Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๒๗

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ) 

 

 สีลสูตร ว่าด้วยโทษของความทุศีลและคุณแห่งความมีศีล

            ท่านพระสารีบุตรได้แสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า สัมมาสมาธิของภิกษุผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด คือไม่มี เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะ ความรู้เห็นตามเป็นจริงของภิกษุผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด คือไม่มี เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะ ความรู้เห็นตามเป็นจริงไม่มี นิพพิทาวิราคะ คือความหน่าย ความสิ้นติดใจยินดีของภิกษุผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด คือไม่มี เมื่อนิพพิทาวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นในวิมุตติของภิกษุผู้มีนิพพิทาวิราคะวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด คือไม่มี เหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติ แม้กะเทาะของต้นไม้นั้นก็ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้เปลือก กระพี้ แก่นของต้นไม้นั้น ก็ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้ฉันใด สัมมาสมาธิของภิกษุผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด คือไม่มี เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด คือไม่มี เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาวิราคะของภิกษุผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด คือไม่มี เมื่อนิพพิทาวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีนิพพิทาวิราคะวิบัติ ย่อมเป็นธรรมมีอุปนิสัยถูกขจัด คือไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน

            ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวต่อไปอีกว่า สัมมาสมาธิของภิกษุผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย คือมี เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีสัมมาสมาธิสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย คือมี เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมีอยู่ นิพพิทาวิราคะของภิกษุผู้มียถาภูตญาณทัสสนะสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย คือมี เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีนิพพิทาวิราคะสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย คือมี เปรียบเหมือนต้นไม้มีกิ่งและใบสมบูรณ์ แม้กะเทาะของต้นไม้นั้นก็ย่อมถึงความบริบูรณ์ แม้เปลือก กระพี้ แก่นของต้นไม้นั้นก็ย่อมถึงความบริบูรณ์ แม้ฉันใด สัมมาสมาธิของภิกษุผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย คือมี เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีสัมมาสมาธิสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย คือมี เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมีอยู่ นิพพิทาวิราคะของภิกษุผู้มียถาภูตญาณทัสสนะสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย คือมี เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุผู้มีนิพพิทาวิราคะสมบูรณ์ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นอุปนิสัย คือมี ฉันนั้นเหมือนกัน

 

นิสันติสูตร ว่าด้วยเหตุให้คิดได้เร็ว เรียนได้ดี

            ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงได้ถามท่านพระสารีบุตร ว่าด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงจะเป็นผู้ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย เรียนได้ดี เรียนได้มาก และสิ่งที่เธอเรียนแล้วย่อมไม่เลือนไป ท่านพระสารีบุตรได้ตอบว่า ท่านพระอานนท์เป็นพหูสูต คือเป็นผู้ได้สดับตรับฟังมาก ข้อความนั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านพระอานนท์ทีเดียว ท่านพระอานนท์จึงได้แสดงแก่ท่านพระสารีบุตรว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้

๑.      ฉลาดในอรรถ

๒.    ฉลาดในธรรม

๓.     ฉลาดในพยัญชนะ

๔.     ฉลาดในนิรุตติ คือภาษา

๕.     ฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลาย

ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงจะเป็นผู้ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย เรียนได้ดี เรียนได้มาก และสิ่งที่เธอเรียนแล้วย่อมไม่เลอะเลือน ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวอนุโมทนาท่านพระอานนท์ว่า ตามที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ดีแล้วนี้ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว และพวกเราย่อมทรงจำท่านพระอานนท์ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ว่า ท่านพระอานนท์เป็นผู้ฉลาดในอรรถ ฉลาดในธรรม ฉลาดในพยัญชนะ ฉลาดในนิรุตติคือภาษา และฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลาย

จะอธิบายบางบทในพระสูตรนี้ ข้อว่า ฉลาดในอรรถ ได้แก่เป็นผู้ฉลาดในอรรถกถา คือถ้อคำอธิบาย ข้อว่า ฉลาดในธรรม ได้แก่เป็นผู้ฉลาดในบาลี คือในข้อธรรมที่เป็นพระบาลีคือเป็นพระพุทธพจน์ทั้งหลาย ข้อว่า ฉลาดในพยัญชนะ ได้แก่เป็นผู้ฉลาดในประเภทแห่งอักษร ข้อว่า ฉลาดในนิรุตติ ได้แก่ฉลาดในภาษา ข้อว่า เป็นผู้ฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลาย ได้แก่เป็นผู้ฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลาย ๕ คือ ๑. เบื้องต้นเบื้องปลายของอรรถ คือถ้อยคำที่แสดงเนื้อความหรือถ้อยคำที่อธิบายความแห่งบาลี ๒. เบื้องต้นเบื้องปลายของบาลี คือข้อธรรมที่เป็นบาลี คือข้อธรรมที่เป็นพระพุทธพจน์ทั้งหลาย ๓. เบื้องต้นเบื้องปลายของบท ๔. เบื้องต้นเบื้องปลายของอักษร ๕. เบื้องต้นเบื้องปลายของอนุสนธิคือความสืบต่อ

ในเบื้องต้นเบื้องปลายเหล่านั้น รู้อรรถเบื้องต้นด้วยอรรถเบื้องปลาย รู้อรรถเบื้องปลายด้วยอรรถเบื้องต้น ชื่อว่า เป็นผู้ฉลาดในเบื้องต้นเบื้องปลายของอรรถ อธิบายว่า ภิกษุนั้นเมื่อเว้นอรรถเบื้องต้น กล่าวแต่อรรถเบื้องปลาย ก็ย่อมรู้ว่าอรรถเบื้องต้นมีอยู่อย่างนี้ แม้เมื่อท่านเว้นอรรถเบื้องปลาย กล่าวแต่อรรถเบื้องต้น ก็รู้ว่าอรรถเบื้องปลายมีอยู่ดั่งนี้ เมื่อท่านเว้นอรรถทั้ง ๒ กล่าวแต่อรรถในท่ามกลาง ก็ย่อมรู้ว่าอรรถทั้ง ๒ มีอยู่ดั่งนี้ เมื่อท่านเว้นอรรถในท่ามกลาง กล่าวแต่อรรถทั้ง ๒ ส่วน ย่อมรู้ว่าอรรถในท่ามกลางมีอยู่ดั่งนี้ แม้ในเบื้องต้นเบื้องปลายของบาลีเป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกัน

ส่วนในเบื้องต้นเบื้องปลายของอนุสนธิ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ เมื่อพระสูตรเริ่มแต่ ศีล เป็นต้นไป ในที่สุดก็มาถึง อภิญญา ๖ ภิกษุย่อมรู้ว่าพระสูตรไปตามอนุสนธิ ไปตามกำหนดบทดั่งนี้ เมื่อพระสูตรเริ่มแต่ ทิฏฐิ ไป เบื้องปลาย สัจจะ ทั้งหลายก็มาถึง ภิกษุย่อมรู้ว่า พระสูตรไปตามอนุสนธิ เมื่อพระสูตรเริ่มแต่การทะเลาะบาดหมางกัน เบื้องปลาย สาราณิยธรรม ก็มาถึง เมื่อพระสูตรเริ่มแต่ ดิรัจฉานกถา คือถ้อยคำที่เป็นของนอกพระธรรมวินัย เบื้องปลาย กถาวัตถุ คือถ้อยคำที่ควรพูดก็มาถึง ภิกษุย่อมรู้ว่า พระสูตรไปตามอนุสนธิ คือตามลำดับข้อความที่ต่อกัน

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๑๗ - ๑๒๐