Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๒๒

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 

พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี (ต่อ)

จาตุทิสสูตร ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้เที่ยวไปทั้ง ๔ ทิศ

                พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประกาศนี้ ย่อมเป็นผู้ควรเที่ยวไปในทิศทั้ง ๔ คือ

                ๑. ภิกษุในธณรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีศีล เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระ คือความประพฤติ และโคจร คือที่เที่ยว มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

                ๒. เป็นพหูสูต คือเป็นผู้ได้สนับตรับฟังมาก ทรงสุตะ คือทรงจำธรรมที่สดับตรับฟัง สะสมสุตะคือจำสะสมไว้ได้มาก ทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิความเห็นคือทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยโยนิโสมนสิการ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ เนื้อความ พร้องทั้งพยัญชนะ ถ้อยคำ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

                ๓. เป็นผู้สัญโดษ คือยินดีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร คือยาแก้ไข้ตามมีตามได้

                ๔. เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึง ฌาณ ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน

                ๕. ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

                ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้เที่ยวไปได้ในทิศทั้ง ๔

 

อรัญญสูตร ว่าด้วยคุณสมบัติของภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ควรเพื่อเสพอาศัยเสนาสนะอันสงัดคือป่าและป่าชัฏ คือ

                ๑. เป็นผู้มีศีล เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

                ๒. เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สะสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมาก ทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิความเห็น คือทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

                ๓. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลกรรม ธรรมที่เป็นอกุศลเพื่อบำเพ็ญกุศลธรรม ธรรมที่เป็นกุศลทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

                ๔. เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่ง ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง อันเป็นเครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน

                ๕. ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

                ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ควรเพื่อเสพอาศัย เสนาสนะที่สงบคือป่าและป่าชัฏ

 

กุลูปกสูตร ว่าด้วยธรรมอันทำให้เป็นที่เคารพและไม่เคารพในสกุล

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุผู้เข้าสู่สกุล ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญในสกุล คือ

                ๑. ทำความวิสาสะคือทำความคุ้นเคยกับผู้ไม่คุ้นเคย

                ๒. เป็นผู้บงการสิ่งโน่นสิ่งนี่ต่าง ๆ ทั้งที่ตนไม่ได้เป็นใหญ่ในสกุล

                ๓. เป็นผู้คบหากับผู้ที่ไม่ถูกกับเขา

                ๔. เป็นผู้พูดกระซิบหู

                ๕. เป็นผู้ขอมากเกินไป

                ภิกษุผู้เข้าสู่สกุล ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญในสกุล


               
ส่วนภิกษุที่เข้าสู่สกุล ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ เป็นที่สรรเสริญในสกุล คือ

                ๑. ไม่เป็นผู้วิสาสะกับผู้ไม่คุ้นเคย

                ๒. ไม่เป็นผู้บงการต่าง ๆ ทั้งที่ตนไม่เป็นใหญ่ในสกุล

                ๓. ไม่เป็นผู้คบหากับผู้ที่ไม่ถูกกับเขา

                ๔. ไม่เป็นผู้พูดกระซิบหู

                ๕. ไม่เป็นผู้ขอมากเกินไป

                ภิกษุผู้เข้าสู่สกุล ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญในสกุล

 

ปัจฉาสมณสูตร ว่าด้วยธรรมของผู้ควรและไม่ควรเป็นปัจฉาสมณะ คือสมณะผู้ตามหลัง

                ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ไม่ควรพาไปเป็นปัจฉาสมณะ คือสมณะผู้ตามหลัง คือผู้ติดตาม คือ

                ๑. ภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะ ย่อมเดินไปห่างนักหรือใกล้นัก

                ๒. ไม่รับบาตรที่ควรรับ

                ๓. ย่อมไม่ห้ามเมื่อพูดใกล้อาบัติ

                ๔. ย่อมพูดสอดขึ้นเมื่อกำลังพูดอยู่

                ๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม โง่เขลา

                ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ไม่ควรพาไปเป็นปัจฉาสมณะ คือผู้ที่ติดตาม


               
ส่วนภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ จึงควรพาไปเป็นปัจฉาสมณะ คือ

                ๑. ภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะ ย่อมเดินไปไม่ห่างนัก ไม่ใกล้นัก

                ๒. ย่อมรับบาตรที่ควรรับ

                ๓. ย่อมห้ามเมื่อพูดใกล้อาบัติ

                ๔. ย่อมไม่พูดสอดขึ้นเมื่อกำลังพูดอยู่

                ๕. เป็นผู้มีปัญญา ไม่โง่ ไม่เขลา

                ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ควรพาไปเป็นปัจฉาสมณะ คือเป็นผู้ติดตาม

 

สัมมาสมาธิ ว่าด้วยธรรมของผู้ที่ไม่ควรและผู้ควรบรรลุสัมมาสมาธิ

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่ควรเพื่อบรรลุสัมมาสมาธิ คือภิกษุในธรรมวินัยนี้

                ๑. ไม่อดทนต่อรูปารมณ์

                ๒. ไม่อดทนต่อสัททารมณ์

                ๓. ไม่อดทนต่อคันธารมณ์

                ๔. ไม่อดทนต่อรสารมณ์

                ๕. ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพารมณ์

                ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมไม่ควรเพื่อบรรลุสัมมาสมาธิ

                ส่วนภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ควรเพื่อบรรลุสัมมาสมาธิ คือภิกษุในธรรมวินัยนี้

                ๑. อดทนต่อรูปารมณ์

                ๒. อดทนต่อสัททารมณ์

                ๓. อดทนต่อคันธารมณ์

                ๔. อดทนต่อรสารมณ์

                ๕. อดทนต่อโผฏฐัพพารมณ์

                ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมควรเพื่อบรรลุสัมมาสมาธิ

                ในพระสูตรนี้พึงทราบอธิบายโดยสังเขปว่า คำว่า ไม่อดทนต่อรูปารมณ์เป็นต้นนั้น ก็คือคำว่า อารมณ์ นั้นได้อธิบายแล้วว่า เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่น ซึ่งมี ๖ ประการ คืออารมณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ และอีกอันหนึ่งก็คือธัมมารมณ์ อารมณ์คือธรรมเรื่องราว แต่ว่าในที่นี้แสดงไว้เพียง ๕ ประการ ตั้งแต่ รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป จนถึงโผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง พิจารณาเห็นว่า ที่ยกขึ้นมาเพียง ๕ ข้อนี้ก็เพราะว่า แม้อารมณ์ข้อที่ ๖ คือธัมมารมณ์ ซึ่งแปลว่า อารมณ์คือธรรม คือเรื่อง เรื่องอะไร ก็คือเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ ทั้ง ๕ ข้อนี้เอง ก็ย่อมหมายรวมถึงธัมมารมณ์ด้วย ซึ่งมีประกอบอยู่ด้วยทุกข้อ ดังที่ได้แสดงอธิบายว่า มโนนั้นย่อมประกอบด้วยประสาททั้ง ๕ ข้างต้น ฉะนั้น จึงหมายถึงอารมณ์ทั้ง ๕ นี้ที่เป็นปัจจุบันด้วย ที่เป็นอดีตด้วย ที่เป็นอนาคตด้วย ทั้ง ๓ กาล และคำว่า ไม่อดทนนั้นก็หมายถึงว่า เป็นผู้ที่ถูกอารมณ์ครอบงำได้ จึงมีความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง หลงงมงายติดอยู่บ้างในอารมณ์ทั้งปวงเหล่านี้ แต่เมื่ออดทนได้แล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ ย่อมสามารถที่จะมีใจเป็นอุเบกขาต่อารมณ์ได้ ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ ไม่หลงงมงายติดอยู่ในอารมณ์ เมื่อเป็นดั่งนี้ อารมณ์ทั้ง ๕ นี้จึงไม่อาจมาบังเกิดเป็นนิวรณ์ขึ้นในใจ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสามารถที่จะอดทน อดกลั้น ทนทานต่ออารมณ์ทั้งปวด ทำใจให้เป็ฯอุเบกขาได้ในอารมณ์ทั้งปวง ดังนี้แหละจึงจะควรบรรลุสัมมาสมาธิ แต่ถ้าหากว่าลุอำนาจของอารมณ์ ถูกอารมณ์ครอบงำจิตใจให้ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง หลงงมงายติดอยู่บ้างแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้บรรลุสัมมาสมาธิได้ เพราะว่าอารมณ์เหล่านี้จะมาปรากฏเป็นนิวรณ์ คอยกั้นเอาไว้ไม่ให้จิตเป็นสมาธิ ฉะนั้น คำว่า อดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ จึงหมายความถึงว่า สามารถที่จะระงับนิวรณ์ในจิตใจได้ อารมณืไม่มาเป็นนิวารในจิตใจ จิตใจก็เป็นสมาธิได้

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๘๙ – ๙๕