Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๒๓

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 

พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)

เวสารัชชกรณสูตร ว่าด้วยธรรมทำให้แกล้วกล้า ๕ ประการ

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ ๕ ประการ คือภิกษุในธรรมวินัยนี้

                ๑. เป็นผู้มีศรัทธา

                ๒. เป็นผู้มีศีล

                ๓. เป็นพหูสูต คือผู้ได้สดับตรับฟังมาก

                ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร

                ๕. เป็นผู้มีปัญญา

                ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้ไม่มีศรัทธา ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้มีศรัทธา

                ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้ทุศีล ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้มีศีล

                ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้ที่ได้การศึกษาน้อย ได้สดับตรับฟังน้อย ความครั่นคร้ามนั้นย่อไม่มีแก่ผู้เป็พหูสูต

                ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้เกียจคร้าน ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้ปรารภความเพียร

                ความครั่นคร้ามใดย่อมีแก่ผู้มีปัญญาทราม ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้มีปัญญา

                ฉะนั้น ธรรมทั้ง ๕ ประการนี้จึงชื่อว่า เป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าในภิกษุผู้เสขะ

 

 

สังกิตสูตร ว่าด้วยธรรรมที่ททำให้เป็นที่น่ารังเกียจ

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รังเกียจสงสัยว่าจะเป็นปาปภิกษุ แม้จะเป็นผู้มีอกุปกรรม คือมีธรรมไม่กำเริบ คือภิกษุในธรรมวินัยนี้

                ๑. ย่อมเป็นผู้คบหาหญิงแพศยา

                ๒. ย่อมเป็นผู้คบหาหญิงหม้าย

                ๓. ย่อมเป็นคบหาสาวเทื้อ

                ๔. ย่อมเป็นผู้คบหาบัณเฑาะก์

                ๕. ย่อมเป็นผู้คบหาภิกษุณี

 

 

โจรสูตร ว่าด้วยองค์แห่งมหาโจร ๕ ประการ

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ ย่อมตัดที่ต่อบ้าง ย่อมปล้นทำลายบ้าง ย่อมทำการปล้นเฉพาะเรือนหลังเดียวบ้าง ตีชิงในทางเปลี่ยวบ้าง คือมหาโจรในโลกนี้

                ๑. เป็นผู้อาศัยที่ไม่ราบเรียบ

                ๒. เป็นผู้อาศัยที่รกชัฏ

                ๓. เป็นผู้อาศัยคนมีกำลัง

                ๔. เป็นผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์

                ๕. เป็นผู้เที่ยวไปคนเดียว

                มหาโจรเป็นผู้อาศัยที่ไม่ราบเรียบ คือเป็นผู้อาศัยที่ลุ่มแห่งแม่น้ำหรือที่ไม่ราบเรียบแห่งภูเขา

                มหาโจรเป็นผู้อาศัยที่รกชัฏ คือเป็นผู้อาศัยที่รกชัฏแห่งหญ้าบ้าง ที่รกชัฏแห่งต้นไม้บ้าง ฝั่งแม่น้ำบ้าง ป่าใหญ่บ้าง

                มหาโจรผู้อาศัยคนมีกำลัง คือย่อมอาศัยพระราชาบ้าง อำมาตย์แห่งพระราชาบ้าง เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าใครจะกล่าวหาเรื่องราวบางอย่างแก่เรา พระราชาคือมหาอำมาตย์ของพระราชาเหล่านี้จะช่วยว่าความให้

                มหาโจรในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก คือมีโภคะมาก เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าใครจะกล่าวหาเรื่องบางอย่างแก่เรา เราจักจ่ายโภคทรัพย์กลบเกลื่อนเรื่องนั้น

                มหาโจรเป็นผู้เที่ยวไปคนเดียว คือเป็นผู้ทำโจรกรรมคนเดียว เพราะเขาย่อมปรารถนาว่า เรื่องลับของเราอย่าได้แพร่งพรายไปภายนอก

                มหาโจร ๕ จำพวกนี้ฉันใด ปาปภิกษุ คือภิกษุชั่วก็ฉันนั้น คือเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัดถูกทำลาย เป็นผู้มีโทษ มีข้อที่วิญญูชนจะพึงติเตียน ย่อมประสบบาปเป็นอันมาก คือปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้อาศัยธรรมที่ไม่สม่ำเสมอ ๒. เป็นผู้อาศัยที่รกชัฏ ๓. เป็นผู้อาศัยคนมีกำลัง ๔. เป็นผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ ๕. เป็นผู้เที่ยวไปคนเดียว

                ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยธรรมที่ไม่สม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ไม่สม่ำเสมอ

                ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยที่รกชัฏ คือเป็นมิจฉาทิฏฐิ ประกอบด้วยทิฏฐิที่ถือเอาที่สุด

                ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยคนมีกำลัง คือเป็นผู้อาศัยพระราชาบ้าง อำมาตย์แห่งพระราชาบ้าง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าใครจะกล่าวหาเรื่องบางอย่างแก่เรา ท่านเหล่านั้นคือผู้ที่มีกำลังเหล่านั้นจะช่วยว่าความให้ ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยคนมีกำลังอย่างนี้

               ปาปภิกษุเป็นผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ คือย่อมเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและยากแก้ไข้ เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าใครจักกล่าวหาเรื่องบางอย่างแก่เรา เราจักแจกจ่ายลาภสักการะกลบเกลื่อนเรื่องนั้น ดั่งนี้ ถ้าใครกล่าวหาเรื่องบางอย่างแก่เธอ เธอย่อมแจกจ่ายลาภเพื่อกลบเกลื่อนเรื่องเหล่านั้น

                ปาปภิกษุเป็นผู้เที่ยวไปคนเดียว คือย่อมอยู่ชนบทชายแดนผู้เดียว เธอเข้าหาหาสกุล คือบ้านญาติโยมในชนบทนั้น ย่อมได้ลาภ

 

 

สุขุมาลสูตร ว่าด้วยธรรมของสมณะผู้ละเอียดอ่อน

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมชื่อว่าเป็นสุขุมาละ คือเป็นสมณะละเอียดอ่อนในหมู่คณะ คือ

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถูกขอร้องจึงใช้จีวรมาก ไม่ถูกขอร้องใช้จีวรน้อย ถูกขอร้องจึงบริโภคบิณฑบาตมาก ไม่ถูกขอร้องบริโภคบิณฑบาตน้อย ถูกขอร้องจึงใช้เสนาสนะมาก ไม่ถูกขอร้องใช้เสนาสนะน้อย ถูกขอร้องจึงใช้ยาแก้ไข้มาก ไม่ถูกขอร้องจึงใช้ยาแก้ไขน้อย

๒. อนึ่ง เธอย่อมอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นย่อมประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรมอันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมประพฤติต่อด้วยวจีกรรมอันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมประพฤติต่อเธอด้วยมโนกรรมอันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย

๓. อนึ่ง เวทนามีดีเป็นสมุฏฐานก็ดี มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็ดี มีลมเป็นสมุฏฐานก็ดี ที่เกิดเพราะสันนิบาตก็ดี ที่เกิดเพราะฤดูเปลี่ยนแปรก็ดี ที่เกิดเพราะบริหารไม่เสมอก็ดี ที่เกิดเพราะความแก่ก็ดี ที่เกิดเพราะผลกรรมก็ดี ย่อมไม่บังเกิดแก่เธอมาก เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย

๔. เธอเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน

๕. เธอย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญายิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ซึ่งเป็นสุขุมาละ คือเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่คณะ ในหมู่คณะ ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวผู้ใดว่าเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวแก่เราตถาคตนั่นเทียวว่า เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมูสมณะ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวแก่เราตถาคตนั่นเทียวว่า เป็นสมณะผู้ละเอียดในหมู่สมณะ เพราะว่าเราตถาคตถูกขอร้องจึงใช้จีวรมาก ไม่ถูกขอร้องจึงใช้จีวรน้อย ถูกขอร้องจึงบริโภคบิณฑบาตมาก ไม่ถูกขอร้องบริโภคบิณฑบาตน้อย ถูกขอร้องจึงใช้เสนาสนะมาก ไม่ถูกขอร้องใช้เสนาสนะน้อย ถูกขอร้องจึงใช้ยาแก้ไข้มาก ไม่ถูกขอร้องใช้ยาแก้ไข้น้อย

และเราย่อมอยู่ร่วมกับภิกษุเหล่าใด ภิกษุเหล่านั้นย่อมประพฤติต่อเราด้วยกายกรรมอันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมประพฤติต่อเราด้วยวจีกรรมอันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมประพฤติต่อเราด้วยมโนกรรมอันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งที่ควรนำเข้าไปอันเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก อันไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย

และเวทนามีดีเป็นสมุฏฐานก็ดี มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็ดี มีลมเป็นสมุฏฐานก็ดี ที่เกิดเพราะสันนิบาตก็ดี ที่เกิดเพราะฤดูเปลี่ยนก็ดี ที่เกิดเพราะบริหารไม่เสมอก็ดี ที่เกิดเพราะความแก่ก็ดี เกิดเพราะผลกรรมก็ดี ย่อมไม่บังเกิดแก่เรามาก เราเป็นผู้มีอาพาธน้อย

เราเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน

เราย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน

ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวผู้ใดว่าเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวโดยชอบก็พึงกล่าวเราตถาคตนั่นเทียว ว่าเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

เล่ม ๓ หน้า ๙๕ – ๑๐๐