Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๒๕

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ) 

 

สากัจฉาสูตร ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ควรสนทนา

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อสนทนากับเพื่อนพรหมจรรย์ คือภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑.                  เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลโดยตนเอง เป็นผู้แก้ปัญหาที่มาถึงด้วยสีลสัมปทากถาได้

๒.                เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาถึงด้วยสมาธิสัมปทากถาได้

๓.                 เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาถึงด้วยปัญญาสัมปทากถาได้

๔.                 เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาถึงด้วยวิมุตติสัมปทากถาได้

๕.                 เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะโดยตนเอง คือความรู้ความเห็นในวิมุตติโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาถึงด้วยวิมุตติญาณทัสสนสัมปทากถาได้

 

สาชีวสูตร ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้อยู่ร่วมกัน

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเป็นผู้อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์ คือภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑.               เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาถึงด้วยสีลสัมปทากถาได้

๒.             เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาถึงด้วยสมาธิสัมปทากถาได้

๓.              เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาถึงด้วยปัญญาสัมปทากถาได้

๔.              เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาถึงด้วยวิมุตติสัมปทากถาได้

๕.              เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาถึงด้วยวิมุตติญาณทัสสนสัมปทากถาได้

สาชีวสูตรนี้ก็มีข้อธรรมเช่นเดียวกับสากัจฉาสูตร สำหรับสากัจฉาสูตรนั้นว่าด้วยภิกษุที่มีคุณสมบัติของผู้ควรสนทนาด้วย ส่วนสาชีวสูตรนี้ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ที่ควรจะอยู่ร่วมกัน ที่มีข้อธรรมอย่างเดียวกันนั้นพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า ผู้ที่สมควรจะสนทนาไต่ถามปัญหากันได้นั้น ก็ควรจะต้องประกอบด้วยธรรมทั้ง ๕ ประการนั้น และทั้งผู้ที่ควรจะอยู่ร่วมกัน ก็ควรที่จะประกอบด้วยธรรมทั้ง ๕ ประการนั้นเช่นเดียวกัน เพราะเมื่ออยู่ร่วมกันนั้น ก็ควรจะต้องมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมเสมอกันให้มีความผาสุก และก็จะต้องมีการสนทนาไต่ถามปัญหาธรรมกัน ก็จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติทั้ง ๕ ประการนั้น

 

ปัญหาปุจฉาสูตร ว่าด้วยเหตุการณ์ถามปัญหา ๕ ประการ

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุบางรูปย่อมถามปัญหากะภิกษุอื่น ภิกษุทั้งหมดนั้นย่อมถามด้วยเหตุ ๕ ประการ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑.                  ย่อมถามปัญหากะภิกษุอื่นเพราะโง่เขลาเพราะหลงลืม

๒.                ย่อมมีความปรารถนาลามก ถูกความปรารถนาครอบงำ จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น

๓.                 ย่อมดูหมิ่น จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น

๔.                 ประสงค์จะรู้ จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น

๕.                 คิดอย่างนี้ว่า ภิกษุอื่นถ้าถูกเราถามปัญหา ก็จักแก้โดยชอบ ข้อนั้นเป็นความดี แต่ถ้าถูกเราถามปัญหา จักไม่แก้โดยชอบ เราจักแก้โดยชอบแก่เธอ ดั่งนี้ จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น

ภิกษุบางรูปย่อมถามปัญหากะภิกษุอื่น ภิกษุทั้งหมดนั้นย่อมถามด้วยเหตุ ๕ ประการเหล่านี้ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนท่านพระสารีบุตรเองนั้นคิดอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุถูกเราถามปัญหา ก็จักแก้โดยชอบ ข้อนั้นเป็นความดี แต่ถ้าถูกเราถามปัญหา จักไม่แก้โดยชอบ เราจักแก้โดยชอบแก่เธอ ดั่งนี้ จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น

 

นิโรธสูตร ว่าด้วยคุณธรรมของพระเถระที่น่าเคารพบูชา

ครั้งนั้นพระท่านสารีบุตรได้กล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ คือเข้าสมาธิชั้นสูงดับสัญญาเวทนาบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าเธอไม่พึงบรรลุอรหัตตผลในปัจจุบันไซร้ เธอก็ก้าวล่วงความเป็นสหายแห่งเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหาร คือมีคำข้าวเป็นอาหาร เป็นภักษา เข้าถึงเทพผู้เกิดด้วยใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ คือดับสัญญาเวทนาบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้

เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีซึ่งอยู่ในหมู่ภิกษุเหล่านั้น ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ข้อที่ภิกษุก้าวล่วงความเป็นสหายแห่งเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหาร คือมีก้อนข้าวเป็นอาหาร เป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้เกิดด้วยใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้างนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายอย่างเดิม แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวค้านขึ้นอย่างนั้น แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายอย่างเดิม แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวค้านขึ้นอย่างนั้น

ท่านพระสารีบุตรได้คิดว่า ท่านพระอุทายีคัดค้านเราถึง ๓ ครั้ง และภิกษุบางรูปก็ไม่อนุโมทนาภาษิตเรา ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระสารีบุตรจึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลเล่าถวายให้พระพุทธเจ้าได้ทรงทราบถึงคำที่ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลาย และคำที่ท่านอุทายีได้กล่าวค้าน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามท่านพระอุทายีว่า ท่านอุทายีหมายถึงเหล่าเทพผู้เกิดด้วยใจเหล่าไหน ท่านพระอุทายีได้กราบทูลว่า หมายถึงเหล่าเทพชั้นอรูปที่เกิดด้วยสัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสว่า ไฉนท่านพระอุทายีจึงเป็นผู้พาล ไม่ฉลาดกล่าวอย่างนั้น เธอเองคือท่านพระอุทายีย่อมสำคัญตนว่าควรพูด (อวดรู้)

แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “ไฉนพวกเธอจึงวางเฉยดูดายภิกษุผู้เถระซึ่งถูกเบียดเบียนอยู่ ชื่อว่าแม้ความกรุณาก็ไม่มีในภิกษุผู้ฉลาดซึ่งถูกเบียดเบียนอยู่” พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า “ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าเธอไม่พึงบรรลุอรหัตตผลในปัจจุบันไซร้ เธอก็ก้าวล่วงความเป็นสหายแห่งเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหาร คือมีคำข้าวเป็นอาหาร เป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้เกิดด้วยใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะพึงมีได้” ครั้นตรัสดั่งนี้แล้ว ก็เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าไปยังพระวิหาร

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาท่านพระอุปวานะ แล้วกล่าวว่า ภิกษุเหล่าอื่นในพระศาสนานี้ ย่อมเบียดเบียนภิกษุทั้งหลายผู้เถระ พวกเราจักไม่ถามหาภิกษุเหล่านั้น การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น จักทรงปรารภเหตุนั้นยกขึ้นแสดง เหมือนดังที่จะพึงตรัสโดยเฉพาะกับท่านอุปวานะในเหตุนั้น ข้อนั้นไม่เป็นอัศจรรย์ บัดนี้ความไม่สบายใจได้เกิดขึ้นแก่พวกเรา พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็นแล้ว เสด็จเข้าไปนั่งที่อุปัฏฐานศาลา คือศาลาเป็นที่บำรุง ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ตกแต่งไว้ แล้วจึงตรัสถามท่านพระอุปวานะว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมไรหนอแล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ท่านพระอุปวานะได้กราบทูลว่า ภิกษุผู้เถระย่อมประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ คือภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑.                  เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

๒.                เป็นพหูสูต คือผู้ได้สดับตรับฟังมาก ฯลฯ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

๓.                 เป็นผู้มีวาจาไพเราะ มีถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองอันสละสลวย ไม่มีโทษ ให้รู้เนื้อความที่แจ่มแจ้ง

๔.                 เป็นผู้ได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

๕.                 ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสอนุโมทนาถ้อยคำของท่านพระอุปวานะ และก็ได้ตรัสว่า ภิกษุเถระผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ถ้าหากว่าธรรม ๕ ประการนี้ไม่พึงมีแก่ภิกษุผู้เถระไซร้ เพื่อนพรหมจรรย์พึงเคารพสักการะนับถือบูชาเธอ โดยความเป็นผู้มีพันหัก มีผมหงอก มีหนังย่นเพื่ออะไรกัน เพราะธรรม ๕ ประการนี้ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เถระ ฉะนั้นเพื่อนพรหมจรรย์จึงสักการะเคารพนับถือบูชาเธอ

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๐๗ - ๑๑๒