Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๓๐

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)  

 

 

ตมสูตร ว่าด้วยบุคคลในโลก ๔ จำพวก 

 

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก คือ

 

๑.      ตโม ตมปรายโน        บุคคลผู้มืดมาแล้ว มีมืดไปข้างหน้า

 

๒.    ตโม โชติปรายโน      บุคคลผู้มืดมาแล้ว มีสว่างไปข้างหน้า

 

๓.     โชติ ตมปรายโน        บุคคลผู้สว่างมาแล้ว มีมืดไปข้างหน้า

 

๔.     โชติ โชติปรายโน      บุคคลผู้สว่างมาแล้ว มีสว่างไปข้างหน้า

 

ตรัสอธิบายต่อไปว่า

 

๑. บุคคลผู้มืดมาแล้ว มีมืดไปข้างหน้า คือบุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือตระกูลจัณฑาลก็ดี ตระกูลช่างสานก็ดี ตระกูลพรานก็ดี ตระกูลช่างหนังก็ดี ตระกูลผู้รับจ้างเทขยะก็ดี ทั้งยากจนขัดสนข้าวน้ำของกิน เป็นอยู่อย่างแร้นแค้น หาอาหารและเครื่องนุ่งห่มได้โดยฝืดเคือง ซ้ำเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่เตี้ยแคระ มากไปด้วยโรค ตาบอดบ้าง เป็นง่อยบ้าง กระจอกบ้าง เปลี้ยบ้าง ไม่ใคร่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และเครื่องประทีป บุคคลนั้นยังประพฤติทุจริตด้วยกายวาจาใจ ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกายวาจาใจแล้ว กายแตกทำลายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อย่างนี้แล บุคคลผู้มืดมาแล้ว มีมืดไปข้างหน้า

 

๒. บุคคลผู้มืดมาแล้ว มีสว่างไปข้างหน้า คือบุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือตระกูลจัณฑาลก็ดี เป็นต้น ดังกล่าวในข้อ ๑ บุคคลนั้นประพฤติสุจริตด้วยกายวาจาใจ ครั้นประพฤติสุจริตด้วยกายวาจาใจแล้ว กายแตกทำลายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ อย่างนี้แล บุคคลผู้มืดมาแล้ว มีสว่างไปข้างหน้า

 

๓. บุคคลผู้สว่างมาแล้ว มีมืดไปข้างหน้า คือบุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือตระกูลกษัตริย์มหาศาลก็ดี ตระกูลพราหมณ์มหาศาลก็ดี ตระกูลคฤหบดีมหาศาลก็ดี มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินทอง มีข้าวของเครื่องใช้ มีทรัพย์ธัญชาติเป็นอันมาก ทั้งมีรูปร่างสะสวยเจริญตาเจริญใจ ประกอบด้วยผิวพรรณงดงามยิ่งนัก เป็นผู้มีปกติได้ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ และเครื่องประทีป บุคคลนั้นประพฤติทุจริตด้วยกายวาจาใจ ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกายวาจาใจแล้ว กายแตกทำลายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อย่างนี้แล บุคคลผู้สว่างมาแล้ว มีมืดไปข้างหน้า

 

๔.  บุคคลผู้สว่างมาแล้ว มีสว่างไปข้างหน้า คือบุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือตระกูลกษัตริย์มหาศาล เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วในข้อ ๓ บุคคลนั้นประพฤติสุจริตด้วยกายวาจาใจ ครั้นประพฤติสุจริตด้วยกายวาจาใจแล้ว กายแตกทำลายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ อย่างนี้แล บุคคลผู้สว่างมาแล้ว มีสว่างไปข้างหน้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก

 

 

 

 

โอณตสูตร ว่าด้วยบุคคลในโลก ๔ จำพวก

 

 

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวกนี้ คือ

 

๑.      โอณโตณโต บุคคลต่ำมาแล้ว ต่ำไป

 

๒.    โอณตุณฺณโต             บุคคลต่ำมาแล้ว สูงไป

 

๓.     อุณฺณโตณโต             บุคคลสูงมาแล้ว ต่ำไป

 

๔.     อุณฺณตุณฺณโต            บุคคลสูงมาแล้ว สูงไป

 

พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายบุคคล ๔ จำพวกนี้ เช่นเดียวกับบุคคล ๔ จำพวกที่กล่าวมาแล้ว มีบุคคลผู้มืดมาแล้ว มีมืดไปข้างหน้าเป็นต้น

 

 

 

 

 

ปุตตสูตร ว่าด้วยสมณะ ๔ จำพวก 

 

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ

 

๑.      สมณมจโลก             สมณะผู้ไม่หวั่นไหว

 

๒.    สมณปุณฺฑริโก        สมณะบุณฑริกะ บัวขาว

 

๓.     สมณปทุโม             สมณะปทุม บัวหลวง

 

๔.     สมเณสุ สมณสุขุมาโล   สมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ

 

พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายไว้ว่า

 

๑. สมณะผู้ไม่หวั่นไหวเป็นอย่างไร คือภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระเสขะ เป็นผู้ยังต้องปฏิบัติ ปรารถนาอยู่ซึ่งธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างเยี่ยมยอด เปรียบเหมือนพระโอรสองค์ใหญ่ของพระราชา ผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก เป็นผู้ควรแก่การอภิเษก แต่ยังมิได้รับอภิเษก ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระยุพราชฉันใด ภิกษุเป็นพระเสขะ เป็นผู้ยังต้องปฏิบัติอยู่ ปรารถนาอยู่ซึ่งธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างเยี่ยมยอดฉันนั้นเหมือนกัน อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว

 

๒. บุคคลเป็นสมณะบุณฑริกะ บัวขาว เป็นอย่างไร คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ แต่ว่าไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะบุณฑริกะ สมณะบัวขาว

 

๓. บุคคลเป็นสมณะปทุม บัวหลวง เป็นอย่างไร คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ทั้งได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกายคือนามกายด้วย อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะปทุม สมณะบัวหลวง

 

๔. บุคคลเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะเป็นอย่างไร คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บริโภคจีวร โดยมากมีผู้วิงวอนให้บริโภค ที่บริโภคโดยไม่มีใครวิงวอนให้บริโภคมีน้อย บริโภคบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย โดยมากมีผู้วิงวอนให้บริโภค ที่บริโภคโดยไม่มีใครวิงวอนให้บริโภคก็มีน้อย

 

อนึ่ง ภิกษุนั้นอยู่กับเพื่อนสพรหมจารีเหล่าใด เพื่อนสพรหมจารีเหล่านั้นย่อมประพฤติต่อภิกษุนั้นด้วยกายกรรมที่น่าเจริญใจเป็นส่วนมาก ที่ไม่น่าเจริญใจเป็นส่วนน้อย ประพฤติต่อภิกษุนั้นด้วยวจีกรรม มโนกรรมที่น่าเจริญใจเป็นส่วนมาก ที่ไม่น่าเจริญใจเป็นส่วนน้อย เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายย่อมน้อมเข้าไปแต่สิ่งที่น่าเจริญใจทั้งนั้น สิ่งที่ไม่น่าเจริญใจมีเป็นส่วนน้อย

 

อนึ่ง ทุกขเวทนาทั้งหลายที่มีน้ำดีเป็นสมุฏฐานก็ดี มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็ดี มีลมเป็นสมุฏฐานก็ดี ที่เป็นสันนิปาติกะ คือเกิดแต่ดี เสมหะและลมรวมกันเป็นสมุฏฐาน ซึ่งเรียกว่า สันนิบาตก็ดี ที่เกิดแต่ความเปลี่ยนแปรแห่งฤดูก็ดี เกิดแต่การบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ คือเปลี่ยนอิริยาบถไม่เสมอก็ดี เกิดเพราะถูกทำร้าย เช่น ถูกตีก็ดี เกิดด้วยอำนาจวิบากของกรรมก็ดี ทุกขเวทนาเหล่านั้นไม่เกิดมีแก่ภิกษุนั้นมากเลย เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย เธอได้ตามต้องการ ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันเป็นธรรมเป็นไปในจิตอันยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพปัจจุบัน เธอกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ อย่างนี้แล บุคคลเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อจะเรียกโดยชอบ จะพึงเรียกบุคคลใด ว่าเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ ก็พึงเรียกเราคือองค์พระพุทธเจ้าเองนี่แหละ ว่าเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ แท้จริงเรา คือพระพุทธเจ้า บริโภคจีวรโดยมากมีผู้วิงวอนให้บริโภค ที่บริโภคโดยไม่มีใครวิงวอนให้บริโภคมีน้อย เราบริโภคบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย โดยมากมีผู้วิงวอนให้บริโภค ที่บริโภคโดยไม่มีใครวิงวอนให้บริโภคมีน้อย

 

อนึ่ง เราอยู่กับภิกษุเหล่าใด ภิกษุเหล่านั้นย่อมประพฤติต่อเราด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่น่าเจริญใจเป็นส่วนมาก ที่ไม่น่าเจริญใจเป็นส่วนน้อย ภิกษุทั้งหลายย่อมน้อมเข้าไปแต่สิ่งที่น่าเจริญใจทั้งนั้น สิ่งที่ไม่น่าเจริญใจมีเป็นส่วนน้อย

 

อนึ่ง ทุกขเวทนาทั้งหลายที่มีน้ำดีเป็นสมุฏฐานก็ดี มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็ดี มีลมเป็นสมุฏฐานก็ดี ที่เป็นสันนิบาตก็ดี ที่เกิดแต่ความเปลี่ยนแปรแห่งฤดูก็ดี เกิดแต่การบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอก็ดี เกิดเพราะถูกทำร้ายก็ดี เกิดด้วยอำนาจวิบากของกรรมก็ดี ทุกขเวทนาเหล่านั้นไม่เกิดมีแก่เรามากเลย เราเป็นผู้มีอาพาธน้อย

 

อนึ่ง เราได้ตามต้องการ ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันเป็นธรรมเป็นไปในจิตอันยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพปัจจุบัน เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ ในปัจจุบัน ฉะนั้น เมื่อจะเรียกโดยชอบ จะเรียกบุคคลใดว่าเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ ก็พึงเรียกเรานี่แหละโดยชอบว่าเป็นสมณะสุขุมาลย์ในหมู่สมณะ

 

ในพระสูตรนี้ มีข้อพึงอธิบายในบางบทว่า บทที่ว่า สมณะบุณฑริกะ ได้แก่สมณะดังบัวขาว ธรรมดาบัวขาวเกิดในสระมีใบ ๙๙ ใบ ทรงแสดงพระขีณาสพสุกขวิปัสสก ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วนด้วยบทนี้ ด้วยว่าพระขีณาสพสุกขวิปัสสกนั้น ชื่อว่า สมณะดังบัวขาว เพราะท่านมีคุณยังไม่สมบูรณ์ โดยที่ฌานและอภิญญายังไม่มี บทว่า สมณะปทุม ได้แก่สมณะดังบัวหลวง ธรรมดาบัวหลวงเกิดในสระมีใบครบ ๑๐๐ ทรงแสดงพระขีณาสพผู้เป็นอุภโตภาควิมุตติด้วยบทนี้ ด้วยว่าพระขีณาสพอุภโตภาควิมุตตินั้น ชื่อว่า สมณะดังบัวหลวง เพราะท่านบริบูรณ์โดยมีฌานและอภิญญา ส่วนบทว่า สมณะสุขุมาลย์ในสมณะทั้งหลายก็อธิบายว่า บรรดาสมณะเหล่านั้นแม้ทั้งหมด สมณะสุขุมาลย์เป็นผู้มีกายและจิตอ่อนโยน เว้นความทุกข์ทางกายและทางจิต เป็นผู้มีสุขโดยส่วนเดียว ทรงแสดงพระองค์เองคือพระพุทธเจ้าเอง และสมณะสุขุมาลย์เช่นกับพระองค์ ด้วยบทว่าสุขุมาลสมณะ

 

และมีข้อที่พึงอธิบายว่า คำว่า พระขีณาสพสุกขวิปัสสก พระขีณาสพนั้นแปลว่า พระผู้สิ้นอาสวะแล้ว คือสิ้นกิเลสจนถึงขั้นอาสวะคือกิเลสที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิต จึงเป็นผู้สิ้นกิเลสสิ้นเชิง ทั้งอยู่อย่างหยาบ ทั้งอย่างกลาง ตลอดจนถึงอย่างละเอียด เหมือนอย่างนำเอาความขุ่นในตุ่มน้ำออกได้หมด ตลอดจนถึงตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม ก็นำออกได้หมด เป็นน้ำสะอาดปราศจากเครื่องทำให้ขุ่น ตลอดจนถึงตะกอนก้นตุ่ม เป็นน้ำที่บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง ดั่งนี้คือพระขีณาสพ ส่วนสุกขวิปัสสกนั้นแปลว่า ผู้เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ง คือหมายความว่าเป็นผู้ปฏิบัติวิปัสสนาล้วน มีสมาธิเพียงเป็นบาทเท่านั้น ไม่ได้สมาธิอย่างยิ่ง คือที่เรียกว่าฌานสมบัติ ๔ หรือ ๘ เป็นผู้ได้สมาธิเพียงเป็นบาทแห่งวิปัสสนา และก็ปฏิบัติทางวิปัสสนาต่อไปจนสำเร็จ เป็นพระอรหันต์ ไม่ได้ฌานไม่ได้สมาบัติ จึงไม่ได้ฌานไม่ได้อภิญญา เรียกว่าพระขีณาสพที่เป็นสุกขวิปัสสกะหรือวิปัสสก แปลว่า ผู้เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ง

 

ส่วนท่านที่ปฏิบัติมาในศีลในสมาธิ จนถึงได้สมาธิชั้นสูงที่เป็นฌานสมาบัติ ๔ หรือ ๘ จึงปฏิบัติวิปัสสนาทำกิเลสให้สิ้นไป เป็นพระขีณาสพที่ได้ฌานได้อภิญญา นี่จำพวกหนึ่งที่เรียกว่า เป็นพระขีณาสพที่เป็นอุภโตภาควิมุตติ คือหลุดพ้นโดยส่วนทั้ง ๒ คือทั้งที่เป็นด้วยเจโตวิมุตติ และด้วยปัญญาวิมุตติ เป็นพระขีณาสพที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกพระขีณาสพที่เป็นสุกขวิปัสสกว่าสมณะบุณฑริกะ สมณะบัวขาวที่มีใบ ๙๙ ใบ ยังไม่เต็ม ๑๐๐ ใบ เพราะบัวขาวนั้นเป็นบัวเกิดในสระที่มีใบ ๙๙ ใบ ส่วนสมณะที่เป็นพระขีณาสพผู้เป็นอุภโตภาควิมุตติคือหลุดพ้นโดยส่วน ๒ ทั้งเจโตวิมุตติทั้งปัญญาวิมุตตินั้น เรียกว่า สมณะปทุโม สมณะปทุม ปทุม ได้แก่บัวหลวง บัวหลวงนั้นว่าเกิดในสระมีใบครบ ๑๐๐ ใบ จึงเป็นพระขีณาสพที่สมบูรณ์ ทั้งด้วยฌาน ทั้งด้วยปัญญา

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๓๑ - ๑๓๗