Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๓๑

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)   

  

 

สังโยชนสูตร ว่าด้วยสมณะ ๔ จำพวก

 

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ

 

๑.      สมณมจโล                           สมณะผู้ไม่หวั่นไหว

๒.    สมณปุณฑริโก                     สมณะบุณฑริกะ บัวขาว

๓.     สมณปทุโม                          สมณะปทุม บัวหลวง

๔.     สมเณสุ สมณสุขุมาโล         สมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ 

 

พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายสมณะทั้ง ๔ นี้ว่า

๑.                  บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหวเป็นอย่างไร คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะได้ตรัสรู้ในกาลข้างหน้า อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว

๒.                บุคคลเป็นสมณะบุณฑริกะ บัวขาว เป็นอย่างไร คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ เพราะราคะโทสะโมหะเบาบาง เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกหนเดียว จักทำที่สุดทุกข์ได้ อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะบุณฑริกะ สมณะบัวขาว

๓.                 บุคคลเป็นสมณะปทุม บัวหลวง เป็นอย่างไร คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกที่เกิดนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา คือเป็นพระอนาคามี อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะปทุม บัวหลวง

๔.                 บุคคลเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะเป็นอย่างไร คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ  

ในพระสูตรนี้ก็มีชื่อสมณะเช่นเดียวกับในพระสูตรก่อนหน้า คือสมณะ ๔ จำพวก แต่ว่าอธิบายยักย้ายไปอีกนัยหนึ่ง คือทรงแสดงอธิบายถึงพระโสดาบัน เรียกว่า สมณะผู้ไม่หวั่นไหว เพราะท่านได้ศรัทธาตั้งมั่นแล้วในพุทธศาสนา ทรงเรียกพระสกทาคามีว่า สมณะบัวขาว ดุจบัวขาวเกิดในสระมีใบไม่มาก เพราะท่านเป็นผู้มีคุณยังไม่มากทีเดียว พระอนาคามีตรัสเรียกว่าสมณะบัวหลวง ดุจบัวหลวงมี ๑๐๐ ใบเกิดในสระ เพราะท่านมีคุณมากกว่านั้น พระขีณาสพผู้ถึงความอ่อนโยนเรียกว่า สมณะสุขุมาลย์ เพราะกิเลสที่ทำความกระด้างท่านถอนได้แล้วโดยประการทั้งปวง

 

 

ทิฏฐิสูตร ว่าด้วยสมณะ ๔ จำพวก

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ

๑.      สมณมจโล                          สมณะผู้ไม่หวั่นไหว

๒.    สมณปุณฑริโก                      สมณะบุณฑริกะ บัวขาว

๓.     สมณปทุโม                           สมณะปทุม บัวหลวง

๔.     สมเณสุ สมณสุขุมาโล            สมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ

 

พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายว่า

๑.                  ก็บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหวเป็นอย่างไร คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีวาจาชอบ มีการงานชอบ มีอาชีพชอบ มีความพยายามชอบ มีสติชอบ มีสมาธิชอบ อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว

๒.                บุคคลเป็นสมณะบุณฑริกะ บัวขาว เป็นอย่างไร คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบเป็นต้น จนถึงมีสมาธิชอบที่ครบ ๘ และมีญาณความหยั่งรู้ชอบ มีวิมุตติ ความพ้นชอบ แต่ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกายคือด้วยนามกาย อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะบุณฑริกะ บัวขาว

๓.                 บุคคลเป็นสมณะปทุม บัวหลวง เป็นอย่างไร คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบเป็นต้นดังกล่าวในข้อ ๒ และได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกายคือด้วยนามกาย อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะปทุม บัวหลวง

๔.                 บุคคลเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะเป็นอย่างไร คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ได้บริโภคจีวรมีผู้วิงวอนเป็นต้น ดังที่ได้ตรัสไว้แล้วข้างต้น อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ 

ในพระสูตรนี้ก็ตรัสอธิบายโดยปริยายถึงสมณะ ๔ จำพวกนั้น ซึ่งมีชื่ออย่างเดียวกันนั้นเอง ซึ่งมีนัยอยู่ในแนวเดียวกัน 

 

ขันธสูตร ว่าด้วยสมณะ ๔ จำพวก

            ในพระสูตรนี้มีชื่อเหมือนอย่างสมณะ ๔ จำพวกข้างต้นที่ตรัสแสดงแล้ว แต่มีพุทธาธิบายในปริยายที่ต่างกันไว้บ้าง สมณะ ๔ จำพวก คือ

๑.      สมณมจโล                          สมณะผู้ไม่หวั่นไหว

๒.    สมณปุณฑริโก                      สมณะบุณฑริกะ บัวขาว

๓.     สมณปทุโม                           สมณะปทุม บัวหลวง

๔.     สมเณสุ สมณสุขุมาโล            สมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ

 

มีพุทธาธิบายว่า

๑.                  บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพระเสขะ ยังไม่สำเร็จมโนรส คือความปรารถนาของใจ ยังปรารถนาธรรมอันเกษมจากโยคะคือกิเลสเครื่องประกอบอย่างยอดเยี่ยมอยู่ อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว

๒.                บุคคลเป็นสมณะบุณฑริกะ บัวขาว คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เล็งเห็นความเกิดขึ้นและความดับไปในอุปาทานขันธ์ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือ ๕ ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับไปแห่งรูป อย่างนี้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ความดับไปแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกายคือด้วยนามกาย อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะบุณฑริกะ บัวขาว

๓.                 บุคคลเป็นสมณะปทุม บัวหลวง คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เล็งเห็นความเกิดขึ้นและความดับไปในอุปาทานขันธ์ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือ ๕ ประการอย่างนั้น คืออย่างที่แสดงแล้วในข้อ ๒ ทั้งได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกายคือด้วยนามกาย อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะปทุม บัวหลวง

๔.                 บุคคลเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บริโภคจีวรโดยมากมีผู้วิงวอนให้บริโภค ที่บริโภคโดยไม่มีผู้วิงวอนให้บริโภคมีน้อย เป็นต้น ดังที่แสดงแล้วในหมวดก่อนๆ อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ 

พระอาจารย์ได้อธิบายว่า วาระที่ ๑ ตรัสพระเสขบุคคลผู้ยังไม่เริ่มความเพียรเพื่อพระอรหัต ยังดำรงอยู่ด้วยความประมาท วาระที่ ๒ ตรัสพระเสขบุคคลผู้ยังไม่ได้ฌาน แต่เริ่มวิปัสสนา อยู่ด้วยความไม่ประมาท วาระที่ ๓ ตรัสพระเสขบุคคลผู้เริ่มวิปัสสนา อยู่ด้วยความไม่ประมาท ได้วิโมกข์ ๘ วาระที่ ๔ ตรัสพระขีณาสพ ผู้เป็นสุขุมาลย์เป็นอย่างยิ่งแล 

อนึ่ง มีอธิบายบางคำเพิ่มเติมว่า คำว่า วิโมกข์ ในที่นี้ วิโมกข์ ๘ ก็ได้แก่ ฌาน ๘ คือรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เรียกว่า วิโมกข์ ๘ ก็เรียก สมาบัติ ๘ ก็เรียก คำว่า พระขีณาสพ มาจากคำว่า พระขีณาสวะ ซึ่งแปลว่าพระผู้สิ้นอาสวะ คือกิเลสที่นอนจมหมักหมมจิตสันดานหมดสิ้นแล้ว คือพระอรหันต์ และพระอาจารย์ได้แสดงถึงสมณะสุขุมาลย์และชี้ตัวพระอรหันต์ ๔ รูป ซึ่งเป็นสมณะสุขุมาลย์ในปัจจัยทั้ง ๔ ไว้ว่า สมณะสุขุมาลย์โดยมาก บริโภคจีวรที่ทายกน้อมเอาไปถวายด้วยร้องขออย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า โปรดบริโภคจีวรนี้ ดั่งนี้แล้ว เฉพาะจีวรที่เขาไม่ร้องขอมีน้อย เหมือนท่านพระพกุลเถระ เฉพาะบิณฑบาตอาหารก็เหมือนท่านพระสีวลีเถระในทางไปป่าไม้ตะเคียน เฉพาะเสนาสนะก็เหมือนท่านพระอานนทเถระในอัฏฐกนาครสูตร เฉพาะคิลานปัจจัยก็เหมือนท่านพระปิลินทวัจฉเถระ 

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

เล่ม ๓ หน้า ๑๓๗-๑๔๑