Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๒๔

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 

พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)

ผาสุวิหารสูตร ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้ คือภิกษุในธรรมวินัยนี้

                ๑. เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

                ๒. เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

                ๓. เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

                ๔. มีศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่เกี่ยว เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและหลับหลัง

                ๕. มีทิฏฐิอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออก ย่อมนำออกเพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบแห่งผู้กระทำ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

 

 

อุทายิสูตร

                พระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี สมัยนั้น พระอุทายีเป็นผู้ที่คฤหัสน์ผู้ใหญ่แวดล้อมนั่งแสดงธรรมอยู่ ท่านพระอานนท์ได้เห็นจึงได้กราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่าการแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ภายในแล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น คือภิกษุพึงตั้งใจว่า

                ๑. เราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ

                ๒. เราจักแสดงอ้างเหตุผล

                ๓. เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู

                ๔. เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม

                ๕. เราจักไม่แสดงธรรมให้กระทบตนและผู้อื่น

 

 

ทุพพิโนทยสูตร

                พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ธรรม ๕ ประการนี้ เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก ธรรม ๕ ประการ คือ ราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ปฏิภาณ ๑ จิตคิดจะไป ๑ เรียกว่า ทุพพิโนทยสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยธรรมที่บรรเทาได้ยาก

 

 

อาฆาตวินยสูตร ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการ คือ

                ๑. ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น

                ๒. ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น

                ๓. ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น

                ๔. ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึก ไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น

                ๕. ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน ให้ยึดมั่นในบุคคลนั้น ว่าท่านผู้นี้มีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทแห่งกรรมนั้น มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาทของกรรมนั้น

                ยังมีพระสูตรที่ว่าด้วยธรรมะระงับความอาฆาต ๕ ประการอีกพระสูตรหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสแสดงเอง แต่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย คือท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวด ๕ ประการ คือ

                ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคคลแม้เช่นนี้

                ๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

                ๓. บุคลลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

                ๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใส โดยกาลอันควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

                ๕. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใส โดยกาลอันควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

                ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวอธิบายต่อไปว่า ในบุคคล ๕ จำพวกนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร ท่านอธิบายต่อไปว่าเหมือนอย่างว่าภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เห็นผ้าเก่าที่ถนน เหยียบให้มั่นด้วยเท้าซ้าย เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวา ส่วนใดเป็นสาระก็ถือเอาส่วนนั้น แล้วหลีกไปแม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ส่วนความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนั้น

                ท่านอธิบายต่อไปว่า บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร ท่านอธิบายต่อไปเองว่า สระน้ำที่ถูกสาหร่ายและแหนคลุมไว้ บุรุษผู้เดินทางร้อน อบอ้าว เหนี่อยอ่อน กระหายน้ำ ลงสู่สระน้ำนั้น แหวกสาหร่ายและแหนด้วยมือทั้ง ๒ แล้ว กอบน้ำขึ้นดื่มแล้วพึงไปแม้ฉันใดบุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ส่วนความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้นฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้

                ท่านพระสารีบุตรอธิบายต่อไปว่า บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใส โดยกาลอันสมควร ภิกษุนั้นพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร ท่านได้กล่าวอธิบายเองว่า เหมือนอย่างว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยใด บุรุษเดินทางร้อน อบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาพึงเกิดความคิดอย่างงนี้ว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโคนี้ ถ้าเราจะกอบขึ้นมาดื่มหรือใช้ภาชนะตักขึ้นดื่มไซร้ เราก็จักทำน้ำนั้นให้ไหวบ้าง ให้ขุ่นบ้าง ให้ไม่เป็นที่ควรดื่มบ้าง ถ้ากระไรเราพึงคุกเข่าก้มลงดื่มน้ำแล้วหลีกไป เขาคุกเข่าวก้มลงดื่มน้ำอย่างโคดื่มน้ำแล้วไปแม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใส โดยกาลอันสมควร ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แต่การได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใส โดยกาลอันสมควรส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้นฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้

                ท่านพระสารีบุตรได้อธิบายต่อไปว่า บุคคลใดเป็นผ้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใส โดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร ท่านได้กล่าวอธิบายเองว่า เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก เดินทางไกล แม้ข้างหน้าเขาก็มีบ้านอยู่ไกล แม้ข้างหลังเขาก็มีบ้านอยู่ไกล เขาไม่พึงได้อาหารที่สบายคือถูกโรค เภสัชที่สบายคือถูกโรค ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน บุรุษบางคนผู้เดินทางไกลพึงเห็นเขา บุรุษนั้นพึงเข้าไปตั้งความกรุณา ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ในเขาว่า โอ คน ๆ นี้พึงได้อาหารที่สบาย เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าคน ๆ นี้ อย่าถึงความพินาศฉิบหาย ณ ที่นี้เลย แม้ฉันนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีคามประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใส โดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงเข้าไปตั้งความกรุณา เอ็นดู ความอนุเคราะห์ในบุคคล แม้เห็นปานนี้ว่า โอ ท่านผู้นี้พึงละกายทุจริตแล้วอบรมกายสุจริต พึงละวจีทุจริตแล้วอบรมวจีสุจริต พึงละมโนทุจริตแล้วอบรมมโนสุจริต ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าท่านผู้นี้เมื่อตายไปแล้ว อย่าเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้

                ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวอธิบายต่อไปเป็นข้อคำรบ ๕ ว่า บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใส โดยการอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร ท่านได้กล่าวอธิบายเองว่า เหมือนอย่างว่า สระน้ำมีน้ำใส มีน้ำอร่อยดี มีน้ำเย็น มีน้ำขาว มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ ดารดาษไปด้วยต้นไม้พันธุ์ต่าง ๆ บุคคลผู้เดินทางร้อน อบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาพึงลงสู่สระน้ำนั้นบ้าง อาบบ้าง ดื่มบ้าง แล้วขึ้นมานั่งบ้าง นอนบ้าง ที่ร่มไม้ใกล้สระน้ำนั้นแม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร แม้ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ในส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้การได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใส โดยกาลอันสมควรส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๐๒ - ๑๐๗