Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๒๘

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ) 

 

ภัททชิสูตร ว่าด้วยสิ่งที่เป็นยอด ๕ ประการ

            สมัยหนึ่งท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ท่านพระภัททชิได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ท่านพระอานนท์ได้ถามท่านพระภัททชิว่า บรรดาการเห็นทั้งหลาย การเห็นชนิดไปนเป็นยอด บรรดาการได้ยินทั้งหลาย การได้ยินชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสุขทั้งหลาย สุขชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสัญญาทั้งหลาย สัญญาชนิดไหนเป็นยอด บรรดาภพทั้งหลาย ภพชนิดไหนเป็นยอด

            ท่านพระภัททชิตอบว่า พรหม ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ไม่มีใครครอบงำได้ เห็นสิ่งทั้งปวง ยังผู้อื่นให้เป็นไปในอำนาจ มีอยู่ ผู้ใดเห็นพรหมนั้น การเห็นของผู้นั้นเป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย

            เทพเหล่า อาภัสสระ ผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมีอยู่ เทพเหล่านั้นย่อมเปล่งอุทานในบางครั้งบางคราวว่า สุขหนอ สุขหนอ ผู้ใดได้ยินเสียงนั้น การได้ยินเสียงของผู้นั้นเป็นยอดของการได้ยินทั้งหลาย

            เทพเหล่า สุภกิณหะ มีอยู่ เทพเหล่านั้นยินดีเฉพาะสิ่งที่มีอยู่ ย่อมเสวยสุข การเสวยสุขนี้เป็นยอดของความสุขทั้งหลาย

            พวกเทพผู้เข้าถึง อากิญจัญญายตนภพ มีอยู่ การเข้าถึงอากิญจัญญายตนภพนี้เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย

            พวกเทพผู้เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนภพ มีอยู่ การเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพนี้เป็นยอดของภพทั้งหลาย

            ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า คำพูดของท่านพระภัททชินี้ ย่อมเข้ากับคนเป็นอันมาก ส่วนท่านพระภัททชิจึงได้กล่าวแก่ท่านพระอานนท์ว่า ท่านพระอานนท์เป็นพหูสูต คือเป็นผู้ได้สดับตรับฟังมาก ขอท่านพระอานนท์จงอธิบายความข้อนั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าว แล้วท่านพระอานนท์ได้แสดงว่า

            ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้เห็นตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย

            ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้ได้ยินตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการได้ยินทั้งหลาย

            ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลที่ได้รับความสุขตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของความสุขทั้งหลาย

            ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้มีสัญญาตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย

            ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้เป็นอยู่แล้วตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของภพทั้งหลาย

            ในพระสูตรที่กล่าวมานี้ ได้แสดงถึง อันตคาหิกทิฏฐิ ในพระสูตรหนึ่ง คำว่า อันตคาหิกทิฏฐิ นั้น คือความเห็นอันถือเอาที่สุด คือแล่นเข้าไปถึงที่สุดในอย่างหนึ่งๆ แจกออกไปเป็น ๑๐ ข้อ คือ

๑.      โลกเที่ยง

๒.    โลกไม่เที่ยง

๓.     โลกมีที่สุด

๔.     โลกไม่มีที่สุด

๕.     ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น

๖.      ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น

๗.     สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีก คือเกิดอีก

๘.     สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เป็นอีก คือไม่เกิดอีก

๙.      สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี

๑๐.  สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกหามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ 

ทิฏฐิ ๑๐ ประการนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงอธิบายไว้ว่า “ทิฏฐินอกพระพุทธศาสนา พระอาจารย์ไม่พอใจอธิบาย ในเมื่อจำจะพูดถึง ก็พูดอย่างห้วน ยากที่จะเข้าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ ยากที่จะลงความเห็นว่า พระพุทธศาสนามุ่งหมายอย่างไร ทิฏฐินี้ท่านมิได้พรรณนาไว้ชัดเจน แต่กล่าวว่า เป็นข้อที่พระศาสดาไม่ทรงพยากรณ์ คือไม่ตรัสถึง ดังมีเรื่องเล่าว่า พระมาลุงกยะทูลถามถึงทิฏฐิ ๑๐ นี้ และทูลพ้อว่า ถ้าไม่ทรงพยากรณ์ จักไม่อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป พระองค์ตรัสว่า เมื่อพระมาลุงกยะจะมาประพฤติพรหมจรรย์ พระองค์ไม่ได้สัญญาไว้ว่าจักทรงแก้ทิฏฐิ ๑๐ ข้อนี้ พระมาลุงกยะปรารถนาจะไปก็จงไป ดั่งนี้ จึงเป็นดุจกรุยอันผู้สอดส่องธรรมในพระพุทธศาสนาพึงหลีกห่าง ดุจกรุยบอกน้ำตื้นอันเรือไม่พึงแวะเข้าไป เป็นข้อที่น่ารู้อยู่ ในที่นี้จะอธิบายตามมติของข้าพเจ้า โลกในที่นี้น่าจะได้แก่หมู่สัตว์ ข้อว่า โลกเที่ยง นั้นน่าจะหมายความดังกล่าวแล้วใน สัสสตทิฏฐิ คือความเห็นว่าเที่ยง ข้อว่า โลกไม่เที่ยง นั้นน่าจะหมายถึงความดังกล่าวแล้วใน อุจเฉททิฏฐิ คือความเห็นว่าขาดสูญ ข้อว่า โลกมีที่สุด น่าจะหมายความว่า คนทำดี ในที่สุดย่อมไปเกิดในทิพยกายที่ยั่งยืน ไม่แปรผัน ดุจความเข้าใจของคนถือลัทธิต่างบางพวก หรือด้วยมรณะแล้วขาดสูญกัน ข้อว่า โลกไม่มีที่สุด นั้นน่าจะหมายความว่า เวียนเกิดเวียนตายไปอย่างนี้ ไม่มีขาดลง ข้อว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น กับข้อว่า ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น ชีพนั้น ได้แก่ ชีโว ที่แปลว่า ชีพ เป็นแต่ในที่นี้ใช้เป็น นปุงสกลิงค์ ว่าชีวํ ในพราหมณสมัย บัญญัติว่า เวลามรณะ ชีพนี้ออกจากสรีระไปถือปฏิสนธิใหม่ ส่วนสรีระย่อมสลายไป ทิฏฐิเนื่องด้วยชีพนี้ ข้างหนึ่งเข้าใจว่า ชีพกับสรีระเป็นอันเดียวกัน เกิดดับพร้อมกัน อีกข้างหนึ่งเข้าใจว่า ชีพกับสรีระต่างกัน เช่นบัญญัติไว้ในพราหมณสมัย พระพุทธศาสนากล่าวอนัตตา ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตนนั้น แสดงนามธรรม คือจิตเจตสิกว่า เกิดขึ้นเพราะอายตนะภายในและอายตนะภายนอกสบกันเข้าเป็นต้นไป เพื่อคัดค้านชีพดังที่เขาเข้าใจกันนั้น ในข้อปรารภความเกิดอีกเป็นต้น ของสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว บทบาลีใช้แปลกอยู่ ใช้บทว่า ตถาคโต ที่แก้ในอรรถกถาว่า สตฺโต คือสัตว์ ตถาคต ศัพท์นั้น นอกจากในที่นี้ พบแต่ในที่เรียกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มักเรียกเป็นพหูพจน์ด้วย โดยอธิบายว่า ผู้มาเหมือนอย่างนั้น คือได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจถูกต้องตามธรรมเนียมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เช่นเดียวกับพระราชาผู้เป็นแทนสืบกันมา สอบกับภาษาสันสกฤต ได้ความออกไปอีกหน่อยว่า นอกจากใช้เรียกพระพุทธเจ้า ใช้เรียกชินะ ที่ออกชื่อในปกรณ์ข้างพระพุทธศาสนาว่า นิครนถนาฏบุตรบ้าง ใช้เรียกเจ้าบ้าง ไม่ได้กล่าวว่าใช้เรียกสามัญสัตว์ ถ้าไม่ใช่ศัพท์ใช้เรียกสามัญสัตว์ ความเข้าใจก็จะพึงมีอีกทางหนึ่งว่า ท่านผู้ที่มหาชนนับถือเป็นศาสดาและเป็นเอกอุในลัทธิของตน เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว เกิดอีกหรือไม่ หรือที่เกิดอีกก็มี หรือปฏิเสธทั้งนั้น สมด้วยปัญหาปรารภเจ้าลัทธิเห็นปานนี้ อันพระสุภัททะครั้งยังเป็นปริพาชกยกขึ้นทูลถามพระศาสดาเมื่อใกล้จะปรินิพพาน แต่ทูลถามในทางตรัสรู้ของเขา เช่นนี้ไม่แย้งต่อการรับรองว่า สัตว์ผู้ยังมีกิเลสานุสัยตายแล้วต้องเกิดอีก ข้าพเจ้าได้ความเข้าใจไม่พอเพื่ออนุโมทนาหรือค้านคำแก้ในอรรถกถาทั้ง ๒ อย่าง จึงแปลว่า สัตว์ ไว้ตามอรรถกถา แม้เป็นศัพท์ที่เรียกสามัญสัตว์ ก็อาจอธิบายให้เข้ารูปได้ว่า เป็นผู้มาเหมือนอย่างนั้น คือเกิดขึ้นแล้วเป็นอยู่โดยธรรมดาแห่งสัตว์ และจักเป็นผู้ไป คือตายเหมือนสัตว์ในกาลก่อน ทิฏฐิ ๑๐ อย่างนี้ ไม่จัดเป็นชั่วร้ายนัก ไม่ถึงห้ามสวรรค์ เป็นแต่ห้ามอริยมรรค อธิบายว่า คนมีทิฏฐิเหล่านี้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ได้ทำบาปทุจริตเพราะทิฏฐินี้ เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ไปเกิดในสวรรค์ก็ได้ แต่ยังละเสียไม่ได้เพียงใด ยังเป็นผู้อาภัพ ไม่อาจบรรลุอริยมรรคอยู่เพียงนั้น”

 

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๒๒ - ๑๒๖