

ตรัสบุคคล ๔ จำพวกในสมาธิสูตรที่ ๒ นี้เหมือนอย่างสมาธิสูตรที่ ๑ และได้ตรัสอธิบายว่าในบุคคล ๔ จำพวกนั้น

๑.                  บุคคลที่ได้ความสงบใจในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา บุคคลนั้นควรตั้งอยู่ในความสงบใจในภายใน แล้วทำความประกอบความเพียรในอธิปัญญาธรรมวิปัสสนาต่อไป บุคคลนั้นก็ย่อมจะได้ทั้งความสงบใจในภายใน ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

๒.                บุคคลใดที่ได้อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา แต่ไม่ได้ความสงบใจในภายใน บุคคลนั้นควรตั้งอยู่ในอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา แล้วทำการประกอบความเพียรในความสงบใจในภายในต่อไป บุคคลนั้นก็ย่อมจะได้ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา ทั้งความสงบใจในภายใน

๓.                 บุคคลใดที่ไม่ได้ทั้งความสงบใจในภายใน ไม่ได้ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา บุคคลนั้นควรกระทำฉันทะ ความพอใจ พยายามอุตสาหะพากเพียรอย่างแข็งขันไม่ท้อถอย และทำสติสัมปชัญญะอันยิ่งเพื่อให้ได้กุศลธรรมทั้ง ๒ นั้นจงได้ เปรียบเหมือนคนที่ไฟไหม้ผ้าก็ดี ไหม้ศีรษะก็ดี พึงกระทำฉันทะ พยายามอุตสาหะความเพียรความไม่ท้อถอย และตั้งสติสัมปชัญญะอันยิ่งเพื่อจะดับเสียซึ่งผ้าหรือศีรษะที่ไหม้อยู่นั้นฉันใด บุคคลนั้นก็ควรกระทำฉันทะ พยายามอุตสาหะความเพียรอย่างแข็งขันไม่ท้อถอย และทำสติสัมปชัญญะอันยิ่ง เพื่อให้ได้กุศลธรรมทั้ง ๒ นั้นจงได้ฉันนั้น ต่อไปบุคคลนั้นย่อมจะได้ทั้งความสงบใจในภายใน ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา

๔.                 บุคคลใดที่ได้ทั้งความสงบใจในภายใน ทั้งอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา บุคคลนั้นควรต้องอยู่ในกุศลธรรมทั้ง ๒ นั้น แล้วทำความประกอบความเพียรเพื่อความสิ้นอาสวะยิ่งขึ้นไป

พิจารณาดูแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า สมาธิสูตรนั้นแม้จะซ้ำกัน แต่ว่าในพระพุทธาธิบายนั้นเป็นการตรัสสอนให้แก้ไขข้อบกพร่องที่ยังไม่มีการแก้ไขให้มีขึ้น และตรัสสอนให้ปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นเพื่อผลที่สุด

 

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

เล่ม ๓ หน้า ๑๔๓ - ๑๔๗