Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๒๖

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ) 

 

 

โจทนาสูตร

            ท่านพระสารีบุตรได้แสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุผู้เป็นโจทก์ใคร่จะโจทผู้อื่น พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการไว้ภายในก่อน แล้วจึงโจทผู้อื่น คือ

๑.     เราจักกล่าวโดยกาลควร จักไม่กล่าวโดยกาลไม่ควร

๒.   จักกล่าวด้วยเรื่องจริง จักไม่กล่าวด้วยเรื่องไม่จริง

๓.    จักกล่าวด้วยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ

๔.    จักกล่าวด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

๕.    จักเป็นผู้มีเมตตาจิตกล่าว จักไม่เป็นผู้เพ่งโทษกล่าว

 

ท่านพระสารีบุตรได้แสดงต่อไปว่า เราเห็นบุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ถูกผู้อื่นโจทโดยกาลไม่ควร ไม่ถูกโจทโดยกาลอันควร ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยเรื่องไม่จริง ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องจริง ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยคำหยาบ ไม่ถูกโจทด้วยคำอ่อนหวาน ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็โกรธ ถูกผู้อื่นโจทด้วยเพ่งโทษ ไม่ถูกโจทด้วยเมตตาจิต ก็โกรธ

 

ความไม่เดือดร้อนอันพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ถูกโจทโดยไม่เป็นธรรม โดยอาการ ๕ คือ

๑.     ท่านถูกโจทโดยกาลไม่ควร ไม่ถูกโจทโดยกาลควร ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน

๒.   ท่านถูกโจทด้วยเรื่องไม่จริง ไม่ถูกโจทโดยเรื่องจริง ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน

๓.    ท่านถูกโจทด้วยคำหยาบ ไม่ถูกโจทด้วยคำอ่อนหวาน ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน

๔.    ท่านถูกโจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน

๕.    ท่านถูกโจทด้วยการเพ่งโทษ ไม่ถูกโจทด้วยเมตตาจิต ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน

 

ความเดือดร้อนอันพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้โจทโดยไม่เป็นธรรม โดยอาการ ๕ คือ

๑.     ท่านโจทโดยกาลไม่ควร ไม่โจทโดยกาลควร ท่านจึงควรเดือดร้อน

๒.   ท่านโจทด้วยเรื่องไม่จริง ไม่โจทด้วยเรื่องจริง ท่านจึงควรเดือดร้อน

๓.    ท่านโจทด้วยคำหยาบ ไม่โจทด้วยคำอ่อนหวาน ท่านจึงควรเดือดร้อน

๔.    ท่านโจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่โจทด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงควรเดือดร้อน

๕.    ท่านโจทด้วยการเพ่งโทษ ไม่โจทด้วยเมตตาจิต ท่านจึงควรเดือดร้อน

 

เราเห็นบุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ ถูกโจทโดยกาลควร ไม่ถูกโจทโดยกาลไม่ควร ก็โกรธ ถูกโจทด้วยเรื่องจริง ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องไม่จริง ก็โกรธ ถูกโจทด้วยคำอ่อนหวาน ไม่ถูกโจทด้วยคำหยาบ ก็โกรธ ถูกโจทด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็โกรธ ถูกโจทด้วยเมตตาจิต ไม่ถูกโจทด้วยเพ่งโทษ ก็โกรธ

 

ความเดือดร้อนอันพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ถูกโจทโดยธรรม โดยอาการ ๕ คือ

๑.     ท่านถูกโจทโดยกาลควร ไม่ถูกโจทโดยกาลไม่ควร ท่านจึงควรเดือดร้อน

๒.   ท่านถูกโจทด้วยเรื่องจริง ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องไม่จริง ท่านจึงควรเดือดร้อน

๓.    ท่านถูกโจทด้วยคำอ่อนหวาน ไม่ถูกโจทด้วยคำหยาบ ท่านจึงควรเดือดร้อน

๔.    ท่านถูกโจทด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ถูกโจทด้วยเรื่องไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงควรเดือดร้อน

๕.    ท่านถูกโจทด้วยเมตตาจิต ไม่ถูกโจทด้วยเพ่งโทษ ท่านจึงควรเดือดร้อน

 

ความไม่เดือดร้อน อันพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้โจทโดยธรรม โดยอาการ ๕ คือ

๑.     ท่านโจทโดยกาลควร ไม่โจทโดยกาลไม่ควร ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน

๒.   ท่านโจทด้วยเรื่องจริง ไม่โจทด้วยเรื่องไม่จริง ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน

๓.    ท่านโจทด้วยคำอ่อนหวาน ไม่โจทด้วยคำหยาบ ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน

๔.    ท่านโจทด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่โจทด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน

๕.    ท่านโจทด้วยเมตตาจิต ไม่โจทด้วยเพ่งโทษ ท่านจึงไม่ควรเดือดร้อน

 

เพราะเหตุไร เพราะว่าภิกษุแม้รูปอื่น พึงให้ความสำคัญว่าพึงโจทด้วยเรื่องจริง

 

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวต่อไปว่า อันบุคคลผู้ถูกโจท พึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ คือความจริงและความไม่โกรธ ถ้าผู้อื่นพึงโจทเราด้วยธรรม ๕ ประการ คือ

๑.     พึงโจทโดยกาลควรหรือโดยกาลไม่ควร

๒.   ด้วยเรื่องจริงหรือด้วยเรื่องไม่จริง

๓.    ด้วยคำอ่อนหวานหรือด้วยคำหยาบ

๔.    ด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์หรือด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

๕.    ด้วยเมตตาจิตหรือด้วยเพ่งโทษ

 

แม้เราก็พึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ คือความจริงและความไม่โกรธ ถ้าเราพึงทราบว่า ธรรมนั้นมีอยู่ในเราไซร้ เราพึงกล่าวธรรมนั้นว่ามีอยู่ ว่าธรรมนั้นมีอยู่พร้อมในเรา ถ้าเราพึงทราบว่า ธรรมนั้นไม่มีอยู่ในเราไซร้ เราก็พึงกล่าวธรรมนั้นว่าไม่มีอยู่ ว่าธรรมนั้นไม่มีอยู่พร้อมในเรา

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ท่านพระสารีบุตรว่า เรื่องก็จะพึงเป็นเช่นนั้น แต่ว่าโมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อถูกกล่าวสอน ย่อมไม่รับโดยเคารพ ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลว่า บุคคลเหล่าไม่มีศรัทธา ต้องการเลี้ยงชีวิต มิใช่ออกบวชด้วยศรัทธา เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เกเร ฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง เหลาะแหละ ปากกล้า พูดพล่าม ไม่สำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่เพ่งถึงความเป็นสมณะ ไม่มีความเคารพกล้าในสิกขา มักมาก ย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในวิเวกคือความสงบสงัด เกียจคร้าน มีความเพียรทราม มีสติเลอะเทอะ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีจิตมั่นคง มีจิตฟุ้งซ่าน มีปัญญาทราม เป็นคนบ้าน้ำลาย คนเหล่านั้นเมื่อถูกข้าพระองค์กล่าวสอนอย่างนี้ ก็ไม่รับโดยเคารพ ส่วนกุลบุตรเหล่าใดมีศรัทธาออกบวช ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่เกเร ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่เหลาะแหละ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม สำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียร เพ่งถึงความเป็นสมณะ มีความเคารพกล้าในสิกขา ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดธุระในการล่วงละเมิด เป็นหัวหน้าในวิเวกคือความสงบสงัด มีความเพียรอบรมตน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตมั่นคง มีจิตเป็นหนึ่ง มีปัญญา มิใช่คนบ้าน้ำลาย กุลบุตรเหล่านั้นเมื่อถูกข้าพระองค์กล่าวสอนอย่างนี้ ย่อมรับโดยเคารพ

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสรับรอง โดยตรัสซ้ำคำที่ท่านพระสารีบุตรกราบทูล และได้ตรัสแก่ท่านพระสารีบุตรว่า เธอพึงว่ากล่าวกุลบุตรเหล่านั้น จงกล่าวสอนเพื่อนพรหมจรรย์ ด้วยหวังว่า เราจักยกเพื่อนพรหมจรรย์จากอสัทธรรม ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม เธอพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้แล

 

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๑๓ - ๑๑๗