Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๒๙

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ) 

 

 

กัมโมชสูตร ว่าด้วยมาตุคามเป็นที่ตั้ง 

 

พระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้ากราบทูลถามว่า อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้มาตุคามคือสตรีภาพไม่นั่งในสภา ไม่ประกอบการงานใหญ่ ไม่ได้ไปนอกเมือง พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะมาตุคาม ๑. เป็นผู้มักโกรธ ๒. เป็นผู้มักริษยา ๓. เป็นผู้มักตระหนี่ ๔. เป็นผู้ทรามปัญญา นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้มาตุคามไม่นั่งในสภา ไม่ประกอบการงานใหญ่ ไม่ได้ไปนอกเมือง

 

คำว่า มาตุคาม ได้แก่สตรีภาพหรือสตรี พระพุทธภาษิตนี้ยกเอาเหตุปัจจัยทั้ง ๔ นี้เป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น จึงถึงความสันนิษฐานได้ว่า เหตุปัจจัยทั้ง ๔ นี้เป็นสำคัญ คือเมื่อเป็นผู้มักโกรธ เป็นผู้มักริษยา เป็นผู้มักตระหนี่ เป็นผู้ทรามปัญญา ก็จะไม่ได้เข้านั่งในสภา ไม่ประกอบการงานใหญ่ ไม่ได้ไปนอกเมือง แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยเหตุปัจจัยทั้ง ๔ ประการนี้ ก็จะได้เข้านั่งในสภา ได้ประกอบการใหญ่ ได้ไปนอกเมือง เหตุปัจจัยทั้ง ๔ นี้จึงเป็นสาธารณเหตุ คือเหตุทั่วไป สาธารณปัจจัย ปัจจัยทั่วไป ได้ทั้งสตรี ได้ทั้งบุรุษ

 

 

ปาณาติปาตสูตร ว่าด้วยธรรมทำให้เกิดในนรกสวรรค์ 

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมอุบัติในนรก เหมือนถูกนำตัวไปโยนทิ้งฉะนั้น ธรรม ๔ ประการ คือ

 

๑.      บุคคลเป็นผู้ทำปาณาติบาตโดยปกติ

 

๒.    ทำอทินนาทานโดยปกติ

 

๓.     ทำกาเมสุมิจฉาจารโดยปกติ

 

๔.     พูดมุสาวาทโดยปกติ

 

บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมอุบัติในนรก เหมือนถูกนำตัวไปโยนทิ้งฉะนั้น

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสในทางตรงกันข้ามต่อไปว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการที่ตรงกันข้าม ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปประดิษฐานไว้ฉะนั้น ธรรม ๔ ประการ คือ

 

๑.      บุคคลเป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต

 

๒.    เป็นผู้เว้นจากอทินนาทาน

 

๓.     เป็นผู้เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร

 

๔.     เป็นผู้เว้นจากมุสาวาท

 

บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปประดิษฐานฉะนั้น

 

 

 

 มุสาสูตร ว่าด้วยธรรมทำให้เกิดในนรกสวรรค์ 

 

            พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมอุบัติในนรก ธรรม ๔ ประการคือ

 

๑.      บุคคลเป็นผู้พูดมุสาวาทโดยปกติ

 

๒.    พูดส่อเสียดโดยปกติ

 

๓.     พูดคำหยาบโดยปกติ

 

๔.     พูดสำรากเพ้อเจ้อโดยปกติ

 

บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประกานี้แล ย่อมอุบัติในนรก เหมือนถูกนำตัวไปโยนทิ้งไว้ฉะนั้น

 

พระพุทธเจ้าตรัสในด้านตรงกันข้ามว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมอุบัติในสวรรค์ ธรรม ๔ ประการคือ

 

๑.      บุคคลเป็นผู้เว้นจากมุสาวาท

 

๒.    เป็นผู้เว้นจากพูดส่อเสียด

 

๓.     เป็นผู้เว้นจากพุดคำหยาบ

 

๔.     เป็นผู้เว้นจากพูดสำรากเพ้อเจ้อ

 

บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปประดิษฐานไว้ฉะนั้น 

 

 

 

วัณณสูตร ว่าด้วยธรรมทำให้เกิดในนรกสวรรค์ 

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมอุบัติในนรก ธรรม ๔ ประการ คือบุคคลไม่ใคร่ครวญ ไม่สอบสวนแล้ว

 

๑.      ชมคนที่ควรติ

 

๒.    ติคนที่ควรชม

 

๓.     ปลูกความเลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส

 

๔.     แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะอันควรเลื่อมใส

 

บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมอุบัติในนรก เหมือนถูกนำตัวไปโยนทิ้งฉะนั้น

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสต่อไปอีกว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการตรงกันข้าม ย่อมอุบัติในสวรรค์ ธรรม ๔ ประการ คือบุคคลใคร่ครวญสอบสวนแล้ว

 

๑.      ติคนที่ควรติ

 

๒.    ชมคนที่ควรชม

 

๓.     แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส

 

๔.     ปลูกความเลื่อมใสในฐานะอันควรเลื่อมใส

 

บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปประดิษฐานฉะนั้น

 

  

 

โกธสูตร ว่าด้วยธรรมทำให้เกิดในนรกสวรรค์ 

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมอุบัติในนรก ธรรม ๔ ประการ คือ

 

๑.      บุคคลเป็นผู้หนักในความโกรธ ไม่หนักในพระสัทธรรม

 

๒.    เป็นผู้หนักในความลบหลู่ท่าน ไม่หนักในพระสัทธรรม

 

๓.     เป็นผู้หนักในลาภ ไม่หนักในพระสัทธรรม

 

๔.     เป็นผู้หนักในสักการะ ไม่หนักในพระสัทธรรม

 

บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมอุบัติในนรก เหมือนถูกนำตัวไปโยนทิ้งฉะนั้น

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสต่อไปในทางตรงกันข้ามว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการตรงกันข้าม ย่อมอุบัติในสวรรค์ ธรรม ๔ ประการ คือ

 

๑.      บุคคลเป็นผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในความโกรธ

 

๒.    เป็นผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในความลบหลู่ท่าน

 

๓.     เป็นผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในลาภ

 

๔.     เป็นผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในสักการะ

 

บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปประดิษฐานฉะนั้น

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๒๖ - ๑๓๐